สมาธิ (๒)

สมาธิ (๒)

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          สำหรับวันนี้ จะได้นำเรื่อง สมาธิ มาบรรยายถวายความรู้ และเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย พอสังเขป

          สมาธิ นี้ เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ทำใจของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ความตั้งมั่นแห่งจิต การทำจิตให้สงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น อาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่าง อาการซ้ายย่าง อยู่กับเวทนา ไม่ซัดไม่ส่ายไปมาในอารมณ์ต่างๆ มีจิตใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เราต้องการ เรียกว่า เป็นลักษณะของสมาธิ

          ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมมีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ต่างแต่ว่ามีมากมีน้อย ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น พื้นเพของอุปนิสัย การศึกษาเล่าเรียน อบรม การฝึกฝนปรับปรุง ตลอดถึงสิ่งแวดล้อม ภาวะของสังคม หน้าที่การงาน เป็นต้น เป็นเหตุปัจจัยให้คนมีสมาธิมากหรือมีสมาธิน้อย

            คือหมายความว่า ถ้าพื้นฐานดี เหตุปัจจัยสิ่งแวดล้อมดี ก็ทำให้สมาธิดีไปด้วย สมมติว่า เราอยู่ครองเรือนอย่างนี้ ภายในครอบครัวของเรา มีความเคารพนับถือรักใคร่กัน มีความสามัคคีปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เข้าใจกัน คนหนึ่งอยากทำบุญทำทาน อยากบำเพ็ญสมาธิ ผู้ที่เป็นสามี ภรรยา หรือลูกๆ หลานๆ ก็เอื้ออำนวยส่งเสริม และยินดีให้ประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีสมาธิเร็วขึ้น

          ถ้าพื้นฐานไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ดี สมมติว่า ภรรยาอยากจะมาประพฤติปฏิบัติธรรม แต่สามีไม่เอื้ออำนวย หรือลูกๆ หลานๆ ไม่เอื้ออำนวย หรือลูกๆ หลานๆ อยากมาประพฤติปฏิบัติธรรม แต่พ่อแม่ไม่เอื้ออำนวย ไม่คล้อยตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิให้ดีขึ้นได้

          หรือว่าอยู่ภายในวัด ลูกศิษย์ลูกหาอยากบำเพ็ญสมาธิ แต่ครูบาอาจารย์ไม่เอื้ออำนวย หาทางขัดขวางและกีดกันไม่ให้ทำ เกรงว่าจะเป็นบ้าไป อะไรทำนองนี้ เมื่อพื้นฐานไม่ดีอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ระดับของสมาธินั้นน้อยไป หรือบางครั้งอาจไม่มีสมาธิเลย

          ถ้าใครมีสมาธิจิตน้อย ความคิดก็ย่อมจะเกิดความสับสนวุ่นวาย ความคิดไม่ติดต่อ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ถ้าหากว่าประกอบการงาน ก็ขาดประสิทธิภาพ ได้หน้าลืมหลัง ก่อผลเสียทั้งทางสุขภาพกายและจิต

          เมื่อคราวจะหลับจะนอนก็จะหลับยาก คนที่นอนหลับยาก คือก่อนจะนอนคิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ ร้อยแปดพันประการ ทำให้หลับยาก นอนหลับไม่สนิท มักจะฝันตื่นเต้นตกใจ เมื่อยามตื่นขึ้นก็อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น พลอยให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดง่าย ใครทำอะไรให้นิดๆ หน่อยๆ ก็โกรธไว บางทีกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต อันนี้ก็เป็นเพราะว่าจิตใจขาดสมาธิ มีสมาธิน้อยไป

          คนที่มีสมาธิน้อยไป หรือไม่มีสมาธิเลยนี้ บางทีก็ทำให้เกิดโรคความดันสูง เกิดโรคประสาท หนักเข้าก็ต้องเป็นบ้าไป ต้องเข้าโรงพยาบาล หาแพทย์หาหมอรักษา

          แต่คนที่มีสมาธิดี จะไม่เป็นโรคความดันสูง ไม่เป็นโรคประสาท เพราะว่าโรคความดันสูงโรคประสาทนี้ เกิดจากการที่จิตมีความเครียด จิตไม่เป็นสมาธิ ถ้าจิตเป็นสมาธิดี ความเครียดก็จะไม่มี เมื่อความเครียดไม่มี โรคความดันสูง โรคประสาทก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้

            อนึ่ง ผู้ที่มีสมาธิมาก จิตใจย่อมสงบตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย อารมณ์เยือกเย็น สุขภาพกายและสุขภาพจิตดี การงานมีประสิทธิภาพ แม้จะเขียนหนังสือ ก็ไม่ค่อยขาดตกบกพร่อง เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้พวกเราบำเพ็ญสมาธิว่า

          [1]ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด เพราะผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใสกระจ่าง ไม่ขุ่นมัว คนตาดีซึ่งยืนอยู่บนฝั่ง ย่อมเห็นได้ซึ่งหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนหินก้อนกรวด ตลอดจนฝูงปลาที่กำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว ก็จะรู้ได้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จะประจักษ์แจ้งได้ด้วยคุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญธรรมดา คือจะเกิดญาณทัสสนะ ที่จะสามารถทำให้เป็นอริยชนได้

          เมื่อจิตใจสงบแน่วแน่ เงียบสนิท จะคิดจะพิจารณาสิ่งใดก็เห็นได้ง่ายเข้า และก็มองเห็นได้ชัดเจน เมื่อเข้าใจธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย รู้เท่าทันธรรมดา ความเป็นเหตุเป็นปัจจัย จิตก็จะหายเร่าร้อนกระวนกระวาย สงบผ่องใส เป็นอิสระ ปลอดจากกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ไม่มีความทุกข์ใจ เป็นประโยชน์สูงสุดของชีวิต

          ถึงแม้ว่ายังไม่ได้ใช้ปัญญา เพียงแต่สมาธิอย่างเดียวเกิดขึ้นเมื่อใด จิตใจก็จะสงบผ่องใส มีความสุข ดับกิเลสดับทุกข์ได้ชั่วคราว ตลอดเวลาที่สมาธิยังคงอยู่ ประโยชน์ของสมาธินี้จะทำให้จิตใจของเราตั้งมั่น มีความมั่นคงทนทาน เหมือนดังเสาเรือนที่ปักลงมั่น ย่อมรับน้ำหนักได้ดี ไม่โยกคลอน ฉันใด ดวงจิตที่ตั้งมั่นคงที่แล้วด้วยสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมไม่วอกแวกหวั่นไหว แม้มีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ก็สามารถรักษาปกติภาพของจิตไว้ได้

          ความจริง มนุษย์เรามีสติปัญญา มีความสามารถสูง ถ้าสามารถอบรมสติและทำจิตใจให้เป็นสมาธิได้ จะสามารถเห็นความมหัศจรรย์แห่งดวงจิตของตนเอง

          กระแสจิตก็เหมือนกระแสน้ำ ถ้าบังคับให้พุ่งไปทางเดียวก็มีกำลังแรง เหมือนกับที่เขาทำเขื่อน บังคับน้ำให้พุ่งลงทางเดียว ไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้เราได้ใช้อยู่ทุกวันนี้ ฉันใด จิตใจของพวกเรา ก็เหมือนกัน

          ถ้าหากว่าสามารถรวมกระแสจิตของเราได้ จะคิดเรื่องใดก็คิดเรื่องนั้น ไม่สับสน จะกำหนดอารมณ์ใดก็กำหนดอารมณ์นั้น จิตใจไม่จับอารมณ์หลายอย่าง จนสามารถรวมลงเป็นอัปปนาสมาธิได้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ จิตของเราก็มีกำลังมาก เรียกว่าเป็น มหัคคตภาวะ เป็นภาวะที่มีกำลังมาก มีอำนาจมาก

          แต่สมมติว่า น้ำในแม่น้ำ หากว่าเราแยกไปหลายๆ ทาง ให้ไหลไปทางโน้นบ้าง ให้ไหลไปทางนี้บ้าง ก็จะมีกำลังอ่อนลง ข้อนี้ฉันใด ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราคิดสิ่งนั้นบ้าง คิดสิ่งนี้บ้าง สับสนอลหม่านไป เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจของเราก็มีกำลังน้อย ไม่สามารถที่จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์เกิดผลเท่าที่ควร ในเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ไม่สามารถเอาสมาธินี้ไปทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปได้

          เราทั้งหลายขอให้นึกอยู่เสมอว่า การที่จะทำลายกิเลสตัณหานั้น จะต้องอาศัยสมาธิสูงจริงๆ คือเมื่อสมาธิสูงแล้ว ก็สามารถเอาสมาธิที่ประกอบไปด้วยสตินั้น ไปทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานได้ แต่ถ้าหากว่าสมาธิของเรามีกำลังน้อย ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้

          อุปมาเหมือนกันกับไฟฉาย เมื่อเรายังไม่ได้รวมแสง ก็ไม่สามารถที่จะส่องได้ไกลๆ แต่เมื่อรวมแสงของไฟฉายให้ดีแล้ว ก็สามารถจะฉายดูได้ไกลๆ มองเห็นได้ไกลๆ ข้อนี้ฉันใด ใจของเราก็เหมือนกัน หากว่าจิตใจของเรายังไม่ได้รวมกระแสจิต ยังเที่ยวคิดไป มีอะไรมากระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คิดไปในเรื่องนั้นๆ แสดงว่าจิตใจของเรานั้นยังมีอารมณ์มาก ยังรวมไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตใจก็ไม่มีอานุภาพ ไม่มีพลัง ไม่สามารถจะดับกิเลสตัณหาได้ แม้แต่ว่าเราอยากรู้เรื่องพิเศษอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ผู้ที่ได้บรรลุวิชชา ๓ คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ก็ดี จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นสัตว์อื่นก็ดี อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปก็ดี หรือผู้ได้อภิญญา ปฏิสัมภิทา มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตได้ แสดงฤทธิ์ได้ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษาก็ดี

          สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยการรวมกระแสจิต คือผู้ที่รวมกระแสจิตได้ดีแล้ว ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา เกิดขึ้นมาได้ สามารถทำในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญทำไม่ได้ สามารถรู้สิ่งที่คนธรรมดารู้ไม่ได้ ขั้นสูงสุดก็สามารถที่จะเอาสมาธินี้ไปทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป

          นักวิทยาศาสตร์สามารถรวมแสงได้ด้วยวิธีการกระทำทางวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ดูร่างกายของเรา หรือแสงเลเซอร์ที่เขามาใช้ทำการผ่าตัดต่างๆ เป็นต้น ทำให้เกิดประโยชน์ได้ หรือถ้านำเอาไปใช้ในทางการทำอาวุธก็ก่อให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน ข้อนี้ฉันใด

          เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน คือเมื่อเราสามารถรวมความคิดหลายๆ ความคิด ให้เหลือเพียงความคิดเดียว เมื่อได้อย่างนี้ จิตใจของเราก็เป็นสมาธิ เราก็สามารถนำเอาสมาธินี้ไปใช้ได้ ทั้งทางบวกและทางลบ ใช้ได้ทั้งนั้น แต่พระพุทธองค์ตรัสห้ามนำเอาสมาธินี้ไปใช้ในทางที่ผิด เพราะถือว่าเป็นบาปมาก

          สมาธิ นี้ เมื่อเราสามารถทำให้ดีแล้ว สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ เราทั้งหลายลองนึกดูถึงเรื่องพุทธประวัติ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ที่บำเพ็ญอิทธิบาทไว้ให้ชำนิชำนาญแล้ว แม้มีความประสงค์จะดำรงอายุอยู่ชั่วกัปหนึ่งหรือเกินนั้น ก็สามารถที่จะทำได้

          หมายความว่า ใช้อิทธิบาทภาวนาในการประกอบ อนิมิตตเจโตสมาธิ คือบำเพ็ญเพียรทางจิต โดยเอาสิ่งที่ไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมายมาบริกรรม สมมติว่า เกิดเจ็บปวดขึ้นมาก็ให้สำเหนียกตรงที่เจ็บปวดนั้นว่า ไม่มี ทั้ง ๆ ที่มีอยู่นั่นแหละ ก็ให้สำเหนียกกำหนดว่า ไม่มีหนอๆๆ จนจิตใจของเราเป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็หายไปได้ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บหายไป ก็เป็นเหตุให้ต่ออายุ คือมีอายุยืนขึ้น ทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นมา โรคภัยไข้เจ็บก็หายไป อายุก็จะยืนยาวขึ้นมา เป็นอย่างนี้

          สมาธิ นี้ สามารถใช้ได้ตามความประสงค์ แต่ก็หมายถึงว่า เป็นสมาธิที่เราสามารถบังคับได้ สมมติว่าเราต้องการอยากจะอยู่ในสมาธินี้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง อะไรทำนองนี้ เราก็สามารถทำจิตของเราให้เป็นสมาธิได้ตามความประสงค์ทุกขณะ ถ้าเราสามารถบังคับจิตบังคับใจให้สามารถกำหนดได้ตามนี้แล้ว ก็สามารถนำสมาธิไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ผู้ที่ได้สมาธินี้ ไม่จำเป็นที่จะไปท่องเวทมนตร์กลคาถา เมตตามหานิยม มหาละลวย อะไรทั้งนั้น เพราะสมาธิเพียงอย่างเดียว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จผลเต็มที่แล้ว

          เราจะท่องบ่นสาธยายเวทมนต์กลคาถาที่เรียนมา ๑๐๘ จบก็ดี พันจบก็ดี หมื่นจบก็ดี สู้จิตใจของเราที่เป็นอัปปนาสมาธิไม่ได้ และก็ถ้าว่าเราไม่มีสมาธิ แม้เราจะท่องบ่นสาธยายมากสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จประโยชน์ได้ หากว่าจิตใจของเรามีสมาธิดีแล้ว ก็ไม่ต้องท่องบ่นสาธยายมนต์เลย เพียงแต่อธิษฐานว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าสงบแน่นิ่งไปเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง หรือเท่านั้นนาทีเท่านี้นาที พร้อมนี้ก็ขอให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็อธิษฐานเอาก็จะสามารถให้สำเร็จได้ตามนั้น

          เคยเอามาทดลองดูเหมือนกันว่าจริงไหม คือสมัยนั้นยังอยากรู้อยากทดลองอยู่ ก็นำสมาธิที่ได้มาทดลองดูตามที่ท่านได้กล่าวไว้ในหลักสูตร เมื่อทดลองดูแล้วก็ทราบว่าเป็นความจริง หลังจากนั้นก็งด ไม่ได้นำมาใช้ในทางที่ไม่ดีไม่งาม ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้  เวลามีลูกศิษย์ลูกหามาถามว่า ผมทำไมไม่ได้สมาธิเหมือนกันกับเพื่อน หลวงพ่อ หนูทำไมไม่ได้สมาธิเหมือนกันกับเพื่อน หลวงพ่อก็ตอบว่า อยากได้ไปทำไมหนอสมาธินี่ คนที่มีสมาธิมากนั้นแหละ เป็นคนบาปหนักที่สุด พูดตัดบทไป ผู้ที่ฟังก็งง ทำไมผู้ที่ได้สมาธินั้นเป็นคนบาป แล้วหลวงพ่อทำไมยังฝึกสมาธิให้อยู่ ที่พูดเช่นนี้ก็หมายความว่า ผู้ที่มีสมาธิมาก เอาสมาธิไปใช้ในทางที่ไม่สมควร มันก็เป็นบาปก็ผิดไป

          สมาธินั้นมีผลดีต่อการปฏิบัติทุกชนิด การทำงานด้วยใจสงบ ย่อมดีกว่าใจฟุ้งซ่าน การทำงานหรือการศึกษาเล่าเรียน ถ้าทำด้วยใจเป็นสมาธิ ก็เหนื่อยน้อย แต่ได้ผลมาก มีความเพลิดเพลินและความสุขในการทำงานนั้นเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นพรอันประเสริฐของชีวิต จิตที่สงบเป็นสมาธิ ย่อมมีความสงบสุขเป็นอย่างยิ่ง ความสุขใดๆ ในแหล่งหล้า จะมาเทียบเท่ากับความสงบสุขของดวงจิตอันไม่มีโทษ อันมีแต่สมาธินั้น ไม่มี

          แม้แต่พระอริยเจ้าผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ยังอาศัยเรือนแก้วกล่าวคือสมาธิเป็นที่พักผ่อน เช่น จะหาเวลาว่างเข้าสู่ที่หลีกเร้น ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นต้น หรือท่านพระอริยบุคคลผู้เป็นประเภท สุกขวิปัสสกะ ซึ่งท่านไม่ได้สมาธิสมาบัติ เมื่อท่านต้องการ จึงต้องมาฝึกสมาธิสมาบัติใหม่ ผู้ที่เข้าสมาบัตินั้นต้องมีสมาธิ คือความตั้งใจมั่นเป็นพื้นฐานสำคัญ จึงจะเข้าสมาบัติได้ หากว่าไม่มีสมาธิแล้ว จะเข้าสมาบัติไม่ได้

            อีกอย่างหนึ่ง สมาธินั้นเป็นพื้นฐานของปัญญาความรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นคุณธรรมหลักในพระพุทธศาสนา สมดังพระพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

          ท่านทั้งหลายจงอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิเถิด เพราะผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง

          อย่างไรก็ตาม ถ้าปฏิบัติผิด ก็มีทางเขวและเกิดโทษได้เหมือนกัน เช่น เมื่อได้สมาธิแล้วก็หลงเพลิดเพลินอยู่แค่สมาธิ พอใจในความสุขที่เกิดจากสมาธิ คิดว่าเพียงพอแล้ว ไม่ได้ใช้สมาธิสร้างปัญญาเพื่อแก้ปัญหาของชีวิตให้หมดสิ้นไป คือทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป เมื่อไม่ได้ใช้สมาธิอบรมปัญญาอย่างนี้แล้ว สมาธิที่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์เต็มที่

          ดังนั้น เหตุผลสำคัญที่บำเพ็ญจิตให้เป็นสมาธิ หรือการที่พวกเราทั้งหลายปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ต้องการอยากได้สมาธิ ต้องการที่จะให้สมาธิเกิดขึ้น เพราะเหตุไร เพราะต้องการที่จะเอาสมาธินี้เป็นพื้นฐานเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนา หรือว่าจะเอาสมาธินี้ไปอบรมบ่มปัญญาให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน

          เมื่อใด เอาสมาธิไปอบรมบ่มปัญญา จนเกิดปัญญาขึ้นมาตามลำดับๆ ตั้งแต่ปัญญาขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ตามลำดับๆ จนถึงปัญญาขั้นที่ ๑๖ เมื่อปัญญาเกิดครบทั้ง ๑๖ ขั้นแล้ว ก็จะทำลายกิเลสตัณหาตามกำลังของปัญญา คือ ถ้าปัญญา ๑๖ ขั้น เกิดขึ้นมาครบครั้งที่ ๑ ก็สามารถที่จะทำลายโลภะไปได้ ๔ ตัว และโมหะ ๑ ตัว

          ถ้าหากว่าเราสามารถใช้สมาธิเป็นพื้นฐานอบรมบ่มปัญญาให้เกิดครบ ๑๖ ขั้น ครั้งที่ ๒ ก็สามารถทำลายกามราคะ โทสะ ให้เบาบางลง ถ้าเราใช้สมาธิอบรมบ่มปัญญาให้เกิดครบ ๑๖ ขั้น ครั้งที่ ๓ ก็สามารถทำลายกามราคะและโทสะให้หมดสิ้นไปได้

          ถ้าเราใช้สมาธิอบรมบ่มปัญญาให้เกิดครบ ๑๖ ขั้น ครั้งที่ ๔ ก็สามารถทำลายโลภะที่ยังเหลืออยู่ ๔ และโมหะที่ยังเหลืออยู่อีก ๑ ให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน กิเลสอะไรที่ไม่ได้ถูกละไปเมื่อปัญญา ๑๖ ขั้น เกิดขึ้นครั้งก่อนๆ ก็จะถูกละไปได้หมดสิ้น ไม่มีเหลือ เมื่อปัญญาทั้ง ๑๖ เกิดขึ้นครั้งที่ ๔ เหตุนั้น สมาธิ นี้ จึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านทุกคนต้องการให้เกิดมีขึ้น

          และขอเตือนท่านทั้งหลายว่า เวลาท่านทั้งหลายที่ได้สมาธิ จะได้น้อยได้มากไม่เป็นปัญหา จะเข้าสมาธิเพียง ๑ นาที ก็ได้ ๒ นาที ๓ นาที ๑๐ นาที ได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญมีอยู่ว่า เวลาจะเข้าสมาธินั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามกำหนดท้องพอง หรือ เข้าสมาธิไปตอนกำหนดท้องยุบ หรือว่าเข้าสมาธิไปตอนกำหนดอาการนั่ง อาการลุก หรือเข้าสมาธิไปตอนเราหายใจเข้าหรือหายใจออก หรือเข้าสมาธิไปตอนกำหนดเวทนา หรือว่า เข้าสมาธิไปตอนกำหนดความคิดเป็นต้น ขอให้ท่านทั้งหลายจำให้ได้

          ถ้าเราจำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นแหละ ก็ถือว่าการฝึกของเรานี้เกือบสมบูรณ์แบบแล้ว เรียกว่าสติของเรามีประสิทธิภาพมาก จนสามารถข่มโมหะ หรือข่มอวิชชา ให้หมดกำลังลงไป ในเมื่อโมหะหรืออวิชชาหมดกำลังหรืออ่อนกำลังลงไป สติของเรามีกำลังกล้า ก็สามารถที่จะจำได้

          ที่ยังจำไม่ได้นั้น ก็ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะว่าโมหะยังมีกำลังกล้า เมื่อโมหะมีกำลังกล้า สติมีกำลังหย่อนอย่างนี้จึงจำไม่ได้ แต่ถ้าสติมีกำลังกล้า โมหะมีกำลังหย่อน ก็จะจำได้ ถ้าจำได้ ก็ใกล้ต่อพระนิพพานแล้ว เมื่อเราจำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวว่า อเนกานิสังสา มีอานิสงส์เป็นอเนกประการ ไม่สามารถที่จะนับประมาณได้

          เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ เวลาเรายืนกำหนดก็ดี นั่งกำหนดก็ดี เดินกำหนดก็ดี นอนกำหนดอยู่ก็ดี พยายามจำอารมณ์ให้ได้ และท่านผู้ที่เข้าสมาธิได้ เวลาจะเข้า ไม่ต้องทำการอธิษฐานว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปเท่านั้นชั่วโมง เท่านั้นนาที ตอนนี้ไม่ต้องอธิษฐาน เพราะว่าไม่อยู่ในขั้นฝึกสมาธิ ปล่อยให้เข้าสมาธิไปเอง แต่พยายามจำให้ได้ สำเหนียกให้ดีว่า จะเข้าสมาธิไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือท้องยุบ
ก็เป็นพอ

          แต่ถ้าเราอธิษฐานว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าสงบแน่นิ่งไปเท่านั้นชั่วโมง เท่านั้นนาที ถึงแม้ว่าเข้าสมาธิได้ ถึงแม้เราจำได้ อริยมรรคอริยผลก็ไม่เกิด เพราะว่าอัธยาศัยน้อมไปในสมาบัติเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ มัคคจิตผลจิตก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เหตุนั้น ก็ขอให้ปล่อยให้เข้าสมาธิไปตามธรรมดา แต่พยายามจำอารมณ์ให้ได้ว่า เราเข้าสมาธิไปตอนไหน เท่านั้นก็เป็นพอ

          เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง สมาธิ มานี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


[1] (สุตฺต องฺ. เอก-ทุก-ติกนิปาตา – ๒๐/๔๗/๑๐)