วิสุทธิ ๗

วิสุทธิ ๗

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          สำหรับวันนี้ ก็จะขอปรับความเข้าใจบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของเราทั้งหลาย

          ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เหตุไฉนหนอ การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ หลวงพ่อจึงให้อยู่กรรมด้วย หรือให้ประพฤติวุฏฐานวิธีด้วย ทั้งๆที่เราก็เพิ่งบวชมาไม่กี่วันแล้วก็เข้าพรรษา แล้วเข้าปฏิบัติธรรม ยังไม่ได้ต้องครุกาบัติอะไรเลย แต่เหตุไฉนหลวงพ่อจึงให้ประพฤติวุฏฐานวิธีร่วมกันกับบรรดาท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายด้วย

          ที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่กรรมควบคู่กันไปนั้น ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ

          ประการที่ ๑ ต้องการที่จะทำลายมานะทิฏฐิคือความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว ซึ่งเราทั้งหลายได้ประพฤติมาตั้งแต่เดียงสามาจนถึงบัดนี้ มีทิฏฐิ มีมานะ เห็นแก่ตัว จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเป็นบางครั้งบางคราวก็มี เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมนี้ ก็เป็นเหตุให้เราได้ถ่อมตัวลงไป เมื่อเราถ่อมตัวลงไป ทำลายความเห็นแก่ตัวลงไป ทำลายทิฏฐิคือความเห็นผิดได้แล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เจริญและก้าวหน้าได้

          สรุปได้ว่า การที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่กรรมควบคู่กันไป เพื่อต้องการที่จะให้ละกิเลสตัณหามีมานะทิฏฐิเป็นต้น นี้เป็นประการที่หนึ่ง

          ประการที่ ๒ ก็เพื่อว่าให้ท่านทั้งหลายได้มีโอกาสชำระความชั่วช้าลามกที่เคยประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ความชั่วเหล่าใดที่เราเคยประพฤติ ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ครั้งเป็นฆราวาสอยู่ ครั้งเป็นคฤหัสถ์อยู่ เมื่อเรามาประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ก็เป็นผลพลอยได้ด้วย คือทำให้ความชั่วช้าลามกหรือบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นหมดไป

          สมมติว่า เมื่อก่อนโน้นเราเคยฆ่าคนอย่างนี้ หรือเคยล่วงเกินท่านผู้มีอุปการคุณเป็นต้น หากว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเดียว แต่ไม่ประพฤติวุฏฐานวิธีด้วย ก็ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเรานี้ดำเนินไปได้ยาก หรือบางทีเมื่อครั้งเราเป็นฆราวาสเราไปล่วงเกินหรือข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ชายไปข่มขืนชำเราพวกผู้หญิงอย่างนี้ ทั้งๆที่เขาไม่พอใจกับเรา ก็ไปข่มเหงจิตใจเขา เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติของเรานั้นดำเนินไปได้ยาก

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้สังเกตมา โทษฆ่าคนให้ตายไปนี้ มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ยังไปได้ง่ายกว่า ยังข้ามไปได้ง่ายกว่าการข่มขืนชำเรา การข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้หญิง การที่เราข่มขืนชำเราหรือข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้หญิงนี้ มาประพฤติปฏิบัตินี้ ข้ามไปได้ยากที่สุด ยากแสนยาก บางท่านตลอด ๓ เดือนข้ามไม่พ้นเลย ไม่สามารถที่จะข้ามพ้นไปได้ เวลานั่งไป อารมณ์นั้นมาติดเรื่อยๆ บางทีเห็นภาพเห็นนิมิตของผู้หญิงคนนั้นมานั่งอยู่ในที่เฉพาะหน้า เป็นต้น ผลสุดท้ายเลยทำให้การประพฤติปฏิบัติไปไม่ได้

          เหตุนั้น จึงให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีหรืออยู่กรรมควบคู่กันไปด้วย เมื่อใดเราประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ต้องครุกาบัติเลย แต่เราเคยทำบาปมาตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาสดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว) ก็เป็นผลพลอยได้ทำให้การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของเรานั้นได้ผลเร็วยิ่งขึ้น

          ประการที่ ๓ การที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ ก็ต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับๆ จนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพาน ถ้าเราไม่ประพฤติวุฏฐานวิธี ความบริสุทธิ์ขั้นต้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อความบริสุทธิ์ขั้นต้นเกิดขึ้นไม่ได้ ความบริสุทธิ์ขั้นต่อๆไป จะเป็นขั้นที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อความบริสุทธิ์ไม่เกิดขึ้น การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น ก็จึงจัดให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมควบคู่กันไปด้วย

          เหตุนั้น วันนี้ เพื่อเป็นการชี้ชัดลงไปว่า การประพฤติวุฏฐานวิธีนั้นให้เกิดความบริสุทธิ์ได้อย่างไร และให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานได้อย่างไร หลวงพ่อจึงจะได้นำเรื่อง วิสุทธิ มาบรรยายประกอบ เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาควบคู่กันไป

          ดำเนินความว่า ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากจะศึกษาให้รู้จักธรรมะอันเป็นภูมิ เป็นอารมณ์ และธรรมอันเป็นรากเหง้า เป็นเหตุให้เกิดขึ้น และเป็นตัวของวิปัสสนาแล้ว ยังต้องศึกษาให้รู้จักลักษณะ กิจ ผล และเหตุ ของวิปัสสนา กับวิภาค ๖ อีกด้วย ดังนี้ คือ

          ๑. ความรู้สภาวะความเป็นจริงของสังขาร คือ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังทนได้ยาก อนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ แจ้งชัดตามสภาวะความเป็นจริงของสังขารนั้น เป็นลักษณะของวิปัสสนา

          ๒. ความขจัดมืดคือโมหะนั้นเสียสิ้น ไม่หลงใหลในสังขารว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เป็นของงาม นั้นเป็นกิจของวิปัสสนา

          ๓. ความเห็นจริง ส่องสว่าง เห็นทั่วไปในความที่สังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นเป็นผลของวิปัสสนา

          ๔. จิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นเหตุให้เกิดขึ้นตั้งอยู่ของวิปัสสนา

          วิปัสสนาภาวนานี้ย่อมอาศัยสมาธิจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เจริญให้สมาธิเกิดขึ้นก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถจะเจริญวิปัสสนาให้เกิดขึ้นได้ เพราะสมาธิเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา

          ดังนั้น ผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ มีจิตไม่บริสุทธิ์ จะกล่าวว่าได้สำเร็จในวิปัสสนา ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ศีลที่บริสุทธิ์เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค อริยมรรคเป็นเหตุให้เกิดอริยผล เป็นธรรมดานิยม มีอยู่อย่างนี้

            วิภาค ๖ นั้น คือ

              ()    อนิจจัง ของไม่เที่ยง

              ()    อนิจจลักขณัง เครื่องหมายที่กำหนดให้รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง

            ()   ทุกขัง ของที่สัตว์ทนได้ยาก

          ()   ทุกขลักขณัง เครื่องหมายที่จะให้รู้ว่าเป็นทุกข์

            ()   อนัตตา สภาวะที่มิใช่ตัวมิใช่ตน

            ()   อนัตตลักขณัง เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

          ภูมิธรรมที่เป็นรากเหง้าของวิปัสสนานั้น คือ

          ๑.     สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ จตุปาริสุทธิศีล ๑ศีลในอัฏฐังคิกมรรค ๑

          สีลวิสุทธิ[1] นี้ มุ่งหมายเอาศีลในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการเป็นสำคัญ เพราะเป็นมูลเหตุ เป็นรากเหง้า ให้มีจตุปาริสุทธิศีลสมบูรณ์ และจตุปาริสุทธิศีลก็เป็นปัจจัยให้เกิดสีลวิสุทธิในองค์มรรค ๘ หรือจะว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ มาแยกแสดงเป็น ๒ ตอนก็เพื่อจะให้ความชัดเท่านั้น เมื่อชี้องค์ธรรมลงไปแล้วก็ได้แก่ วิรตีเจตสิก เว้นจากบาปธรรมที่เป็นทางกายและทางวาจานั่นเอง กล่าวคือ

            ๑)     ปาฏิโมกขสังวรศีล สำหรับภิกษุก็เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ประพฤติมั่นอยู่ในสิกขาบท ๒๒๗ ประการ ซึ่งมาในพระปาฏิโมกข์ ถ้าเป็นฆราวาส ก็ได้แก่ เว้นจากข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต จะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็ตาม

          ๒)    อินทรียสังวรศีล คือสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ประการ คือ สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย หรือว่าไม่ให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ในเวลาที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ

          ๓)    อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยความบริสุทธิ์ ถ้าเป็นฆราวาส ก็เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดกฎหมายของบ้านเมือง หรือผิดศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา ถ้าเป็นบรรพชิต ก็เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางผิดศีลผิดพระวินัยของพระ เช่นว่า ทำวิญญัติออกปากขอของต่อคนที่ไม่ควรขอ หรือว่าขอในเวลาที่ไม่ควรขอ เป็นต้น

          ๔)    ปัจจยสันนิสิตศีล คือการพิจารณาจตุปัจจัยที่ทายกทายิกาถวายขณะที่จะบริโภค หมายความว่า เราจะบริโภคปัจจัย ๔ จะต้องพิจารณาเสียก่อน เช่น เราจะบริโภคจีวรเครื่องนุ่งห่มอย่างนี้ เราก็พิจารณาว่า จีวรนี้ เราบริโภคเพื่อกันร้อนกันหนาว กันสัตว์เลื้อยคลาน เหลือบยุง เป็นต้น หรือจะบริโภคบิณฑบาตก็พิจารณาว่า บิณฑบาตนี้ เราไม่ได้บริโภค เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อเปล่งปลั่งสดใส เราบริโภคเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ให้ชีวิตเป็นไป และเพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

          เมื่อใช้สอยเสนาสนะก็พิจารณาว่า เรานั่ง เรานอน เราใช้เสนาสนะนี้ เราอาศัยใช้สอยเพื่อบำบัดความหนาวร้อน เพื่อป้องกันแดด ลม สัตว์เลื้อยคลาน  เหลือบ ยุง เป็นต้น เมื่อบริโภคยาก็พิจารณาว่า ยานี้ เราบริโภคเพื่อรักษาความเจ็บไข้ ป้องกันโรคภัยอาพาธต่างๆ ไม่ใช่บริโภคด้วยอำนาจแห่งตัณหาความอยากใดๆ

          เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ การบริโภคนั้นก็เป็นการบริโภคที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นบาป ไม่เป็นกรรม ไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาเสียก่อน ขืนบริโภคเลยทีเดียว หรือในขณะที่บริโภคอยู่ เราไม่พิจารณา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบาปเป็นกรรมได้ ดังตัวอย่างพระติสสะ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า

          มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อติสสะ มีจีวรคร่ำคร่า จึงไปแสวงหาผ้ามาเพื่อทำจีวร ได้ผ้ากัมพลเนื้อหยาบๆมาแล้วส่งให้พี่สาว พี่สาวจึงพิจารณาว่า ผ้ากำพลเนื้อหยาบๆอย่างนี้ ไม่สมควรที่พระน้องชายของเราจะห่ม ก็จึงนำผ้านั้นไปทุบไปทอย้อมใหม่ เสร็จแล้วก็ส่งให้พระน้องชาย พระติสสะก็นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมาช่วยตัดช่วยเย็บจีวร เมื่อเย็บเสร็จแล้วก็เก็บพาดไว้บนราวจีวรนอนคิดว่า เมื่อไรหนอจะสว่าง จะได้ห่มจีวรนี้เสียที

          ในเวลานั้น อาหารที่ฉันไปเมื่อกลางวันไม่ย่อย เลยถึงแก่มรณภาพไป เมื่อมรณภาพไปก็ไปเกิดเป็นเล็นจับอยู่ที่จีวร เพราะโทษที่ไม่ได้พิจารณาการบริโภคจีวรนั้น เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายจะนำจีวรนั้นมาแจกกัน เล็นนั้นหวงจีวร ก็ร้องครวญครางเพื่อที่จะไม่ให้นำจีวรนั้นมาแจกกัน จนเสียงนั้นไปปรากฏในพระทิพพโสตของพระพุทธองค์ เมื่อพระองค์ทรงสดับเช่นนี้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่า

          ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปบอกภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเพิ่งแจกบริขารของพระติสสะ ล่วง ๗ วันเสียก่อนจึงค่อยแจก พระอานนท์ก็มาบอกภิกษุทั้งหลาย เมื่อล่วง ๗ วันแล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายจึงได้นำบริขารของพระติสสะมาแจก

          วันนั้น พระสงฆ์ทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า เหตุไฉนหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงห้ามมิให้แจกบริขารของพระติสสะ ต่อเมื่อล่วง ๗ วันจึงทรงให้แจก ขณะนั้นพระองค์ทราบแล้วจึงเสด็จมา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์สนทนากันด้วยเรื่องของพระติสสะว่า ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงห้ามแจกบริขาร ต่อล่วง ๗ วันจึงค่อยทรงให้แจก

          พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โทษที่พระติสสะไม่พิจารณาก่อนแล้วบริโภคจีวร เมื่อมรณภาพไปแล้ว บาปกรรมที่ไม่ได้พิจารณา จึงมาเกิดเป็นเล็นจับอยู่ที่จีวร หากว่าพวกเธอทั้งหลายนำบริขารของพระติสสะไปแจกกันในขณะนั้น เล็นตัวนั้นก็จักโกรธแก่พวกเธอทั้งหลาย เพราะโทษที่โกรธพวกเธอ ตายแล้วจักไปสู่อบายภูมิ พระสงฆ์ทั้งหลายจึงกราบทูลขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า ชื่อว่าตัณหานี้หยาบหนอ (พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสรับว่า)

          อย่างนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้เป็นของหยาบ ถ้าว่าตัณหานี้มีตัวตน เราจักขนมากองไว้ในพื้นพสุธานี้ พรหมโลกก็ยังต่ำไป ถ้าจักกองไว้บนพื้นพสุธานี้ จักรวาฬนี้ก็ยังแคบไป

          นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ก่อนจะฉันภัตตาหารทุกๆวัน จึงมีการพิจารณาที่เรียกว่า ปฏิสังขา โยฯ เสียก่อนจึงฉัน ก็เพื่อป้องกันอันนี้เอง แต่ถ้าสำหรับท่านที่ไม่ได้บาลี ก็พิจารณาว่า เราบริโภคบิณฑบาตนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะบริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อเปล่งปลั่ง เพื่อสดใส เราบริโภคเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ให้ชีวิตเป็นไป และอนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

          เมื่อใดเราพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงบริโภคปัจจัย ๔ การบริโภคของเราก็เป็นการบริสุทธิ์ และเป็นเหตุให้ศีลของเราบริสุทธิ์ขึ้นมา

          ท่านผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานทั้งหลายพึงปฏิบัติในจตุปาริสุทธิศีล คือให้บริสุทธิ์หมดจดเสียก่อน โดยตั้งอยู่ในสุทธิ ประการ คือ

          ๑)    เทสนาสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์ด้วยการแสดง เช่น พวกเราทั้งหลายแสดงอาบัติทุกวันนี้ ก็เพื่อเทสนาสุทธินี้เอง คือต้องการให้บริสุทธิ์เสียก่อน หรือหากว่าเรามีโอกาสมีเวลาก็ประพฤติวุฏฐานวิธี เหมือนดังท่านทั้งหลายที่ประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่กรรมในขณะนี้ ก็เพื่อที่ต้องการความบริสุทธิ์

          ๒)   สังวรสุทธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยการสำรวม หมายความว่า ผู้ที่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเผลอไปแล้วจึงตั้งใจสำรวมอินทรีย์ใหม่แล้วอธิษฐานว่า แต่นี้ไปจักไม่ให้เป็นอย่างนี้แล้ว จักรักษาต่อไป คือในขณะใดที่เราเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์

          เผลอไป ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ได้โอกาสแทรกขึ้นมาในจิตในใจของเรา เมื่อเราได้สติเราก็กำหนดทันที เมื่อเรากำหนดแล้วก็ตั้งอธิษฐานในจิตในใจว่า ต่อแต่นี้เป็นต้นไป จักไม่เผลอไปอย่างนี้อีกแล้ว จะไม่ให้เป็นอย่างนี้อีกแล้ว นี้ก็เรียกว่า สังวรสุทธิ

          ๓)    เอฏฐิสุทธิ  แปลว่า  การมีอาชีวะอันบริสุทธิ์ หมายความว่า ถ้าเราเป็นพระ ก็ไม่ประจบตระกูล ซึ่งเรียกว่า กุลทูสโก ประจบคฤหัสถ์เพื่อเป็นการเลี้ยงชีพ หรือว่าทำวิญญัติออกปากขอต่อคนที่ไม่ควรขอ หรือว่าขอในเวลาที่ไม่ควรขอ ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป ไม่เลี้ยงชีพด้วยอเนสนาจาร เลี้ยงชีวิตไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยอันดีของพระศาสนา

          ๔)    ปัจจเวกขณสุทธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

          เมื่อได้ตั้งอยู่ในสุทธิ ๔ ประการของจตุปาริสุทธิศีลแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนา เมื่อถึงเวลาก็เข้าปฏิบัติพระวิปัสสนา ด้วยการตั้งอยู่ในศีลของมรรค ๘ คือการมีสติระลึกรู้ทันปัจจุบันทุกขณะที่รูปนามพูด ทุกขณะที่รูปนามทำงาน

          เพียรเอาสติรู้ทันปัจจุบันของรูปนาม ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรู้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะรู้สึกทางกาย ขณะนึกคิด และขณะยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว คือเป็นอยู่ด้วยการมีสติ เว้นโมหะตัวเผลอ เป็นสีลวิสุทธิแล้ว เมื่อเรามีสีลวิสุทธิคือการมีศีลบริสุทธิ์ สีลวิสุทธินี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวขึ้นสู่จิตตวิสุทธิโดยสะดวกต่อไป

          ๒.    จิตตวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดของจิต ได้แก่ จิตที่เข้าถึงสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็ชื่อว่าเข้าถึงจิตตวิสุทธิ มีจิตอันขาวสะอาด ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา โดยการเพ่งพิจารณาในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันใดอันหนึ่ง จนเป็นอุปจารสมาธิ ใกล้ความเป็นฌาน หรือเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานเลยทีเดียวก็ได้

          หรือไม่ถึงอย่างนั้น เป็นเพียงตั้งสติรู้ทันรูปนามทุกขณะ ไม่เผลอ ระวังกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ให้เข้าไปในขันธสันดานของเรา เป็นขณิกสมาธิ มีใจบริสุทธิ์ ก็ชื่อว่าเป็นจิตต
วิสุทธิ สามารถที่จะยังปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมอันเป็นทิฏฐิวิสุทธิความเห็นบริสุทธิ์ต่อไปโดยสะดวก

          ธรรมทั้งสองประการนี้ (หมายถึง สีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิ) เป็นรากเหง้าของวิปัสสนา หรือเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาภาวนา เมื่อเรามีศีลที่บริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ ในขณะที่เรากำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำหนดอาการพองอาการยุบอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อต้องการจะให้จิตของเราบริสุทธิ์ขึ้นมา

          คือในขณะใดที่เรากำหนด ในขณะนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราเห็นรูปสวยหรือไม่สวยก็ตาม เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ โลภะก็เกิดขึ้นไม่ได้ โทสะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ราคะก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราประสบอารมณ์ใดๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรากำหนดทุกขณะๆอยู่นั่นแหละ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นไม่ได้ จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวขึ้นสู่ทิฏฐิวิสุทธิต่อไป

          ๓.     ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบ มีความเห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ คือได้เกิดญาณขึ้น รู้จักรูปนาม รู้จักเหตุใกล้ชิดของรูปนาม

          อุปมาลักษณะของจิตนั้นคือรู้อารมณ์ อาการที่จิตเป็นประธาน คือไปก่อนหน้า เรียกว่า จิตตรส รสของจิต อาการที่จิตดวงหนึ่งดับต่อดวงหนึ่ง เรียกว่า ผล คือ ปัจจุปัฏฐาน ธรรมชาติคือจิต เจตสิก และหทัยวัตถุรูป เป็นเหตุใกล้ชิด เรียกว่าปทัฏฐาน ดังนี้เป็นต้น

          เมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายบำเพ็ญวิปัสสนา มีญาณบังเกิดขึ้น เห็นรูปนามดังนี้แล้ว ก็จะประหารทิฏฐิซึ่งถือว่ารูปเป็นอัตตะนามเป็นอัตตะได้ การที่ปราศจากอัตตทิฏฐิเช่นนี้ เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ และทิฏฐิวิสุทธินี้ ก็เป็นเหตุให้ก้าวขึ้นสู่กังขาวิตรณวิสุทธิได้ ทิฏฐิวิสุทธินี้ ถ้าจัดเป็นญาณก็ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ คือเป็นญาณที่ ๑

          ๔.     กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งการข้ามพ้นความสงสัย เป็นญาณที่สามารถรู้เหตุปัจจัยของรูปนาม อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นต้น พ้นจากความสงสัยได้ ก็เพราะอาศัยความรู้จากทิฏฐิวิสุทธิ เห็นว่า ขันธ์ ๕ รูปนามนี้ หาเป็นอัตตาไม่ มีการเกิดการดับอยู่เสมอ จนรู้ชัดว่า รูปนามนี้ ในอดีตกาลก็เป็นอย่างนี้ ในปัจจุบันก็กำลังเกิดดับอยู่อย่างนี้ ในอนาคตกาลก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เช่นเดียวกัน

          เมื่อได้รู้ว่ารูปนามเป็นอยู่อย่างนี้ ความสงสัยต่างๆ ก็จะอันตรธานไป เช่น สงสัยว่า

          ๑)    เรานี้เคยเกิดมาแล้วในอดีตหรือ

          ๒)    เรานี้ไม่เคยเกิดมาในอดีตกาลหรือ

          ๓)    เราเคยเกิดมาเป็นชาติใดในอดีต

          ๔)    เราเคยเกิดมาเป็นรูปร่างอย่างไรบ้าง

          ๕)    เราเคยเกิดมาเป็นอะไรบ้างแล้ว

          ๖)    เรานี้จะเกิดไปในอนาคตกาลอีกหรือ

          ๗)    เรานี้จะไม่เกิดไปในอนาคตกาลอีกหรือ

          ๘)    เราจะเกิดเป็นชาติใดในอนาคต

          ๙)    เราจะเกิดเป็นรูปร่างอย่างไรบ้าง

          ๑๐)  เราจะเกิดเป็นอะไรอีกหนอ

          ๑๑)  เดี๋ยวนี้เป็นเราหรือ

          ๑๒)  เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเราหรือ

          ๑๓)  เดี๋ยวนี้เราเป็นชาติใดหนอ

          ๑๔)  เดี๋ยวนี้เกิดเป็นรูปร่างอย่างไรหนอ

          ๑๕)  เรามาจากไหน และ

          ๑๖)  เราจะไปไหนหนอ

          ความสงสัยดังแสดงมานี้ก็ไม่มี หมายความว่า เห็นรูปนามเกิดดับ สิ้นความสงสัยในเรื่องปัจจัยของรูปนาม ทั้งที่เป็นอดีต  ทั้งที่เป็นอนาคต  เพราะมารู้ปัจจุบันธรรมดังกล่าวมา เป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ อยู่ในลำดับของปัจจยปริคคหญาณ คือเป็นญาณที่ ๒ และก็เข้าเขตสัมมสนญาณอย่างอ่อนๆ และเมื่อสัมมสนญาณแก่กล้าแล้ว ก็จะก้าวขึ้นสู่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

          ๕.     มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งการรู้ว่าทางหรือไม่ใช่ทาง คือญาณนี้เป็นญาณที่รู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทางของพระนิพพาน เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ วิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น คือ

          โอภาส เห็นรัศมีและแสงสว่าง ปีติ มีความยินดีกล้า ปัสสัทธิ สงบมาก อธิโมกข์ มีความน้อมใจเชื่อมาก ปัคคาหะ มีความเพียรอย่างแก่กล้า สุขะ มีความสุขแก่กล้า ญาณะ มีความรู้แก่กล้า อุปัฏฐานะ มีสติปรากฏชัดทุกอย่าง อุเบกขา มีความวางเฉยมาก นิกันติ มีความชอบในรัศมีแสงสว่างนิมิต เป็นต้น รวมวิปัสสนูปกิเลสนี้ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของตัณหา มานะ ทิฏฐิ นั่นเอง

          เพราะเหตุนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องเป็นผู้มีความรู้ว่า เป็นอมัคคะ มิใช่หนทาง เป็นเรื่องของกิเลสในวิปัสสนาญาณเท่านั้น เมื่อพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้วจึงเป็นปฏิปทาหนทางไปสู่พระนิพพาน เรียกว่า มัคคะ และเป็นปัญญาสามารถรู้ทางและมิใช่ทาง ทำลายความเข้าใจผิดเสีย คงทำความเห็นให้ตรงทาง คือรู้รูปนามที่มีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดดับๆ อยู่ทุกขณะ ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ บริสุทธิ์หมดจดด้วยความรู้ความเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง อันเป็นเหตุก้าวขึ้นสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

          ๖.     ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งความรู้ความเห็นในปฏิปทา หนทางไปสู่พระนิพพานแน่นอน อาศัยมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปัจจัยให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากวิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น

          เพ่งถึงความเกิดดับของรูปนามตามนัยไตรลักษณ์ต่อไปอีก เห็นรูปนามดับไปๆ เป็นภัย เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย ใคร่จะหนีจากรูปจากนาม หาทางหนีจากรูปจากนาม กระทั่งแน่ใจในอริยสัจธรรม มีจิตอันน้อมไปสู่พระนิพพานโดยส่วนเดียว อุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่หนีภัยต่างๆ เมื่อมาถึงแม่น้ำแล้วก็จะกระโดดข้ามน้ำ หรือขึ้นต้นไม้ให้สุดยอด หรือเหมือนเชือกที่ตึงคล้ายจะขาด ฉะนั้น

          ผ่านญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณจนถึงโคตรภูญาณ มีความรู้ความเห็นว่าจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างแน่นอน ทางหนีทางนี้เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นเหตุให้ก้าวขึ้นสู่ญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

          ๗.    ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความเห็นบริสุทธิ์หมดจดแห่งการรู้การเห็นพระนิพพาน เป็นวิสุทธิที่ปราศจากกิเลสตัณหาเครื่องมลทินทั้งมวล ด้วยวิปัสสนาญานแก่กล้าขึ้น อาศัยกำลังที่ได้รับจากปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถีอันเป็นอัปปนาวิถี ในขณะใด ไม่ขึ้นแก่กาลเวลาเลย

          ต้องผ่านลำดับของวิถีทันที โดยจิตเกิดขึ้นครั้งแรกจากภวังค์ เป็นภวังคจลนะ ภวังค์ไหว ต่อจากนั้น เป็นภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ เมื่อดับลงแล้ว มโนทวาราวัชชนะก็เกิดขึ้น พิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์แล้วดับลง ส่งให้เกิดอุปจาระ ได้พระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์แล้วดับลง เมื่อดับลงแล้วก็ส่งให้อนุโลมญาณ

          วิปัสสนาญาณของท่านผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานถึงขั้นนี้แล้วเรียกว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือถึงยอดของวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อถึงยอดของวิปัสสนาแล้วก็ดับลง ส่งให้เป็นหน้าที่ของโคตรภูญาณ ทำกิจโอนโคตรปุถุชนให้เป็นอริยชน หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ไหลไปสู่อริยมรรคอริยผล

          เมื่อโคตรภูญาณดับแล้วก็ส่งให้อริยมรรคเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิต รู้เห็นพระนิพพานซึ่งเป็นที่สุดแห่งทุกข์ มีมัคคสัจประชุมพร้อมกันบริบูรณ์ทั้ง ๘ ประการแล้วก็ดับลง เมื่อมัคคจิตนี้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วดับลง ส่งให้อริยผลเกิด ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้งบ้าง แล้วแต่มันทบุคคลหรือติกขบุคคล ถ้าหากเป็นมันทบุคคลแล้ว ผลจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะ ถ้าเป็นติกขบุคคล ผลจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะแล้วก็ดับลง

          ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้น หลังจากนั้นเป็นปัจจเวกขณวิถีเกิดขึ้น พิจารณามรรคผลนิพพานและกิเลสที่ละแล้วและที่ยังเหลืออยู่ต่อไปอีก เรียกว่า ปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่ ๑๖ อุปมาเหมือนกันกับบุรุษคนหนึ่ง ออกไปดูพระจันทร์ในเวลากลางคืน ทีแรกไม่เห็นพระจันทร์ เพราะว่าท้องฟ้าเต็มไปด้วยก้อนเมฆดำ ครั้นเมื่อลมพัดไป ๓ ครั้ง ก็สามารถที่จะเห็นพระจันทร์ได้ ฉันใด

          ในมัคควิถีก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในขณะที่มัคคญาณได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ รู้แจ้งเห็นจริงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ จึงจัดเข้าในญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นพระนิพพาน

          ผู้ปฏิบัติที่พ้นจากความเป็นปุถุชนด้วยการเห็นอนิจจังของรูปนามเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน ผู้นั้นเรียกว่า ถึงพระนิพพานด้วยอนิมิตตนิพพาน หรืออนิมิตตวิโมกข์ ผู้เห็นทุกขังชัด นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรืออัปปณิหิตวิโมกข์ ส่วนผู้เห็นอนัตตาชัด นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือสุญญตวิโมกข์ ได้ทั้งสมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ

          สรุปแล้วว่า การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะ รู้ทันปัจจุบันของรูปนามแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด สีลวิสุทธิ คือมีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อสีล
วิสุทธิสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด จิตตวิสุทธิ คือมีจิตที่บริสุทธิ์ เมื่อจิตตวิสุทธิสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ทิฏฐิวิสุทธิ  คือมีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์

          ทิฏฐิวิสุทธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด กังขาวิตรณวิสุทธิ ความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย กังขาวิตรณวิสุทธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความรู้ว่าทางนี้ทางผิด ทางนี้ทางถูก แล้วละทางผิดยึดทางถูก

          มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความรู้ความเห็นดำเนินไปตามลำดับว่าทางนี้เป็นทางไปสู่พระนิพพาน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็จะเป็นปัจจัยให้เกิด ญาณทัสสนวิสุทธิ

          เมื่อถึงญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว  ก็เป็นอันว่าเราถึงพระนิพพานแล้ว จิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ

          เมื่อถึงพระนิพพานเพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น ก็เป็นอันว่า เราสามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วไม่ต้องไปสู่อบายภูมิอีก และจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้นก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เข้าสู่ปรินิพพาน

          เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่หลวงพ่อให้ประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะให้เกิดวิสุทธิความบริสุทธิ์ทั้ง ๗ ประการดังกล่าวมา เมื่อใดความบริสุทธิ์คือวิสุทธิทั้ง ๗ ประการเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราได้บรรลุสามัญผล ได้ผลจากการประพฤติปฏิบัติ ไม่เสียทีที่เราได้สละเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ได้บรรลุสามัญผลสมประสงค์ เราได้ใบประกันชีวิตแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อน จะตายเวลาไหนก็ตายตาหลับ จะตายเวลาไหนก็ไม่ว่า

            เพราะว่าเรามั่นใจแล้วว่า เมื่อตายแล้วเราจะไม่ไปตกนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เรามีคติเที่ยง เรามีธรรมไม่กำเริบ จะไปสู่สุคติอย่างแน่นอน จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เราจักได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

          เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วก็ไว้ใจได้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเหมือนเมื่อก่อน เหตุนั้น การประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่กรรมนี้ ต้องมีการบอกวัตรเป็นการซ้ำๆซากๆ ก็อย่าถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ ยิ่งเราได้บอกบ่อยๆเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความบริสุทธิ์มากขึ้นเท่านั้น

          อุปมาเหมือนกันกับเราเอาแก้วไปขัดไปล้าง เรายิ่งหมั่นขัดหมั่นล้างเท่าไร ก็ยิ่งสะอาดผ่องใสหมดมลทินมากขึ้น ข้อนี้ฉันใด เราบอกวัตรบ่อยมากเท่าไร ก็ทำให้เกิดความบริสุทธิ์มากเท่านั้น

          เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง วิสุทธิ ๗ มา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.


[1] ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๗๒-๓๗๕