ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความสงบ หมายความว่า การที่ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจะได้บรรลุสามัญผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หากว่าขาดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เหตุนั้น หากว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นี้ยังไม่เกิด ก็ต้องทำให้เกิด ถ้าเกิดแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้คงอยู่และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ปัสสัทธินั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ
กายปัสสัทธิ ความสงบกายคือเจตสิก เพราะการเจริญสมถะและวิปัสสนา ๑
จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิต เพราะการสงบเจตสิกและการเจริญสมถะและวิปัสสนา ๑
ปัสสัทธินั้น โดยสภาวะ เกิดในเวลาปฏิบัติ เป็นอย่างนี้ คือ
๑. จะมีอาการสงบเงียบดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้ หูยังได้ยินเสียงอยู่ บางท่านก็เข้าใจว่าเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้วก็มี บางท่านก็เข้าใจผิดว่าได้สมาบัติแล้วก็มี
๒. ไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญ คือความฟุ้งก็ไม่มี ความซ่านก็ไม่มี จิตใจจดจ่อต่อบทพระกัมมัฏฐานที่ใช้กำหนดอยู่ อารมณ์ใดๆที่เกิดขึ้นมา ก็ไม่ทำให้เกิดรำคาญได้
๓. กำหนดรูปนามได้ดี เช่น กำหนดอาการพองอาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก กำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่าง หรือกำหนดทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ดีที่สุด
๔. มีอาการเยือกเย็นสบายๆเวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน คล้ายๆกับว่าเราหมดกิเลสแล้ว คือ โลภ โกรธ หลง ไม่ปรากฏได้เลย เดินก็สบายๆ นั่งก็สบายๆ จิตใจสบาย
๕. พอใจในการกำหนดรูปนาม ไม่เหมือนเมื่อก่อนนั้นต้องข่มใจกำหนด จะกำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่างก็ต้องข่มใจ เวลานั่งก็ต้องข่มใจนั่ง จะกำหนดอาการพองอาการยุบก็ข่มใจจึงจะกำหนดได้ก็มี แต่ถ้าปัสสัทธิเกิดขึ้นมาแล้ว จะพอใจในการกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ไม่ต้องข่มใจหรือบังคับเหมือนเมื่อก่อน
๖. ความรู้สึกเงียบไป คล้ายๆหลับไป คือใจสงบเงียบไปนานๆ บางทีนั่งเพลินไปจนลืมเวลาก็มี
๗. กายเบา คล่องแคล่วดี คล้ายๆกับว่าร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก จะเป็นเวลาเดินจงกรมหรือเวลานั่งกัมมัฏฐานก็ตาม รู้สึกเบาเหมือนกับปุยนุ่น หรือเหมือนกับสำลี บางทีคล้ายๆกับว่าร่างกายของเรานั้นจะปลิวไป เราคิดว่าจะพลิกไปข้างซ้ายหรือข้างขวาเท่านั้น มันพลิกวับไปทันที เหมือนร่างกายนี้ไม่มีน้ำหนัก บางทีทำให้คิดว่าตัวเองจะเหาะได้ อะไรทำนองนี้
๘. สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม ไม่มีความกระวนกระวาย ใจสงบดี ทำให้กำหนดได้ติดต่อกัน ดุจด้ายสนเข็ม
๙. มีความคิดปลอดโปร่งดีมาก หมายความว่า เมื่อก่อนนั้นเราขบคิดปัญหาอะไร และมีความสงสัยอยู่ในจิตในใจ แต่เมื่อปัสสัทธิเกิดขึ้นมาแล้ว ความสงสัยก็หมดไป ความคิดปลอดโปร่ง จะแต่งกาพย์แต่งกลอนก็สามารถที่จะแต่งได้ บางทีคิดจะแต่งคำโคลงคำฉันท์ก็สามารถที่จะแต่งได้
บางท่าน เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว คล้ายๆกับว่าเกิดปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ คือ เราคิดจะเทศน์ปฏิภาณโวหาร เช่น คิดจะเทศน์เรื่องโลภะอย่างเดียวเท่านั้น คิดเทศน์อยู่ตั้ง ๑๐ วัน โดยไม่ซ้ำกับเนื้อความเดิม หรือจะคิดเทศน์เรื่องอวิชชาอย่างนี้ เราคิดเทศน์อยู่ตั้ง ๙ วัน ๑๐ วัน ก็สามารถจะคิดได้ คล้ายๆกับว่าแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา คิดอะไรมันปลอดโปร่งทุกสิ่งทุกประการ แต่เมื่อปัสสัทธิมันสงบระงับไปแล้ว เราจะคิดเทศน์คิดสอนก็คิดไม่ได้
๑๐. ผู้มีนิสัยดุร้าย ทารุณ เหี้ยมโหด เคยฆ่าเคยประหารมาแล้ว เช่น เคยฆ่าคนบ้าง เคยฆ่าวัวฆ่าควายมาบ้าง ก็จะคิดขึ้นมาได้ว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นละเอียดยิ่งนัก ส่วนเรานั้นยังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่ว กระทำแต่ความดี สอนตัวเองได้เลย เมื่อปฏิบัติมาถึงปัสสัทธินี้
๑๑. คนที่เป็นพาลเกเร เคยติดเหล้าเมาสุรา เคยติดฝิ่นกินกัญชามาแล้ว ก็เลิกสิ่งเหล่านั้นได้ บางทีก็เลิกสูบบุหรี่เลิกกินหมากได้ หากว่าปัสสัทธิเกิดแล้วผู้ปฏิบัติจะมีนิสัยเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จะอ่อนเหมือนผักต้มน้ำร้อน ครูบาอาจารย์ไม่จำเป็นจะต้องขะมักเขม้นในการแนะนำพร่ำสอน ผู้ปฏิบัติจะสอนตัวเองแนะนำตัวเอง และก็ดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง
๑๒. บางครั้งก็ทำให้มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง เหมือนกับท่อนไม้ก็มี เวลาเข้าสมาธิ ถ้าผู้ใดปัสสัทธิสูงจะมีอาการแข็งมาก สมมติว่าให้เข้าสมาธิอิริยาบถนอน เมื่ออยู่ในสมาธิ ถ้าผู้ที่ปัสสัทธิสูง เรายกขึ้นแล้วเอาศีรษะไปพาดกับม้าตัวหนึ่ง เอาเท้าพาดกับม้าอีกตัวหนึ่ง สามารถพาดได้วางได้ เหมือนกันกับท่อนไม้ ไม่อ่อนลงเลย เข้าในอิริยาบถยืนก็เหมือนกัน เรายกมาแล้วสามารถหามไปที่ไหนก็ได้ เหมือนกับหามต้นไม้หรือต้นกล้วย
เหตุนั้น ปัสสัทธินี้จึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิด ถ้าไม่เกิด เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไป ส่วนมากจะทำให้เกิดความกลุ้มใจ เกิดความคิดมาก เกิดความเบื่อหน่ายในการประพฤติปฏิบัติ บางทีก็คิดว่า เรานี้ตกนรกทั้งเป็นแล้ว
แต่ถ้าผู้ที่ปัสสัทธิเกิดแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมจะเกิดความเพลิดเพลินไปเรื่อย มีความอุตสาหะพยายามในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
ปัสสัทธิ มีความสงบจากความกระวนกระวายของจิตและเจตสิกเป็นลักษณะ มีความกำจัดความกระวนกระวายของจิตและเจตสิกเป็นกิจ มีความไม่ดิ้นรนแห่งจิตและเจตสิกทำให้จิตและเจตสิกเยือกเย็นเป็นผลปรากฏ มีกายคือเจตสิกและจิตเป็นเหตุใกล้ชิด
ปัสสัทธิจะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยเหตุ ๙ ประการ คือ
๑. ใส่ใจโดยอุบายอันแยบคาย คือให้เอาสติปักลงไปให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่นเรากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เอาสติปักลงไปตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง สุดพอง เริ่มยุบ กลางยุบ สุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน มีสติกำหนดให้ดี
๒. พยายามทำให้มากๆ อย่าให้ขาดระยะ พยายามทำให้ติดต่อกัน หมายความว่า ในชั่วโมงพักจากการปฏิบัติก็มิใช่ว่าเราจะหยุดการกำหนด เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม เราจะไปสรงน้ำอาบน้ำก็ตาม เราก็ต้องกำหนด เราจะถ่ายหนักถ่ายเบา จะนุ่งจะห่ม เราจะทำครัวทำอะไรก็ตาม เรากำหนด เรามีสติติดต่อกัน ไม่เผลอ ไม่ขาดสติในการทำงานนั้นๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัสสัทธิได้
๓. เสพโภชนะอันประณีต คำว่า โภชนะอันประณีต ในสำนักของเรานี้คงจะหาได้ยาก เอาเป็นเพียงว่า โภชนะเหล่าใดที่เราบริโภคเข้าไปแล้วทำให้เกิดความไม่สบายในร่างกายในจิตใจ เช่นว่า อาหารบางอย่างเป็นอาหารที่แสลงโรค เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วทำให้เกิดความไม่สบาย ควรเว้นอาหารพวกนั้นเสีย
หรืออาหารบางประเภททานแล้วทำให้เกิดลม เช่น พวกหัวหอม กระเทียม เป็นต้น ทำให้นั่งสมาธิไม่ค่อยสะดวก ตลอดถึงของดองประเภทต่างๆ หรือของที่มีรสเค็มจัด เปรี้ยวจัด ทานเข้าไปแล้วเวลานั่งสมาธิทำให้เกิดลมตีขึ้น นั่งไม่สบาย จิตใจก็ไม่สามารถสงบเป็นสมาธิได้
หรือว่าอาหารบางประเภททานเข้าไปแล้วทำให้เกิดความง่วง บางอย่างก็ทำให้เกิดราคะจัดเกินไป บางทีก็ทำให้เกิดความโกรธง่าย ดังนั้น จึงควรที่จะรับประทานอาหารที่เบาๆ เช่น พวกผักผลไม้ เป็นต้น เมื่อไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ร่างกายก็เบาสบายเกิดปัสสัทธิได้
๔. เสพฤดูอันเป็นที่สบาย ฤดูที่สบายที่สุดในสถานที่นี้ก็คือฤดูฝน ถือว่าเป็นฤดูที่สบายที่สุด แต่เวลาประพฤติปฏิบัติจริงๆเราถือเอาเพียงว่า สถานที่เหล่าใดที่เรานั่งเหมาะแก่อัธยาศัย มีลมพัดโชยผ่านไปมา ซึ่งไม่ทำให้เกิดความร้อนเกินไป คือมองดูแล้วสถานที่นี้มันน่าสบาย เรานั่งที่นี้คงจะเย็นดี เราก็ไปนั่งสถานที่นั้นๆ
และหากว่าไม่จำเป็นจริงๆ อย่านั่งอยู่ในห้องแคบๆ เช่น กุฏิกัมมัฏฐานเล็กๆของเรา เพราะการนั่งอยู่ในห้องแคบๆ ส่วนมากไม่ค่อยได้สมาธิ วิปัสสนาญาณไม่ค่อยเกิด นั่งไปนั่งมาก็เอนข้างลงนอนเท่านั้น ถ้านั่งในห้อง ส่วนมากนั่งไม่นาน นั่งไปนั่งมานอนแล้ว ถ้าว่าเรานั่งอยู่ข้างนอกบ้าง นั่งอยู่ตามพื้นดินบ้าง นั่งได้นาน ได้ตามกำหนด ทำให้จิตใจสงบ ทำให้เกิดปัสสัทธิได้ง่าย
๕. เสพอิริยาบถเป็นที่สบาย คำนี้หมายความว่า พยายามเดินจงกรมและนั่งสมาธิให้เท่ากัน ให้สม่ำเสมอกัน ไม่ใช่หมายความว่า อิริยาบถเป็นที่สบายก็มีแต่นอนเท่านั้น นอกจากนอนแล้วไม่สบายหรอก แล้วก็เอนข้างเอนหลังลงนอนหลับทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
เหตุนั้น คำว่าเสพอิริยาบถอันเป็นที่สบาย คือพยายามเดินจงกรมนั่งสมาธิให้สม่ำเสมอกัน คือ เดิน ๓๐ นาที ก็นั่ง ๓๐ นาที เดิน ๑ ชั่วโมง ก็มานั่ง ๑ ชั่วโมง ให้สม่ำเสมอกัน
ถ้าทำให้สม่ำเสมอกันได้ดังนี้ก็จะได้ประโยชน์หลายประการ คือ ทำให้การปฏิบัติธรรมของเราได้ผลเร็ว ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายไป เช่น โรคอัมพาต โรคเหน็บชา หายไปได้ หรือป้องกันไม่ให้โรคเหล่านี้เกิดได้ ถ้าเรานั่งอย่างเดียว ปฏิบัติทั้งปีก็ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้ ทั้งยังทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นอีกด้วย
๖. วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติธรรม บางครั้งเราอาจจะนึกถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของเรา อยากให้ได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติปฏิบัติ เดินอยู่ก็นึกถึงแต่ผู้มีพระคุณ นั่งก็นึกถึงแต่ผู้มีพระคุณ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้คิดว่า เรานี้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เรายังมีโอกาสที่จะแนะนำพร่ำสอนอยู่ ถ้ามีโอกาสจะให้มาปฏิบัติทีหลัง เราคิดพิจารณาอย่างนี้
ถ้ายังไม่หายก็ให้ปลงเสียว่า เราจะไปคิดถึงท่านทำไมหนอ ด้วยว่าท่านมาเกิดในที่นี้ก็เพราะกรรมของท่าน เมื่อจะจากโลกนี้ไปก็ไปเพราะกรรมของท่าน แม้เราเองเกิดมาในที่นี้ก็เพราะกรรมของเรา เมื่อจากโลกนี้ไปก็จะไปเพราะกรรมของเรา เราจะไปห่วงท่านเพื่อประโยชน์อะไร เราควรรีบทำประโยชน์ของตนดีกว่า เมื่อคิดดังนี้ ก็เป็นเหตุให้วางตนเป็นกลางได้
หรือบางทีเราเห็นคนทะเลาะกัน ผัวเมียทะเลาะกัน เราก็ไปคิดไปยึดข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้จิตใจของเราไขว้เขว ไม่สามารถทำสมาธิได้
เหตุนั้น เมื่อประสบเหตุใดๆ ซึ่งเราไม่สามารถจะปลงจิตให้เป็นกลางได้ ก็ขอให้นึกถึงกรรม ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็จะเป็นเหตุให้วางตนเป็นกลางได้ ทำให้เกิดปัสสัทธิ
๗. เว้นจากบุคคลที่เป็นพาล ผู้มีกาย วาจา ใจ ไม่สงบ ถ้าว่าเราไปคบคนประเภทนี้ นอกจากจะทำให้ไม่เกิดปัสสัทธิแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนด้วย
๘. พยายามคบหาแต่บุคคลผู้มีจิตและกายคือเจตสิกอันสงบระงับ
๙. น้อมใจไปในองค์พระกัมมัฏฐานนั้นๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ก้ม เงย คู้ เหยียด เหลียวซ้ายแลขวา สรงน้ำ ถ่ายหนัก ถ่ายเบา นุ่งห่ม ดื่ม ฉัน เป็นต้น พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบัน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัสสัทธิเกิดขึ้น
สรุปแล้วว่า ปัสสัทธิ เป็นองค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือความสงบ หมายความว่า ผู้ที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ต้องมีความสงบจิตและเจตสิกเสียก่อน สมาธิจึงจะเกิด เมื่อสมาธิเกิดจึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วจึงจะเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้
เหตุนั้นก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพยายามทำปัสสัทธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดานโดยวิธีที่ได้บรรยายไปแล้วข้างต้น
เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็คิดว่าเป็นเวลาสมควรแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.