ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ความประชุมพร้อมแห่งผล อาศัยความสามัคคีของปัจจัยทั้งหลายแล้วทำให้เกิดผลโดยพร้อมเพียงกันและสม่ำเสมอกัน เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มี ๑๒ ประการ อันเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน ดังจะแสดงต่อไปนี้

          อวิชชา   เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

          สังขาร   เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

          วิญญาณ  เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

          นามรูป   เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ

          สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ

          ผัสสะ     เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา 

      เวทนา    เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา 

          ตัณหา   เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน

          อุปาทาน  เป็นปัจจัยให้เกิดภพ    

          ภพ  เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ

          ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ

          ชรามรณะ เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา

          ๑.    อวิชชา คือ ความไม่รู้  คือไม่รู้ในอริยสัจ ๔ ตัวเผลอ ตัวหลง มืดมนในธรรม ธรรมที่ควรได้ย่อมไม่ได้ ธรรมที่ไม่ควรได้ย่อมได้ หมายความว่า ไม่รู้ปรมัตถ์ แต่ไปรู้บัญญัติ ได้แก่ โมหเจตสิก นั่นเอง

            ๒.     สังขาร คือ ธรรมที่ปรุงแต่ง ได้แก่ สังขาร ๓ หรืออภิสังขาร ๓ องค์ปรมัตถ์ คือเจตนา ๒๙

          ๓.    วิญญาณ คือ ความรู้ในอารมณ์ ได้แก่ จิตเป็นโลกีย์วิบาก ๓๒ ดวง

          ๔.    นามรูป คือ สภาพที่แตกดับ ยืนไว้ให้รู้ เรียกว่า รูป ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘ สภาพที่น้อมไปหารูปที่แตกดับ คือผู้เข้าไปรู้ เรียกว่า นาม ได้แก่ เจตสิกทั้งหมด

          ๕.    สฬายตนะ คือ อายตนะ ๖ ซึ่งเป็นส่วนภายในองค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ ปสาทรูป ๕ กับจิตทั้งหมด

          ๖.    ผัสสะ คือ ธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง อันเนื่องจากการประชุมของอารมณ์กระทบปสาทรูปและเกิดวิญญาณขึ้น องค์ปรมัตถธรรมได้แก่ ผัสสเจตสิก

          ๗.    เวทนา คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง มี ๓ หรือ ๕ อันเกิดจากผัสสะเป็นปัจจัย มี ๖ ได้แก่ เวทนาเจตสิก

          ๘.    ตัณหา คือ ความอยากอย่างแรงกล้า ได้แก่ ตัณหา ๖ องค์ปรมัตถธรรม คือโลภเจตสิกนั่นเอง ซึ่งแยกออกตามเหตุปัจจัย มี ๓ บ้าง ๑๐๘ บ้าง

          ๙.    อุปาทาน คือ สภาพที่ยึดมั่นถือมั่น คือยึดถืออารมณ์ไว้ด้วยอำนาจแห่งตัณหาที่หนาแน่นขึ้นนั่นเอง องค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก

          ๑๐.  ภพ คือ กามภพ ซึ่งเป็นเจตนาของกุศลและอกุศลที่ทำให้เกิดวิบากและกฏัตตารูป เกิดในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ ได้แก่ อุปัตติภพทั้ง ๙ มีกามภพเป็นต้น

          คำว่า ภพ จึงได้แก่ กรรมใน ๓๑ ภูมินั้นเอง องค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ เจตนาที่ประกอบด้วยจิต ๒๙ ดวง

          ๑๑.  ชาติ คือ ความเกิด ความประสูติ ความเป็น ความปรากฏ แห่งขันธ์ทั้ง ๕ ได้แก่ ปฏิสนธิตามกำเนิด ๔ องค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ นิปผันนรูป ๑๘ (รูปชาติ) วิปากจิต ๑๙ (นามชาติ)

          ๑๒.  ชรามรณะ คือ ความแก่และความตาย อันเป็นผลของชาติ ซึ่งมีรวมด้วยกัน ๕ ประการ ได้แก่ ชรา ความแก่, มรณะ ความตาย, โสกะ ความเศร้าโศก, ปริเทวะ ความร้องไห้, ทุกขะ ความทุกข์กาย, โทมนัสสะ ความทุกข์ใจ, อุปายาสะ ความคับแค้นใจจนพูดไม่ออก ซึ่งหมายเอา ฐิติ ตั้งอยู่ ภังคะ ดับไป ตามความปรวนแปรของจิต เจตสิก และรูป อันไม่มีที่สิ้นสุด

          ปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นอัทธา ๓ (กาล ๓)

          ๑.    อดีตธรรม   คือ อวิชชา สังขาร

          ๒.    อนาคตธรรม คือ ชาติ ชรา มรณะ

          ๓.    ปัจจุบันธรรม คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ

          ปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นองค์ได้ ๑๒ ดังแสดงมาแล้วข้างต้น ถ้าจัดตามอาการได้ ๒๐ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ

          ๑.    อดีตเหตุ ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

          ๒.    ปัจจุบันผล ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

          ๓.    ปัจจุบันเหตุ ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

          ๔.    อนาคตผล ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

          ปฏิจจสมุปบาท ถ้าจัดตามสังเขป มี คือ

          ๑.    อดีตกาลเหตุสังเขป  ได้แก่ อวิชชา สังขาร

          ๒.    ปัจจุบันผลสังเขป ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

          ๓.    ปัจจุบันเหตุสังเขป ได้แก่ ตัณหา อุปาทาน ภพ

          ๔.    อนาคตผลสังเขป ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ

          ปฏิจจสมุปบาท ถ้าจัดตามวัฏฏะ มี คือ

          ๑.    กิเลสวัฏฏะ    ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

          ๒.    กัมมวัฏฏะ    ได้แก่ ภพ สังขาร

          ๓.    วิปากวัฏฏะ   ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

          จัดเป็นมูลมี ๒ คือ

          ๑.    อวิชชา คือ โมหะ ความหลงลืม ไม่รู้ธรรม

          ๒.    ตัณหา คือ โลภะ ความอยากได้ในวัตถุกาม

          อนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทธรรม นี้ ซึ่งเป็นภูมิพื้นที่ที่เจริญวิปัสสนานั้น จะเรียกว่า รูปและนาม ก็ได้ ดังจะสงเคราะห์ให้เห็นประจักษ์ชัดต่อไปนี้

          ๑.    อวิชชา       เป็นนามธรรม

          ๒.    สังขาร       เป็นนามธรรม

          ๓.    วิญญาณ    เป็นนามธรรม

          ๔.    นามรูป      เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม

          ๕.    สฬายตนะ  เป็นนามธรรม

          ๖.    ผัสสะ      เป็นนามธรรม

          ๗.    เวทนา       เป็นนามธรรม

          ๘.    ตัณหา       เป็นนามธรรม

          ๙.    อุปาทาน      เป็นนามธรรม

          ๑๐.  ภพ          เป็นนามธรรม

          ๑๑.  ชาติ           เป็นนามธรรม

          ๑๒.  ชรามรณะ    เป็นนามธรรม

          ผู้เจริญวิปัสสนาโดยเอารูปนามเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เมื่อรู้ รูปนาม ก็คือรู้ ปฏิจจสมุปบาท จนละมูละ คือ อวิชชา ตัณหา ได้จริงแล้ว ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีชาติชราสิ้นแล้ว เหตุที่ความประชุมพร้อมแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง

          เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ, เมื่อสังขารดับ วิญญาณก็ดับ, เมื่อวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ, เมื่อนามรูปดับ อายตนะก็ดับ, เมื่ออายตนะดับ ผัสสะก็ดับ, เมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ, เมื่อเวทนาดับ ตัณหาก็ดับ, เมื่อตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ, เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ, เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ, เมื่อชาติดับ ชรามรณะก็ดับ

         เมื่อชรามรณะดับแล้วก็ไม่เกิดอีก ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องทุกข์กาย ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นบรมสุขอย่างเยี่ยม.