ความงามของพระศาสนา
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ความงามของพระศาสนา มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ความงามของพระศาสนานี้ ท่านได้กล่าวไว้ในปฐมสามนต์ (สมันตปาสาทิกา) หน้า ๑๓๕ ว่า สกโลปิ สาสนธมฺโม พระธรรมคือศาสนาแม้ทั้งหมด มีความงามอยู่ ๓ ประการ คืองามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ท่านจำแนกแจกไว้เป็นหมวดๆ ดังต่อไปนี้ คือ
หมวดที่ ๑
อตฺตโน อตฺถภูเตน สีเลน อาทิกลฺยาโณ พระศาสนางามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง
สมถวิปสฺสนามคฺเคหิ มชฺเฌกลฺยาโณ งามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรค
นิพฺพาเนนปิ ปริโยสานกลฺยาโณ งามในที่สุดด้วยพระนิพพาน
หมวดที่ ๒
สีลสมาธีหิ อาทิกลฺยาโณ งามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ
วิปสฺสนามคฺเคหิ มชฺเฌกลฺยาโณ งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค
ผลนิพฺพาเนหิ ปริโยสานกลฺยาโณ งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน
หมวดที่ ๓ ท่านแก้ต่อไปว่า
ก. เมื่อบุคคลกำลังฟังพระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ นิวรณ์ ๕ อันกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ก็สงบลงไป นิวรณ์ ๕ นั้น คือ
๑) กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๒) พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น ในเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่น่าชอบใจ ไม่น่าปรารถนา ก็เป็นเหตุให้เกิดความพยาบาทขึ้นมา
๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาเศร้าซึม กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดี
๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะนึกถึงบาปเก่าที่ตนได้เคยทำไว้ และบุญกุศลไม่ได้ทำ หรือทำก็ทำไว้น้อย ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆได้
๕) วิจิกิจฉา ความสงสัย ลังเลใจ ไม่ตกลงได้ เช่น สงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน สงสัยในเรื่องบาปเรื่องบุญเป็นต้น เมื่อนิวรณ์ ๕ สงบลงไปชั่วขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นได้รับความสุขอยู่ไม่มากก็น้อย อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนามีความงามในเบื้องต้น
ข. เมื่อบุคคลฟังธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม คือลงมือปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ นับตั้งแต่ขั้นต่ำเป็นต้นไป แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงอย่างนั้น ผู้นั้นก็ย่อมได้รับความสุขใจมิใช่น้อย ย่อมจะเกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นอย่างดี อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนางามในท่ามกลาง
ค. เมื่อบุคคลใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ผลดีคงที่ คือได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติ นับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรคอรหัตตผล อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนางามในที่สุด
ว่าด้วยภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัตินี้ ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติที่จิต จะได้ผลน้อยหรือมากเราก็ดูที่จิตของเรา ถ้าว่าเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ลงไปได้เสี้ยวหนึ่งในส่วนสี่ (๑/๔) เราก็ชื่อว่าได้บรรลุขั้นปฐมมรรคแล้ว
หากว่าเราสามารถทำให้เบาบางไปถึงสองส่วน ก็ถือว่าเราได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีแล้ว แต่ถ้าว่าเราทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปครึ่งหนึ่ง เช่น ความโลภหมดไปถึง ๔ ตัว ความโกรธและกามราคะก็หมดไป ไม่มีเหลือหลออยู่ในขันธสันดาน
วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในข้อปฏิบัติ เป็นต้น ก็หมดไป ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ จิตใจของเราละได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าเราได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เดินไปได้ครึ่งทางแล้ว จวนจะถึงนิพพานขั้นสูงสุดยอดแล้ว
ถ้าว่าเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาได้หมด ไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีอาสวะเหล่าใดนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา ใครจะมายุมายั่วด้วยวิธีอย่างไรก็ไม่โกรธ ใครจะมายกย่องสรรเสริญอย่างไรก็ไม่ยินดี เขาจะมีทรัพย์สินเงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ มีเงินเป็นล้านๆ มาวางไว้ มาถวาย ก็ธรรมดาๆ ไม่ตื่นเต้น ไม่ดีใจ แต่ไม่ใช่ใจจืดใจดำ หรือไม่ใช่ใจจืดใจจาง
หรือหากว่า (เรา) จะมีเงินทองกองแก้ว แต่มีอันเป็นไป ถูกโจรลักโจรขโมยไป ถูกเขาปล้นไปจี้ไป หรือตกหายอะไรทำนองนี้ ก็อยู่เฉยๆ ไม่มีความเสียใจ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ก็แสดงว่า เราบรรลุอริยมรรคอริยผลถึงขั้นพระอรหัตตมรรคพระอรหัตตผลแล้ว ถือว่าเราปฏิบัติธรรมะได้ผลขั้นสูงสุดยอดแล้ว
เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงสังเกตและพิจารณาดูที่จิตของเราว่า ขณะนี้ จิตใจของเราสามารถละราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็ขอให้เราได้พิสูจน์เอาเอง
ธรรมดาจิตของบุคคลย่อมผูกพันอยู่กับอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตลอดกาลนาน นับตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา ตั้งแต่เราได้คลอดจากครรภ์ของมารดามาจนถึงป่านนี้ จิตใจของเราส่วนมากไม่อยู่กับเนื้อกับตัวซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนมากจิตใจของเราวิ่งไปหารูปบ้าง วิ่งไปตามเสียงบ้าง วิ่งไปตามกลิ่นบ้าง วิ่งไปตามรสบ้าง วิ่งไปตามสัมผัสบ้าง วิ่งไปตามอารมณ์บ้าง อยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่คงที่
เหมือนกันกับลิง ซึ่งอยู่ตามปกติไม่ได้ ต้องเกาที่โน้นหยิบที่นี้ กระโดดไปโน้น กระโดดมานี้อยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด ใจของคนเราก็เหมือนกัน นับตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดามาจนถึงป่านนี้ มันไม่อยู่กับที่ พูดตามประสาบ้านเราว่า ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และก็วิ่งไปตามอารมณ์ต่างๆ เวลาอารมณ์ต่างๆมากระทบ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มากระทบ มันก็วิ่งไปตามอารมณ์นั้นๆแล้ว
เมื่อเรามาเจริญพระกัมมัฏฐาน (จิตนั้น) ก็ไม่ปรารถนาจะอยู่กับอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานเลย ย่อมออกนอกทางอยู่เสมอ เหมือนกันกับเกวียนที่เทียมด้วยโคโกง ย่อมพาออกนอกทางอยู่เป็นนิตย์ ฉะนั้น ถึงอย่างนั้น บุคคลผู้หวังความสุขแก่ตน ก็ต้องเพียรพยายามฝึกฝนตนอบรมตน จนหายโกง หายดื้อ หายพยศ
ท่านกล่าวอุปมาในการฝึกไว้ว่า อันนรชนผู้ใคร่ที่จะฝึกลูกโคที่กำลังติดนมแม่อยู่ ต้องเอาเชือกผูกล่ามไว้กับเสา ลูกโคนั้นจะต้องดิ้นรนกระวนกระวาย เพื่อหาอุบายออกหนีไปให้ได้ เมื่อไม่สามารถจะหนีไปได้ตามที่ตนนึก ก็จำเป็นต้องยืนพิงเสาบ้าง นอนพิงเสาบ้าง ข้อนี้ฉันใด
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เหมือนกันน ผู้ประสงค์จะฝึกใจของตนเอง ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น เพราะว่าใจเคยได้ลิ้มรสแห่งอารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มานานต่อนานแล้ว พึงพรากใจของเราออกจากอารมณ์นั้นเสีย แล้วเอาเชือกคือสติผูกไว้ที่เสาคือพองยุบ เป็นต้น ดังบาลีกล่าวไว้ว่า
ตตฺถ อสฺสาสปสฺสาสถมฺเภ สติโยตฺเตน พนฺธิตพฺพํ ฯ
แปลว่า บุคคลพึงเอาเชือกคือสติ ล่ามจิตไว้ที่เสาคือพองยุบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็จะต้องดิ้นรนกระวนกระวาย วิ่งไปข้างโน้น วิ่งมาข้างนี้ ไม่อยู่เป็นสุข ดุจลิง หรือดุจปลาที่บุคคลยกขึ้นมาจากน้ำวางไว้บนบก ย่อมดิ้นรนแส่หาน้ำฉันใด
เมื่อจิตใจไม่ได้อารมณ์ที่ตนเคยได้ในกาลก่อน ก็ประสงค์จะกัดเชือกคือสติหนีไปหาอารมณ์ที่ตนต้องการ เขาจะพยายามจนสุดความสามารถ ครั้นไม่อาจจะหนีไปได้ ก็จำเป็นต้องยึดมั่นอยู่กับรูปกับนามคือพองยุบ ด้วยอำนาจแห่งขณิกสมาธิบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอุปจารสมาธิบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอัปปนาสมาธิบ้าง สมดังที่พระโบราณาจารย์กล่าวสอนไว้ว่า
ยถา ถมฺเภ นิพนฺเธยฺย วจฺฉํ ทมํ นโร อิธ
พนฺเธยฺเยวํ สกํ จิตฺตํ สติยารมฺมเณ ทฬฺหํ[๑]
บุคคลใดในโลกนี้ เวลาจะฝึกลูกโค ต้องเอาเชือกผูกไว้กับเสาเสียก่อน แล้วจึงลงมือฝึกได้ตามชอบใจ ฉันใด อันบุคคลผู้จะฝึกจิตของตน ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น คือพึงผูกจิตของตนไว้ให้มั่นที่อารมณ์คือพองยุบ เป็นต้น ด้วยสติ
อธิบายและขยายความดังต่อไปนี้ คือ
๑. อารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น กล่าวโดยนัยแห่งการปฏิบัติ ได้แก่ สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ
๑) กำหนดกาย เช่น เวลาท้องพองท้องยุบ ภาวนาว่า พุทโธ หรือภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น ดังที่เคยได้บรรยายมาแล้วนั้น
๒) กำหนดเวทนา เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน
๓) กำหนดใจ เช่น เวลาคิดภาวนาว่า คิดหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ เป็นต้น แม้เวลาโกรธ เวลาดีใจ เวลาเสียใจ ก็ให้ปฏิบัติเช่นกัน ถ้าเราเข้าใจวิธีปฏิบัติแล้ว อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ จะเป็นข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน ทหาร ตำรวจ ก็ปฏิบัติได้ทั้งนั้น
๔) กำหนดธรรม เช่น นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ และโพชฌงค์ ๗ เป็นต้น
รวมความว่า อารมณ์ของวิปัสสนาคือสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต และ ธรรม
๒. ใช้สติเป็นเครื่องมือในการฝึก ในการกำหนด เอาสติกั้นกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ให้ไหลบ่าเข้ามาท่วมนา หรือท่วมพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ
ฉะนั้น ในเวลาเจริญวิปัสสนาจริงๆแล้ว ไม่ต้องไปห่วงใยกังวลอะไรอย่างอื่น ขอแต่ให้ใช้สติกำหนดลงไปตรงที่ท้องพองท้องยุบแห่งเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ ครบหมดทุกข้อ
เช่น ท้องที่พองยุบเป็นรูป รูปนี้เป็นกาย ในขณะนั้นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน คือไม่สุขก็ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์ก็สุข ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ สุข ทุกข์ เฉยๆ เป็นเวทนา การที่รู้ว่าพองยุบอยู่นั้นเป็นจิต
ใจขณะที่กำหนดพองยุบอยู่นั้น ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีอยู่พร้อมมูลแล้ว ขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรม สติที่กำหนดพองยุบอยู่นั้นก็เป็นธรรม แม้สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็มารวมอยู่ที่แห่งเดียวกันนี้
เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จึงเป็นของทำได้ปฏิบัติได้โดยไม่ยากนักและไม่ง่ายนัก ยากอยู่ที่บุคคลไม่กล้าตัดสินใจทำ หรือไม่ทำจริงเท่านั้น พระพุทธองค์ได้วางหลักไว้ว่า สตฺตนฺนํ ทิวสานํ ถ้าบุคคลมีศรัทธาจริง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริงแล้ว ภายใน ๗ วัน ก็จะได้ผล
นอกจากนี้ ในปฐมสามนต์นั่นเอง ท่านยังได้กล่าวสอนต่อไปอีกว่า ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องทำตนให้เป็นดุจพญาเสือโคร่ง คือตามธรรมดาพญาเสือโคร่งย่อมแอบอาศัยป่าหญ้ารกๆบ้าง อาศัยป่าไม้บ้าง อาศัยภูเขาบ้าง แล้วคอยจ้องตะครุบเนื้อ(สัตว์)กินเป็นอาหาร เช่น กระบือป่า โคป่า หมูป่า เป็นต้น ฉันใด
ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารหวังจะไปสู่พระนิพพาน ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น พึงอาศัยป่าไม้บ้าง โคนไม้บ้าง เรือนว่างบ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วลงมือเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถยึดมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ไว้ในเงื้อมมือของตนได้ สมดังพระโบราณาจารย์กล่าวสอนเปรียบเทียบไว้ว่า
ยถาปิ ทีปโก นาม นิลียิตฺวา คนฺถตี มิเค
ตเถวายํ พุทฺธปุตฺโต ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก
อรญฺญํ ปวิสิตฺวาน คณฺหาติ ผลมุตฺตมํ.[๒]
ธรรมดาเสือโคร่ง ย่อมแอบซ่อนตัวคอยจับเนื้อกินเป็นอาหารอยู่ตามป่า ฉันใด บุตรของพระตถาคตเจ้าต้องเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร มิได้ประมาท เข้าไปสู่ป่าหรือโคนไม้แล้ว หรือเข้าไปอยู่ที่ว่างเปล่าแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฉันนั้น
ที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็พอสรุปใจความว่า
ความงามของพระศาสนาในเบื้องต้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรารักษา แต่ว่ายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
ความงามของพระศาสนาในขั้นกลาง ก็ได้แก่ การที่เราลงมือเจริญพระกัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีแล้ว แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์
ความงามของพระศาสนาในขั้นสูงสุด ก็ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล พ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป
เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ความงามของพระศาสนา มาบรรยายโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา
จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้.
[๑] ขุททกนิกายอัฏฐกถา ปฏิสัมภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี ๒ หน้า ๙๘
[๒] ขุททกนิกายอัฏฐกถา ปฏิสัมภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี ๒ หน้า ๙๔