การทำความเพียร ๔
(สัมมัปปธาน ๔)
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย และท่านผู้มีจิตอันเป็นมหากุศลทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ คือมาทำความเพียร เพื่อละชั่วกระทำดี บำเพ็ญบารมีให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป
การทำความเพียรนี้ ในหลักมหาปธานสูตร[๑] ท่านกล่าวไว้ ๔ ประการ คือ
๑. สังวรปธาน เพียรระวังบาป ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน
คำว่า บาป โดยสภาวะ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้เป็นตัวบาป คือบาปนั้นกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ทำบาปแล้วจะต้องถูกปรับไหมใส่โทษจองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต ตายแล้วจะต้องตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำบาป
แต่บาปนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้ว ก็ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง แต่ก็ขอออกนอกเรื่องนิดหนึ่ง คำว่า ความโลภ หรือคำว่า โลภะ นี้ ส่วนมากพวกเราทั้งหลายอธิบายผิด คืออธิบายไม่ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
เพราะเหตุไรถึงว่าอย่างนี้
เพราะว่า ส่วนมากเข้าใจว่า อยากได้อะไรๆ ก็เข้าใจว่าเป็นโลภะไปหมด อยากอาบน้ำ อยากดื่ม อยากฉัน อยากได้เครื่องนุ่งห่ม ก็เรียกว่าโลภะ
สรุปเอาสั้นๆ ว่าอยากได้อะไร ก็จัดว่าเป็นโลภะทั้งหมด อันนี้มันไม่ถูก ไม่ถูกตามหลักตามความประสงค์ หรือไม่ถูกตามความหมายของโลภะ
คำว่า โลภะ ในด้านปริยัติ หมายความว่า อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตัวในทางทุจริต แล้วก็หาเอาในทางทุจริต เช่น ลักเอา ขโมยเอา ปล้นเอา จี้เอา เป็นต้น จัดเป็นโลภะ แต่ถ้าเราอยากได้ในทางบริสุทธิ์ คืออยากได้ในทางสุจริต ก็หาเอาในทางสุจริต แม้ได้มาเป็นพันๆ ล้านบาท หรือหลายล้านหลายแสนล้านบาทก็ตาม ตามหลักของธรรมะ ท่านไม่จัดว่าเป็นโลภะ อันนี้ในทางปริยัตินะ
เมื่อเราทั้งหลายอธิบาย โลภะ ว่าอยากได้อะไรๆ ก็ถือว่าเป็นโลภะไปทั้งหมด ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนเรามีจิตใจเหี่ยวห่อท้อแท้ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่อยากเข้าวัดเข้าวา เพราะทำอะไรๆ ก็มีแต่โลภะไปหมด มีแต่บาปไปหมด ก็ทำให้ใจไม่แช่มชื่น ไม่เบิกบาน ไม่ร่าเริง ไม่ปราโมทย์ ในการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เพราะมองรอบ ๆ ด้าน ก็มีแต่บาปอกุศล
เหตุนั้น เมื่อเราทั้งหลายไปเทศน์ไปสอนเรื่องโลภะนี้ ก็ขอได้อธิบายให้ถูกต้อง ตามลักษณะของธรรมะในแง่ของปริยัติ คือในแง่ปริยัติต้องอธิบายดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ถ้าในแง่ปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เราอธิบายคนละลักษณะ เราจะเอาไปผสมผสานกันไม่ได้ ในเวลาเราได้เทศน์ได้สอนคนธรรมดา
โลภะ ในแง่ของภาคปฏิบัตินี้ หมายถึง ความอยากได้ในอารมณ์ เช่น อะไรเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่กำหนด มีความพอใจชอบใจในอารมณ์นั้นๆ ก็เป็นโลภะแล้ว
อารมณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่กำหนด (เกิดความยินดี ชอบใจ พอใจ ในอารมณ์นั้นๆ ) ถือว่าเป็นโลภะแล้ว
ทีนี้ อารมณ์ใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราก็รู้สึกไม่ชอบใจไม่พอใจด้วย และเราก็ไม่ได้กำหนดรู้ด้วย นี่ถือว่าเป็นโทสะแล้ว
อารมณ์ใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่กำหนด เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจัดเป็นโมหะ
สรุปแล้ว อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ ถ้ารู้สึกชอบใจเป็นโลภะ ไม่ชอบใจเป็นโทสะ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นมาแล้ว เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นโมหะ
นี่ โลภะ โทสะ โมหะ ในภาคปฏิบัติละเอียดกว่ากันอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราไปอธิบายธรรมะ พยายามแยกแยะให้เป็น อย่าเอาปริยัติไปผสมกับปฏิบัติ เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด บางครั้งเราไปเทศน์ในสถานที่ต่างๆ ในงานการกุศลต่างๆ ในงานศพ ในงานขึ้นบ้านใหม่ ในงานอะไรทำนองนี้ เราก็ต้องเทศน์ในแง่ปริยัติ
เพราะว่าผู้ที่นั่งในที่นี้ ส่วนมากอาจจะไม่เคยประพฤติปฏิบัติมา เราต้องเทศน์ในแง่ปริยัติ ถ้าว่าในเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมะ เหมือนกันกับพวกเราทั้งหลายปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ เราเทศน์ได้ทั้งแง่ปริยัติทั้งแง่ปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อจะทำความเข้าใจ
สรุปแล้วว่า เรามาสู่สถานที่นี้ เรามาทำความเพียร เพื่อระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในขันธสันดาน
ทีนี้เราจะเพียรอย่างไร จึงชื่อว่าเป็นการระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน
หลักการทำความเพียร เราเริ่มทำความเพียรแต่วันแรก คือในขณะที่เรากำหนดอาการท้องพองท้องยุบอยู่ว่า พองหนอ ยุบหนอ สติของเราไม่เผลอจากอาการพอง อาการยุบ ก็ถือว่าเป็นการระวัง เป็นการระวังบาปแล้ว โลภ โกรธ หลง จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในขณะที่เรากำหนดอยู่นี้
เวลาอยากยืน เรากำหนดว่า อยากยืนหนอๆ เวลาอยากเดิน กำหนดว่า อยากเดินหนอๆ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยืนหนอๆ นี่ก็ถือว่าเราระวังแล้ว ในขณะที่เราระวังนี้ บาปมันเกิดไม่ได้ ไม่ว่าเราประสบอารมณ์ทางตา เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ ได้ยินเสียงเรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ได้กลิ่นเรากำหนดว่า กลิ่นหนอๆ รู้รส เรากำหนดว่า รสหนอๆ
เวลาถูกอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ เวลาคิดเรากำหนดว่า คิดหนอๆ เวลาปวดเรากำหนดว่า ปวดหนอๆ เวลามีความสุขเรากำหนดว่า สุขหนอๆ เวลามันเฉยๆ เรากำหนดว่า เฉยหนอๆ เวลาโกรธเรากำหนดว่า โกรธหนอๆ เวลาอยากได้กำหนดว่า อยากได้หนอๆ เวลาง่วงกำหนดว่า ง่วงหนอๆ เป็นต้น
ในขณะที่เรากำหนดอยู่อย่างนี้ บาปคือความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราไม่ได้ ก็ถือว่าเราได้ระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรอย่างไร คือในขณะที่เราทำความเพียรอยู่นี้ ในขณะที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ในขณะที่เรากำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมารมณ์ อยู่ในขณะนี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี เป็นศีลแล้วตอนนี้ ถือว่ายังศีลกุศลให้เกิดขึ้นแล้ว
ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น เรากำหนดได้มาก เผลอน้อย คือในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น เรากำหนดได้มาก เผลอน้อย หรือกำหนดอาการ ขวาย่าง ซ้ายย่าง ก็เหมือนกัน เรากำหนดได้มากแล้วก็เผลอน้อย
ในขณะที่กำหนดเวทนาก็ดี กำหนดจิตก็ดี กำหนดธรรมารมณ์ก็ดี เรากำหนดได้มาก เผลอน้อย เรียกว่าจิตของเราเป็นสมาธิแล้ว ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นสมาธิแล้ว สมาธิกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว คือในขณะที่จิตของเราตั้งมั่นอยู่ในบทพระกัมมัฏฐาน ไม่เผลอหรือเผลอน้อย แต่กำหนดได้มาก เป็นสมาธิ ชื่อว่าบุญคือสมาธิเกิดขึ้นแล้วตอนนี้
ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ กำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี เราเห็นอาการพอง อาการยุบ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เราก็เห็น เราก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ในขณะที่กำหนดเวทนาว่า สุขหนอๆ หรือทุกข์หนอๆ หรือปวดหนอๆ เราก็รู้ เวทนาที่เรากำหนดแล้ว มันเป็นอย่างไร มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันหายไหม กำหนดกี่คำมันจึงหาย หรือมันไม่หายเสียเลย หรือกำหนดกี่นาทีมันจึงหาย นี่ปัญญามันเกิดขึ้นแล้ว
เราจะกำหนดจิตของเราก็ดี เรากำหนดว่า คิดหนอๆ เราสำรวจว่า เราคิดเมื่อไหร่ เราคิดขณะที่หายใจเข้า หรือคิดขณะที่หายใจออก เรารู้ หรือว่ามันเริ่มคิดในขณะที่เราก้าวเท้าขวาไป หรือเริ่มคิดในขณะที่ก้าวเท้าซ้ายไป ความคิดที่เกิดขึ้นมาแล้ว มันหายไปเมื่อไหร่ มันหายไปในขณะที่เราหายใจเข้า หรือหายไปขณะที่หายใจออก หรือหายไปในขณะที่ก้าวเท้าขวาไป หรือมันหายในขณะที่ก้าวเท้าซ้ายไป เรารู้ การรู้อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นปัญญา ปัญญาเกิดแล้ว
สรุปว่า ในขณะที่เราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ เราจะกำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใดๆ ก็ตาม หรือกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เรากำหนดอยู่นี้ เราเห็นสภาวะที่เรากำหนดนั่นเปลี่ยนแปลงไป จะลองกำหนดอาการพองอาการยุบเราก็เห็น มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็รู้ เหมือนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาแล้วนะ ปัญญากุศลเกิดขึ้นมาแล้ว
เมื่อใดปัญญาเกิดขึ้นในขันธสันดาน ที่เรียกว่า พระไตรลักษณ์ ปัญญาสูงขึ้นจนเห็นพระไตรลักษณ์ เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี อาการขวาย่างซ้ายย่างก็ดี กำหนดอาการเดินก็ดี กำหนดอาการยืนก็ดี กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมก็ดี จนเห็นพระไตรลักษณ์ คือพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมาในขันธสันดาน
เห็นอนิจจัง คือสภาวะของรูปนามไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
เห็นทุกขัง เห็นรูปนามเป็นสภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
เห็นอนัตตา ที่ติดอยู่กับรูปกับนาม คือเห็นว่ารูปนามนี้เป็นสภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาบังคับบัญชาให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราได้ อันนั้นเป็นอนัตตา
เมื่อใดเราเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ติดอยู่กับรูปกับนาม จนสามารถฆ่ากิเลสตาย คลายกิเลสออก สำรอกกิเลสหลุด ผุดเป็นวิสุทธิสงฆ์ ก็ถือว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ถือว่าเราได้ละกิเลสได้แล้ว โดยที่เป็นวิกขัมภนปหานบ้าง ตทังคปหานบ้าง สมุจเฉทปหานบ้าง เมื่อใดเราสามารถละกิเลสได้ถึงขั้นสมุจเฉทปหาน ก็ถือว่าเราได้เป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาในพระพุทธศาสนาแล้ว
เมื่อใดเราได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล เพียงแต่ขั้นปฐมมรรคคือขั้นพระโสดาบัน ก็ถือว่าเราสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาดแล้ว ตายแล้วเราจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
เพราะเหตุไร เพราะว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง เมื่อถึงกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ก็ถือว่าเราสามารถตัดกระแสของวัฏฏะได้ไปแล้ว ๑ ขณะจิต เมื่อเราสามารถตัดกระแสวัฏฏะลงได้ ๑ ขณะจิตแล้ว เราก็จะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมากเท่านั้น แล้วจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานต่อไป
นี้เป็นอานิสงส์ของพระไตรลักษณ์ คืออานิสงส์ของปัญญา เจริญกัมมัฏฐานจนสามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ติดอยู่กับรูปกับนามที่เรากำหนด เมื่อเราท่านประพฤติปฏิบัติได้ถึงนี้ ท่านทั้งหลาย ก็ถือว่าเราได้ใบประกันชีวิตแล้ว
เมื่อก่อนโน้น เรามีความวิตกกังวลหรือกระสับกระส่ายอะไรๆ ร้อยแปดพันประการว่า ทำอย่างไรหนอ เราเกิดขึ้นมานี้ หากว่าเราตายไป จะไม่ต้องตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราจะทำอย่างไรจึงจะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คิดอยู่ตลอดเวลา แม้หลวงพ่อก็เคยคิดอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
คิดจนถึงขนาดว่า เราตายไปแล้ว หากว่าเราไปตกนรกจะไม่ละอายญาติโยมหรือ ญาติโยมที่มาถวายภัตตาหารเช้าภัตตาหารเพล ถวายความอุปถัมภ์อุปัฏฐากมาตลอดเวลา แต่เวลาตายลงไปแล้ว บังเอิญโยมไปเกิดในสุคติ แต่เรากลับไปตกนรกหรือไปสู่อบายภูมิ เราจะไม่ละอายญาติโยมหรือ หลวงพ่อคิดมาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้ความวิตกอย่างนี้หายไป สิ้นไป สูญไปจากจิตจากใจของเรา ก็มีหนทางเดียว คือเรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนสามารถยังปฐมมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ก็เป็นอันว่าเราปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาดแล้ว ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ
เพราะเหตุไรจึงสามารถปิดประตูอบายภูมิได้
ก็เพราะว่าผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมะถึงนี้ ถือว่าถึงกระแสพระนิพพานแล้ว อาจจะ ๑ ขณะจิต แล้วก็มีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายแล้วจึงไม่ไปสู่อบายภูมิ
เหมือนกันกับเรายืนอยู่บนสะพานสูงๆ แล้วก็ทิ้งของต่างๆ ลงไปในน้ำ เช่นว่า ก้อนหินบ้าง ก้อนกรวดบ้าง ทรายบ้าง สิ่งของวัตถุอะไรต่างๆ ที่เราทิ้งลงไป แต่บังเอิญในน้ำนั้น มีเรือเป็นเครื่องรองรับอยู่ มีเรือลอยอยู่ เมื่อเราทิ้งลงไปมันก็ไปค้างอยู่บนเรือ ไม่จมลงไปในน้ำ ข้อนี้ ฉันใด
ผู้ปฏิบัติธรรมจนยังปฐมมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว ชื่อว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว เมื่อมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ จุติแล้ว ตายแล้ว หรือมรณภาพแล้ว ก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มีสุคติเป็นที่ไป เป็นที่ได้ เป็นที่ถึง เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้
ท่านทั้งหลาย
เมื่อมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว ก็ถือว่าเราได้ใบประกันชีวิตแล้ว
เป็นแต่เพียงว่าเราได้ขั้นปฐมมรรคอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ อย่างเรื่อง
องคุลิมาลอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว
หรืออย่างเรื่องของนายตัมพทาฐิกะ มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบท ขุททกนิกายว่า
มีบุรุษคนหนึ่ง ซึ่งมีร่างกายกำยำ แข็งแรง มีเคราแดง มีตาเหลือกเหลือง เป็นบุรุษที่น่ากลัวว่างั้นเถอะ วันหนึ่งนายตัมพทาฐิกะนี้ไปขออาศัยในสำนักของพวกโจร แต่ว่าหัวหน้าโจรไม่รับ โดยกล่าวว่า เขาไม่สามารถที่จะรับบุรุษคนนี้ได้ เพราะบุรุษคนนี้เป็นผู้มีร่างกายกำยำ น่ากลัว สามารถที่จะเชือดเอาเลือดในคอของมารดามาดื่มกินได้ เรารับไม่ได้ แล้วก็ปล่อยไป
แต่นายตัมพทาฐิกะก็ไม่กลับ ไปขออาศัยอยู่ในสำนักของสมุนบริวารโจรคนหนึ่ง และพยายามทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง จนบริวารโจรนั้นพอใจไว้ใจและเชื่อใจ แล้วก็ไปขอจากหัวหน้าโจรอีกครั้งหนึ่ง ผลสุดท้ายหัวหน้าโจรก็อนุญาตให้อยู่ได้
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ธรรมดาของโจรมันย่อมไม่อยู่เฉยๆ ต้องออกปล้นออกจี้ เพื่อแย่งชิงเอาทรัพย์สมบัติของคนโน้นคนนี้มาเลี้ยงอัตภาพร่างกายจึงจะอยู่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน นายตัมพทาฐิกะซึ่งอยู่ในพวกโจร ก็ต้องทำหน้าที่ของโจร หาปล้นหาจี้เอาทรัพย์สมบัติของคนโน้นคนนี้ จนประชาชนชาวเมืองทั้งหลายพากันเดือดร้อน ไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน
พระราชาตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่และมหาชนทั้งหลายไปตามล่าพวกโจร ๕๐๐ นั้นมาลงโทษตามกฎหมายของบ้านเมือง ผลสุดท้ายสามารถจับโจรทั้ง ๕๐๐ ได้ เมื่อจับได้แล้ว เจ้าหน้าที่พิพากษาตัดสินประหารชีวิตโจรทั้ง ๕๐๐ คนนั้นด้วยการตัดคอ คนทั้งหลายก็ไปถามหัวหน้าโจรก่อนว่า
ท่านหัวหน้าโจร ท่านสามารถที่จะประหารนักโทษ (บริวารโจร) ทั้งหลายเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ ก็จะไว้ชีวิตท่าน และจะให้คุณงามความดีจะชุบเลี้ยง หัวหน้าโจรก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เพราะว่าอยู่ด้วยกันมานานแล้ว โจรคนที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ไม่สามารถที่จะประหารได้ เขาก็ถามไปตามลำดับๆ จนไปถึงคนสุดท้ายคือนายตัมพทาฐิกะนั่นเอง
เขาก็ถามว่า นายตัมพทาฐิกะ ท่านสามารถที่จะประหารโจรเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ เราจะให้ชีวิตให้ความดีความชอบ นายตัมพทาฐิกะบอกว่า ข้าพเจ้าสามารถ เขาก็ให้ดาบแก่นายตัมพทาฐิกะ
นายตัมพทาฐิกะก็ได้ฆ่าโจรเหล่านั้นด้วยการตัดคอ คนละทีๆ ตัดเพียง ๕๐๐ ครั้ง ก็หมด เมื่อฆ่าโจรทั้งหลายเหล่านั้นได้แล้ว เขาก็ให้ชื่อว่า บุรุษผู้ฆ่าโจร เขาให้ชีวิต ให้ความดีความชอบ ตั้งไว้ในตำแหน่งนายเพชฌฆาต
นับจากนั้นมา เขาก็เอานักโทษทั้งหลายมาให้นายตัมพทาฐิกะนั้นฆ่า ครั้งละ ๒-๓ คนบ้าง ๑๐๐ คนบ้าง ๒๐๐ คนบ้าง ๕๐๐ คนบ้าง จนนายตัมพทาฐิกะทำหน้าที่เป็นบุรุษผู้ฆ่าโจรอยู่เป็นเวลา ๕๕ ปี ภายใน ๕๕ ปีนี้ เขาฆ่าคนไปตั้ง ๒,๐๐๐ คน
เมื่อเขาแก่เฒ่าลงแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะตัดคอโจรทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้ขาดไปในครั้งเดียวได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องตัด ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง จึงขาด ทำให้นักโทษทั้งหลายต้องทนทุกข์ทรมาน คนเขาเห็นแล้วจึงยกเรื่องนี้เป็นเหตุ แล้วก็ถอดนายตัมพทาฐิกะนั้นออกจากตำแหน่งบุรุษผู้ฆ่าโจร
ตลอดเวลาที่นายตัมพทาฐิกะเป็นบุรุษผู้ฆ่าโจรอยู่ ๕๕ ปีนั้น เขาไม่ได้ทำกิจ ๕ ประการเลย คือ
๑) การอาบน้ำชำระร่างกายให้บริสุทธิ์
๒) การนุ่งห่มผ้าใหม่ ก็ไม่ได้ทำ
๓) การทัดดอกไม้ของหอมมีดอกมะลิเป็นต้น เขาก็ไม่ได้ทำ
๔) การลูบไล้ร่างกายด้วยกระแจะ น้ำมัน เครื่องหอมต่างๆ เขาก็ไม่ได้ทำ
๕) การบริโภคข้าวยาคูซึ่งเจือด้วยเนยใส เขาก็ไม่เคยบริโภค
คือกิจทั้ง ๕ ประการนี้ เขาก็ไม่เคยรับเลยตลอด ๕๕ ปี วันที่เขาพ้นจากตำแหน่งบุรุษผู้ฆ่าโจร คนทั้งหลายก็ทำกิจ ๕ ประการนี้แก่นายตัมพทาฐิกะ
เช้าวันหนึ่ง นายตัมพทาฐิกะจะลงไปอาบน้ำเพื่อชำระร่างกายทำสรีระกิจ เพื่อทำกิจทั้ง ๕ ประการนั้นครบทุกอย่าง โอโลเกตฺวา ตอนนั้นเป็นเวลาใกล้จะสว่าง ท่านพระสารีบุตรเถระเข้านิโรธสมาบัติ ออกมาแล้วก็พิจารณาว่า วันนี้จะไปโปรดเขา เสร็จแล้วพระเถระเจ้าก็นุ่งสบงทรงจีวร มีกรจับบาตรลีลาศมาสู่บ้านของนายตัมพทาฐิกะ
ในขณะนั้น นายตัมพทาฐิกะก็ได้อาบน้ำชำระร่างกายประดับประดาเครื่องหอมทุกสิ่งทุกอย่าง เสร็จแล้วก็กลับมาบ้านเพื่อบริโภคข้าวยาคู พอมาถึงบ้านก็มองเห็นท่านพระสารีบุตรยืนอยู่ที่ประตูบ้าน ก็คิดได้ทันทีว่า เราเป็นบุรุษฆ่าโจรอยู่ ๕๕ ปี ตลอดระยะเวลา ๕๕ ปีนี้ เราไม่ได้ทำบุญทำทานเลย เราพ้นจากตำแหน่งแล้ว พระเถระเจ้าก็มาโปรดเราในวันนี้ และไทยธรรมของเราก็มีพร้อมแล้ว จึงได้อาราธนาพระเถระเจ้าขึ้นไปบนบ้าน แล้วจัดอาหารถวาย เสร็จแล้วพระเถระเจ้าก็ฉันภัตตาหาร
ในขณะนั้น นายตัมพทาฐิกะก็มาทำงานพัดให้ คือมาพัดให้ พัดไปๆ กลิ่นข้าวยาคูนั้นก็มาถูกกับจมูก เกิดความกระหายขึ้นมา อยากดื่ม พระสารีบุตรเห็นอาการเช่นนั้นก็เลยพูดว่า ดูก่อนอุบาสก ก็ภัตของอุบาสกก็มีอยู่แล้ว อุบาสกไปบริโภคภัตรของตนเถิด
นายตัมพทาฐิกะก็หยุดจากงานพัด ไปบริโภคอาหาร เสร็จแล้วก็มากราบพระเถระเจ้า ท่านพระสารีบุตรก็แสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ฟัง เมื่อเขาฟังพระสัทธรรมเทศนาไปก็ไม่สามารถที่จะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้ เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้แล้วนั้นเกิดขึ้นผุดขึ้นอยู่ในจิตในใจอยู่ตลอดเวลา
พระเถระเจ้าจึงถามว่า ดูก่อนอุบาสก เพราะเหตุไร อุบาสกจึงไม่สามารถส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้
เขาก็เรียนตอบว่า ท่านผู้เจริญขอรับ กระผมทำบาปมาจนนับไม่ถ้วน ๕๕ ปีนี้ ผมฆ่าโจรไปตั้งสองพันกว่าคน เมื่อผมฟังธรรมะไป ภาพที่ผมทำบาปทำกรรมนั้น ผุดขึ้นมาในจิตในใจอยู่ตลอดเวลา เรียกว่ามาปรากฏอยู่ในมโนทวารอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ กระผมจึงไม่สามารถทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ ไม่สามารถที่จะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้
พระสารีบุตรท่านเป็นผู้เปี่ยมด้วยปัญญา ก็หากุศโลบายเพื่อเปลี่ยนความคิดของนายตัมพทาฐิกะ แล้วก็ใช้กุศโลบาย พระเถระเจ้าถามว่า ดูก่อนอุบาสก ในขณะที่ฆ่าโจรนั้น อุบาสกฆ่าเองหรือ หรือว่าคนอื่นใช้ให้ฆ่า เขาตอบว่า ท่านขอรับ ผมไม่ได้ฆ่าเอง พระราชาสั่งให้ฆ่า พระเถระจึงว่า เมื่ออุบาสกไม่ได้ฆ่าเอง พระราชาสั่งให้ฆ่า บาปก็ไม่ตกอยู่ที่อุบาสก บาปก็ตกอยู่ที่พระราชาโน้น
พอเขาได้ฟังเท่านั้นแหละ ก็ดีอกดีใจขึ้นมาทันทีว่า เรานี้ฆ่าคนตั้งสองพันกว่าคน การที่ฆ่าคนสองพันกว่าคนนี้ บาปกรรมเหล่านั้นไม่ตกอยู่ที่เราเลย ตกอยู่ที่พระราชาผู้เดียว ก็ดีอกดีใจขึ้นมา เกิดปีติฟังเทศน์ฟังธรรม ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา จนสามารถยังอนุโลมขันติให้เกิดขึ้นภายในขันธสันดาน คือได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระโสดาบัน
เมื่อเขาได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว พระเถระเจ้าก็ยุติการแสดงพระธรรมเทศนา ลากลับวัด นายตัมพทาฐิกะนี้ก็ตามไปส่ง เมื่อส่งถึงที่แล้วก็กลับมา ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย บังเอิญหนทางที่จะกลับบ้านนั้น ยักษิณีที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรซึ่งทำบาปทำกรรมต่อกันมาแต่ชาติปางก่อน แปลงร่างมาในร่างของแม่โคลูกอ่อน มารออยู่ก่อนแล้ว พอนายตัมพทาฐิกะมาถึง แม่โคนั้นก็กระโดดขวิดอย่างแรง นายตัมพทาฐิกะก็ถึงแก่มรณกรรมไป
ในเช้าวันนั้น บรรดาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่อยู่โรงธรรมสภาศาลา ได้สนทนากันในเรื่องนายตัมพทาฐิกะว่า ท่านทั้งหลาย นายตัมพทาฐิกะนี้ เขาเป็นโจรอยู่ ๕๕ ปี ๕๕ ปีนี้เขาฆ่าคนไปตั้งสองพันกว่าคน เขาพ้นจากตำแหน่งแล้ว ก็ได้ทำบุญทำทานแก่พระเถระเจ้าวันนี้ แล้วก็ได้ฟังธรรมะจากพระเถระเจ้าวันนี้ แล้วก็ถึงมรณกรรมตายไปวันนี้ เมื่อเขาตายแล้วไปเกิดในที่ไหนหนอ
ขณะนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบก็เสด็จมา และตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันในเรื่องอะไร พวกภิกษุกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันในเรื่องของนายตัมพทาฐิกะว่า เขาตายแล้วไปเกิดในที่ไหน พระพุทธเจ้าข้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไปเกิดแล้วในชั้นดุสิตบุรี
พอพระองค์ตรัสเช่นนั้น พระทั้งหลายก็งง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงตรัสเรื่องอะไร เป็นไปได้หรือ นายตัมพทาฐิกะเขาเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี เขาฆ่าคนไปตั้งสองพันกว่าคน เมื่อตายแล้วจะไปเกิดในชั้นดุสิตบุรีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า หรือว่าผลของบุญบาปไม่มี
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายอย่าได้กล่าวเช่นนั้น เมื่อก่อนโน้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรแม้สักคนเลย แต่บัดนี้ บุตรของเราได้กัลยาณมิตรแล้ว ได้ถวายทานแก่พระสารีบุตร ได้ฟังธรรมของพระสารีบุตร สามารถยังอนุโลมขันติให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน จุติแล้วจึงไปบังเกิดในชั้นดุสิตบุรี แทนที่จะตกนรกกลับไปเกิดในชั้นดุสิตบุรี
นี่แหละท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนสามารถยังปฐมมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้อย่างนี้ ตายแล้วก็เป็นอันว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด จะไม่ไปสู่อบายภูมิอีก อันนี้เป็นข้อที่ ๒ คือปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป
๓. ภาวนาปธาน เพียรยังกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน ได้แก่ การเพียรและการเจริญกัมมัฏฐาน เหมือนอย่างที่เราท่านทั้งหลายทำอยู่ในทุกวันนี้ เราเพียรในการเจริญกุศล เพียรพยายามรักษาศีลของตัวเองให้บริสุทธิ์ เพียรยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน เพียรอบรมบ่มปัญญา ทั้งที่เป็นโลกิยปัญญา ทั้งที่เป็นโลกุตตรปัญญา ทั้งสุตมยปัญญา ทั้งจินตมยปัญญา ทั้งภาวนามยปัญญา ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน
สรุปสั้นๆ ว่าเราเพียรให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา อย่างนี้เรียกว่า เพียรให้บุญกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดาน หมายความว่า ในขณะที่เราเดินจงกรม เราก็กำหนดตามไป ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยืนหนอๆ อยากนั่งหนอๆ นั่งหนอๆ พองหนอ ยุบหนอ เจ็บหนอ ปวดหนอ สุขหนอ เฉยหนอ คิดหนอ โกรธหนอ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเพียรพยายาม
ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพยายามกำหนดตามไปตลอดเวลา ไม่ลดละความพยายาม เรากำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ คือยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรามีสติสัมปชัญญะ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ตลอดเวลา ก็ถือว่าเราเพียรพยายามให้บุญกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดาน
บุญกุศลก็ตรงกันข้ามกับบาป บาปนั้น คือ โลภะ โทสะ โมหะ ว่าโดยสภาวะก็เป็นอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น สำหรับบุญก็เหมือนกัน บุญ เมื่อกล่าวโดยสภาวะ ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นตัวบุญ
แต่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ทำบุญแล้ว อยู่ในโลกนี้ก็ไม่เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มากด้วยเวร เป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ มีชื่อเสียงอันดีงาม เมื่อจะตายก็จะมีสติ ตายแล้วก็จะไปสู่สุคติ ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปเกิดในเทวโลกบ้าง ไปเกิดในพรหมโลกบ้าง ไปสู่พระนิพพานบ้าง อะไรทำนองนี้ อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำบุญต่างหาก
บุญนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวะก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ในขณะที่เรากำหนดบทพระกรรมฐาน เวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ เรากำหนดอยู่ตลอดเวลา คือว่าเราเพียรพยายามยังบุญให้เกิดขึ้น ยังกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ก็คือเราเพียรพยายามรักษาศีล รักษาสมาธิ รักษาปัญญาที่เราได้มาแล้วนั้น ให้อยู่กับขันธสันดานเรา หรือว่าให้อยู่กับกายกับใจของเรา
คือว่า เมื่อเราได้สมาธิสมาบัติ เราก็เพียรให้สมาธิสมาบัตินั้นอยู่กับตัวของเราตลอดไป หรือว่าเราได้อริยมรรค อริยผล จนถึงนิพพานแล้ว เราก็รักษาอริยมรรคอริยผลและนิพพานนั้นไว้ในตัวและตนของเราตลอดไป ถือว่าเรารักษาคุณงามความดีที่บำเพ็ญได้แล้วให้ดำรงอยู่ ให้ตั้งอยู่ในขันธสันดานของเราตลอดไป
ท่านทั้งหลาย คนที่มาสู่สถานที่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เรามาฝึก มาฝน มาอบ มารม
ประการที่๑ ฝึก คนทั้งหลายที่เขาฝึกช้าง ฝึกม้า เขาฝึกไว้ทำไม เขาฝึกไว้ให้มันชำนิชำนาญ ถ้าม้าชำนิชำนาญแล้ว เขาก็เอาไปเป็นม้าแข่งบ้าง ใช้ราชการสงครามบ้าง ช้างก็เหมือนกัน เขาฝึกให้ชำนิชำนาญแล้ว เขาจะเอาไปลากซุงบ้าง เอาไปใช้ในราชการบ้าง ข้อนี้ฉันใด
เรามาฝึกตัวของเราในขณะนี้ โดยให้มีสติสัมปชัญญะทุกขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรากำหนดอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า เรามาฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกใจของเรา ให้มีสติสัมปชัญญะ ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรามาฝึกกำหนดจิต กำหนดเวทนา กำหนดธรรมอยู่ตลอดเวลานี้ ในขณะนี้เรามาฝึก
ในเมื่อเราฝึกฝนอบรมดีแล้วให้คล่องแคล่วแล้ว เราฝึกตัวเองให้อาจหาญ ให้สามารถ ให้รู้หลักการ ให้รู้วิธีการ ในการที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดจากขันธสันดานของตนได้ เมื่อเราฝึกฝนจนเกิดความคล่องแคล่วว่องไว มีไหวพริบ มีสติปัญญาดีแล้ว เราก็จะไปทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน
หมายความว่า เมื่อเราฝึกกำหนดอย่างนี้ๆ อยู่ตลอดเวลา สติของเราก็จะมีกำลัง มีอานุภาพ มีพลัง มีสมรรถนะสูง สูงจนเหนือกว่าโมหะ เมื่อสติของเรามันสูงกว่าโมหะแล้ว เราก็จะเอาสตินี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสทั้งหลายให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา หรือพูดอย่างหนึ่งว่า เมื่อสติมีกำลังสมบูรณ์แล้ว สตินี้ก็จะทำหน้าที่ดับโมหะให้หมดไปจากขันธสันดาน ตามกำลังของสติ
ถ้าดับได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็ถือว่าเราได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าดับได้เป็นสมุจเฉทปหานครั้งที่ ๒ ก็ถือว่าเป็นพระสกทาคามี ถ้าดับได้ครั้งที่ ๓ ก็ถือว่าเป็นพระอนาคามี ถ้าดับได้ครั้งที่ ๔ ก็เป็นอันว่ากิเลสตัณหาหมดแล้ว เราอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดอีกของเราไม่มี กิจอื่นที่จะต้องทำก็ไม่มี เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้ เป็นที่ถึง เป็นที่บรรลุแล้ว เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจเป็นอันขาด
สรุปเอาสั้นๆ ว่า เวลาจะเจริญพระกัมมัฏฐานนี่ ถ้าผู้ใดมีสติสมบูรณ์เร็ว ผู้นั้นก็จะได้บรรลุธรรมวิเศษเร็ว แต่ถ้าผู้ใดชะล่าใจ ไม่สนใจในการที่จะใช้สติกำหนดบทพระกัมมัฏฐานที่เรากำหนดอยู่ขณะนี้ ผู้นั้นก็บรรลุช้าหรือไม่ได้บรรลุเสียเลย
ขอสรุปเอาว่า เราทำกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ เราทำเพื่อต้องการให้สติของเรามีกำลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง มีพลัง เมื่อสติของเราสูงสมบูรณ์แบบแล้ว เราก็จะเอาสตินี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เหตุนั้น เรามาสถานที่นี้ เราจึงมาฝึกตัวเราเอง เพื่อให้เกิดความสามารถดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ประการที่ ๒ ฝน นอกจากฝึกแล้วก็ฝน คำว่า ฝน ภาษากรุงเทพเขาเรียกว่า ลับ แต่ขอพูดประโยคเดียวว่า ลับกับฝนอันเดียวกัน ถ้า ฝน นั้นเป็นภาษาอีสาน ถ้า ลับ เป็นภาษากรุงเทพฯ
เราทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ เรามาฝนตัวของเรา ฝนอะไร ฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจของเรา เราฝนอย่างไร เพราะเห็นว่า ตั้งแต่เวลามาอยู่ที่นี่ตั้งหลายวันแล้ว ไม่ได้เห็นฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจเลย บางท่านอาจจะคิดอย่างนี้
ท่านทั้งหลาย ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น เราเริ่มฝนแล้ว ฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจ เอาอะไรฝน เอาสติฝน ฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจ แล้วฝนอย่างไร ขณะที่ตาเห็นรูป เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ เริ่มฝนแล้วนะ ถ้ากำหนด ๓ ครั้ง ก็เรียกว่าฝน ๓ ครั้งแล้ว กำหนด ๗ ครั้ง ก็ถือว่าฝน ๗ ครั้งกลับไปกลับมาแล้ว
ในขณะที่หูได้ยินเสียงกำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ฝนหูแล้ว ในขณะที่จมูกได้กลิ่นกำหนดว่า กลิ่นหนอๆ ฝนแล้ว ฝนจมูกแล้ว ในขณะที่ลิ้นได้รสกำหนดว่า รสหนอๆ นี่ฝนลิ้นแล้ว ในขณะที่กายถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำหนดว่า ถูกหนอๆ เราฝนกายแล้ว
เพราะเหตุไรจึงต้องฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจ
เพราะว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามันมีสนิม
อะไรเป็นสนิม
โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา นี่ถือว่าเป็นสนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเราฝนตา เหมือนกับคนทั้งหลายก่อนที่เขาจะเอาพร้าเอามีดเอาขวานมาใช้ เขาก็ต้องฝนให้มันหมดสนิมเสียก่อน เมื่อพร้าก็ดี มีดก็ดี ขวานก็ดี มันหมดสนิมแล้ว และมันคมดีแล้ว เขาก็สามารถที่จะนำไปตัดโน่นฟันนี่ได้ตามประสงค์ ข้อนี้ฉันใด
เมื่อเราทั้งหลายมาฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจของเรา ให้มันหมดสนิมคือกิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถือว่าเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่คมแล้วนะทีนี้ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามันคมแล้วด้วยสติ คมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เราก็สามารถเอาไปตัดกิเลสตัณหาให้หมดไปให้สูญไปจากขันธสันดาน เหตุนั้น เรามาสถานที่นี้ นอกจากมาฝึกแล้วก็มาฝนด้วย
ประการที่ ๓ อบ เรามาสู่สถานที่นี้ เรามาอบ มาอบกาย อบวาจา อบใจของเรา เหมือนกับคนทั้งหลายที่เขาอบเครื่องนุ่งห่มของเขา อบผ้า อบผ้านุ่งผ้าห่มของเขา
เขาอบเพื่ออะไร เพื่อต้องการให้ผ้าของเขาหอมไปด้วยกลิ่นของหอม เช่นว่า กลิ่นพิมเสน แก่นจันทร์ หรือเครื่องหอมต่างๆ เมื่อเขาอบแล้ว เครื่องนุ่งห่มก็จะหอมไปด้วยกลิ่นของหอมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ข้อนี้ฉันใด
เรามาอบกาย อบวาจา อบใจของเรา ด้วยการเจริญกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ก็คือเรามาอบกาย อบวาจา อบใจของเราให้หอมไปด้วยกลิ่นศีล หอมไปด้วยกลิ่นสมาธิ หอมไปด้วยกลิ่นปัญญา
เมื่อใด กายวาจาใจของเรามันหอมไปด้วยกลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญา กิเลสหรือบาป ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ซึ่งเรียกว่า วีติกกมกิเลส หรือปริยุฏฐานกิเลส อนุสัยกิเลส ก็ไม่สามารถที่จะครอบงำขันธสันดานของเราได้ คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น ก็ไม่สามารถที่จะครอบงำจิตใจของเราได้
เหตุนั้น เรามาสู่สถานที่นี้ เราจึงมาอบตัวของเราให้หอมไปด้วยกลิ่นศีล หอมไปด้วยกลิ่นสมาธิ หอมไปด้วยกลิ่นปัญญา เมื่อตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญาแล้ว บาปทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียด และอย่างกลาง ก็จะมาเกาะมาจับตัวของเราไม่ได้
ประการที่๔ รม เรามาสู่สถานที่นี้ เรามารมตัวของเรา เหมือนกับคนทั้งหลายที่เขารมควันไฟ
เพราะเหตุไรเขาจึงรมควันไฟ
เพราะต้องการให้ความร้อนหรือไอของไฟนั้นจับอยู่หรือเกาะอยู่ที่ตัวของเขา ข้อนี้ฉันใด เรามารมตัวของเราด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อว่าให้กลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญา กลิ่นมรรค กลิ่นผลนั้น เกาะอยู่หรือจับอยู่ที่ตัวของเรา หรือให้ตัวของเราเกาะอยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา กับอริยมรรค กับอริยผล
เมื่อใด ตัวของเรานี้มันหอม มันเกาะอยู่หรือจับอยู่กับศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค อริยผล เกาะอยู่หรือจับอยู่ที่ตัวของเรา
เมื่อนั้น ก็ถือว่าเราได้บรรลุสุขอันไพบูลย์แล้ว ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่ประเสริฐแล้ว ไม่เสียชาติเกิด เกิดมานี้ไม่เสียชาติเกิด เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว แม้ไม่มีปสาทะศรัทธามาก่อน แต่ก็ยังมีโอกาสเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วได้รู้ธรรม ได้บรรลุธรรม
ท่านทั้งหลาย ในอัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เราทั้งหลายจงสังเกตดู หรือเราทั้งหลายก็พอที่จะรู้ว่า คนทั้งหลายเขาจะนำสัตว์มาใช้งาน เขาต้องฝึกเสียก่อน เช่นว่า จะนำช้างมาใช้งาน จะนำม้ามาใช้งาน หรือจะนำลิงมาเล่นละคร อย่างนี้เป็นต้น เขาต้องฝึกเสียก่อน จึงจะได้ประโยชน์จากการมีช้าง มีม้า หรือมีลิง หรือมีสัตว์ประเภทอื่นๆ ข้อนี้ฉันใด พวกเราทั้งหลายมาฝึกตัวของเราอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อว่าจะถือเอาประโยชน์จากการที่มีกายมีใจ
อีกอย่างหนึ่ง พวกทหาร เมื่อเขาจะเข้าสู่แนวรบ เขาก็ต้องฝึกฝนอบรม เขาต้องฝึกฝนให้รู้ ให้เข้าใจ ให้ชำนิชำนาญในยุทธภูมิ ในการใช้อาวุธ เรื่องการยิงปืน การยิงจรวด ในการใช้อาวุธนำวิถี เขาก็ต้องฝึกเสียก่อน จึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ข้อนี้ ฉันใด
เราเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะเอาชนะข้าศึกคือกิเลส เราก็ต้องฝึกเสียก่อน ถ้าเราไม่ฝึกมันก็ไม่สามารถจะเอาชนะกิเลสได้ เมื่อเราฝึกแล้วจึงจะสามารถเอาชนะกิเลสได้ เหตุนั้น เราทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ และปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้ ก็คือเรามาฝึกตัวของเราให้ชำนิชำนาญ ให้รู้วิธีการ ให้รู้หลักการ ในการจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน
ท่านทั้งหลาย คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว มีของ ๒ อย่างเท่านั้น คือมีกายกับมีใจ เมื่อเราเกิดมามีกายมีใจแล้ว เราไม่รู้จักใช้กายใช้ใจ หรือว่าเราไม่รู้วิธีใช้กายใช้ใจ ไม่รู้จักถือเอาประโยชน์ของการมีกายมีใจ ใช้กายใช้ใจไม่เป็น ก็ถือว่าเราขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร แต่เมื่อเรามีกายมีใจแล้ว เรารู้จักกายรู้จักใจ รู้วิธีใช้กายใช้ใจ และก็ใช้กายใช้ใจให้มันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
อะไรที่จะได้ประโยชน์ เราจะถือเอาประโยชน์จากการมีกายมีใจได้อย่างไร เมื่อเห็นว่า เรามีกายมีใจแล้ว เราจะถือเอาประโยชน์จากกายจากใจนี้อย่างนี้ๆ เรารีบถือเอาประโยชน์จากกายจากใจนั้น จึงจะถือว่าเราได้ทั้งทุนได้ทั้งกำไร เกิดมาแล้วไม่เสียชาติเกิด ไม่ขาดทุน
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเรามีกายมีใจแล้ว หากว่าเราตั้งกายตั้งใจไว้ไม่ถูก เมื่อตั้งใจไว้ไม่ถูก การคิดก็ผิด การทำก็ผิด การพูดก็ผิด การคบกันก็ผิด ผลที่ได้รับ เราเองก็เดือดร้อน คนอื่นก็เดือดร้อน สังคมก็เดือดร้อน แต่ถ้าเราตั้งใจไว้ถูก การคิดก็ถูก การทำก็ถูก การพูดก็ถูก การคบกันก็ถูก ผลที่ได้รับ เราเองก็มีความสุข คนอื่นก็มีความสุข สังคมก็มีความสุข
เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่สถานที่แห่งนี้ เรารู้แล้วว่า ตัวของเรานั้นมี ๒ อย่าง คือ กายกับใจ
ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามใช้กายใช้ใจให้เป็นประโยชน์ จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ระวังอย่าให้เผลอไป อย่าเป็นผู้ประมาท พยายามใช้สติสัมปชัญญะ พยายามกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พยายามรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ พยายามบำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน พยายามอบรมบ่มปัญญาให้ขึ้นเกิดในตัวเอง
ที่แสดงมาก็เห็นพอสมควรแก่เวลา
ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
๑ (องฺ. จตุกฺก.๑๓/๑๓/๑๔)