การละอาสวะ

การละอาสวะ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง การละอาสวะคือสภาวะที่หมักดองอยู่ในขันธสันดาน มาบรรยาย

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งคือการละอาสวะได้แก่กิเลสที่หมักดองอยู่ในขันธสันดานหรือว่าในส่วนลึกของจิตใจเรา หากว่าเราไม่รู้วิธีการที่จะละอาสวะ หรือวิธีทำลายอาสวะ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายอาสวะให้หมดไปจากจิตใจของเราได้

          วิธีละอาสวะนั้น มีอยู่ ๖ ประการ คือ[1]

          ๑.    ทสฺสเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยการเห็น คือ พิจารณาเห็นความเสื่อมสิ้นของสังขารทั้งหลาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ว่าเป็นของไม่เที่ยง มีอันสิ้นไปเป็นธรรมดา ถ้าเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอาสวะได้อย่างหนึ่ง

          ๒.    เสวนาย อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการส้องเสพ ด้วยการบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ จนได้สมาธิดีแล้วเจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารธรรมว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เบื่อหน่ายไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอาสวะได้อีกอย่างหนึ่ง

          ๓.    อธิวาสเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยความอดทนเจริญกัมมัฏฐานจนจิตแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง อดกลั้น ละเสียได้ซึ่งอาสวะกิเลส อานิสงส์ของความอดทน จิตย่อมเบื่อหน่ายคลายจากอาสวะโดยสิ้นเชิง

          ๔.    ปริวชฺชเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยการเว้นเสีย คือเมื่อพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายดังกล่าวแล้วก็พึงละเว้นโดยเด็ดขาดด้วยปัญญา ดุจบุรุษเดินทางไกลหลีกหนีเวรให้ห่างไกล ฉะนั้น

          ๕.    วิโนทเนน อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการบรรเทาเสีย กล่าวคืออบรมจิตด้วยสมถะวิปัสสนา เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง เห็นว่าสังขารทั้งหลายเกิดดับดังนี้ เป็นดุจของที่ยืมเขามา ถอนความอาลัยเสียได้ด้วยการบรรเทาให้เบาบางลงได้หรือหมดไป

          ๖.    ภาวนาย อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการเจริญสมถะวิปัสสนา ยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาตามเป็นจริง จิตย่อมผ่องแผ้ว ไม่ยึดถือสังขาร อาสวะย่อมสิ้นไป

          เมื่อพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายได้เข้าพิสูจน์เพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียร มีสติระลึกรู้ทันพร้อมทุกขณะของรูปธรรมนามธรรม จนเกิดญาณรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ รู้ชัดว่ารูปนามเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจังตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้

          อาสวะที่ไหลไปแล้วหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ได้แก่ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ความเห็นผิด ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์เสมอ ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความอยากมีอยากเป็น ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ หมักดองไว้ในภวังคจิต

          เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์พระไตรลักษณ์ประหารอาสวะเหล่านี้อยู่เสมอๆ อาสวะที่เป็นภายนอกไหลเข้ามาไม่ได้ ภายในก็ถูกพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลเข้าสู่จิตสู่ใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์แทนที่มากขึ้นๆ เท่าใดๆ อาสวะก็น้อยเบาบางลงไปเท่านั้นๆ จนกระทั่งสิ้นอาสวะ เมื่อใด

          เมื่อนั้น ได้ผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร โดยสันติลักษณะ มีลักษณะสงบจากกิเลสาสวะ และกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงคือพระนิพพาน พ้นจากโลกิยะไปสู่โลกุตตระด้วยอนิมิตตเจโตสมาธิ เพราะเห็นอนิจจังชัด พ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะเห็นทุกขังชัด พ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะเห็นอนัตตาชัด และถึงพระนิพพาน ดับนาม ถึงสันติอันถาวร เที่ยง เป็นบรมสุขแน่นอน

          เพราะพระโยคาวจรนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ได้บรรลุพระนิพพาน ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงธรรมรัตนะแก้วคือพระธรรม ปิดประตูอบายทั้ง ๔ นับตั้งแต่เข้าถึงกระแสพระนิพพาน

          พระนิพพานนี้มีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่คลาดเคลื่อนแปรผันเป็นกิจเป็นรส มีความไม่มีนิมิตเป็นเครื่องปรากฏ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง ดังนี้

          วิราโค              ความคลายกำหนัด

          นิโรโธ              ความดับ

          จาโค               ความสละ

          ปฏินิสฺสคฺโค       ความเลิก

          วิมุตฺติ              ความพ้น

          อนาลโย           ความไม่เกาะเกี่ยว

          มทนิมฺมทโน      การย่ำยี่ความเมาเสีย

          ปิปาสวินโย        การกำจัดความหิวกระหาย

          อาลยสมุคฺฆาโต  การถอนเครื่องเกาะเกี่ยวเสีย

          วฏฺฏูปจฺเฉโท       การตัดเครื่องหมุนเวียน

          พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสว่า นิพพานเป็นของเยี่ยม นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขนอกจากพระนิพพานแล้วไม่มี

          พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอายตนะอยู่ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์

          อายตนะชนิดนั้น เราไม่กล่าวว่าเป็นที่มาถึง เป็นที่ไปถึง เป็นที่ตั้งอยู่ ไม่เคลื่อน ไม่เกิด ไม่มีที่ตั้งอยู่ ไม่เป็นไป ไม่มีอารมณ์

          อายตนะชนิดนั้นแหละเป็นที่สุดของทุกข์ คือ พระนิพพาน ธรรมคือพระนิพพานเป็นของลึก อันบุคคลเห็นได้ด้วยยาก อันบุคคลตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นของระงับ เป็นของประณีต ไม่เป็นที่หลงเที่ยวไปแห่งความวิตก คือว่า ปุถุชนจะตรึกนึกเดาเอาคะเนเอาเองนั้นไม่ได้ เป็นของละเอียด เป็นของบัณฑิต คือพระอริยเจ้าพึงรู้แจ้ง ปุถุชนไม่รู้แจ้ง

          อุปมาเหมือนปลากับเต่า เต่าเป็นสัตว์สองถิ่น คือ อยู่บนบกก็ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ แต่ปลานั้นเป็นสัตว์ถิ่นเดียว อยู่เฉพาะในน้ำ วันหนึ่งปลามีความอยากจะรู้ว่า อยู่บนบกนั้นมีอะไรบ้าง จึงได้ถามเต่าว่า บนบกนั้นมีการกระเพื่อมไหม เต่าก็บอกว่าไม่มี มีสาหร่ายไหม ไม่มี ปลาก็เอาแต่สิ่งที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็บอกว่าไม่มี ไม่มี ปลาก็ย้อนถามว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรบ้างที่มีอยู่บนบก เต่าก็บอกว่า สิ่งใดไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด

          ท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่า เมื่อปลาถูกเต่าตอบเช่นนั้น ปลาก็ไม่หายสงสัยว่า อะไรหนอที่อยู่บนบก มีอะไรบ้างๆ ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ ข้อนี้ฉันใด พวกเราผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน

          สมมติว่า เมื่อเราอยากรู้ว่าปฐมฌานเป็นอย่างไร ทุติยฌานเป็นอย่างไร ตติยฌานเป็นอย่างไร จตุตถฌานเป็นอย่างไร ปัญจมฌานเป็นอย่างไร

          ถึงแม้ว่าจะมีผู้อธิบายให้ฟังก็ไม่เข้าใจ หรือจะถามว่า อากาสานัญจายตนฌานเป็นอย่างไร วิญญาณัญจายตนฌานเป็นอย่างไร อากิญจัญญายตนฌานเป็นอย่างไร เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ที่จะเข้าใจ หรือไม่รู้แจ้ง

          แต่เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติธรรมจนสามารถได้ฌานได้สมาบัติ เมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่า ฌานนี้มันเป็นอย่างนี้ ปฐมฌานเป็นอย่างนี้ ทุติยฌานเป็นอย่างนี้ ตติยฌานเป็นอย่างนี้ จตุตถฌานเป็นอย่างนี้ ปัญจมฌานเป็นอย่างนี้ อรูปฌานมันเป็นอย่างนี้ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปไต่ถามใคร เพราะว่ามารู้เฉพาะตนแล้ว

          สำหรับเรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน ก็เหมือนกัน เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติจนรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระนิพพาน โดยการประพฤติปฏิบัติจนบรรลุเอง ได้ตรัสรู้เอง ก็หมดความเคลือบแคลงสงสัยว่านิพพานเป็นอย่างไร แต่ว่าจะให้คนอื่นอธิบายให้ฟังว่า พระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเป็นอย่างนี้ ถึงแม้ว่าเราจะฟังก็ไม่รู้ คือไม่รู้ซึ้ง ไม่รู้จริงว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร

          หากว่าเมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติได้สัมผัสด้วยจิตด้วยใจของเราแล้ว ด้วยปัญญาของเราแล้ว เมื่อนั้นเราก็รู้ทันทีว่า พระนิพพานมันเป็นอย่างนี้ๆ อนึ่ง ธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้แท้ คือเป็น อชาตํ ไม่เกิดอีก อภูตํ ไม่เป็นอีก อกตํ ไม่กระทำต่อไปอีก อสงฺขตํ ไม่ปรุงแต่งอีกต่อไป อชรา ไม่เข้าถึงความแก่ อมรณํ ไม่ตายอีกต่อไป นั่นแหละ มหาสันติสุขคือพระนิพพาน

          พระนิพพานนั้น มีอยู่ ๓ ประการก็มี ๒ ประการก็มี

          พระนิพพาน ๓ คือ

          ๑.    อนิมิตตนิพพาน คือดับกิเลสและกองทุกข์ด้วยการเห็นอนิจจังชัด ดับกิเลสตัณหา คือ โลภะ โทสะ โมหะ ด้วยอำนาจของอนิจจัง

          ๒.    อัปปณิหิตนิพพาน หรือว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ ดับกิเลสทั้งหลายและกองทุกข์ด้วยอำนาจของทุกขัง คือหมายความว่า เมื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเห็นทุกขังชัดแล้วก็กำหนดอารมณ์ของกัมมัฏฐานคือทุกขังจนดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็สามารถทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ โดยหาที่ตั้งของ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ได้

          ๓.    สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ คือดับจากกิเลสตัณหาด้วยอำนาจของอนัตตา คือหมายความว่า เมื่อใดเราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณไปตามลำดับๆ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ

          เมื่อสังขารุเปกขาญาณเกิดแล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี ผ่านสัจจานุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไม่ให้เหลือหลออยู่ในขันธสันดาน เรียกว่าเป็นสุญญตนิพพาน หรือสุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

          นิพพานมี ๒ คือ

          ๑.    สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ เหมือนดังท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ท่านทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณไปตามลำดับๆ จนสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้ดับลงไป แต่ว่าขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังมีอยู่ อย่างนี้จัดว่าเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน คือดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่

          ๒.    อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือหมายความว่า กิเลสก็ดับ เบญจขันธ์ก็ดับ ไม่มีเหลือหลออยู่ นี้แหละเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน แต่ส่วนพวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การเข้าถึงกระแสพระนิพพานนั้นไม่เหมือนกัน

          สมมติว่า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งหนึ่ง ถือว่าเห็นพระนิพพานแล้ว ๑ ขณะจิต ถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิต การที่ถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิตนี้ อานิสงส์คือสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ตกนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผู้มีคติเที่ยง จุติแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

          ถ้าผู้ใดถึงพระนิพพานด้วยลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว ในขณะนั้น ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้เป็นพระโสดาบัน สมมติว่า พระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ถึงกระแสนิพพานครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ได้ฌานจุติแล้วก็ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันที่ได้ฌานได้สมาบัติ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน พระโสดาบันจะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปรินิพพาน

          แต่ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นพระสกทาคามี เมื่อเป็นพระสกทาคามีแล้ว พระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌานจุติแล้วก็ไปบังเกิดในโลกมนุษย์ตามกำลังบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้ แต่ถ้าเป็นพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

          แต่ถ้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ ดับลงไปถึงกระแสพระนิพพาน ๓ ขณะจิต (คือ พระโสดาบันถึงพระนิพพาน ๑ ขณะ พระสกทาคามีถึงพระนิพพาน ๒ ขณะ) พระอนาคามีถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิต เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว ถึงวาระสุดท้ายคือนิพพานแล้ว จะไม่มาสู่กามภูมิ จะไม่มาสู่โลกมนุษย์ และไม่ไปเกิดในเทวโลก

          เพราะเหตุไร เพราะว่าพระอนาคามีนี้สามารถทำลายกามราคะได้แล้ว เมื่อทำลายกามราคะ ก็ไม่มีเชื้อที่จะไปเกิดในกามภพอีกต่อไป เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก

          แต่มีข้อแม้อยู่ว่า พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานจะไปบังเกิดในพรหมโลกได้อย่างไร พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌาน ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกคือสุทธาวาสพรหม ตามกำลังของฌาน เกิดได้อย่างไร เกิดได้ด้วยอำนาจของ มรรคสิทธิฌาณ

          คือพระอนาคามีก่อนที่จะปรินิพพาน แม้ว่าท่านจะไม่ได้ฌานก็ตาม สมมติว่า จุติเพราะถูกรถชนบ้าง รถคว่ำบ้าง เครื่องบินตกบ้าง เรืออับปางบ้าง ถูกยิง ถูกแทง หรือถูกทำลายโดยประการใดๆก็ตาม หากว่ามรรคสิทธิฌาณไม่เกิด พระอนาคามีก็จะไม่จุติ

          เพราะเหตุอะไร เพราะมรรคสิทธิฌาณเป็นเหตุเป็นปัจจัย คือหมายความว่า ถึงว่าท่านจะไม่ได้ฌานก็ตาม แต่ในขณะที่ท่านจะจุตินั้น มรรคสิทธิฌานจะเกิดขึ้น มรรคสิทธิฌาณนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฌานเกิด เมื่อฌานเกิดแล้วท่านก็จุติ เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งตามกำลังของฌาน แล้วก็จะได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ บางทีก็นิพพานในชั้นที่ ๑ หรือที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แล้วเลื่อนไปชั้นที่ ๕ แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพาน

          แต่สำหรับท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังมัคคจิตให้เกิดถึง ๔ ครั้ง ก็เป็นอันว่าท่านได้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย กิจที่จะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจที่จะต้องทำอีกอย่างอื่นไม่มี

          หน้าที่ของท่านในขณะนี้ก็มีแต่ช่วยแนะนำพร่ำสอน พุทธบริษัททั้งหลาย เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้ให้เข้าใจ ให้ปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการยกฐานะของตนเองให้พ้นจากโอฆะแอ่งแก่งกันดาร ให้ถึงที่สุดคือความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

            สำหรับวิธีที่จะทำลายอาสวะที่กล่าวมาแล้วนี้ หลวงพ่อกล่าวโดยสังเขปกถา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ธรรมขั้นสูงนี้ถือว่าเป็นของละเอียดมาก บางทีฟังแล้วไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องนิพพาน ฟังแล้ววิจัยยาก บางทีเถียงกันตลอดทั้งวันก็ยังไม่เข้าใจ ยกภาษิตโน้นมาว่า ยกภาษิตนี้มาพูดกัน ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี สำหรับปุถุชนทั้งหลายหรือกัลยาณปุถุชนก็เหมือนกัน

          เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถยังมัคคญาณผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็หมดไปโดยที่ไม่จำเป็นต้องเถียงกัน เพราะมารู้เฉพาะตนแล้ว

          เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว บางท่านก็สามารถเข้าสู่กระแสของพระนิพพาน ๑ ขณะจิต โดยอำนาจของโสดาปัตติมัคคญาณ บางท่านก็ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เข้าสู่พระนิพพาน ๒ ขณะจิต โดยอำนาจของสกทาคามิมัคคญาณ แต่บางท่านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิต ตามอำนาจของอนาคามิมัคคญาณ

          เพราะฉะนั้น หากว่าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถได้ลิ้มรสของพระอมตมหานฤพาน จิตใจของเราถึงกระแสของพระนิพพานแล้วอย่างน้อย ๑ ขณะ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายภูมิใจดีใจว่า ชาตินี้เป็นโชคของเราดีแล้ว เมื่อเราจุติจากอัตตภาพนี้แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ เพราะอบายภูมินั้นใครๆก็ไม่ปรารถนา มนุษย์ก็ไม่ปรารถนา เทวดา พระพรหม ก็ไม่ปรารถนา

          ในเมื่อเราทั้งหลายสามารถปิดประตูอบายภูมิแล้ว ก็ขอให้ภูมิใจดีใจ เพราะว่าเรามีคติเที่ยง วันหนึ่งข้างหน้าเราจะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานยังพระอรหัตตมรรคอรหัตตผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแน่นอน

          แต่หากว่าท่านผู้ใดยังไม่ได้สัมผัสธรรมขั้นสูง คือจิตยังไม่ถึงกระแสนิพพาน เวลาก็นานอยู่พอสมควร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายขะมักเขม้นอุตสาหะพยายามทำไป

          หากว่าเราทั้งหลายมีอุตสาหะพยายามอันแรงกล้า เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน ก็ไม่เกินเอื้อม คือสามารถที่จะเอื้อมถึงได้ แต่ถ้าว่าเราชะล่าใจ หรือว่าไม่อยากปฏิบัติอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามเพื่อนบ้าง เห็นเพื่อนปฏิบัติก็ปฏิบัติตามบ้าง

          แต่ศรัทธาคือความเชื่อนั้นมีน้อย หรือว่าไม่มีเอาเสียเลย เราทำก็สักแต่ว่าทำไปวันๆ พอที่จะได้จบภาคปฏิบัติ อะไรทำนองนี้ โอกาสที่จะบรรลุถึงโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลนั้นทำได้ยาก ท่านทั้งหลาย อริยมรรคอริยผลนี้ ผู้ที่อยากได้จริงๆ ปรารถนาจริงๆ จึงจะได้ หากว่าไม่อยากได้จริงๆ หรือไม่ปรารถนาเอาเสียเลย ไม่มีโอกาสที่จะได้

          เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องยาก การที่จะทำตนเองให้พ้นจากมหรรณพภพสงสารเป็นของทำได้ยาก หรือว่าเราทั้งหลายจะปฏิบัติให้พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นโลกิยะนี้ทำได้ยาก โอกาสที่จะทำนั้นบางทีก็ทำไม่ได้เอาเสียเลย

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประพฤติปฏิบัติบางรูปบางท่านมีวาสนาบารมีสมควรที่จะได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล แต่เพราะความชะล่าใจ ไม่ตั้งอกตั้งใจรีบปฏิบัติก็ไม่ถึง หรือบางทีสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

          สมมติว่า เราสมควรที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ไปทำอนันตริยกรรมเสีย เช่น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า ทำสงฆ์ให้แตกกัน แทนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ตกอเวจีมหานรก มันเป็นลักษณะอย่างนี้

          หรือบางทีเรามีโอกาสที่จะได้บรรลุพระอรหันต์อยู่ แต่ว่าเราเฒ่าเกินกาล แก่เกินกาล อายุแก่ขนาดนี้มาทำความเพียร ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เมื่อเราประพฤติปฏิบัติก็สักแต่ว่าปฏิบัติ เพราะสติสัมปชัญญะความเพียรของเราไม่พอ แม้มีวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมาสมควรที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว แต่ว่าไม่สามารถที่จะบรรลุได้ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

          เหตุนั้น ท่านผู้มีโอกาสมีเวลามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในขณะที่อายุยังน้อยอยู่นะท่านทั้งหลาย หากว่าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ถือว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีโชคดี ไม่เหมือนกับท่านที่เป็นคนแก่ ๖๐ หรือ ๗๐ ล่วงแล้ว แก่เกินกาล สุขภาพไม่เอื้ออำนวย เมื่อคน ๗๐ ปีผ่านไปแล้ว สติก็พลั้งๆ เผลอๆ กำหนดก็ไม่ได้ดี

          ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า ขนาดพวกเราทั้งหลายหรือหลวงพ่อนี่ อายุขนาดนี้ ก็ยังลืมหน้าลืมหลังพลั้งเผลอไป ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจจะลืม มันก็ลืมไปโดยธรรมชาติของสังขาร เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้มีโชคดีในขณะที่ร่างกายของเราทั้งหลายสุขภาพยังดีอยู่ โอกาสทุกสิ่งทุกอย่างก็เอื้ออำนวย ขอให้เราท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเวลายังเหลืออีกไม่นาน เรามีโอกาสแก้ตัวแค่ ๑๕ วัน ถือว่าเป็นเวลาของเราเต็มที่ ๑๕ วันนี้ หากว่าตั้งอกตั้งใจจริงก็สามารถที่จะผ่านได้

          เพราะเท่าที่หลวงพ่อได้แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหามา บางท่านทำวันนั้นได้วันนั้น บางท่านผ่านไป ๒ วัน ๓ วันก็ทำได้ บางท่านผ่านไป ๕ วันก็ทำได้ บางท่านผ่านไป ๗ วันก็ทำได้ อันนี้พูดเฉพาะอริยมรรคอริยผลขั้นต้น หรือว่าผู้มีบารมีช้าที่สุดน้อยที่สุดใช้เวลาอยู่เดือนหนึ่งก็สามารถที่จะปฏิบัติผ่านไปได้ เท่าที่สังเกตมา ยากที่สุดก็ไม่เกิน ๓ เดือน ก็สามารถที่จะทำได้

          นี่หมายถึงผู้ที่มีปสาทะศรัทธาแรงกล้า บารมีก็บำเพ็ญมาสมบูรณ์ตามขั้นนั้นๆ แต่บางท่าน ๗ วันก็สามารถผ่านปฐมมรรคไปได้ แล้วก็ ๙ วันสามารถผ่านทุติยมรรคไปได้ เดือนหนึ่งก็สามารถผ่านตติยมรรคไปได้

          แต่สำหรับผู้ที่ผ่านอริยมรรคอริยผล ๔ ครั้งนั้น หายากเต็มที เท่าที่หลวงพ่อได้สอนกัมมัฏฐานมานี้ ที่ผ่านการประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ก็เกือบจะหาไม่ได้ เอาเป็นว่ายังไม่ถึง ๕ รูปเลย แม้แต่ในสมัยที่สอบอารมณ์อยู่นั้นก็ดี ไม่ถึง ๕ ท่านเลย แต่สำหรับท่านทั้งหลายที่ทำได้อย่างนี้ ก็ไม่มีชีวิตอยู่แล้วเป็นส่วนมาก คือต่างก็ถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นส่วนมาก

          เหตุนั้น ท่านทั้งหลายมีโอกาสมีเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเอื้ออำนวย ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบทุกสิ่งทุกอย่าง ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ อย่าได้ประมาท พยายามตั้งสติสัมปชัญญะอยู่เสมอๆ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา หมั่นสั่งสมอบรมบารมีให้ภิญโญยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

          หลวงพ่อน้อมนำเอาธรรมะบางสิ่งบางประการมากล่าวถวายท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


[1] สุตฺต ม. มูลปณฺณาสกํ ๑๒/๑๐-๑๙/๑๒-๒๐