อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนา
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อานิสงส์และผลพลอยได้จากการเจริญวิปัสสนา มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ในขณะที่เราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น อกุศลจิตชนิดอย่างหยาบ เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่อกุศลจิตชนิดละเอียด เช่น ความพอใจ ความไม่พอใจ หรือความหลง ความฟุ้งซ่าน ความนึกคิดต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด หรือหากว่าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน
ทั้งนี้ก็เพราะในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่นั้น ย่อมมีสติสัมปชัญญะคือการกำหนดรู้อยู่เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ปฏิบัติกระทำอยู่นั้น จะเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ ย่อมต้องมีสติรู้อยู่ทุกขณะ การมีสติรู้อยู่ทุกขณะนั้นแหละ จึงสามารถที่จะไม่ให้กิเลสต่างๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
เพราะตามธรรมดาคนเรานั้น กิเลสต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ในขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะถูกต้อง ขณะนึกคิด ถ้ามีความพอใจอยากได้เกิดขึ้น ก็เป็นโลภะกิเลส ถ้าไม่พอใจ กลุ้มใจ เสียใจ กลัวเกิดขึ้น อย่างนี้ก็จัดเป็นโทสะกิเลส ถ้ามีความสงสัยหรือมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น อย่างนี้ก็จัดเป็นโมหะกิเลส ส่วนกิเลสที่นอกจากนี้ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปด้วยกันได้ตามสมควร
แต่สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะคือการกำหนดรู้อยู่เสมอ ในการเห็นการได้ยินเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว กุศลจิต ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่มีสติเป็นหัวหน้า ย่อมได้โอกาสเกิดอยู่เสมอ อกุศลจิตคือกิเลสต่างๆ จึงไม่ได้โอกาสเกิด หรือหากว่ามีการเกิดบ้างก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน
ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเพียรปฏิบัติอยู่เรื่อยไป นามรูปปริจเฉทญาณที่เป็นภาวนามัยย่อมเกิดขึ้น และเมื่อเพียรปฏิบัติต่อไปอีก ปัจจยปริคคหญาณก็เกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติถึงปัจจยปริคคหญาณที่ ๒ นี้แล้ว ได้ชื่อว่า จุลลโสดาบัน
ถ้าเพียรพยายามปฏิบัติต่อไป วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นเป็นลำดับ คือ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ ผู้ปฏิบัติได้ญาณตั้งแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นมา จนถึงสังขารุเปกขาญาณที่ ๑๑ ได้ชื่อว่าเป็น มัชฌิมโสดาบันบุคคล
ถ้าพยายามปฏิบัติต่อไป ญาณอยู่ในมัคควิถี คือ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ และโสดาปัตติมัคคญาณ โสดาปัตติผลญาณ ก็เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ซึ่งนับว่าผู้ปฏิบัติได้บรรลุเป็น มหาโสดาบัน อย่างสมบูรณ์ ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา อันเป็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากการเพียรปฏิบัติวิปัสสนา
ผู้ใดได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติในวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนกระทั่งได้บรรลุถึงขั้นมรรคผลแล้ว เป็นอันว่าผู้นั้นนอนใจได้แน่นอนว่า จะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป และประตูอบายภูมิทั้ง ๔ ย่อมปิดสนิทสำหรับพระอริยบุคคลนี้อย่างแน่นอน และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในชาติต่อไป ย่อมไม่เกิดในตระกูลต่ำ ย่อมไม่ไปเกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่ไปเกิดในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา ย่อมไม่เกิดเป็นผู้มีอวัยวะบกพร่อง ย่อมไม่เกิดเป็นคนพาล ย่อมไม่เกิดเป็นคนโง่
และการเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาของโสดาบันบุคคลนี้ จะเกิดอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น นี้เป็นอานิสงส์ที่ได้รับจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง
อนึ่ง แม้ผู้ปฏิบัติจะปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นมหาโสดาบัน เป็นแต่เพียงได้วิปัสสนาญาณอยู่ในขั้นมัชฌิมโสดาบันหรือจุลลโสดาบันก็ดี หากว่าผู้นั้นตายลงในขณะที่ปฏิบัติอยู่ก็ตาม หรือว่าออกจากการเจริญวิปัสสนาแล้ว เมื่อถึงคราวทำกาลกิริยาตายไป และในขณะที่จะตายมีรูปนามเป็นอารมณ์ เช่นว่า เวลาจะตายเรากำหนดอาการพองอาการยุบว่า พุทโธๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอๆ ร่ำไป หรือกำหนดเวทนาว่า เจ็บหนอๆ หรือ ปวดหนอๆ หรือกำหนดจิตว่า คิดหนอๆ เรื่อยไป จนตายไปด้วยกัน ตายไปกับคำที่เราบริกรรมหรือภาวนา
ถ้าทำได้อย่างนี้ก็รับรองได้ว่า ผู้นั้นจะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็จะไม่เกิดในตระกูลต่ำ จะเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล และมีความเลื่อมใสต่อพระธรรม และจะมีโอกาสพบกับสัตบุรุษผู้มีธรรมอันประเสริฐ มีอานิสงส์ที่ได้รับคล้ายกันกับมหาโสดาบันอันเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาเช่นกัน
ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติปฏิบัติยังไม่ได้ถึงขั้นจุลลโสดาบัน เป็นแต่เพียงว่ากำหนดรู้อยู่ มีสติและสมาธิดีแล้ว หากได้ตายลงในขณะนั้น หรือเลิกจากการเจริญวิปัสสนาแล้ว ภายหลังเจ็บไข้ได้ป่วยตายลงไป แต่ขณะที่จะตาย จิตมีรูปนามเป็นอารมณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็รับรองว่าจะไม่ไปอบายภูมิทั้ง ๔ อย่างแน่นอนเช่นเดียวกัน และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็ไม่เป็นผู้ที่ไร้ปัญญา ย่อมเป็นผู้มีอุปนิสัยในเรื่องพุทธศาสนาติดตัวมา และเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วย่อมเกิดความยินดีเลื่อมใสสนใจในธรรมนั้น ซึ่งเป็นผลที่ได้รับคล้ายๆกับจุลลโสดาบัน และนี้ก็เป็นอานิสงส์ของการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง
อนึ่ง ผู้ได้โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคลแล้ว ถ้าปฏิบัติต่อไปอีก มัคคญาณ ผลญาณ ในอันดับต่อไปย่อมเกิดขึ้นอีกโดยลำดับๆ คือสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล
ผู้ใดเพียรปฏิบัติจนได้บรรลุถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นพระอรหันตบุคคลแล้ว นับว่าผู้นั้นได้บำเพ็ญกิจในพระพุทธศาสนาจบแล้ว กิเลสาสวะทั้งหลายที่มีอยู่ในจิตตสันดานนั้น ได้ถูกประหารไปหมดแล้วโดยสิ้นเชิง ผู้นั้นได้พบพระนิพพานข้อแรก คือ สอุปาทิเสสนิพพาน หมายความว่า กิเลสทั้งหลายดับลงแล้วโดยไม่มีเศษเหลือ และเมื่อผู้นั้นตายลง ก็เป็นอันว่าถึงซึ่งพระนิพพานที่เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นการดับแล้วซึ่งขันธ์ทั้งหลาย ดับแล้วซึ่งภพชาติที่จะก่อเกิดต่อไปอีก
นับว่าผู้นั้นได้ถึงแล้วซึ่งมหาสันติสุขคือความสุขอย่างสงบ ปราศจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โทมนัส อุปายาส เป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ประสพโดยทั่วกัน และความสุขอย่างยอดเยี่ยมนี้ก็เป็นอานิสงส์ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น
การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีผลพลอยได้หลายประการซึ่งเกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นคุณธรรมซึ่งมีประโยชน์แก่ชีวิต อันได้แก่
๑. มีความเพียร ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่ง ถ้าปราศจากความเพียรเสียแล้ว การปฏิบัติก็ปราศจากผล ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกฝนให้มีความเพียร ในการเดิน ในการนั่ง และการกำหนดอิริยาบถของตนเอง
บางทีต้องเดินเป็นเวลานานหรือนั่งเป็นเวลานาน หรือปฏิบัติภารกิจโดยไม่นอนในคืนหนึ่งหรือหลายคืน ซึ่งตามปกติแล้วผู้ปฏิบัติไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิตของตน ผลก็คือทำให้ตนรู้จักว่า ความเพียรยิ่งเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร ความเพียรนี้จะต้องติดตัวไป เป็นสมบัติประจำตัวอย่างหนึ่ง นี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานประการหนึ่ง
๒. มีสติ ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจะต้องหัดใช้สติกำหนดอิริยาบถของตน ให้รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ การใช้สติกำหนดนี้ต้องกำหนดอย่างละเอียด เช่นว่า เดิน ต้องให้รู้ว่า เท้าไหนย่าง ตรงไหนเหยียบ ตรงไหนกด หรือเวลากินต้องใช้สติกำหนดว่า กินหรือเคี้ยว หรือกลืน ซึ่งตามปกติเราไม่เคยทำเลย เมื่อได้ฝึกหัดใช้สติกำหนดอิริยาบถของตนอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ความเคยชินในการใช้สติก็เกิดขึ้น
และยังคงใช้ได้ดีอยู่เมื่อออกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว เช่น เมื่อเกิดโทสะเป็นต้นขึ้นมา สติก็จะกำหนดว่า โกรธหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง ทำให้โทสะนั้นระงับยับยั้งหรือบรรเทาลงได้ ก็เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานประการหนึ่ง
๓. มีความอดทน นอกจากความเพียรและความมีสติแล้ว ผู้ปฏิบัติยังต้องมีความอดทนอย่างยิ่งอีก กล่าวคือจะต้องทนต่อความเจ็บปวด ความเมื่อย การอดนอน อดทนต่อความหิว บางครั้งผู้ปฏิบัติอาจจะได้รับทุกขเวทนาอย่างยิ่งที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเลยในชีวิต บางทีจะได้พบกับความเบื่อหน่ายอย่างบอกไม่ถูก
บางครั้งก็อาจจะได้พบกับความเหี่ยวแห้งใจอย่างถึงขนาด บางทีก็อาจจะได้พบกับความอึดอัดกระวนกระวายใจแทบหัวใจระเบิด ถ้าปราศจากความอดทนแล้ว ก็จะต้องถึงเลิกการปฏิบัติ ความอดทนที่มีอยู่ในการปฏิบัตินี้ จะเป็นคุณสมบัติประจำตัวอีกอย่างหนึ่ง และนี่ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนาประการหนึ่ง
๔. มีสมาธิ คือการมีใจแน่วแน่ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสิ่งหนึ่งในการปฏิบัติธรรม ถ้าปราศจากสมาธิเสียแล้ว ก็เป็นการสุดวิสัยที่จะได้ดวงตาเห็นธรรมได้ เพราะปัญญาจะไม่เกิดขึ้น ตามปกติเราจะทำใจให้แน่วแน่ได้ยากมาก ในขณะที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้ามีสิ่งภายนอกมารบกวน เช่น เสียง หรือร่างกายมีความเจ็บปวด หรือเกิดคิดฟุ้งซ่านใจ ใจก็ไม่แน่วแน่ แล้วทำสิ่งนั้นไม่ได้ดี หรือบางทีก็อาจหยุดทำเสียชั่วครู่ชั่วคราวก็มี จนกว่าสิ่งที่มารบกวนรำคาญจะหายไป
แต่เมื่อใดได้มาปฏิบัติธรรมแล้ว จะได้รับการฝึกสมาธิ ซึ่งจะแก่กล้าหรือมีมากขึ้นเป็นลำดับ ผู้ปฏิบัติสามารถจะทำใจให้แน่วแน่อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นที่มารบกวนทำความรำคาญให้แต่อย่างใด นี้จะเป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถเอามาใช้ได้ในเวลาต้องการ นี้ก็เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาอีกอย่างหนึ่ง
๕. ความสงบใจ การฟังธรรมทำให้ใจสงบได้ ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ทำให้ใจสงบได้ ฉันนั้น แต่สงบยิ่งกว่ามาก จริงอยู่ ในการปฏิบัติอาจจะต้องพบกับทุกขเวทนา ความกระวนกระวาย ความเบื่อหน่าย ความเหี่ยวแห้งใจ ความอึดอัดใจ แต่ผลสุดท้ายก็จะพบกับความสงบอย่างยิ่งอย่างแท้จริง
ยิ่งสามารถทำผลสมาบัติได้แล้ว หรือสามารถเข้าสมาบัติได้แล้ว ผู้นั้นก็จะพบความสงบสุขเป็นพิเศษ ซึ่งบอกไม่ถูกว่ามีความสุขมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะว่านับตั้งแต่เกิดมายังไม่รู้เดียงสาจนถึงปานนี้ เราไม่เคยทำจิตของเราสงบได้ขนาดนี้เลย แต่เมื่อเราสามารถทำจิตของเราให้สงบแน่นิ่งได้ดังกล่าวมา ก็จะเกิดความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งไม่มีอื่นใดในไตรภพเสมือนได้ อันนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน
๖. ช่วยให้โลกมีความสงบ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ถ้าว่าได้ผล การเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุธรรมวิเศษเกิดขึ้นในดวงจิต ได้มรรคผลนิพพานครั้งแรก เป็นพระโสดาบัน
ถึงแม้จะเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำที่สุด แต่ก็มีจิตใจเหนือกว่าปุถุชนสามัญธรรมดา นับว่าเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยให้โลกดำรงอยู่ด้วยความสงบ เพราะกิเลสเบาบางลงไปมาก ตามคติในทางพระพุทธศาสนาแล้ว บุคคลชั้นนี้มีกิเลสเบาบางลงจนถึงขนาดที่จะกลับมาเกิดในโลกนี้หรือโลกอื่นอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น
ถ้าหากว่าผู้นั้นมีศรัทธา ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้ายิ่งในขณะบรรลุมรรคผล ก็จะกลับมาโลกนี้อีกครั้งเดียว ซึ่งในการกลับมาครั้งนี้ ก็จะบรรลุมรรคผลถึงขั้นสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ และเมื่อชีวิตดับก็จะเข้าสู่พระนิพพาน ไม่กลับมาสู่โลกนี้หรือโลกไหนอีกต่อไป
สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นที่ ๒ เป็นอริยบุคคลชั้นพระสกทาคามีนั้น จะมีคุณธรรมพิเศษเกิดขึ้น และมีประจำอยู่ในดวงจิตเพิ่มขึ้นอีก ๒ ประการคือ
๑) ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เบาบางลงอย่างมาก ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างหยาบสิ้นไป ไม่หมายเอาเฉพาะกามารมณ์คือความรักใคร่ในเพศตรงกันข้ามเท่านั้น แต่หมายถึงความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งหมด ซึ่งตามปกติมนุษย์เราอยากได้เห็นรูปที่สวยๆงามๆ อยากได้ฟังเสียงที่ไพเราะ อยากสูดดมกลิ่นที่หอมๆ อยากลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ อยากได้สัมผัสถูกต้องที่ดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศตรงกันข้าม
ความอยากเหล่านี้เป็นกิเลสตัณหาที่แผดเผาจิตใจคนเราให้เร่าร้อนและลุ่มหลง ครั้นเมื่อไม่ได้สมอยากก็อาจจะทำความชั่วช้าลงไปเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา โดยเฉพาะความลุ่มหลงในประการสุดท้ายคือการสัมผัสทางกามารมณ์นั้น ทำให้คนเสียคนมามากแล้วอย่างน่าอนาถใจ ทั้งในทางชื่อเสียงและศีลธรรม หน้าที่การงาน ตลอดถึงเสียชีวิต
กิเลสในเรื่องเหล่านี้มีลักษณะรุนแรงมาก ทำให้เบาบางลงแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็เป็นการยากแสนยาก เพราะเหตุว่ารสของมันทำให้เกิดความสุขใจ ความเพลิดเพลิน และความซาบซึ้งตรึงใจอย่างดื่มด่ำล้ำลึก แต่เมื่อได้ปฏิบัติจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้ว กิเลสในเรื่องเหล่านี้จะเบาบางลงอย่างมาก เมื่อได้ทราบเช่นนี้ บางท่านอาจจะพลอยเหี่ยวแห้งลงทันที เพราะยังอาลัยอาวรณ์หรือเสียดายในรสของกามราคะซึ่งเคยได้รู้ได้รับมาตั้งแต่จำความได้จนถึงบัดนี้
แต่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อกิเลสชนิดนี้เบาบางลง ความสงบใจก็มีมากขึ้น ทำให้มีความสุขมากขึ้น เราจึงไม่ควรจะอาลัยหรือเสียดายในกิเลสนั้นๆ และอันที่จริง พระสกทาคามีนั้น ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยังคงมีอยู่ แต่ว่าเหลือน้อย ยังไม่ดับสูญสิ้นไปจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง
๒) ความโกรธลดน้อยลงมาก ความโกรธเป็นกิเลสที่ชั่วร้ายอีกอย่างหนึ่ง สามารถทำคนดีให้เป็นคนชั่วไปได้ในพริบตา ทั้งที่รู้กันว่าความโกรธเป็นกิเลสร้ายที่สุดอยู่ในดวงจิต คอยที่จะพลุ่งออกมาทุกขณะ พอจิตกระทบสิ่งที่ไม่พอใจก็จะพลุ่งออกมาทันที มากหรือน้อยก็แล้วแต่สาเหตุแห่งความไม่พอใจและความหนาบางของกิเลสซึ่งมีอยู่ของแต่ละบุคคล กว่าจะรู้สึกตัวว่าได้ทำอะไรไปก็เป็นการสายเกินแก้ สุดที่จะระงับยับยั้งไว้เสียแล้ว
หากกิเลสชนิดนี้ไม่พลุ่งออกมา ก็จะกลายเป็นความพยาบาทสุมอยู่ในอก และคอยหาโอกาสแก้แค้น รู้สึกเคียดแค้น ก่อให้เกิดความทุกข์ บุคคลผู้เป็นพระสกทาคามีนั้น ความโกรธได้บรรเทาเบาบางลงไปมาก ความโกรธขนาดเป็นฟืนเป็นไฟ หรือขนาดเอาเป็นเอาตาย ตลอดจนความพยาบาทและความผูกใจ เป็นอันไม่มีโดยเด็ดขาด แต่จะมีเหลืออยู่เพียง ความหงุดหงิด ไม่พอใจเล็กน้อยเท่านั้น
นี่ก็คือคุณธรรมของผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลเป็นพระสกทาคามี ตามคติในทางพระพุทธศาสนานั้น พระอริยบุคคลชั้นนี้จะมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และในชาตินั้นจะได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ และเมื่อดับขันธ์แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน
สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นที่ ๓ เป็นพระอนาคามีบุคคล กิเลสอันหนาทั้ง ๒ อย่างคือ ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส และความโกรธ เป็นอันหมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งทั้งนี้หมายความว่า ย่อมจะหมดความโกรธและความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส รวมทั้งความใคร่ในกามารมณ์อย่างสิ้นเชิง
กิเลสที่ยังเหลืออยู่นั้นมีเพียง ๓ ประการ และเป็นกิเลสขั้นละเอียด แต่ถึงกระนั้นก็มีอย่างเบาบาง คือ
๑) ความยินดีในความสงบอันเกิดจากฌาน กิเลสประเภทนี้แบ่งออกเป็นสองประการ คือ ความยินดีในความสงบอันเกิดจากรูปฌานโดยเพ่งรูปธรรมเป็นอารมณ์ เช่นเพ่งให้เห็นรูปนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจนสำเร็จรูปฌาน ๑ และความยินดีในความสงบอันเกิดขึ้นจากอรูปฌาน โดยเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูปเช่นอากาศหรือความว่างเปล่าเป็นต้นเป็นอารมณ์ จนได้สำเร็จอรูปฌาน ๑ เช่นนี้เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผลนิพพาน
แม้จะได้รูปฌาน อรูปฌาน ทำให้เกิดความสงบ ก็ไม่สามารถจะทำให้กิเลสหมดไป และยังต้องไปติดอยู่ในรูปภพอันเป็นภพของพรหมที่มีรูป และอรูปภพอันเป็นภพของพรหมที่ไม่มีรูป ตามกำลังของฌาน กิเลสชนิดนี้ยังคงมีอยู่ในบุคคลที่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ส่วนมากไม่มีแสดงออก นอกจากบุคคลที่เจริญสมถกัมมัฏฐานเท่านั้น
๒) ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือรู้สึกเข้าใจตนในฐานะ ในสภาวะ หรือความเป็นอยู่เช่นนั้น เป็นความพยายามที่จะติว่าตนเอง สำคัญตนว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี สำคัญตนว่าเป็นคนสำคัญหรือเป็นคนไม่สำคัญ สำคัญตนว่าเป็นคนฉลาดหรือเป็นคนโง่เหล่านี้เป็นต้น ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกิเลสที่ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะย่อมพยายามนำเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น
ผลก็คือจะรู้สึกต่อไปว่า ตนดีกว่าเขาหรือเลวกว่าเขา หรือพอกับเขา เมื่อเข้าใจว่าดีกว่าเขาก็เกิดความลำพองใจเลยคิดฟุ้งซ่าน หากเข้าใจว่ามีฐานะเท่ากับเขาก็จะเกิดความรำคาญใจเพราะมีคู่แข่ง หรือถ้าหากว่าเข้าใจว่าตนเลวกว่าเขา ก็จะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ มีปมด้อยเกิดขึ้น เลยไม่สบายใจ ทั้งนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องทุกข์ทั้งสิ้น กิเลสชนิดนี้ยังมีอยู่ในพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามีเล็กน้อย
๓) ความไม่รู้แจ้ง กิเลสประการสุดท้ายนี้เป็นความหลง เพราะความไม่รู้แจ้งมีอยู่จึงชื่อว่า อวิชชา ความไม่รู้แจ้งในที่นี้หมายเอาความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แม้จะได้บรรลุมรรคผลมาถึง ๓ ขั้น จนได้เป็นพระอนาคามีแล้วก็ตาม หาได้ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยสมบูรณ์แล้วไม่ เพราะยังไม่ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล ยังไม่รู้ว่ามรรคผลขั้นสุดท้ายนั้นเป็นอย่างไร ต่อเมื่อได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายแล้วนั้นแหละ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีอวิชชา
เหตุใด อวิชชา จึงจัดเป็นกิเลส ก็เพราะอวิชชาก่อให้เกิดอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ความฟุ้งซ่านก็ยังมีอยู่ ความฟุ้งซ่านอย่างหยาบ ได้แก่ ความอยากได้นั้นอยากได้นี้ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ หากไม่เป็นไปดังคิดก็เกิดความเสียใจ ไม่สบายใจ แต่กิเลสชนิดนี้จะเบาบางเป็นลำดับๆ
ในขั้นพระอนาคามี ยังคงเหลืออยู่แต่อย่างละเอียด โดยเฉพาะคืออยากได้ หรือสนใจในมรรคผลชั้นสุดท้าย แล้วสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสต่างๆ มีอวิชชาเป็นต้นนั้นก็สิ้นไป สิ้นความสงสัย สิ้นความอยากได้ เพราะรู้แล้วได้แล้ว
ตามคติในทางพระพุทธศาสนา ชาติปัจจุบันเป็นชาติสุดท้ายในโลกของพระอนาคามี เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว อริยบุคคลชั้นนี้จะไปสู่แดนสุทธาวาส คือแดนอันบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากกามราคะ ซึ่งอยู่ในรูปภพ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในแดนสุทธาวาสนั้น
สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่อีก ๓ ประการดังกล่าวมา ย่อมดับลงอย่างเด็ดขาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชีวิตนั้นก็หมดสิ้นแล้วซึ่งราคะตัณหา ดับแล้วซึ่งมวลกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงจะเหลือแต่เบญจขันธ์ ได้แก่ รูปคือร่างกาย เวทนาคือความรู้สึก สัญญาคือความจำได้ สังขารคือการปรุงแต่งจิต วิญญาณคือความนึกคิดรู้อารมณ์
ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ยิ่ง เป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าเป็นฆราวาสได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว จะอยู่ในเพศฆราวาสได้ไม่เกิน ๑ วัน จำต้องบวช มิฉะนั้นแล้วจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน เพราะว่าเพศของคฤหัสถ์นั้นเป็นหีนเพศ ไม่สามารถที่จะทรงคุณของพระอรหันต์ได้ เหตุนั้น เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ จำเป็นต้องออกบวช ถ้าไม่บวชก็จะต้องปรินิพพานภายในวันนั้น
และเมื่อประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว ก็เป็นอันว่าเมื่อดับขันธ์แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ้นทุกข์ สิ้นชาติ สิ้นภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปชั่วนิรันดร
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนานี้ยังมีมากกว่านี้ แต่นำมาบรรยายเพียงสังเขปกถา แต่คิดว่าท่านทั้งหลายคงพอที่จะรู้ได้ พอที่จะอนุมานได้ ว่าการมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของเราครั้งนี้ เราได้ผลอย่างไร และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอย่างไรบ้าง
หากว่าท่านเป็นนักสังเกตหรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดี อะไรต่างๆนานาที่เกิดขึ้นมารอบด้าน ก็สังเกตดู ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า การมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ได้ผลคุ้มค่า ได้ผลเกินค่า จนไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลงไปได้ นี้สำหรับผู้ที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆเท่านั้น แต่ถ้าว่าท่านใดที่ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็เหลือวิสัยที่จะช่วยเหลือได้
เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะเพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติแก่ท่านทั้งหลายมานี้ ก็คิดว่าน่าจะพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.