สมาธิสัมโพชฌงค์
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ จะน้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สมาธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
สมาธิสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือสมาธิ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรม นอกจากจะอาศัยธรรมะอย่างอื่นเป็นเครื่องประกอบแล้ว ยังต้องอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน เป็นเครื่องรองรับ จึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เพราะว่าสมาธินั้นเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือถ้าไม่มีสมาธิแล้ว ปัญญาก็ไม่เกิด สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ก็จะไม่เกิด
เพราะว่า สมาบัติจะเกิดได้ก็ต้องมีจิตเป็นอัปปนาสมาธิ ทีนี้ อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งฌานชวนะวิถี สมาธิที่ได้ก็เป็นฌานเป็นสมาบัติไป แต่ถ้าหากว่าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับแห่งมัคควิถีวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล เหตุนี้ สมาธินี้จึงเป็นองค์สำคัญแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมซึ่งเราจะขาดเสียมิได้อีกประการหนึ่ง
คำว่า สมาธิ นั้น แปลและหมายความได้ดังนี้ คือ
๑. สมาธิ แปลว่า ทรงจิตไว้ชอบ หมายความว่า ทรงจิตไว้ รักษาจิตไว้ ให้อยู่กับอารมณ์คือรูปนาม ไม่ให้เผลอ เช่น ในเวลาเดินจงกรม ให้จิตของเราอยู่กับอาการขวาย่างซ้ายย่าง ในเวลานั่ง ให้จิตของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ เป็นต้น
๒. สมาธิ แปลว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หมายความว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
๑) บัญญัติอารมณ์ ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์สมถกัมมัฏฐาน ผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐานก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกัมมัฏฐานนั้นๆ ตามอัธยาศัย เช่น เราเพ่งดิน ก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือดินนั้น แล้วก็บริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ เป็นต้น
๒) ปรมัตถ์อารมณ์ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น ย่อให้สั้นคือรูปกับนาม ย่อลงมาในเวลาปฏิบัติ ได้แก่ อาการพองอาการยุบ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาเอารูปนามเป็นอารมณ์ ก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือรูปนาม
๓. สมาธิ แปลว่า กำลัง เช่น ในหมวดพละ ๕ ท่านวางหลักไว้ว่า สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ หมายความว่า สมาธิเป็นกำลังทำให้ใจกล้าหาญในเวลาปฏิบัติธรรม เพื่อกำจัดกิเลส มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น
๔. สมาธิ แปลว่า ธรรมจักร หมายความว่า ล้อ คือพระธรรมสำหรับนำบุคคลไปสู่พรหมโลกและพระนิพพาน ดุจเครื่องจักรเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เรือไฟ รถยนต์ รถไฟ สำหรับนำคนไปสู่ที่ตนปรารถนา เช่น ไปสู่ชนบท ตำบล อำเภอ จังหวัดต่างๆ ตลอดจนไปสู่เมืองนอก ไปรอบโลก ฉันใด สมาธิก็ฉันนั้น เป็นบาทของวิปัสสนา สำหรับนำพาผู้ปฏิบัติให้รีบลัดตัดตรงไปสู่พระนิพพาน
๕. สมาธิ แปลว่า องค์แห่งปัญญา หมายความว่า ธรรมคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ถ้าขาดองค์ประกอบคือสมาธิเสีย ผู้ปฏิบัติธรรมก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมวิเศษได้เป็นแน่นอน
๖. สมาธิ แปลว่า ยังจิตและเจตสิกให้ตั้งมั่น หมายความว่า จิตก็ดี เจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับจิตก็ดี จะตั้งอยู่ได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสมาธิมีหน้าที่ช่วยประคับประคองจิตและเจตสิกให้มั่นคง ดำรงอยู่ในรูปนาม มิให้เผลอ
สมาธิ นั้น มี ๓ อย่างก็มี มี ๔ อย่างก็มี สมาธิมี ๓ อย่าง คือ
๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วครู่ชั่วขณะ เช่น เวลาเดินจงกรม ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือ พุทโธๆ สติกับจิตจับอยู่ที่เท้าขวาเท้าซ้าย ไม่เผลอ เรียกว่าเกิดสมาธิขึ้นแล้ว สมาธิชนิดนี้จัดเป็นขณิกสมาธิ สมาธิอย่างนี้ใช้สำหรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังพวกเราทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ จึงจะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒. อุปจารสมาธิ สมาธิใกล้จะเป็นฌาน เฉียดฌานเข้าไป ทำให้ใจเกือบสงบแน่วแน่ไป สมาธิอย่างนี้ ผู้เจริญสมถะนั้นต้องการมาก เพราะว่าผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานจะได้ฌาน ต้องอาศัยอุปจารสมาธินี้
๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่วแน่ คือถึงความสงบเงียบ ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของฌานชวนวิถี ก็เป็นฌานเป็นสมาบัติไป ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของมัคควิถี ก็เป็นมัคคจิตผลจิตติดต่อกัน ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของผลวิถี ก็เป็นผลสมาบัติตลอดไป
ส่วนสมาธิมี ๔ อย่างนั้น คือ
๑. ขณิกสมาธิ
๒. ปริกัมมสมาธิ (บริกรรมสมาธิ)
๓. อุปจารสมาธิ
๔. อัปปนาสมาธิ
บริกรรมสมาธิ นั้น เช่น ภาวนาหรือบริกรรมกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมีดินเป็นต้น ก็บริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ ดังนี้เป็นต้น สมาธิที่เกิดขึ้นเพราะบริกรรมอย่างนี้ เรียกว่า บริกรรมสมาธิ
สมาธิ นั้น โดยองค์ธรรม ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก
สมาธิ มีลักษณะดังนี้ คือ
๑. อวิกฺเขปนลกฺขณา มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ อธิบายว่า ฟุ้ง คือจิตหนีไปจับอารมณ์ข้างนอก ซ่าน คือจิตของเราจับอารมณ์หลายๆอย่าง ไม่ยอมหยุดอยู่หรือนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
อุปมาเหมือนกันกับฝุ่นในเวลารถวิ่ง ฟุ้งขึ้นไปแรงๆ ฟุ้งขึ้นไปตรงๆ แล้วแผ่ซ่านปลิวกระจัดกระจายไป ดังนั้นท่านจึงไขข้อความต่อไปว่า
๒. อวิสารลกฺขณา สมาธิมีความไม่กระจัดกระจายเป็นลักษณะ คือถ้ามีสมาธิแล้ว ความฟุ้งซ่านก็ไม่มี ความกระจัดกระจายก็ไม่มี ทั้งนี้เพราะอำนาจของสมาธิ
๓. สหชาตานํ สมฺปิณฺฑนรสา สมาธิมีการประมวลมาซึ่งสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นกิจ อนึ่ง ในเวลาบำเพ็ญมหากุศลนั้น ย่อมมีเจตสิกเกิดขึ้นประกอบหลายดวง เจตสิกเหล่านั้นย่อมรวมกันเป็นประหนึ่งว่าเป็นอันเดียวกัน คือสมาธิแน่วแน่ได้ดี
๔. อุปสมาปจฺจุปฏฺฐานา สมาธิมีความสงบระงับเป็นผลปรากฏ หมายความว่า จิต เจตสิกสงบดี ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับกระส่าย ไม่กระวนกระวาย มีความสงบเงียบอยู่กับอารมณ์มีรูปนามเป็นต้น
๕. สุขปทฏฺฐานา มีความสุขเป็นเหตุใกล้ชิด หมายความว่า สมาธิจะเกิดได้ต้องมีความสุขกายสบายใจก่อน คือเมื่อร่างกายเป็นสุขสบายดีแล้ว สมาธิเกิดได้ง่ายเกิดได้เร็ว
สมาธิ นั้นจะเกิดได้ต้องอาศัยเหตุ ๑๓ ประการ คือ
๑. โยนิโสมนสิกาโร การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย คือให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่น เวลานั่ง ให้สติกับจิตจับอยู่ที่อาการพองอาการยุบ เริ่มตั้งแต่ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ไม่ให้เผลอ เรียกว่าทำให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม
๒. พหุลีกาโร ทำให้มากๆ คือทำให้บ่อยๆ ทำซ้ำๆซากๆ ทำกลับไปกลับมาอยู่เสมอ
๓. วตฺถุวิสทกิริยตา ทำวัตถุภายนอกให้สะอาด เช่น ปัดกวาดที่อยู่ ฟอกผ้านุ่งผ้าห่มให้สะอาด และทำวัตถุภายในให้สะอาด เช่น อาบน้ำ ฟอกสบู่ ชำระล้างเหงื่อไคลให้หมดจดสะอาดก่อนแล้วจึงทำกัมมัฏฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็จะได้สมาธิเร็ว
๔. อินฺทริยสมตฺตปฏิปาทนา ปรับปรุงอินทรีย์ ๕ ให้เท่ากัน ให้สม่ำเสมอกัน คือให้ศรัทธากับปัญญาเท่าๆกัน วิริยะกับสมาธิเท่าๆกัน ส่วนสตินั้นให้อยู่กลางๆ ดุจนายสารถีควบม้าคู่ฉะนั้น
๕. นิมิตฺตกุสลตา ฉลาดในการแก้นิมิต คือเวลานั่งไปเกิดนิมิตต่างๆขึ้น บางครั้งเห็นพระพุทธรูป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นมนุษย์ชายหญิง ตลอดถึงเห็นภูตผีปีศาจ เห็นแสงสว่าง เหล่านี้เป็นต้น เราต้องรีบกำหนดทันทีว่า เห็นหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง จนกว่านิมิตนั้นๆจะหายไป
ถ้าหายไปช้า พึงรู้เถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ยังอ่อนอยู่ ควรลุกขึ้นไปเดินจงกรมใหม่อีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งกำหนดต่อไป สมาธิของเราจะดีขึ้น ญาณก็จะดีขึ้นโดยลำดับๆ
๖. สมเย จิตฺตสฺส ปคฺคณฺหนตา ยกจิตขึ้นในสมัยที่ควรยก เช่น สมัยใดจิตหดหู่ท้อถอยเพราะความเพียรหย่อนเกินไป สมัยนั้น ควรยกจิตขึ้นโดยยังธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ และอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น
๗. สมเย จิตฺตสฺส นิคฺคณฺหนตา ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม คือในสมัยใดจิตของเราฟุ้งซ่านมาก คิดมาก เพราะมีความเพียรเกินไป สมัยนั้นต้องข่มจิตไว้ โดยยังปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น โดยกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้สั้นๆ ลงไป เหลือแต่อาการพองอาการยุบ หรือยังไม่หายฟุ้งซ่านก็ให้กำหนดจิตว่า คิดหนอๆ ร่ำไป ก็จะทำให้สมาธิดีขึ้น
๘. สมเย สมปหํสนตา สมัยใด จิตของเราหมดความแช่มชื่นยินดี หมดความเพลิดเพลิน เพราะปัญญาน้อย หรือเพราะไม่ได้ความสุขอันเกิดจากความสงบ หรือไม่ได้ผลสมกับความตั้งใจ สมัยนั้น พึงยังจิตของเราให้สลดสังเวช โดยพิจารณาสังเวควัตถุ คือวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชใจ ๘ ประการ คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ พยาธิ ๑ มรณะ ๑ ทุกข์ในอบายภูมิ ๑ วัฏฏมูลกทุกข์ คือทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ๑ ทุกข์มีอดีตเป็นมูลในอนาคต ๑ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน ๑ ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการนี้ ก็จะทำให้จิตของเราเกิดสลดสังเวชขึ้นมา และจิตก็จะอาจหาญในการทำกัมมัฏฐานต่อไป
อนึ่ง แม้การยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นโดยอนุสรณ์ย้อนระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็ดี หรือระลึกถึงคุณงามความดีบารมีธรรมที่ตนได้สั่งสมอบรมมาก็ดี ก็จะสามารถยังจิตของเราให้ร่าเริงขึ้น มีอุตสาหะพยายามในการเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป
๙. สมเย อชฺฌุเปกฺขนตา วางเฉยในสมัยที่ควรวางเฉย คือ ในสมัยใด จิตอาศัยสัมมาทิฏฐิ ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน แช่มชื่น เป็นไปสม่ำเสมอ ดำเนินไปสู่ทางแห่งความสงบ สมัยนั้น โยคีบุคคลไม่ต้องขวนขวายพยายามในการยกจิต ข่มจิต หรือยังจิตให้ร่าเริง เปรียบเหมือนนายสารถีวางเฉยในม้าคู่ที่วิ่งไปอย่างสม่ำเสมอบนถนนเรียบฉะนั้น เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว
๑๐. อสมาหิตปุคฺคลปริวชฺชนตา เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น คือเว้นให้ห่างไกลจากบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่ปฏิบัติให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ
๑๑. สมาหิตปุคฺคลเสวนตา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ
๑๒. ฌานวิโมกฺขปจฺจเวกฺขณตา พิจารณาฌานและวิโมกข์
ฌาน นั้นมี ๒ อย่าง คือ
๑) อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น เป็นอารมณ์ จนเกิดอัปปนาสมาธิเกิดฌานขึ้นมา ด้วยวิธีเจริญกัมมัฏฐานอย่างนี้ ฌานนั้นเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน
๒) ลักขณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งรูปนามจนเห็นพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ เหมือนกันกับพวกเราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานโดยเพ่งอาการพองอาการยุบ เพ่งเวทนา เพ่งจิต เพ่งธรรมเป็นอารมณ์ เกิดอัปปนาสมาธิ สำเร็จฌานขึ้นมา ฌานเช่นนี้เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน
ส่วน วิโมกข์ นั้นมี ๓ อย่างคือ
๑) อนิมิตตวิโมกข์
๒) อัปปณิหิตวิโมกข์
๓) สุญญตวิโมกข์
วิโมกข์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ได้ชื่อต่างๆกันเพราะอำนาจพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะได้บรรลุวิโมกข์ คือ
๑) ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอถึงอนุโลมญาณแล้วอนิจจังปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์ หรือ อนิมิตตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยหาอะไรเป็นนิมิตมิได้
๒) ถ้าทุกขังปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ หรือ อัปปณิหิตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาความโกรธความหลงเป็นที่ตั้งมิได้
๓) ถ้าอนัตตาปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์ หรือ สุญญตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเอง
๑๓. ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปตามอารมณ์นั้นๆ คือตั้งใจกำหนดไปตามกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เป็นต้น ก็จะสามารถทำจิตของเราให้เป็นสมาธิเร็ว
เหตุทั้ง ๑๓ ข้อดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยง่ายอย่างไม่ต้องสงสัย
อนึ่ง เมื่อจะกล่าวโดยย่อแล้วก็ได้แก่การกำหนดท้องพองท้องยุบนั่นเอง ถ้าท่านผู้ใดใช้สติกำหนดท้องพองท้องยุบแล้ว ท่านผู้นั้นชื่อว่ากำหนดถูกหมดทั้ง ๑๓ ข้อ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจงพยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิ กำหนดอาการพองอาการยุบติดต่อกันไปเถิด ไม่ช้าไม่นานญาณก็จะเกิดขึ้นโดยลำดับ ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญแก่กล้ายิ่งๆขึ้นไป จนสามารถให้ผู้นั้นรู้แจ้งแทงตลอดมรรค ผล นิพพานได้อย่างแน่นอน
สมาธิ นั้น ถ้ายังไม่เกิดเราก็ต้องทำให้เกิด ถ้าเกิดแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้ดี เพราะว่าสมาธิมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
๑. ทำใจของเราให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ
๒. ทำให้ญาณขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง เจริญขึ้น
๓. ทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เราต้องต่อสู้อุปสรรคนานัปการที่จะเกิดขึ้น ไหนจะต้องต่อสู้กับความเมื่อยปวด ไหนจะต้องต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ขี้เกียจ ไหนจะต้องต่อสู้กับความกลุ้มใจ ไหนจะต้องต่อสู้กับความคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์นานาประการ คือจะต้องมีอารมณ์ที่ไม่พอใจอยู่หลายสิ่งหลายประการเกิดขึ้นดังนี้
หากว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ใจไม่เข้มแข็งแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย แต่ถ้าท่านผู้ใดผู้มีความรักใคร่ ความประสงค์ ความปรารถนา ความมุ่งมั่นหวังที่จะเอาบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆที่เกิดขึ้น โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมเลิกละการประพฤติปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงว่าจะตายในวินาทีนี้ นาทีนี้ ชั่วโมงนี้ หรือวันนี้ เราก็ยอมตาย ไม่ยอมพ่ายแพ้อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น จนสามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เหมือนภิกษุใจเพชร
มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎกว่า มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป เรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดา แล้วยกพวกออกป่าเพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อไปถึงป่าแล้วก็ตั้งกติกาสัญญากันว่า พวกเราทั้งหลายได้เรียนพระกัมมัฏฐานมาจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด จงอุตสาหะพยายามตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อย่าพูดอย่าคุยกัน จงอยู่แห่งละรูป ๑๕ วันเรามาพบกันที่นี้ครั้งหนึ่งเพื่อลงอุโบสถ
เมื่อตั้งกติกาสัญญากันแล้ว ต่างรูปก็หลีกกันไปอยู่ที่อันเป็นสัปปายะเฉพาะตนๆ พยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไปโดยไม่ประมาท แต่บังเอิญในป่านั้นมีเจ้าป่าคือเสือใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ในเวลาเช้าๆ เมื่อพระภิกษุทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรม
มาตลอดคืน จวนสว่างก็เอนกายลงนอนเพื่อเป็นการพักผ่อน
ในขณะที่พระภิกษุกำลังหลับไปด้วยความเพลียนั้น เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องเข้ามา จับเอาพระภิกษุเหล่านั้นไปกินวันละรูปๆทุกวัน แต่พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจะได้ปริปากร้องบอกเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายก็หามิได้ เพราะเหตุไร เพราะว่ารักษาสัจจะที่ได้ให้แก่กันไว้แล้ว ดังนั้นจึงถูกเสือคาบไปกินวันละรูป
เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พวกภิกษุที่เหลืออยู่ก็รวมกัน ณ ที่นัดหมายเพื่อจะลงอุโบสถ แต่เมื่อมาถึงแล้วเห็นมีเพียง ๑๕ รูปเท่านั้น ถามรูปไหนๆก็ไม่รู้ว่าอีก ๑๕ รูปนั้นหายไปไหน รูปที่เป็นเถระในสงฆ์จึงพูดขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ผมเกิดความสงสัยยิ่งนัก ชะรอยในป่าใหญ่แห่งนี้จะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่พวกเราเป็นแน่แท้ ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่ามีอันตรายใดๆเกิดขึ้นแก่พวกเรา ขอจงให้ร้องบอกกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือ เมื่อปรึกษาหารือกันแล้วก็ลงอุโบสถ
หลังจากเสร็จการลงอุโบสถแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไปเพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และในวันนั้นเอง เวลาจวนสว่าง พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาตลอดเกือบทั้งคืนจึงได้เอนกายลงเพื่อพักผ่อน ในขณะนั้นเอง เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องเข้ามาคาบเอาพระภิกษุรูปนั้นไปเพื่อเป็นอาหาร ขณะที่ท่านรู้สึกตัวขึ้นมาก็อยู่ในปากเสือแล้ว จึงได้ร้องบอกเพื่อนสหธรรมิกว่า ท่านทั้งหลายช่วยผมด้วย เสือจะคาบผมไปกินเสียแล้ว
พอพระสงฆ์ทั้งหลายได้ยินเช่นนั้น บางองค์ก็ได้คบเพลิง บางองค์ก็ได้ท่อนไม้ได้ก้อนดินวิ่งไล่เสือไป แต่แทนที่เสือตัวนั้นจะได้วางภิกษุรูปนั้นลงกลับคาบแน่นกว่าเก่า แล้วก็วิ่งไปตามลำดับๆ ภิกษุทั้งหลายก็ได้ติดตามไปไม่ลดละ จนไปถึงเชิงเขาก็ไม่สามารถตามขึ้นไปบนภูเขาได้ หมดความสามารถที่จะช่วยได้ และขณะนั้น เสือที่คาบภิกษุไปถึงยอดเขาแล้วก็ได้วางภิกษุไว้บนเนินหิน
พวกภิกษุที่อยู่เชิงเขาจึงร้องบอกขึ้นไปว่า ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้น้อยใจ อย่าได้เสียใจว่า พวกผมทั้งหลายไม่ช่วยเหลือ พวกผมทั้งหลายตามมาช่วยเหลือจนหมดความสามารถแล้ว บัดนี้ไม่สามารถตามไปช่วยได้ เหตุนั้นขอให้ท่านคิดว่า พวกเราทั้งหลายได้เรียนกัมมัฏฐานจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด พระภิกษุรูปที่ถูกเสือคาบไปกินก็ได้สติขึ้นมา จึงยึดเอาพระกัมมัฏฐานในส่วนเวทนานุปัสสนานั้นเป็นอารมณ์
และในขณะนั้นเสือก็เริ่มกัดกินนิ้วเท้าของท่านเข้าไปๆ ท่านก็ตั้งใจใช้ความอดทนอย่างแรงกล้าเจริญพระกัมมัฏฐานกำหนดว่า เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอๆ ปวดหนอๆ กำหนดไปๆ วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑, ๒, ๓, ๔ เป็นต้นไป จนครบญาณทั้ง ๑๖ ก็พอดีกันกับเสือกัดกินท่านถึงข้อเท้าก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไม่ลดละความพยายาม เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปอีก และเสือก็กัดกินท่านไปตามลำดับ ท่านก็กำหนดว่า เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอๆไป วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นตามลำดับๆต่อไปอีก ตั้งแต่ญาณที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ พอดีเสือกัดกินไปถึงหัวเข่าของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี
แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังไม่ลดละความพยายาม เป็นผู้มีความอดทนอย่างแรงกล้า มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๔ ตามลำดับไปจนถึงญาณที่ ๑๑ พอดีเสือกัดกินถึงเนื้อสะดือของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี
แต่พระภิกษุใจสิงห์ใจเพชรอย่างท่านจะได้ด่วนมรณภาพในขณะนั้นก็หามิได้ ท่านยังเป็นผู้มีอธิวาสนขันติ ความอดกลั้นชนิดแรงกล้า ใช้สติสัมปชัญญะอุตสาหะพยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างไม่ลดละ ถึงตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมทิ้งบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดเวทนาว่า เจ็บหนอๆ ปวดหนอๆ ทุกข์หนอๆ วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ ไป
พอดีเสือกำลังจะกัดกินเนื้อหัวใจของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วท่านจึงได้พิจารณาศีลของท่านว่า
เรานี้เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย แต่เพราะเราประมาทไปนิดหนึ่งเท่านั้นจึงถูกเสือคาบมากิน แต่ช่างเถิด เรื่องนั้นแล้วก็แล้วไป แต่บัดนี้ บังเอิญเราได้พระกัมมัฏฐานในส่วนทุกขเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ จนสามารถยึดเอาพระอรหัตต์ไว้ได้ เมื่อท่านสรรเสริญคุณของพระอรหันต์อยู่ไปมา ท่านก็ปรินิพพาน
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ของเราที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ ถึงจะมีร้อยเท่าพันเท่า หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เท่าส่วนหนึ่งของพระภิกษุใจเพชรรูปนั้น เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายที่ได้อุตสาหะพยายามละฆราวาสสมบัติ ละวัดวาอารามมาสู่สถานที่นี้ ก็เพื่อต้องการที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน เพื่อยกฐานะของตนให้สูงขึ้น เพื่อต้องการที่จะนำตนไปสู่สุคติ มนุษย์ สวรรค์ พรหม พระนิพพาน ก็ขอให้เป็นผู้ไม่ประมาทเถิด
ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลายนี้ ถึงแม้เรามุ่งหวังที่จะเอาบรรลุมรรค ผล นิพพาน มุ่งหวังที่จะเอาโลกุตตรสมบัติมาเป็นของเราให้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติของเราเหมือนกัน
ส่วนวันนี้ จะนำอุปสรรคคือสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติมาแสดงแก่ท่านทั้งหลาย ๑๗ ประการ ให้ได้ทราบดังนี้
๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงอาวาส คือ ห่วงวัดห่วงวา ห่วงสถานที่อยู่ของตน ก็เป็นสิ่งขัดขวางการปฏิบัติของเราเหมือนกัน
๒. ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ
๓. โภคปลิโพธ ห่วงทรัพย์สมบัติ
๔. กัมมปลิโพธ ห่วงการงาน
๕. โรคปลิโพธ ห่วงโรค คือหมายความว่า เกรงว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย โรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่จะกำเริบ หรือว่าเจริญพระกัมมัฏฐานไป กลัวว่าจะล้มหายตายไป ชีวิตจะสิ้นไป
๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล
๗. คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ
๘. ญาติปลิโพธ ห่วงญาติ คือบางทีทำกัมมัฏฐานไปก็นึกถึงญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผู้มีความสนิทสนมรักใคร่ อยากให้ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติ
๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน
๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์
๑๑. กัมมารามตา เวลาทำงานไม่มีสติ เช่น เวลานุ่งห่ม กวาดวิหารลานเจดีย์ ทำไปโดยไม่มีสติกำหนดให้ติดต่อกันไป
๑๒. นิททารามตา มัวนอน
๑๓. ภัสสารามตา มัวพูดคุยกับหมู่คณะ
๑๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๑๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวารทั้ง ๖ ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส รู้ธรรมารมณ์ ก็ปล่อยให้เกิดชอบใจ ไม่ชอบใจ ดีใจ เสียใจ ก็เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติ
๑๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในการฉันอาหาร
๑๗. จิตตัง วิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ ไม่พิจารณาจิต คือจิตของเรามีราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่รู้ว่ามีราคะ โทสะโมหะ เป็นต้น
ทั้ง ๑๗ ประการดังกล่าวมา เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลตามที่เราต้องการ ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลายพึงกำจัดเสีย เมื่อใดกำจัดได้แล้ว ก็จะปฏิบัติให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้
เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สมาธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.