อาการเกิดดับของวิปัสสนา

อาการเกิดดับของวิปัสสนา

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อาการเกิดดับเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มากล่าวเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ได้สังวร ได้ระวัง เพราะอาการเกิดดับนี้ บางทีเราก็เข้าใจผิด เพราะอาการเกิดดับมันมีหลายสิ่งหลายประการ ดังนี้

          ๑.    อาการดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานของเราจะไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า จิตใจเหี่ยวห่อท้อแท้ นั่งกัมมัฏฐานก็ไม่ตรง เอนข้างนั้นเอนข้างนี้ สัปหงกไปข้างซ้ายข้างขวา ขึ้นข้างบนลงข้างล่าง

          การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ปัจจุบันธรรม มีตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาพักหนึ่ง กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าในขณะที่มันสัปหงกวูบลงไป มันลงสู่ภวังค์ เมื่อมันลงสู่ภวังค์ก็เลยหายง่วง

          อันนี้แหละเป็นอาการดับของถีนมิทธะ ชอบจะเป็นเวลาเราฉันข้าวใหม่ๆ ฉันเช้า ฉันเพลแล้วใหม่ๆ หรือว่าวันไหนที่ฉันของหวานมากๆ หรือวันไหนที่รับอาหารเข้าไปมากๆ เวลานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี้กระเปร่า เรากำหนดไปๆ มันสัปหงกลงไปเรื่อยๆ อันนี้ก็พึงสังวรพึงระวังให้มาก

          อีกอย่างหนึ่ง พวกถีนมิทธะนี้ชอบจะเป็นตอนดึกๆ ๕-๖ ทุ่ม ตี ๑ ตี ๒ ไปถึงโน่นแหละ ตี ๓ ตี ๔ ชอบจะเป็นตอนดึกๆ ถ้ามันเป็นขึ้นมาอย่างนี้ ท่านทั้งหลายต้องเดินจงกรมให้มากๆ มิฉะนั้นก็ต้องอาบน้ำชำระร่างกาย แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ ทำความสำคัญว่า ขณะนี้เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ไม่ใช่เวลาหลับเวลานอน อะไรทำนองนี้ เมื่อเตือนจิตสะกิดใจแล้ว อาการถีนมิทธะจะหมดไป

            ๒.     อาการดับด้วยอำนาจของปีติ เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานไปๆ ปีติมันเกิดขึ้นมา จะเป็นขณิกาปีติ ขุททกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ หรือผรณาปีติก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วจะมีลักษณะอย่างเดียวกัน เมื่อมันเกิดจนถึงที่สุดแล้วมันจะสัปหงกวูบลงไป

          บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา อันนี้มันดับด้วยอำนาจของปีติ มันจะดับกันทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใหญ่ เด็กน้อย เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ปีติมันจะเกิดขึ้นบ่อยๆ

          ปีติทั้ง ๕ ประการนี้ เวลามันเกิดขึ้นก็ดี เวลามันดับก็ดี มีอาการเหมือนกันหมด พอปฏิบัติไปๆ จิตใจจะร่าเริง เบิกบาน แจ่มใสไปเรื่อยๆ มันดีอกดีใจไปเรื่อยๆ ในขณะดีอกดีใจอยู่ มันก็สัปหงกวูบลงไป นี่เป็นลักษณะของปีติ เราอาจจะเข้าใจว่ามันเป็นมรรคผลพระนิพพาน ไม่ใช่นะ ปีตินี้มันก็เป็นกันทุกรูปทุกนาม

          ๓.    อาการดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธินี้ จิตและเจตสิกของเรามันจะสงบมาก คือกายก็สงบ จิตก็สงบ มันสงบผิดปกติ อารมณ์ภายนอกก็ไม่มารบกวนได้เลย ตัวก็เบาเป็นพิเศษ และก็เบาคล้ายกับไม่มีน้ำหนัก เบาเป็นพิเศษ แล้วก็สงบเป็นพิเศษ

          ร่างกายของเราไม่เจ็บที่โน้น ไม่ปวดที่นี้ คล้ายๆกับว่าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน กำหนดไปๆ มันดิ่งเข้า ดิ่งเข้าไปๆ บางทีขาดความรู้สึกเลย ความรู้สึกไม่มี มันขาดความรู้สึกไป อันนี้ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ ก็ขอได้สังวรระวัง อย่าได้เข้าใจว่าเป็นมรรคเป็นผล

          ๔.    อาการดับด้วยอำนาจของสมาธิ ดับด้วยอำนาจของสมาธินี้ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานมันจะกำหนดได้ดี สมมติเรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ ถูกหนอ จิตใจของเรามันอยู่กับอาการนั่ง อาการพอง อาการยุบ อาการถูก มันอยู่อย่างนี้ มันไม่ไปที่ไหน จิตใจมันจ้องอยู่อย่างนี้ จับอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่เผลอ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่เผลอ

          เราตั้งใจกำหนดแล้วกำหนดได้ดี จ้องอยู่ กำลังจ้องอยู่นั้น มันสัปหงกวูบลงไปเลย ทั้งๆที่เราไม่เผลอ สมาธิดีอยู่ มันจ้องอยู่กับอาการพองอาการยุบ ขณะที่เราจ้องอยู่นั้น มันสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของมัน อันนี้มันก็ดับด้วยอำนาจของสมาธิ เราอย่าเข้าใจว่าเป็นมรรคผลนิพพาน

          ๕.    อาการดับด้วยอำนาจของอุเบกขา ดับด้วยอำนาจของอุเบกขานี้ เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานจิตใจของเรามันจะเลื่อนลอยไป ลอยไปสู่อารมณ์ภายนอก กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ กำหนดไปเพลินไปๆ กำหนดไปคิดไปเพลินไปๆ บางทีมันก็เพลินไปตามรูป บางทีก็เพลินไปตามเสียง บางทีก็เพลินไปตามกลิ่น บางทีก็เพลินไปตามรส บางทีก็เพลินไปตามสัมผัส บางทีก็เพลินไปตามความคิด แล้วแต่มันจะเพลินไป คิดไปๆ เพลินไป กำลังเพลินๆ อยู่นั่นแหละ มันสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา ก็แล้วแต่จะเป็นไป เราอย่าได้คิดว่าเป็นมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นลักษณะของอุเบกขา

          ๖.    อาการดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาด คือเรากำหนดพระกัมมัฏฐานไป กำหนดไปๆ พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมา บางทีพระไตรลักษณ์มันเร็วขึ้นๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางครั้งก็แรง บางครั้งก็เบา แล้วแต่อำนาจของสมาธิ

          ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบา แต่ในขณะที่มันดับลงไปนั้น เราจำสภาวะไม่ได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ เราก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่ามันเร็ว ในขณะนั้นอาการพองอาการยุบมันเร็ว อันนี้เรียกว่า สันตติขาด

          สันตติ คือ ความสืบต่อ ความสืบต่อของรูปของนาม ตามปกติรูปนามของเรามันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา เช่น แสงไฟนีออนนี่ มันก็เกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันเร็วเกินไป คือมันเร็วเป็นพิเศษ เมื่อมันเร็วถึงที่แล้วก็คล้ายๆกับว่ามันไม่ดับเลย มันไม่เกิดไม่ดับ แต่ที่จริงมันดับอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เกิดไม่ดับมันก็ไม่สว่าง จิตของเราก็เหมือนกัน มันเกิดมันดับๆ สลับกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เกิดไม่ดับความคิดก็ไม่มี มันหมดความคิด ความคิดก็หมดไป แต่ว่ามันเกิดมันดับ ความคิดมันจึงเกิดขึ้นมา

          เหมือนกันกับตะเกียง ตะเกียงเจ้าพายุอย่างนี้ ไส้แต่ละอันแต่ละช่องที่มันเป็น(ผ้า)ไหมเป็นอะไรอยู่นั้นก็ตาม มันต้องสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา มันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา ไส้ตะเกียงเจ้าพายุนั้น ถ้ามันไม่มีการเกิดการดับมันก็ไม่สว่าง อันนี้ก็เหมือนกัน จิตใจของคนเรานี้ เมื่อสันตติขาด คือมันไม่มีการสืบต่อ รูปนามนี้ไม่มีการสืบต่อ

          ลมหายใจเข้าหายใจออกไม่มีการสืบต่อ จิตของเราก็ไม่มีการสืบการต่อ มันหยุดชั่วขณะหนึ่ง ในขณะที่มันหยุดกึกนั้น มันก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา อันนี้เรียกว่า มันดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาด

          พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมปรากฏชัด ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในพระบาลีว่า

สนฺตติยา วิโกปิตาย อนิจฺจลกฺขณํ ยาถาวสรสโต อุปฏฺฐาติ[1]

          เมื่อใดนักปฏิบัติมาเพิกสันตติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ดังนี้

          แต่อาการดับเช่นนี้ กิเลสยังไม่ตายนะ กิเลสยังไม่ตาย ยังไม่ดับ โลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ดับ แต่มันจะอ่อนกำลังลง เหมือนกันกับเราเอาไม้ไปเฆี่ยนงู ไปตีงู ตีๆลงไป งูไม่ตายทันที แต่มันก็เจ็บตัว กำลังของมันก็อ่อนลงไป แทนที่มันจะเลื้อยไปได้เร็ว มันก็ไปไม่ได้เร็ว บางทีก็หยุดอยู่กับที่ ไปไม่ได้ แต่มันยังไม่ตาย ข้อนี้ฉันใด กิเลสตัณหาก็เหมือนกัน ในขณะที่มันดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาดดังกล่าวมาแล้วนี้ กิเลสตัณหายังไม่ดับ แต่ว่ามันอ่อนกำลังลง

          อนึ่ง การดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์นี้ แบ่งเป็น๒ ภาค คือ

          ๑)    ดับด้วยอำนาจของไตรลักษณ์ แต่ว่าเรายังจำสภาวะไม่ได้ คือสภาวะยังไม่ถึงที่ มันดับไปอยู่ มันดับด้วยอำนาจของอุทยัพพยญาณ แต่ว่าอริยมรรคอริยผลยังไม่เกิด แต่พระไตรลักษณ์มันเกิดแล้ว แต่มันยังไม่ถึงที่

          ๒)    ดับด้วยฌาน คือดับด้วยอำนาจของรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ การดับด้วยอำนาจของรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ นี้ เมื่อมันดับลงไปๆ บางทีสามารถทรงอยู่ในฌานธรรมนั้นเป็น ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง หรือ ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๗ วัน ๗ คืนก็ตาม

          อาการของมันดับลงไปน่ะ มันดับลงไปแล้ว แต่ว่ากิเลสตัณหายังไม่ดับ ยังอยู่ แต่เพราะว่าถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของฌาน กิเลสตัณหาเกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้เป็นการดับของฌาน คืออัปปนาสมาธิมันเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี มันก็ดับไป แต่ว่าจะดับไปนานหรือไม่นาน ก็แล้วแต่บารมีที่เราสร้างสมอบรมมา ถ้าความเพียรและสมาธิมีมากเท่ากัน มันก็อยู่นานๆได้

          ๗.    อาการดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติ อำนาจของผลสมาบัตินั้น เช่นว่า ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ไปแล้วนี่ หลังจากนั้น เวลาเรานั่งสมาธิเจริญภาวนา ถ้าหากว่าเรานั่งได้ถูกที่ผลจิตหรือผลสมาบัติมันจะเกิดขึ้น บางทีก็เกิดขึ้นชั่วขณะๆ เกิดขึ้นแล้วดับไปๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ อาจจะเป็น ๑ นาที ๒ นาที หรือ ๓ นาทีก็แล้วแต่

          แต่บางทีเราก็อยู่ได้นานๆ ถ้าสมาธิมาก ความเพียรมาก ถ้าสมาธิและความเพียรมันเท่าๆกัน เราอาจจะอยู่ได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๕ วัน ๕ คืน ก็สามารถที่จะอยู่ได้ นี่มันดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติ

          การดับอย่างนี้เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ (แต่ฌานสมาบัติซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มันเกิดขึ้นแล้วมันดับลงไปในขณะนั้น ยังไม่ผ่านอริยมรรคอริยผล สมาธิที่ดับลงไปก็ยังเป็นฌานสมาบัติอยู่ ยังเป็นโลกิยะอยู่ ยังไม่เป็นโลกุตตระ ยังเป็นโลกิยะอยู่ ยังมีรูป ยังมีนาม หรือยังมีบัญญัติเป็นอารมณ์อยู่) อันนี้เรียกว่าเป็นการดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติหรือผลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์

          ๘.    อาการดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัติ ดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัตินี่เกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือเป็นพระอรหันต์แล้ว อาการดับอย่างนี้มันจึงจะเกิดขึ้นมา และการดับหลังจากได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้น เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

          นิโรธสมาบัตินี้ ดับได้เฉพาะพระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นทำให้ดับไม่ได้ เพราะว่ากิเลสตัณหายังมียังหนาอยู่ ยังไม่เบาบางลง เช่นว่า โทสะก็ยังไม่เบาบางลง ยังไม่หมด โลภะก็ยังไม่หมด โมหะก็ยังไม่หมด เมื่อใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี โลภะก็หมดไปแล้วครึ่งหนึ่ง โทสะหมดไปแล้ว ราคะก็หมดไป และโมหะหมดไปแล้วครึ่งหนึ่ง ก็สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ สำหรับพระอรหันต์นั้นก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะกิเลสตัณหาดับไปหมดแล้ว

          สรุปว่า การดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัตินี้ จะดับได้หลังจากปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านอนาคามิมรรคอนาคามิผล หรือขึ้นสู่อรหัตตมรรคอรหัตตผลแล้ว อาการดับเช่นนี้จึงจะมีขึ้น อาการดับเช่นนี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

          นอกจากนี้ อาการดับด้วยอำนาจของอริยมรรคอริยผล คือเมื่อเราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนวิปัสสนาญาณแก่กล้าสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล เมื่อมัคควิถีเกิดขึ้นมาแล้ว ผ่านอนุโลมโคตรภูแล้วก็ถึงอริยมรรคอริยผล คือหมายความว่า หลังจากอนุโลมญาณเกิดขึ้นแล้ว ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นโคตรภูญาณก็เกิดขึ้นมาอีก ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นมัคคจิตผลจิตก็เกิดขึ้น เมื่อมัคคจิตผลจิตเกิดขึ้น อาการดับมันจะเกิดขึ้น

          ในขณะที่อาการดับเช่นนี้เกิดขึ้น บางทีอาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา แต่ว่าก่อนมันจะดับนั้น อาการพองอาการยุบมันจะเร็วขึ้นเสียก่อน ทีนี้บางครั้งอาการพองอาการยุบ มันจะฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางคนก็แน่นมาก จนไม่กล้านั่งกัมมัฏฐานต่อ กลัวว่าจะตายไป

          บางคนก็กำหนดว่า แน่นหนอๆไป พอแน่นขึ้นๆแล้วมันจะดับวูบลงไป ในขณะที่มันดับวูบลงไปเราก็จำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก เราก็จำได้ สามารถได้ปัจจุบันธรรม เรียกว่าดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์

          การดับด้วยอำนาจของไตรลักษณ์นี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ผู้ดับได้ด้วยอาการอย่างนี้ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ จุติแล้วจะไม่ไปบังเกิดในนรก ไม่เกิดเป็นเปรตอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อำนาจของพระไตรลักษณ์ประเภทที่ ๓ คืออาการพอง อาการยุบ หรืออารมณ์ที่เรากำหนดนั้น มันจะสม่ำเสมอดี แล้วมันจะแผ่วเบา เบาเข้าๆ แล้วมันก็ดับวูบลงไป เราก็จำได้ว่ามันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก เราก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ถือว่าเป็นโลกุตตระ การดับด้วยอาการหรือลักษณะอย่างนี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

          ถ้าทำได้ครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่าเราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด เวลาจุติ เวลาตาย หากว่าเราไม่ได้ฌาน ไม่ได้ตายในฌาน ก็จะมาเกิดในโลกมนุษย์ หรือบางทีไปเกิดในเทวโลก ในฉกามาวจรสวรรค์ จะเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติ ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

          ทีนี้ ถ้าหากว่าเราดับอย่างนี้ได้ครั้งที่ ๒ คือหลังจากวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครบกำหนดครั้งที่ ๒ ผ่านเข้าสู่เขตมัคควิถี อาการดับเช่นนี้เกิดอีกครั้งที่ ๒ ก็ถือว่าเราได้สำเร็จเป็นสกทาคามี เมื่อได้สำเร็จเป็นสกทาคามีแล้ว หากว่าไม่ได้ฌาน ไม่ได้ตายในฌาน จุติแล้วก็จะมาเกิดในโลกมนุษย์บ้าง หรือไปเกิดในเทวโลกฉกามาวจรสวรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แล้วแต่อำนาจของบุญกุศลที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้

          แต่ถ้าว่าพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน จะไปเกิดในรูปพรหมบ้าง ในอรูปพรหมบ้าง พระสกทาคามีนี้จะเกิดอีกอย่างมากเพียงชาติเดียวเท่านั้นก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจะปรินิพพาน ทีนี้ ผู้ที่สามารถปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถดับรูปดับนามดับกิเลสตัณหาด้วยอำนาจอนาคามิมรรคอนาคามิผล คือเมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนวิปัสสนาญาณแก่กล้าขึ้นไปตามลำดับๆ จนเข้าสู่เขตมัคควิถี เมื่อเข้าสู่เขตมัคควิถี อริยมรรคอริยผลก็จะเกิดขึ้น ดับวูบลงไป

          เมื่อดับลงไป ถ้าหากว่าดับด้วยอำนาจอนาคามิมรรคอนาคามิผลแล้ว ผู้นั้นก็เป็นอันว่า โลกมนุษย์นี้ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายของท่าน คือพระอนาคามีนั้น เมื่อท่านจุติแล้วจะไม่มาเกิดในมนุษย์ และไม่ไปบังเกิดในเทวโลกอีก

          เพราะเหตุอะไร เพราะพระอนาคามีนั้นท่านสามารถกำจัดโทสะและกามราคะได้แล้ว โทสะก็หมดไปแล้ว กามราคะก็หมดไปแล้ว เมื่อโทสะและกามราคะซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก่อภพก่อชาติในกามภพนั้นไม่มี เมื่อไม่มีแล้ว พระอนาคามีจุติแล้วก็ไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสพรหมตามกำลังของฌาน คือเกิดในชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี หรือชั้นอกนิฏฐา แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ท่านสร้างสมอบรมไว้

            ทีนี้ หากว่าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถยังวิปัสสนาญาณให้แก่กล้าขึ้นครบ ๔ ครั้ง ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นอันว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่ก็เป็นแต่เพียงอากัปกิริยา แสดงว่าท่านได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานแล้ว เหลืออยู่แต่เพียงเบญจขันธ์เท่านั้น ส่วนกิเลสตัณหามันดับไปหมดแล้ว เมื่อมีชนมายุอยู่ครบอายุขัยแล้วก็ปรินิพพาน ไม่มาเกิดในโลกนี้หรือโลกอื่น ไม่ไปบังเกิดในโลกไหนๆ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง เป็นที่รู้ เป็นที่ทำให้แจ้ง เป็นที่ได้บรรลุ

          เพราะฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ถ้าอาการดับลักษณะต่างๆดังกล่าวมาข้างต้นนี้เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณาให้ดี อย่าได้ชะล่าใจและเข้าใจว่าตนได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วในทันที มิฉะนั้นมันอาจจะได้ของปลอม จะได้สมาธิปลอม ได้ฌานปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม ได้นิพพานปลอม เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามทำไปจนกว่าจะได้ของจริง

          เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้นำเรื่องอาการเกิดดับมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


[1] สมฺโมหวิโนทนี หน้า ๘๐