อารยธรรม

อารยธรรม

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ หลวงพ่อจะน้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อารยธรรม มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป

          คำว่า อารยธรรม หมายความได้หลายอย่าง เช่น

          ๑.     อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลส อธิบายว่า อารยธรรมนี้ ถ้ามีอยู่ในขันธสันดานของท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นจะห่างไกลจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือตัว ความเห็นผิด ความสงสัยลังเลใจ ความหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน ความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป ผู้นั้นได้นามว่า เป็นอารยชน แปลว่า ชนผู้เจริญด้วยศีลธรรม

          ๒.    อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ปราศจากโรค

          คำว่า โรค นั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

                 ๑)    กายิกโรโค โรคทางกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ชาวโลกได้รับอยู่ทุกวันนี้ มีโรคตา โรคหู โรคจมูก เป็นต้น

                 ๒)   เจตสิกโรโค โรคทางใจ ได้แก่ กิเลส ถ้าร่างกายอ้วนแต่ใจผอม คือไม่มีธรรมเป็นเรือนใจ ฉันใดแล้ว บุคคลนั้นก็หาความสุขได้ยากมาก เช่น คนที่ฆ่าตัวตาย กินยาตาย โกงกัน ปล้นกัน ลักของกัน ข่มเหงกัน เบียดเบียนกัน ริษยากัน ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองต่างๆนานา ก็เพราะใจเป็นโรค ใจขาดเรือนอยู่ ถ้าอารยธรรมมีอยู่ในขันธสันดานของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ปราศจากโรค จะมีแต่ความสุขความเจริญฝ่ายเดียว

          ๓.    อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ปราศจากฝนคือกิเลสตัณหา เหมือนหลังคาบ้านที่รั่ว เจ้าของเรือนต้องเดือดร้อน นอนหลับก็ต้องตื่น ค่ำคืนก็ต้องลุกขึ้นมา ทนทุกข์ทรมาน ข้อนี้ฉันใด ใจที่ถูกฝนภายในคือกิเลสรั่วรด ก็ฉันนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนไว้ว่า

                        ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ          วุฏฺฐิ สมติวิชฺฌติ

                        เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ                ราโค สมติวิชฺฌติ[1]

          ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด กิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ ย่อมรั่วรดจิตที่อบรมไม่ดี ฉันนั้น แต่ฝนรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด กิเลสมีราคะเป็นต้น ย่อมรั่วรดจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น

          ๔.     อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ประเสริฐ คือ อารยธรรมนี้ ล้วนแต่เป็นธรรมที่ดีๆ ถ้ามีอยู่ในขันธสันดานของผู้ใด ก็จะทำให้ผู้นั้นมีกายงาม วาจางาม ใจงาม เป็นสง่าราศี เป็นที่เคารพบูชา เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของนักปราชญ์

          ๕.     อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่สะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ปราศจากความลามก ปราศจากบาป มีแต่ความเจริญงอกงามไพบูลย์ ถ้ามีอยู่ในบุคคลใด ก็จะทำให้บุคคลนั้นเป็นอารยชน ถ้าบุคคลเช่นนี้มีอยู่ในบ้านใด เมืองใด ประเทศใด บ้านนั้น เมืองนั้น ประเทศนั้น ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ผูกพยาบาทฆ่าล้างผลาญกัน อาฆาตจองเวรแก่กัน และไม่ก่อภัย ก่อเวร ก่อทุกข์ ให้แก่ใครๆ

          คำว่า อารยธรรม มีความหมายตามที่ได้บรรยายมานี้

          อนึ่ง อารยธรรมนั้นมี ๖ ประการ ตามพระบาลีที่ว่า

                        อกฺโกธโน อนุปฺปนาหี    อมกฺขี สุทฺธตํ คโต

                        สมฺปนฺนทิฏฺฐิ เมธาวี      ตํ ชญฺญา อริโย อิติ

          แปลว่า อารยธรรม นั้น มีอยู่ ๖ ประการคือ

          ๑.     อกฺโกธโน       ความไม่โกรธ

          ๒.    อนุปฺปนาหี     ความไม่ผูกโกรธ

          ๓.     อมกฺขี            ความไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน

          ๔.     สุทฺธตํ คโต    ถึงความบริสุทธิ์

          ๕.     สมฺปนฺนทิฏฺฐิ มีความเห็นบริบูรณ์

          ๖.     เมธาวี            มีปัญญา

          มีอธิบายดังนี้

          ๑.     อกฺโกธโน ความไม่โกรธ ความไม่โกรธนี้ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก คือความเมตตานั่นเอง เมตตานี้มีความไม่ดุร้าย ความไม่พิโรธ ไม่แค้นเคือง ไม่ทารุณโหดร้าย เป็นลักษณะ เป็นดุจเพื่อนผู้อนุกูลกัน หวังดีต่อกัน ความไม่โกรธ มีหน้าที่กำจัดความพยาบาทอาฆาตจองเวรออกไปให้ห่างไกล ทำความเร่าร้อนต่างๆให้พินาศไป ดุจแก่นจันทน์ระงับความเร่าร้อนในกายให้เยือกเย็นลงได้ มีผลคือความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ใคร มีใจผ่องใส ดุจพระจันทร์วันเพ็ญลอยเด่นอยู่กลางนภา ฉะนั้น

          ส่วนเหตุใกล้ชิดจะทำให้เมตตาเกิดขึ้นมีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่

                 ๑)     โยนิโสมนสิกาโร ใส่ใจโดยอุบายอันแยบคายในเหตุนั้นๆ คือพินิจพิจารณาอย่างละเอียดลออ ไม่ตัดสินใจเร็วนัก อย่าวู่วามโกรธง่าย ให้เป็นคนที่มีความลึกซึ้ง มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาถึงโทษของความโกรธเสียก่อน แล้วความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น เมตตาก็จะมาแทนที่

                 ๒)    เมตฺตานิมิตฺตสฺส อุคฺคโห เรียนวิธีแผ่เมตตาให้เข้าใจดี

                 ๓)     เมตฺตาภาวนานุโยโค เจริญเมตตาภาวนาทุกๆวัน

                 ๔)    กมฺมสฺสกตาปจฺจเวกขณา พิจารณากรรมของเราเอง

                 ๕)    ปฏิสงฺขานพหุลีกตา พิจารณากรรมของตนเองและกรรมของผู้อื่นสัตว์อื่นด้วย

                 ๖)     กลฺยาณมิตฺตตา คบแต่เพื่อนที่ดีๆ

                 ๗)    สปฺปายกถา สนทนาปราศรัยกันแต่คำที่สบายใจ

                 ๘)    เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นนิตย์

          คุณธรรมทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นเหตุใกล้ชิดที่จะทำให้ความไม่โกรธเกิดขึ้น คุณธรรมคือความไม่โกรธนี้ พระสารีบุตรเถระได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นตัวอย่างดีเยี่ยม ดังมีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่า

          เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร พวกมนุษย์ได้พากันกล่าวยกย่องสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรว่า น่าเคารพบูชาเหลือเกิน พระคุณเจ้าของเรา เต็มเปี่ยมไปด้วยความอดทน ใครๆจะด่าว่าจะประหารท่าน ท่านก็ไม่โกรธเลยแม้แต่นิดเดียว

          ครั้งนั้น พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งประสงค์จะยั่วยุให้ท่านโกรธ ในเวลาท่านไปบิณฑบาต แอบย่องไปข้างหลัง แล้วเอากำปั้นตีลงที่กลางหลังของท่าน ท่านไม่เหลียวมาดูเลย เดินไปเฉย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พราหมณ์นั้นก็เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นมาว่า

          น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระผู้เป็นเจ้าองค์นี้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างดี สมกับที่ประชาชนเล่าลือกันจริงๆ จึงได้หมอบลงแทบเท้าของท่านแล้วขอขมาโทษ ท่านก็ยกโทษให้ พราหมณ์นั้นก็มีความเชื่อความเลื่อมใส มีความเคารพคารวะต่อพระเถระนั้น แล้วนิมนต์ท่านไปฉันบิณฑบาตที่บ้านของตน ปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐาก เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความไม่โกรธเป็นอารยธรรมสำคัญข้อหนึ่ง

          ๒.    อนุปฺปนาหี ความไม่ผูกโกรธ ความผูกโกรธกันไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่โทษฝ่ายเดียวเท่านั้น ถ้าใครผูกโกรธบุคคลที่โกรธกัน พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า กลับจะเป็นคนเลวยิ่งกว่าบุคคลที่โกรธเสียอีก ดังพระบาลีว่า

                        ตสฺเสว เตน ปาปิโย    โย กุทฺธํ ปฏิกุชฺฌติ[2]

          ผู้ใดโกรธตอบ ต่อบุคคลผู้โกรธก่อน คนนั้นเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่า ดังนี้

          เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงทีเดียว เพราะว่าคนที่โกรธตอบ ก็เหมือนกันกับคนที่มุ่งจะประหารผู้อื่น แต่ตัวเองเหมือนเอามือไปจับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชนปราศจากเปลวฉะนั้น และเหมือนกันกับบุคคลเอามือไปจับมูตรคูถฉะนั้น เพราะเหตุนั้น นักปฏิบัติธรรมต้องไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน ต้องให้อภัยกัน สงสารกัน รักใคร่กัน จึงจะดี เราเกิดมา ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้ากันสักคนเดียว ตายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าไปผูกโกรธผูกเวรซึ่งกันและกันเลย ถ้าใครผูกโกรธกัน ก็เหมือนกันกับเอาปลาเน่า สุนัขเน่า หรือมูตรคูถเน่า มาผูกตัวเอง มีแต่จะทำให้ตัวเองจมลงสู่อบายภูมิ ให้ปฏิบัติตนอย่างนางอุตตราไม่ผูกโกรธใน
นางสิริมา ฉะนั้น

          คือมีเรื่องเล่าไว้ว่า นางอุตตรานั้น ได้จ้างนางสิริมาไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่บำรุงสามีแทนตน เมื่อเวลาล่วงเลยไปนานเข้า นางสิริมาคิดสำคัญตัวเองว่าเป็นภรรยาจริงๆ วันหนึ่งเห็นสามีของนางอุตตรายิ้มให้นางอุตตรา เกิดความหึงหวง วิ่งไปตักเอาน้ำร้อนต้มเดือดๆ เทราดที่ศีรษะของนางอุตตรา แต่นางอุตตรากลับแผ่เมตตาจิต ไม่คิดที่จะโกรธตอบเลยแม้แต่เล็กน้อย น้ำร้อนนั้นก็กลับเย็นดุจน้ำแข็ง เพราะอานิสงส์ของความไม่ผูกโกรธ จึงจัดเป็นอารยธรรมข้อหนึ่ง

          ๓.     อมกฺขี ความไม่ลบหลู่คุณท่าน คือความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีนั่นเอง ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท คือ

                 ๑)     พุทธบริษัท เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีความเคารพต่อพระพุทธเจ้า ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นพระองค์

                 ๒)    ลูกมีความเคารพคารวะ มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นท่าน

                 ๓)     ศิษย์มีความจงรักภักดี มีความกตัญญูกตเวทีต่อครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ไม่ลบหลู่ดูถูกท่าน

                 ๔)    ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ มีความเคารพคารวะ มีความกตัญญูกตเวที จงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นพระองค์

          คนมีความกตัญญูกตเวทีอย่างนี้ เรียกว่า อมักขี จะมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่มีความเสื่อม จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความเดือดร้อน ย่อมจะได้รับแต่ความสุขกายสบายใจ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

          ๔.     สุทฺธตํ คโต ถึงความบริสุทธิ์ มี ๓ ขั้น ได้แก่

                 ๑)     ความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ ได้แก่ บริสุทธิ์จากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ ความบริสุทธิ์นี้ย่อมได้ด้วยการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เพราะว่าศีลสามารถที่จะกำจัดกิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกายวาจาได้เท่านั้น เมื่อกิเลสหยาบไม่ล่วงออกมาทางกายวาจาแล้ว ก็ถือว่าถึงความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ

                 ๒)    ความบริสุทธิ์ขั้นกลาง ได้แก่ ความบริสุทธิ์จากนิวรณ์ ๕ ความบริสุทธิ์นี้จะมีได้ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน เพราะว่าสมถกัมมัฏฐานสามารถกำจัดกิเลสอย่างกลางให้สงบระงับไปได้

                 ๓)     ความบริสุทธิ์ขั้นสูง ได้แก่ ความบริสุทธิ์จากอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ความบริสุทธิ์นี้จะมีได้ด้วยการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ไปได้ถึง ๔ ครั้งแล้ว ก็สามารถทำลายอนุสัยกิเลสซึ่งนอนดองอยู่ในส่วนลึกของจิตใจให้หมดไป เมื่อใดอนุสัยกิเลสหมดไปแล้ว จิตใจของเราก็สะอาด ถึงความบริสุทธิ์ขั้นสูง

          ๕.     สมฺปนฺนทิฏฺฐิ มีความเห็นอันสมบูรณ์ คำว่า ความเห็น นี้เป็นคำกลางๆ อาจจะเห็นผิดก็ได้ เห็นถูกก็ได้ ถ้าเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ในอารยธรรมนี้ หมายเอาความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง มีอยู่ถึง ๖ ประการคือ

                 ๑)     กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก ได้แก่ เห็นว่าบุคคลทุกๆคนมีกรรมเป็นของตน ตนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ตนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว แล้วละชั่วประพฤติดี

                 ๒)    ฌานสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือมีความเห็นว่าการเจริญสมถกัมมัฏฐานเป็นของดี เพราะการระงับปริยุฏฐานกิเลสอย่างกลางได้แล้วลงมือเจริญสมถกัมมัฏฐาน

                 ๓)     วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือมีความเห็นว่าพระวิปัสสนาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพร่ำสอนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามได้พ้นทุกข์ แล้วลงมือปฏิบัติตาม จนเกิดวิปัสสนาญาณต่างๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๓ คือโคตรภูญาณ

                 ๔)    มัคคสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือเห็นมัคคจิต เห็นพระนิพพาน ตัดกิเลสขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ทำกิเลสให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน แล้วลงมือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนยังมัคคญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน

                 ๕)    ผลสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือเห็นว่ามัคคจิต เห็นพระนิพพานเป็นผลของมรรคที่ประหารกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว

                 ๖)     ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือพิจารณาเห็นกิเลสที่ละได้และยังเหลืออยู่ พิจารณามรรค ผล นิพพาน

          ๖.     เมธาวี มีปัญญา ปัญญามีมากมายแต่จะยกมา ๓ ประการ คือ

                 ๑)     ปริตตปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้ศึกษาเล่าเรียนพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือเล่าเรียนนักธรรมชั้นตรี โท เอก เป็นต้น จัดเป็นมหากุศลชั้นกามาวจร มีผลให้ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์

                 ๒)    มหัคคตปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้บรรลุปฐมฌาน เป็นต้น จัดเป็นรูปาวจรกุศล มีผลให้บังเกิดในพรหมโลก

                 ๓)     อัปปมาณปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จัดเป็นโลกุตตรกุศล มีผลให้เข้าสู่พระนิพพาน

          คุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ เรียกว่า อารยธรรม หรืออริยธรรม บุคคลที่ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ จึงจะได้นามว่า อริยชน ตามหลักของทางพระพุทธศาสนา

          อารยธรรมนั้น เมื่อจะกล่าวสรุปใจความที่ได้บรรยายมาแล้ว จะเห็นได้ว่า มีหลายอย่าง คือ

          ๑)     อารยธรรม ทำคนให้เป็นคน

          ๒)    อารยธรรม ทำคนให้ดีกว่าคน

          ๓)     อารยธรรม ทำคนให้เลิศกว่าคน

          ๔)    อารยธรรม ทำคนให้เด่นกว่าคน

          ๕)    อารยธรรม ทำคนให้สูงกว่าคน

          ๖)     อารยธรรม ทำคนให้ประเสริฐกว่าคน

          ๗)    อารยธรรม ทำคนให้เป็นพระ

          ๘)    อารยธรรม ทำให้บุคคลแต่ละคนสุขกายสบายใจ

          ๙)    อารยธรรม ทำคนให้มีค่า ทำให้ประเทศชาติพระศาสนาเจริญรุ่งเรือง

          ๑๐อารยธรรม ทำให้บุคคลบรรลุประโยชน์ ๓ คือ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

          ๑๑อารยธรรม ทำให้บุคคลได้สำเร็จสมบัติ ๓ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ

          ๑๒อารยธรรม ทำให้บุคคลได้ถึงแก่นธรรม ได้พ้นจากกองทุกข์และเพลิงกิเลส

          ๑๓อารยธรรม ทำให้ชาวโลกร่มเย็นเป็นสุข เช่น ตัวอย่าง นางลดากุมารี มีเรื่องเล่าไว้ในวิมานวัตถุว่า

          สมัยหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารเมืองสาวัตถี มีนางกุมารีคนหนึ่งชื่อว่าลดา เป็นนักปราชญ์ เฉลียวฉลาดพอสมควร มารดาบิดาขอให้อยู่ในตระกูลสามี นางได้ปรนนิบัติอุปัฏฐากสามีแม่ผัวเป็นอย่างดี ฉลาดในอันที่จะสงเคราะห์อันโตชนบริวารชน อโกธนา นางหาความโกรธมิได้ ประกอบไปด้วยศีลาจารวัตรเป็นอย่างดี นางยินดีในการจำแนกแจกทาน รักษาศีล ๕ เป็นนิจไม่ได้ขาด มิได้ประมาทมัวเมาในชีวิต ตั้งจิตรักษาอุโบสถศีลเป็นอันดี ครั้นทำกาลกิริยาตายไป นางได้บังเกิดในสวรรค์ สมเด็จพระจอมธรรม์ได้นำมาแสดงแก่พุทธบริษัท

          คุณธรรมทั้ง ๖ อย่าง มีความไม่โกรธเป็นต้นนี้ เป็นอุปการะแก่การเจริญพระกัมมัฏฐาน ทั้งที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะหากว่าเราขาดคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ ก็มีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน มองดูกันไม่เป็นมิตร ขาดความเคารพ ขาดความนับถือ ขาดความรักใคร่ ขาดความสามัคคี

          เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความระส่ำระสาย คิดมาก อารมณ์ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด อยู่ด้วยกันเพียง ๕-๖ วัน ก็เหมือนกันกับว่าอยู่ด้วยกันตั้ง ๕-๖ ปี มีแต่คิดในด้านอกุศลเป็นต้น การที่เราทั้งหลายอยู่ร่วมกันนี้ ถ้าสมบูรณ์ด้วยธรรม ๖ ประการนี้ ยิ่งอยู่ด้วยกันก็ยิ่งมีความเคารพ มีความรักใคร่ มีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความสุข ไม่อยากจากกันไป ก็เป็นเหตุให้การประพฤติปฏิบัติได้ดี เป็นเหตุให้เกิดสมาธิสมาบัติ สามารถ
ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

          เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อารยธรรม อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


[1] (ขุ. ขุทฺทก. ๒๕/๑๑/๑๖)

[2] (สํ.สคาถวคฺโค ๑๕/๖๓๓/๒๓๘)