วิมุตตายตนสูตร

วิมุตตายตนสูตร

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่เราทั้งหลายได้มีการทำวัตรและเจริญพระพุทธมนต์ ที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นการเสียเวลา บางท่านก็อาจจะคิดว่า อันนี้ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นสมถะ อะไรทำนองนี้

          ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่าการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์ ที่เราทั้งหลายกระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นกัมมัฏฐานชนิดหนึ่ง เรียกว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานหมู่ คือเจริญร่วมกันหลายๆรูป และการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ได้เหมือนกัน

          ดังท่านกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร[๑] ซึ่งปรารภเหตุที่บุคคลจะได้บรรลุสามัญญผลนั้น ๕ ประการ คือ

          ๑.     บรรลุในขณะที่ฟังธรรม

          ๒.    บรรลุในขณะที่แสดงธรรม

          ๓.    บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม

          ๔.     บรรลุในขณะที่พิจารณาธรรม

          ๕.     บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ

          เหตุทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงขั้นพระอรหันต์ได้ อธิบายขยายความดังต่อไปนี้

          ๑.     บรรลุในขณะที่ฟังธรรม หมายความว่า การฟังธรรม ถ้าว่าเราฟังเป็น ตั้งอกตั้งใจฟังจริงๆ และก็ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่ท่านแสดง ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระที่ท่านแสดงนั้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุสามัญผลเหมือนกัน คือในขณะที่เราส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ไม่เผลอในขณะนั้น เป็นสมาธิติดต่อกัน ตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิตามลำดับๆ

          ในขณะที่จิตใจเป็นสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิก็ตาม ในขณะนั้นนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ จิตของเราก็บริสุทธิ์ผ่องใส เกิดความปีติปราโมทย์ เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ เกิดปีติความอิ่มใจ ดีใจ ความตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้จิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบก็เป็นเหตุให้เกิดความสุข เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดอุเบกขา ความวางเฉยในรูปนาม

          หลังจากนั้นสมาธิก็จะก่อตัวขึ้นตามลำดับๆ เป็นสมาธิที่หนักแน่น เรียกว่า สมาหิโต จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้วก็ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว ปริสุทโธ จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็จะเกิดปัญญา มีสติปัญญาว่องไว มีไหวพริบในการพิจารณาเนื้อหาที่ท่านแสดง เรียกว่า กัมมนิโย คือจิตควรแก่การงาน ว่องไวมีไหวพริบ

          มีความฉลาดหลักแหลมดี ในการพิจารณาจนเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้ว จิตก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายความกำหนัดยินดี ก็หลุดพ้น หมดจดสะอาดและผ่องใส ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า บรรลุในขณะที่ฟังธรรม

          ๒.    บรรลุในขณะที่แสดงธรรม คือเราเองเป็นผู้แสดงธรรม ก็สามารถเป็นผู้บรรลุสามัญญผลได้เหมือนกัน หมายความว่า เราตั้งอกตั้งใจแสดงธรรมจริงๆ และหวังให้เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่ผู้ฟังจริงๆ และในขณะที่เราแสดงธรรมนั้น เราก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่เราเป็นผู้แสดงเอง จะเห็นว่า แม้แต่ผลอย่างน้อยๆ ก็เกิดให้เราเห็นอยู่ทุกขณะ

          ท่านทั้งหลายที่เคยแสดงธรรมมาแล้วก็คงจะรู้ บางทีเราเทศน์ไปๆ เกิดปีติ หนังหัวพองสยองเกล้า ขนลุกชูชันขึ้นมาก็มี บางทีก็เยือกเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย บางทีก็ทำให้กายเบาขึ้นมา บางทีก็เกิดน้ำตาไหล อันนี้เรียกว่า เกิดปีติขึ้นมา ทั้งเราเองเป็นผู้แสดงก็เกิดด้วย เมื่อเกิดปีติแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อกันตามลำดับๆ จนถึงมรรคผลพระนิพพาน

          คือในขณะที่เราแสดงธรรมอยู่นั้น เราแสดงไปด้วยพิจารณาไปด้วย ส่งจิตส่งใจไปตามเนื้อหาสาระที่เราแสดง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติความปราโมทย์ รื่นเริง บันเทิงใจ เบิกบานใจ อิ่มใจ เมื่อปีติเกิดก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาก็จะพิจารณารูปนามสังขารทั้งหลายทั้งปวงให้เห็นว่าตั้งอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

          เมื่อเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปในนาม ในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นจิตก็บริสุทธิ์ สะอาด สงบเย็น บรรลุถึงพระนิพพาน นี้เรียกว่า บรรลุในขณะที่แสดงธรรม

          ๓.     บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม คือการสาธยายธรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุสามัญญผลเหมือนกัน เช่นที่พวกเราทั้งหลายพากันไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์อยู่ขณะนี้ เป็นภาษาบาลีบ้าง แปลเป็นภาษาไทยบ้าง ก็เป็นเหตุให้บรรลุสามัญผลได้เหมือนกัน

          ยิ่งเป็นการสาธยายธรรมตอนทำวัตรเช้า เราสวด พุทโธ สุสุทโธ… ไปตามลำดับ มีอยู่บทหนึ่งว่า รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้

เราสาธยายไปๆ สวดไปๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นมาตามลำดับๆ บางท่านในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ไม่มีโอกาสที่จะทำวัตรเช้ากับบรรดาพระสงฆ์สามเณรที่เรียนปริยัติ พอดีหลังจากปิดการปฏิบัติก็มาทำวัตรรวมกัน เมื่อมาทำวัตรรวมกันเท่านั้น เมื่อทำมาถึง รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา นี้ ทำไม่ได้เลย เกิดปีติตื้นตันใจ มีแต่น้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา

          หรือบางที เวลาออกมาจากปฏิบัติกัมมัฏฐานใหม่ๆ มาเห็นญาติโยมที่มาถวายภัตตาหารเช้า สวดทำวัตรเช้า ก็สวด พุทโธ สุสุทโธ… ไป พอถึง รูปัง อนิจจัง เท่านั้น ฉันภัตตาหารไม่ได้ หรือบางทีขึ้นบทต้นว่า พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ เท่านั้นแหละ ตื้นตันใจ ฉันภัตตาหารไม่ได้ มีแต่น้ำตาไหลอยู่

          นี่แหละท่านทั้งหลาย การที่สาธยายธรรมนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้เหมือนกัน คือเมื่อเราสาธยายธรรมไปๆ หรือว่าสวดมนต์ไป เจริญพระพุทธมนต์ไป เราสวดเราสาธยายด้วยใจด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ว่าแต่ปาก เมื่อใดที่เราสาธยายธรรมด้วยใจ ด้วยสติปัญญาไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติ ความปราโมทย์อิ่มใจ เบิกบานใจ ตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ ที่เรียกว่า สมาหิโต คือมีสมาธิก่อตัวหนักแน่นขึ้น

          เมื่อสมาธิก่อตัวหนักแน่นเป็นอธิจิตตสิกขาแล้ว หลังจากนั้น จิตใจก็จะสงบระงับจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ เมื่อนิวรณ์ธรรมสงบลงไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจของเราได้ จิตใจก็เป็นอิสระ เมื่อจิตใจเป็นอิสระ ก็มีความคล่องแคล่วว่องไวไหวพริบในการพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม เรียกว่า กัมมนิโย จิตว่องไวในการพิจารณา

          เมื่อจิตมีความว่องไวไหวพริบในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมแล้ว ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง รู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรม เมื่อรู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรมแล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวง

          เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ก็เป็นเหตุให้ถึงวิมุตติความหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น จิตใจก็เป็นวิสุทธิ สะอาดหมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตสะอาดหมดจด ก็เป็นปัจจัยให้ถึงสันติความสงบ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน นี้เรียกว่า บรรลุขณะที่กำลังสาธยายธรรม

          ๔.     บรรลุขณะที่ตริตรองพิจารณาธรรม ซึ่งเรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หมายความว่า เราทั้งหลายได้ฟังธรรม ทุกเช้า ทุกเพล ทุกเย็น ทุกค่ำ แล้วก็น้อมนำเอาธรรมนั้นไปพิจารณาตริตรองดูว่า ธรรมที่ท่านกล่าวมานั้นจริงหรือ ท่านกล่าวว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นจริงหรือ

          ท่านบอกว่าอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นอริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นจริงอย่างนั้นหรือ เราก็พิจารณาไปๆ ตามลำดับๆ

          เมื่อตริตรองพิจารณาค้นคว้าธรรมที่ได้ฟังมา ก็เป็นเหตุให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นมา ทำให้เกิดปีติความอิ่มใจดีใจเบิกบานใจ เกิดความปราโมทย์ความตื้นตันใจว่า เป็นจริงตามที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์จริงๆ รูปนามขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงๆ อริยสัจ ๔ ก็อยู่ในนี้จริงๆ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อยู่ในนี้จริง เมื่อเกิดปีติแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ ที่เรียกว่า สมาหิโต จิตก่อตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วก็ปราศจากนิวรณ์ธรรม ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

          เมื่อสมาธิตั้งมั่นหนักแน่นแล้ว จิตก็เป็นอิสระ ทำให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมตามที่เราได้ยินได้ฟังมา เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมจนรู้จักสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรมก็ดี เป็นนามธรรมก็ดี ก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามความต้องการ เช่น สมมติว่าเราจะบังคับร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ว่า แก้มอย่าตอบ ฟันอย่าหัก หนังอย่าสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ขอจงมีความสุขความสบายอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนา รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาจริงๆ

          เราพิจารณาไปถึงบรรดาสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง เราก็จะเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขังทนไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เมื่อเห็นรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ด้วยปัญญาเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายทั้งปวงด้วยอำนาจอุปาทานใดๆ เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้วก็คลายกำหนัด

          เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากรูปนาม จากสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เป็นวิสุทธิถึงความบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็ถึงสันติคือพระนิพพาน จิตใจก็จะสงบด้วยอำนาจอริยมรรคบ้าง ด้วยอำนาจอริยผลบ้าง ก็เป็นอันว่า ถ้าบรรลุด้วยวิธีนี้ เรียกว่าบรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม ผู้บรรลุโดยวิธีนี้ ในครั้งพุทธกาลมีมาก

          ๕.     บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ ได้แก่ การที่เราทั้งหลายตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน เหมือนดังท่านทั้งหลายที่เจริญอยู่นี้แหละ เราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งสมาธิ อันนี้เราฝึกให้จิตใจของเรามีสมาธิ ฝึกให้จิตใจตั้งมั่น ฝึกสติสัมปชัญญะให้มีกำลัง

          เมื่อใดจิตใจมีกำลัง มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิ สมาธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สามารถแทงตลอดอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พร้อมทั้งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยกำลังของสมาธิ คือสมาธิเป็นพื้นฐาน

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เป็นอันสรุปได้ว่า การที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล หรือว่าการที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์นั้น บรรลุได้ด้วยลักษณะ ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ได้บรรลุในขณะที่ฟังธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่แสดงธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่สาธยายธรรมบ้าง บรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมะบ้าง บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิบ้าง นี้ตามที่ท่านกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร

          ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลาย

          ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ขอร้องเป็นพิเศษ ให้เดินจงกรม ให้เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่งสมาธิ เช่นว่า เราฉันเช้าไปแล้ว หรือฉันเพลไปแล้ว ก็เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่งสมาธิ ถ้าเราฉันเช้าฉันเพลแล้วไปนั่งสมาธิเลยทีเดียว ส่วนมากเป็นสมาธิปลอมมากกว่า คือในขณะนั้นจะเกิดถีนมิทธะนิวรณ์คือความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้ซึมๆเหมือนกับเป็นสมาธิเสียเป็นส่วนมาก และผลเสียส่วนมากก็ทำให้อาหารไม่ค่อยย่อย ทำให้ท้องอืด เหตุนั้น ก่อนที่จะนั่งสมาธิ ให้เดินจงกรมเสียก่อนแล้วจึงมานั่งสมาธิ  เพราะว่า การเดินจงกรมนั้น จะได้อานิสงส์ถึง ๕ ประการ[๒] คือ

          ๑.    อทฺธานกฺขโม โหติ ทนต่อการเดินทางไกล

          ๒.    ปธานกฺขโม โหติ ทนต่อการทำความเพียร

          ๓.    อปฺปาพาโธ โหติ มีอาพาธน้อย บางทีโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ก็พลันหายไปก็มี

          ๔.    อสิตํ ปิตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมาปริณามํ คจฺฉติ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม แล้ว ย่อมย่อยดี

          ๕.    จงฺกมาธิคโต สมาธิ จิรฏฺฐิติโก โหติ สมาธิที่ได้ในเวลาเดินจงกรม ย่อมตั้งมั่นอยู่ได้นาน ไม่เหมือนสมาธิที่ได้ในเวลานั่ง

          นี้เป็นอานิสงส์ของการเดินจงกรม เหตุนั้น ก่อนที่จะนั่งสมาธิทุกครั้ง ขอให้ท่านทั้งหลายได้เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่ง ก็ขอสรุปเอาสั้นๆว่า ถ้าเรามีแต่นั่งอย่างเดียว มีแต่นั่ง ไม่มีการเดินจงกรมเลย หลวงพ่อขอบอกได้เลย ขอพยากรณ์ได้เลยว่า เราจะนั่งตลอดทั้งพรรษาก็ไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเลย  มิหนำซ้ำ เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคเหน็บชา เป็นอัมพาตได้ด้วย เพราะฉะนั้น ขอให้เดินจงกรม

          สำหรับการนั่งสมาธิ เพราะเหตุไรจึงให้นั่งสมาธิ เพราะว่า ต้องการทำให้จิตใจของเรานี้สงบแล้วก็เกิดปัญญา อันเป็นมรรคาไต่เต้าไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะว่า อานิสงส์ของสมาธินี้มีถึง ๘ ประการ คือ

          ๑.    มีความสุขในปัจจุบัน

          ๒.    ได้บรรลุสมบัติ ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ

          ๓.    ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น

          ๔.    มีสติสัมปชัญญะมั่นคง ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา

          ๕.    ไม่หลงทำกาลกิริยา คือเวลาจะตายนั้น สามารถระลึกถึงบุญถึงกุศลของตนได้ ไม่หลงตาย

          ๖.    ได้ภพอันวิเศษ ได้แก่ สุคติภพ คือ มนุษย์ สวรรค์ พรหม เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

            ๗.    ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง

          ๘.    เมื่ออุปนิสัยแก่กล้า ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินั้นๆ

          นี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิที่เราบำเพ็ญให้เกิดให้มีในขันธสันดาน

          ต่อไปก็ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงสังวรระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาว่า การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเรานี้ ถึงแม้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพานก็จริง แต่เราก็ต้องผ่านอุปสรรค ผ่านด่านอันตรายจิปาถะ อะไรร้อยแปดพันประการ จึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ เหมือนกับเราเดินทางนี้ กว่าเราจะถึงจุดหมายปลายทางได้ เราก็ต้องทนต่อความลำบากลำบน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้ หรือว่าทหารจะเข้าสู่สนามรบ จะเอาชนะข้าศึกได้อย่างนี้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ จึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ข้อนี้ฉันใด

          เราท่านทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเอาชนะข้าศึกภายในคือกิเลสตัณหา ก็ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการ เมื่อใดเราสามารถเอาชนะอุปสรรคคือข้าศึกภายในได้แล้ว จึงจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

          สำหรับอันตรายของการประพฤติปฏิบัติ วันนี้จะยกเอามาเตือนสติท่านทั้งหลายเพียง ๑๗ ประการ คือ

          ๑.    อาวาสปลิโพธ ห่วงอาวาส คือห่วงที่อยู่ เราจากวัดจากวา จากบ้านจากเมืองมา ก็ห่วงวัดวาอาราม ห่วงบ้านห่วงเมืองของเรา อันนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุสามัญผลเหมือนกัน

          ๒.    ลาภปลิโพธ   ห่วงลาภสักการะ

          ๓.    โภคปลิโพธ   ห่วงทรัยพ์สมบัติ

          ๔.    กัมมปลิโพธ  ห่วงการงาน

          ๕.    โรคปลิโพธ   ห่วงว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

          ๖.    อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล

          ๗.    คณปลิโพธ   ห่วงหมู่ห่วงคณะ

          ๘.    ญาติปลิโพธ  ห่วงญาติพี่น้อง

          ๙.    คันถปลิโพธ  ห่วงการศึกษาเล่าเรียน

          ๑๐.  อิทธิปลิโพธ   ห่วงการแสดงฤทธิ์

          ๑๑.  ทำการงานอย่างไม่มีสติ เช่น เรานุ่งสบง ทรงจีวร พาดสังฆาฏิ สรงน้ำ ถ่ายหนัก ถ่ายเบา เป็นต้น ขาดสติ เราไม่ได้กำหนดติดต่อกันไป ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคเหมือนกัน

          ๑๒.  นิททารามตา มัวนอน คือนอนมากเกินไป แต่ชั่วโมงปฏิบัติน้อย

          ๑๓.  ภัสสารามตา  มัวคุยกัน

          ๑๔.  สังคณิการามตา      มัวคลุกคลีกับหมู่กับคณะ

          ๑๕.  อคุตตทวารตา        ไม่สำรวมทวารทั้งหก คือไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา มันเกิดขึ้นในขณะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาเหมือนกัน

          ๑๖.  อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหารที่บริโภค

          ๑๗.  จิตตัง วิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ ไม่พิจารณาจิตของตน คือไม่ตามรู้ความเป็นไปของจิต

          จิตมีราคะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโลภะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโลภะ จิตมีโทสะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตมีถีนะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีถีนะ หรือว่า จิตพ้นจากราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ถีนะ ก็ไม่รู้ว่าจิตพ้นแล้วจากสิ่งเหล่านี้ คือไม่พิจารณารู้จิตของตน ว่า

          ขณะนี้ กิเลสตัณหาที่เกิดครอบงำจิตของเรามีอยู่หรือ หรือว่าขณะนี้ จิตของเราปราศจากกิเลสตัณหา ไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำ เราก็ไม่ได้พิจารณา เมื่อเราไม่พิจารณาจิตของเราดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน

          เหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงระมัดระวังอันตรายทั้ง ๑๗ ประการนี้ อย่าให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราทั้งหลาย หากว่าเราปล่อยให้อุปสรรคทั้ง ๑๗ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

          เหตุนั้น ให้นักปฏิบัติธรรมพึงสำรวมให้ดี เมื่อเกิดขึ้นมาในขันธสันดานของเราแล้ว พึงพยายามกำจัดให้หมดไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดานของเรา แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเดินจงกรม นั่งสมาธิ บำเพ็ญเพียรต่อไป ผลสุดท้ายเราก็จะได้บรรลุสามัญญผลสมกับความตั้งใจ

          เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำธรรมะ เรื่อง วิมุตตายตนสูตร มาบรรยายเพื่อปรับความเข้าใจในการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้.


[๑] ที. ปาฏิกวคฺโค ๑๑/๔๑๙/๒๙๙

[๒] องฺ. ปญฺจกนิปาต ๒๒/๒๙/๓๑