วิปัสสนา
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วันนี้หลวงพ่อจะได้พูดเรื่อง วิปัสสนา โดยสังเขปกถาย่อๆ พอเข้าใจ
การเจริญวิปัสสนานั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจะต้องรู้จักเหตุ รู้จักลักษณะ รู้จักกิจ และรู้จักผลของวิปัสสนา
๑. จิตที่ตั้งมั่นด้วยสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุของวิปัสสนา
๒. ความรู้ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามความเป็นจริง เป็นลักษณะของวิปัสสนา
๓. ความขจัดความมืดคือโมหะอันปิดบังปัญญามิให้เห็นตามความเป็นจริงของสังขาร เป็นกิจของวิปัสสนา
๔. ความเห็นจริงส่องสว่างทั่วไป ในความที่สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าดั่งดวงประทีปส่องสว่างอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นผลของวิปัสสนา
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่เจริญวิปัสสนาอยู่ในขณะนี้ ควรทำความเข้าใจคำว่า วิปัสสนา เสียก่อน แยกออกเป็น ๒ ศัพท์คือ วิ ศัพท์หนึ่ง ปัสสนา ศัพท์หนึ่ง
คำว่า วิ แปลว่า แจ้ง
คำว่า ปัสสนา แปลว่า การเห็น
รวมความว่า วิปัสสนา แปลว่า การเห็นแจ้งซึ่งรูปนามตามความเป็นจริง
หมายความว่า การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องทำให้ปัญญารู้แจ้งซึ่งรูปซึ่งนามว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร เป็นต้น
เพราะเหตุไรจึงจำเป็นที่จะรู้แจ้งซึ่งรูปนาม
เพราะว่า การที่ไม่รู้รูปนาม ทำให้คนเราทั้งหลายหลงรัก หลงใคร่ หลงอยากได้ หลงชัง หลงติดอยู่ในสมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์
เพราะความไม่รู้แจ้งซึ่งรูปนามนี้เอง จึงทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น การรู้รูปนามทำให้คนเราหมดตัณหา มานะ ทิฏฐิ
สิ้นอาสวะกิเลส ให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตัดกำลังของวัฏสงสารได้เด็ดขาด
ไม่หมุนเวียนต่อไป เหตุนั้น จึงจำเป็นต้องรู้รูปนาม ด้วยความเป็นจริง
ทำอย่างไรจึงจะรู้รูปนามด้วยความเป็นจริง เราต้องสำเหนียกอยู่ตลอดเวลา เช่นว่า เรากำหนดอาการพองอาการยุบว่า “พองหนอ” อย่างนี้ ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร กำหนดว่า “ยุบหนอ” อย่างนี้ ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบ สุดยุบเป็นอย่างไร อาการพองอาการยุบที่เรากำหนดแล้วมันเป็นอย่างไร มันฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด หรืออาการพองอาการยุบมันเร็วๆ หรือมันสั้น หรือมันยาว อะไรทำนองนี้
ผู้ปฏิบัติต้องรู้ ต้องสำเหนียกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา และต้องสำเหนียกอยู่อย่างนี้ทุกครั้งๆ ที่กำหนด เมื่อเรากำหนดได้อย่างนี้และสำเหนียกได้อย่างนี้ ก็จะเห็นรูป เมื่อเห็นรูปแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เห็นนาม เพราะว่านามนั้นอาศัยอยู่ในรูป
อุปมาเหมือนกันกับน้ำมันงาในเมล็ดงาที่เรามองเห็นอยู่ เรามองเห็นแต่ภายนอก แต่ไม่รู้ว่าภายในนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราเอาเมล็ดงาไปสกัดด้วยกรรมวิธีแล้วก็บีบหรือสกัดน้ำมันของงานั้นออกมา เราก็เห็นน้ำมันงา ข้อนี้ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น
อุปมาเหมือนกันกับเราทำน้ำขุ่นให้ใส ธรรมดาน้ำที่เราดื่ม เราก็เห็นว่ามันใสเต็มที่ แต่ถ้าเราใช้กรรมวิธี เช่น เอาสารส้มลงไปแกว่งหรือไปแช่ไว้ แล้วก็ปล่อยไว้สักพักหนึ่ง เราก็จะเห็นตะกอนของน้ำอยู่ในขวด ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกันฉันนั้น เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามชัดด้วยปัญญาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นกิเลส ซึ่งเกิดอยู่ในขันธสันดานของเรา
เมื่อก่อนโน้น เราไม่รู้ว่ากิเลสมันเป็นอย่างไร โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน มันเป็นอย่างไร มันอยู่ที่ไหนเราก็ไม่เห็นมัน แต่เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามชัดด้วยปัญญาแล้ว เราเพ่งพิจารณาลึกๆ เข้าไปด้วยสติปัญญา ก็จะเห็นทันทีว่า โลภะ โทสะ โมหะ มันมีอยู่ตรงนี้ๆ มันนอนอยู่ในจิตใจของเราอย่างนี้ๆ
เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามชัดแล้ว ก็สามารถที่จะแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ไม่เห็นรวมๆ กันเหมือนเมื่อก่อน เราจะเห็นว่า ส่วนนี้เป็นรูป ส่วนนี้เป็นนาม เรากำหนดพองหนอ ตรงนี้เป็นรูป ตรงนี้เป็นนาม เรากำหนดว่า ยุบหนอ อย่างนี้ ตรงนี้เป็นรูป ตรงนี้เป็นนาม เกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อกำหนดว่า พองหนอ อย่างนี้ เราก็เห็นว่า อาการพองนี้เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันพองนี้เป็นนาม ยุบหนอ ท้องยุบนี้เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันยุบนี้ มันเป็นนาม เกิดขึ้นมาในจิตในใจ
เรากำหนดทางตาว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อกำหนดไปๆ มันก็รู้ทันทีว่า ตาก็ดี สีก็ดี นี่เป็นรูป ความรู้ว่าเป็นสีต่างๆ สีเหลือง สีดำ สีแดง หรือภาพต่างๆ ที่เราเห็นนี่ มันเป็นนาม หรือในขณะที่กำหนดหูว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ในขณะที่เรากำหนดไป เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาไป ก็จะเห็นทันทีว่า ในขณะที่เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ นี่ตาของเราก็เป็นรูป สำหรับความรู้สึกของเรานั้นเป็นนาม
เรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เมื่อเรากำหนดไป กำหนดไปก็จะรู้ทันทีว่า หูนี่ก็เป็นรูป เสียงต่างๆ ที่ได้ยินก็เป็นรูป ความรู้สึกว่าอันนี้มันเป็นเสียง เป็นนาม เกิดความรู้ทันที ในขณะที่กำหนดทางจมูกว่า กลิ่นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อเรากำหนดไปๆ ตามลำดับๆ มันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า จมูกนี่ก็เป็นรูป กลิ่นที่เราได้รับรู้ว่ามันเหม็น มันหอม นี่เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันหอม มันเหม็น หรือเป็นกลิ่นอะไรเราก็รู้ เป็นนาม มันเกิดขึ้นเอง
ในขณะที่ลิ้นลิ้มรส เรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อกำหนดไปๆ ลิ้นก็เป็นรูป รสอาหารนั้นก็เป็นรูป ความรู้สึกของเราว่ามันเปรี้ยว มันหวาน มันเค็ม มันจืด เป็นนาม เวลากายถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ อาการถูกก็เป็นรูป อาการร้อน อาการอ่อน อาการแข็ง นี่เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันอ่อน มันแข็ง มันร้อน มันเย็น นี่เป็นนาม มันก็เกิดขึ้นมาในทันที โดยที่ไม่ได้จำใครมา หรือไม่ได้จำตำรามาพูด
เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดไปๆ มันจะเห็นอย่างนี้ คือเห็นรูปแล้วก็เห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้วก็เห็นกิเลส เมื่อเห็นกิเลสแล้วก็ยังไปเห็นอีกว่า เรากำหนดบทกัมมัฏฐานแต่ละบทนั้น มันจะรู้ทันทีว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม แล้วก็สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้
อุปมาเหมือนกันกับเราเฉือนหน่อตาล เรามองเห็นหน่อตาลที่มันเกิดขึ้นมาหลายๆ หน่อ หรือสองหน่ออย่างนี้ เราก็คิดว่ามันเป็นหน่อเดียวกัน แต่เมื่อเราเอามีดไปเฉือนออกมา เราจะเห็นว่า มันเป็นคนละหน่อ เกิดคนละขั้ว ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกันฉันนั้น เรามองดูอย่างหยาบๆ เราจะเห็นว่ารูปนามมันเป็นอันเดียวกัน การเดิน ขวาย่าง ซ้ายย่าง อาการพอง อาการยุบ อาการเจ็บ อาการปวด อาการคิด มันเป็นอันเดียวกัน เราจะเห็นอย่างนี้
แต่เมื่อใช้สติปัญญากำหนดไปๆ มันจะเห็นว่ามันเป็นคนละสิ่งคนละอันขึ้นมาทันที อาการพอง อาการยุบ นี่มันเป็นรูป อาการเจ็บ อาการปวด มันก็เป็นรูป อาการอ่อน อาการแข็งนี่เป็นรูป ความคิดนี่ โอ อะไรเป็นผู้คิด ใจคิด ใจนี่มันเป็นนามเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาทันที มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาทันที
สมมติว่า เรากำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อะไรเป็นผู้กำหนด ใจเป็นผู้กำหนด ใครเป็นผู้ก้าว ขาเป็นผู้ก้าว ขาก็ดี ใจก็ดี สองอย่างนี้ อันเดียวกันหรือคนละอัน มันจะเห็นขึ้นมา ขานี่ก็เป็นรูป ใจที่กำหนดนั้นเป็นนาม แม้กัมมัฏฐานอื่นๆ ที่เราใช้สติสัมปชัญญะกำหนด มันจะรู้ขึ้นมาอย่างนี้ทันที แต่ถ้าเราไม่สำเหนียก ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่พิจารณา ไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยปัญญาแล้ว มันก็จะเห็นเป็นแต่อันเดียวกันอันเดียวกันอยู่ตลอดเวลา
หากว่าเราเจริญพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ โอกาสที่จะรู้รูป รู้นาม โอกาสที่จะเห็นกิเลสตัณหานอนอยู่ในจิตของเรา โอกาสที่จะเห็นสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็ยากนักยากหนา แต่เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาด้วยปัญญาอย่างนี้ มันก็จะเห็นรูป เห็นนาม เห็นกิเลส เห็นมรรค ผล พระนิพพาน ขึ้นมาทันที
รูปนามนั้น ท่านเปรียบเสมือนเรือน ธรรมดาเรือนที่เอาทัพสัมภาระต่างๆ มาควบคุมกันเข้า เขาก็เรียกว่า เรือน แต่ถ้าเราแยกส่วนต่างๆ ของเรือนออกไป อันนั้นเป็นเสา อันนี้เป็นคาน อันนี้เป็นขื่อ อันนั้นเป็นแป อะไรเป็นต้น มันจะเห็นเป็นคนละอัน คนละชิ้น ข้อนี้ฉันใด ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรามองดูผิวเผิน เราจะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่เราพิจารณาให้ลึกๆ เข้าไป เราจะเห็นว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นคนละสิ่งเป็นคนละอัน อาศัยส่วนประกอบต่างๆ ของรูป จึงปรากฏอยู่ในขณะนี้
อุปมาเหมือนกันกับรถ รถนั้นเรามองดูเผินๆ เราก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน เป็นรถคันเดียวกัน แต่ถ้าเราแยกสัมภาระออกไป อันนี้เป็นคลัชซ์ อันนี้เป็นเพลา อันนี้เป็นล้อ เป็นพวงมาลัยเป็นต้น เราจะเห็นว่า รถเป็นคนละอัน เป็นคนละสิ่ง แต่ที่เขาเรียกว่าเป็นรถ เพราะถูกควบคุมด้วยสัมภาระ ประกอบด้วยสัมภาระ ข้อนี้ฉันใด รูปขันธ์ นามขันธ์ ก็เหมือนกัน ฉันนั้น
อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้ เรามองดูผิวเผินเราก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราแยกออกไปเป็นส่วนๆ เราจะเห็นเป็นคนละอัน คืออันนี้เป็นเปลือก อันนี้เป็นกระพี้ อันนี้เป็นแก่น อันนี้เป็นกิ่ง อันนี้เป็นใบ อันนี้เป็นผล อะไรทำนองนี้ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายอันยาววาหนาคืบก็เหมือนกันฉันนั้น
อุปมาเหมือนกันกับดวงจันทร์ที่เราเห็นอยู่นี้ เรามองเข้าไป เราจะเห็นว่าดวงจันทร์ทั้งดวงนั้นเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่คนละอัน แต่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาให้ซึ้งๆ ลงไปแล้ว เราจะเห็นว่า ดวงจันทร์นั้นเป็นคนละอัน ที่เรามองเห็นนั้นมันแยกกันได้ว่า นั่นเป็นดวงจันทร์ แต่แสงสว่างออกมานั้นไม่ใช่ดวงจันทร์ ดวงจันทร์ก็ไม่ใช่แสงสว่าง แต่มันอาศัยกันเกิดขึ้น
อุปมาเหมือนกันกับดวงอาทิตย์ เรามองดวงอาทิตย์ เราจะเห็นว่ามันเป็นดวงเดียวกัน แต่ถ้าเราคิดด้วยปัญญาแล้ว ทีนี้เราจะเห็นเป็นคนละอัน ดวงอาทิตย์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แสงสว่างของดวงอาทิตย์นั้น ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง มันเป็นคนละอัน แต่มันอาศัยกัน ข้อนี้ ฉันใด รูปนามของเราก็เหมือนกันฉันนั้น
รูปนามอาศัยกัน อุปมาเหมือนกันกับหุ่นกระบอก ธรรมดาเราไปดูหนังปโมทัย หรือดูโน้นดูนี้ เราจะเห็นหุ่นกระบอกที่ถูกเขาชัก นี่มันรำเป็นตัวท้าว ตัวนาง เราจะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ เราจะเห็นว่าเป็นคนละอัน หุ่นกระบอกนั้นเป็นอันหนึ่ง บุคคลผู้ชักหุ่นกระบอกก็เป็นอันหนึ่ง ผู้ชักหุ่นก็ไม่ใช่หุ่นกระบอก หุ่นกระบอกก็ไม่ใช่ผู้ชักหุ่น ข้อนี้ฉันใด รูปนามก็เหมือนกันฉันนั้น รูปก็ไม่ใช่นาม นามก็ไม่ใช่รูป แต่อาศัยกันเกิดขึ้น
อุปมาอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกันกับไม้อ้อ ๒ มัดที่ค้ำยันกันอยู่ ไม้อ้อสองมัดนั้น แต่ละมัดๆ ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน คนละอัน ไม้อ้อมัดที่ ๑ ก็ไม่ใช่มัดที่ ๒ มัดที่ ๒ ก็ไม่ใช่มัดที่ ๑ แต่มันอาศัยกันเกิดขึ้น หากว่าเราเอาไม้อ้อมัดที่ ๑ ออกไปเสีย มัดที่ ๒ ก็ต้องล้ม ถ้าเอามัดที่ ๒ ทิ้งไปเสีย มัดที่ ๑ ก็ต้องล้ม ข้อนี้ฉันใด รูปนามก็เหมือนกันฉันนั้น ถ้ารูปดับ นามก็ดับ ถ้านามดับ รูปก็ดับ เพราะรูปกับนามอาศัยซึ่งกันและกัน
หรืออุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงกลอง กลองกับเสียงกลองนั้น ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน กลองก็ไม่ใช่เสียง เสียงก็ไม่ใช่กลอง แต่อาศัยกันเกิดขึ้น
อุปมาเหมือนเจ้าบอดกับเจ้าง่อย คนหนึ่งบอดมาแต่กำเนิด แต่อีกคนหนึ่งง่อยมาแต่กำเนิด วันหนึ่ง เจ้าบอดจะไปสู่สถานตำบลแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถจะไปได้ เพราะตามองไม่เห็น ก็มีแต่บ่นไปว่า ข้าพเจ้าอยากไปบ้านโน้นๆ แต่ข้าพเจ้ามองไม่เห็นหนทาง ในขณะนั้น เจ้าง่อยนั่งฟังอยู่ รู้ทันทีว่า ข้าพเจ้าก็ต้องการจะไปบ้านโน้นเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะเดินได้ ขาของข้าพเจ้าไม่ดี เป็นคนง่อยมาแต่กำเนิด
พอดีพูดกันเท่านั้น ทั้งสองก็เข้าใจกันแล้วก็ตกลงกันเพื่อจะไปสู่บ้านที่ตนต้องการ เจ้าบอดก็แบกเอาเจ้าง่อยขึ้นใส่บ่า ในขณะที่เดินตามทาง เจ้าง่อยเป็นผู้นำทาง สำหรับเจ้าบอดก็เป็นขาผู้พาเดิน ผลสุดท้ายทั้งสองนั้นก็ไปถึงตำบลที่ต้องการ ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกันฉันนั้น รูปไม่มีเดชจำเพาะตน นามก็ไม่มีเดชจำเพาะตน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
อุปมาเหมือนกันกับมนุษย์กับเรือที่ข้ามแม่น้ำ มนุษย์ที่ข้ามแม่น้ำต้องอาศัยเรือ และเรือกับมนุษย์นั้นก็ไม่เป็นอันเดียวกัน เพราะเรือก็ไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์ก็ไม่ใช่เรือ แต่ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ก็สามารถจะข้ามไปถึงฝั่ง ข้อนี้ฉันใด รูปนามก็เหมือนกันฉันนั้น
ในเมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะพอเข้าใจว่า เราเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสำเหนียกบทพระกัมมัฏฐานแต่ละบท หรืออารมณ์กัมมัฏฐานแต่ละอย่างๆ ที่กำหนดอยู่นี้ ที่ภาวนาอยู่นี้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นบุญเป็นกุศล อะไรเป็นโทสะ อะไรเป็นโมหะ อะไรเป็นโลภะ อะไรเป็นทาน อะไรเป็นศีล อะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นปัญญา เมื่อเราทั้งหลายสำเหนียกอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปเห็นนาม เห็นกิเลสตัณหา เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติบทกัมมัฏฐานนี้ แม้ว่าจะเป็นทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน แต่ว่าเวลาทำนี้ มันทำลำบากท่านทั้งหลาย บางท่านก็ทำลำบาก บางท่านก็ทำสบาย อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่บุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมมา คือว่า บางท่าน ทุกขังปรากฏชัด หรือในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ทุกขังมันเกิดมาก เราจะเห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี่มันลำบากลำบนเหลือทน มันเจ็บที่โน้น มันปวดที่นี้ ร้อยแปดพันประการ
ถ้าหากว่าท่านผู้ใดเห็นอนิจจังชัด คือ อนิจจังปรากฏมากกว่าทุกขัง ก็จะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ ช่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน เหมือนกันกับเรือที่เราขับขี่ไปในแม่น้ำ มันจะมีอาการกระเพื่อมแล้วก็ไหวอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด
เมื่อพระไตรลักษณ์คืออนิจจังปรากฏขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแรงกล้าแล้ว เราจะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างช่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก หรือว่าจิตของเราก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก ขณะนี้คิดอย่างนี้ ขณะนี้คิดอย่างนี้ เรากำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันก็เปลี่ยนไปเร็วนัก เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ทำไมมันถึงเปลี่ยนไปเร็วนักอย่างนี้ มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ
แต่บางท่านที่ได้สั่งสมอบรมบารมีมามาก เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อนัตตามันปรากฏชัด ผู้ใด เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อนัตตาปรากฏชัด ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่มันช่างง่ายเหลือเกิน สะดวกสบายเหลือเกิน กำหนดง่ายเหลือเกิน เวลาเดินจงกรมก็กำหนดง่ายเหลือเกิน เมื่อพิจารณาท่านก็เห็นว่า แม้เรากำหนดง่ายๆ สบายๆ แต่มันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา
เช่นว่า ในขณะนี้ เวลาเดินจงกรม ต้องการจะให้มันเป็นแต่อย่างนี้ๆ มันก็ไม่เป็นไปตามอำนาจของเรา เวทนาที่ปวดอยู่อย่างนี้ เราไม่อยากให้มันปวดมันก็ปวด เวลามีสุข เราอยากให้ความสุขตั้งอยู่อย่างนี้ตลอดไป มันก็ไม่สุข เดี๋ยวก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เจ็บที่โน้น ปวดที่นี้ขึ้นมา
อันนี้ที่พูด ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้นจะเห็นไม่เหมือนกัน เห็นต่างกัน บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติลำบาก บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติยาก บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติสบาย อันนี้อยู่ที่ปฏิปทาของผู้ปฏิบัติ
ถ้าท่านผู้ใดเป็นประเภท สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ก็ปฏิบัติสบายแล้วก็รู้เร็ว ท่านผู้ใดเป็นประเภท สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ก็จะปฏิบัติสบาย แต่รู้ช้า บรรลุช้า แต่บางท่านเป็นประเภท ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้เร็ว เวลาจะบรรลุก็บรรลุเร็ว แต่บางท่านเป็นประเภท ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ลำบาก รู้ก็ช้า กว่าที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นแต่ละอย่างๆ แต่ละขั้นๆ นั้นก็ต้องใช้เวลานาน กว่าจะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มัคคญาณ ผลญาณ เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็ยากเหลือทน อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ปฏิปทาของท่านผู้ปฏิบัติ
ตัวอย่าง พระปีติมัลลเถระ[1] มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์อรรถกถา ทีฆนิกายมหาวรรคว่า พระปีติมัลลเถระ ครั้งที่เป็นคฤหัสถ์เป็นโยมอยู่ ได้ฟังพระท่านสวดพระอภิธรรม ท่านท่องอภิธรรม สวดอภิธรรม รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน
พระปีติมัลลเถระในขณะที่เป็นโยมอยู่นั้น ท่านก็ฟังธรรมะแล้วก็รู้สึกว่า ธรรมที่สวดนั้นมันดื่มด่ำล้ำลึกอยู่ในจิตในใจ มันชุ่มฉ่ำในจิตในใจเป็นพิเศษ เกิดความเลื่อมใส อยากบวช แล้วก็เข้าไปขอบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วได้ไปสู่ราวป่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เดินจงกรมจนเท้าแตก เมื่อเดินจงกรมเท้าแตกแล้วก็คุกเข่าเดินกลับไปกลับมา
อนิจจา…ในขณะนั้น (เวลาค่ำคืน) นายพรานเดินผ่านมาเห็น นึกว่าเป็นเนื้อเป็นกวาง ก็ยกศรขึ้นมายิง เลยไปถูกสีข้างของท่าน เมื่อท่านถูกลูกศรแล้วท่านก็พูดขึ้นว่า ใครหนอมายิงเรา โกรธเคืองเราเรื่องอะไรหนอจึงมายิงเรา นายพรานได้ยินเท่านั้นก็คิดว่าจะมีโทษ วิ่งหนีไปเลย นายพรานก็วิ่งแจ้นเลย เกรงว่าจะได้รับโทษ
ในขณะนั้น ท่านปีติมัลลเถระก็พยายามใช้พลังดึงลูกศรออก เมื่อดึงลูกศรออกแล้วก็เคี้ยวใบไม้อุดรูแผล เมื่ออุดรูแผลเสร็จแล้วก็ไปนั่งในที่สบายแห่งหนึ่ง แล้วก็เอาเวทนาในส่วนทุกขาวิปัสสนาสติปัฏฐานมาบริกรรม มาภาวนา มากำหนดว่า ทุกข์หนอๆ ไป
ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า ในขณะนั้น ร่างกายของท่านนั้นถูกลูกศรแล้ว จะมรณภาพแหล่ไม่มรณภาพแหล่อยู่แล้ว คืออาการเกือบจะถึงที่สุดแล้ว เกือบจะหมดลมหายใจ ถึงกระนั้น ท่านก็ยังอดทน กัดฟันต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมละการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอันขาด
ท่านก็กำหนดไปว่า ปวดหนอๆ ทุกข์หนอๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นวิปัสสนาญาณก็เกิดในขันธสันดานของท่านไปตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๒ ที่ ๑๓ ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๑๖ ผลสุดท้ายท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดไปจากขันธสันดาน
นี่แหละท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติ บางท่านแม้มีอุปนิสัยจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินั้นลำบากเหลืออดเหลือทน เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เวลาเจริญพระกัมมัฏฐานก็ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า เวลามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็คิดว่า เรานี้ เมื่อภพก่อน ชาติก่อน เราคงได้เจริญสมถกัมมัฏฐานมามากเสียแล้ว การประพฤติปฏิบัติมันจึงได้ลำบากอย่างนี้
บางท่าน เวลาปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก ท่านก็อาจคิดพิจารณาว่า สังขารร่างกายทั้งหลายทั้งปวงนี้ มันช่างไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นมาแล้วเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน อะไรทำนองนี้ ก็ขอให้ท่านได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ปลงธรรมสังเวชกถา ทุกสิ่งทุกอย่างคิดให้เป็นบุญเป็นกุศลที่ได้สั่งสมอบรมมาก็แล้วกัน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุอริยมรรคอริยผล
ต่อไปก็ขอเตือนสติ ท่านทั้งหลาย ที่ท่านพระอาจารย์ทองดีได้กล่าวไว้เมื่อก่อนโน้นว่า สิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดความห่วงกังวลในการประพฤติปฏิบัติ ทำให้การประพฤติของเรานั้นเนิ่นช้า ก็มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ
๑) อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่
๒) กุลปลิโพธ ห่วงตระกูล
๓) ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ
๔) คณะปลิโพธ ห่วงศิษย์ห่วงหมู่คณะ
๕) กัมมปลิโพธ ห่วงงาน
๖) อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทาง
๗) ญาติปลิโพธ ห่วงญาติพี่น้อง
๘) อาพาธปลิโพธ ห่วง(กลัวว่าจะมี)ความเจ็บไข้
๙) คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน
๑๐) อิทธิปลิโพธ ห่วงฤทธิของปุถุชน เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายระวังอันตรายทั้ง ๑๐ ประการนี้ อย่าให้ครอบงำจิตใจของเราได้
พร้อมกันนี้ หลวงพ่อก็ขออภัยท่านทั้งหลายด้วย และขออภัยคณะแม่ชีทั้งหลายด้วย ว่าการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายในขณะนี้ มันลำบากลำบนเหลือทน เดี๋ยวก็เสียงโน้น เดี๋ยวก็เสียงนี้ อะไรจิปาถะ เราจะเห็นว่า ญาติโยมก็พากันมุงหลังคาโบสถ์ที่โน้นก็มี ทางโรงเรียนปริยัติก็ทำ แต่คงไม่หนักมากเกินไป แต่สำหรับหลังคาโบสถ์นี่รู้สึกว่าลำบากลำบนเหลือเกิน หลวงพ่อก็ไม่อยากทำหรอก ไม่อยากให้เขาทำ แต่ว่าไม่รู้จะทำอย่างไรได้
เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ให้อภัยหลวงพ่อด้วย คิดว่าอีกไม่ถึง ๔ – ๕ วัน เสียงที่ได้ยินอยู่นี้ก็คงจะหมดไปแล้ว พยายามปรับจิตปรับใจของเราให้ได้ เพราะว่าอารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เช่นว่า รูปที่เราเห็นทางตาก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน หูได้ยินเสียง เสียงนั้นก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน กลิ่นที่ได้รับก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน อาการเจ็บปวดที่โน้นที่นี้ ก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน
เหตุนั้น เมื่อเราได้ยินเสียง ก็เอาเสียงนั้นเป็นอารมณ์ กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ไปเรื่อยๆ หรือว่า เสียงหนอๆ ไปเรื่อยๆ หากว่าเราปรับให้ตัวเราสามารถกำหนดได้ จิตของเราจะไม่มีอาการหงุดหงิด จะไม่มีอาการโกรธ จะไม่มีอาการไม่พอใจ คือความท้อใจก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความหงุดหงิดก็ไม่มี ความคับแค้น ความแห้งผากใจก็ไม่มี
เรากำหนดเสียงว่า ได้ยินหนอๆ ไปเรื่อยๆ บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้ฌาน ได้สมาบัติ บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้มรรค ได้ผล ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา
จึงขอสรุปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมา เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน ให้เราคิดเสียว่า ขณะนี้เขาก็ทำงานของเขา เราก็ทำงานของเรา งานของเราก็คือปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน งานของเราก็คือการกำหนด ได้ยินเสียงขึ้นมา เราก็กำหนด ได้ยินหนอๆ ไปตามลำดับๆ
ถ้าฉลาดในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเรานั้นง่ายขึ้นมา แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมไว้
เอาละ
เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง วิปัสสนา มา ก็สมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
[1] พระสุตตันตปิฎกแปล ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๙