ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม

ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า ในเรื่อง ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบต่อไป

          ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

          ฉหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ นจิรสฺเสว มหนฺตํ เวปุลฺลํ ปาปุณาติ ธมฺเมสุ.[๑]

          ใจความว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏสงสารประกอบด้วยคุณธรรม ๖ ประการ ย่อมถึงความไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ในธรรม ต่อกาลไม่นานเลย

          คุณธรรมทั้ง ๖ ประการนั้น คือ

          ๑.     อาโลกพหุโล        มากด้วยแสงสว่าง

          ๒.    โยคพหุโล             มากด้วยความเพียร

          ๓.     เวทพหุโล            มากด้วยปีติปราโมทย์

          ๔.     อสนฺตุฏฺฐิพหุโล     มากด้วยความไม่พอไม่หยุด

          ๕.     อนิกฺขิตฺตธุโร        ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม

          ๖.     อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง

          มีอธิบายดังต่อไปนี้

          ๑.     คำว่า มากไปด้วยแสงสว่าง หมายความว่า มีญาณมาก มีความรู้มาก มีปัญญามาก จำแนกเป็น ๓ ประการคือ

                 )     ปริยัติญาณ ปัญญาคือความรู้ที่เกิดจากการศึกษา

                 )    ปฏิปัตติญาณ ปัญญาคือความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ

                 )     ปฏิเวธญาณ ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ปัญญาซึ่งรู้แจ้งแทงตลอดวิสุทธิ ๗ ปัญญาซึ่งรู้แจ้งแทงตลอดลำดับญาณ ๑๖ จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

          ผู้ที่ประกอบไปด้วยญาณทั้ง ๓ นี้ชื่อว่า อาโลกพหุโล ผู้มากไปด้วยแสงสว่างคือปัญญา

          ๒.    คำว่า มากไปด้วยความเพียร ได้แก่ มากไปด้วยความเพียร ทั้งทางโลก ทางธรรม ความเพียรทางโลกคือ พยายามให้การงานที่เราประกอบนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนความเพียรในทางธรรมนั้น จำแนกออกเป็น ๔ ประการคือ

          ๑)     เพียรระวังบาป ไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ ด้วยการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เช่น เวลาเดินจงกรม ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นต้น สติกับจิตไม่เผลอจากเท้าขวาเท้าซ้าย แม้เวลานั่ง สติกับจิตก็ให้อยู่กับท้องพองท้องยุบ เป็นต้น โดยภาวนาว่า พุทโธๆ หรือ ยุบหนอ พองหนอ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เผลอจากรูปจากนาม ชื่อว่าได้ปัจจุบันธรรม

          ในขณะนั้น บาปคือความโลภ ความโกรธ ความหลง จะไม่เกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าบาปคือความชั่วช้านั้น จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยทั้งอารมณ์อดีต ทั้งอารมณ์อนาคต ดังนั้น สมเด็จพระจอมธรรมจึงตรัสสอนไว้ (เป็นต้น) ว่า

                        อตีตํ นานฺวาคเมยฺย      นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ

                        ยทตีตมฺปหีนนฺตํ          อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ

                        ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ  ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ[๒]

          ซึ่งแปลความว่า ท่านทั้งหลายอย่านึกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว อย่ามุ่งหวังอารมณ์อนาคต คือที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งใดที่เป็นอดีต สิ่งนั้นก็ล่วงเลยไปแล้ว สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นก็ยังมาไม่ถึง ผู้ใดได้ปัจจุบันธรรม ผู้นั้นจึงจะสามารถเห็นแจ้งในที่นั้นๆได้ ดังนี้

          ความเพียรที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เรียกว่า เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน

          ๒)    เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นให้เสื่อมไป ด้วยการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เช่น เวลาเดินจงกรม เวลานั่งภาวนาอยู่ สติกับจิตจับอยู่ที่ปัจจุบันธรรม เห็นรูป เห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ขณะนั้นกิเลสต่างๆ จักสงบระงับดับไปโดยตทังคปหาน คือ ละกิเลสได้ด้วยองค์พระกัมมัฏฐาน และสงบระงับไปด้วยวิกขัมภนปหาน คือละกิเลสโดยการข่มได้ด้วยอำนาจ ศีล สมาธิ ปัญญา

          อย่างนี้เรียกว่า เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมสิ้นไป ทำให้กิเลสดับไปในขั้นต่ำและขั้นกลาง ส่วนในขั้นสูงนั้น ได้แก่ เพียรละโดยเด็ดขาด ไม่กลับเกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยการบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุถึงมัคคญาณผลญาณ

          ๓)    เพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้นในตน คือเพียรพยายามให้ศีลกุศล สมาธิกุศล ปัญญากุศล เกิดขึ้นในตนให้มากๆ จนสามารถตัดกิเลสได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ได้แก่ ผู้เจริญพระวิปัสสนาจนได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง

          ๔)     เพียรรักษากาย วาจา ใจ ให้อยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา และเพียรรักษาศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และให้เจริญยิ่งๆขึ้น โดยลำดับๆ จนกว่าจะได้สิ้น
อาสวะกิเลส

          ผู้ใดประกอบไปด้วยความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ เรียกว่า ผู้มากไปด้วยความเพียรในทางธรรม

          ถ้าผู้ใดมากไปด้วยความเพียรทั้งในทางโลกและมากไปด้วยความเพียรทั้งในทางธรรม ย่อมจะนำผู้นั้นให้ได้รับประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์ในภพหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง กล่าวคือพระนิพพาน เหมือนดังเรื่องของนางปุณณา มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า

          เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฎ ใกล้เมืองราชคฤห์ วันหนึ่ง นางปุณณา ได้ตามประทีปทำงานตลอดคืน เมื่อนางเหนื่อยจึงหยุดพักตากอากาศที่ข้างนอก ขณะนั้น พระทัพพมัลลบุตร ได้จัดแจงเสนาสนะถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายที่พากันมาเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้ว ต่างก็ไปสู่ที่อยู่ของตนเพื่อเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

          นางปุณณาได้แลเห็นพวกภิกษุเที่ยวไปอยู่บนภูเขาด้วยแสงสว่าง คิดว่าท่านคงจะไม่สบาย หรือคงจะถูกงูกัดเป็นแน่ ครั้นใกล้รุ่ง นางจึงเอารำผสมกับน้ำทำเป็นก้อน ปิ้งไฟสุกแล้ว ใส่ชายพกผ้า เดินออกไปตักน้ำ ขณะนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดากำลังเสด็จออกบิณฑบาต เสด็จสวนทางมาพอดี

          นางปุณณาจึงคิดว่า ในวันอื่นๆ เมื่อเราได้พบพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีไทยธรรมถวาย ถ้าเรามีไทยธรรม ก็ไม่พบพระพุทธเจ้า วันนี้เรามีโชคมากแล้วหนอ ไทยธรรมของเราก็มี พระพุทธองค์ก็อยู่ ณ ที่เฉพาะหน้านี้ จึงถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงรับขนมอันเศร้าหมองนี้ แล้วจงสงเคราะห์หม่อมฉันเถิด

          พระบรมศาสดาทรงน้อมบาตรรับขนมของนางตามความประสงค์ นางใส่บาตรแล้ว กราบไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างเรียบร้อย ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ภนฺเต ตุมฺเหหิ ทิฏฺฐธมฺโมเยว เม สมิชฺฌตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระธรรมที่พระองค์ได้เห็นแล้ว จงสำเร็จแก่หม่อมฉันด้วยเถิด สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาว่า เอวํ โหตุ ขอความปรารถนาที่เธอตั้งไว้นั้น จงสำเร็จเถิด

          ลำดับนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระปูอาสนะถวาย ทรงนั่งเสวยภัตตาหาร ณ ที่ใกล้ๆนางนั้น เมื่อเสวยเสร็จจึงตรัสเรียกนางปุณณามารับสั่งว่า ปุณณา เธอไม่ได้หลับเพราะทุกข์ของตน ส่วนสาวกของเรา ไม่ได้หลับเพราะทำความเพียรตลอดวันยันรุ่ง แล้วแสดงพระธรรมเทศนาแก่นางต่อไปว่า (๒๕/๒๗/๔๕)

                        สทา ชาครมานานํ              อโหรตฺตานุสิกฺขินํ

                        นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ           อตฺถํ คจฺฉนฺติ อาสวา ฯ

          อาสวะทั้งหลายของบุคคลผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ปฏิบัติธรรมตลอดคืนและวัน มีใจน้อมไปสู่พระนิพพาน ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือย่อมหมดไปสิ้นไปโดยไม่เหลือ

          เมื่อนางปุณณาได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาแล้วเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ไม่ช้าไม่นานนางก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

          เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีความเพียรในทางโลก ย่อมเป็นผลดลบันดาลให้ได้รับความสุขในทางโลก ผู้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม ย่อมนำตนให้พ้นทุกข์ ประสพสันติสุขอย่างแท้จริง และได้ชื่อว่า โยคพหุโล ผู้มากไปด้วยความเพียร ดังนี้

          ๓.     คำว่า มากด้วยปีติปราโมทย์ หมายความว่า มีความอิ่มอกอิ่มใจต่อผลงาน ต่อความดีต่างๆ ที่ตนได้ทำมาได้ปฏิบัติมาทั้งทางโลกและทางธรรม ความอิ่มใจทางโลก ได้แก่ เมื่องานหรือสิ่งที่ตนประกอบทุกอย่างสำเร็จสมประสงค์ ส่วนความอิ่มใจทางธรรมนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ

                 )     ความอิ่มใจในขั้นต่ำ เกิดขึ้นเพราะการเรียนรู้ปริยัติตามภูมิตามชั้นของตนแล้วสอบได้ ย่อมภาคภูมิใจ สุขใจมิใช่น้อย

                 ๒)    ความอิ่มใจในขั้นกลาง เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรม เช่น เจริญสมถกัมมัฏฐาน หรือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอถึงญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณอย่างแก่ เข้าเขตอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน เกิดความอิ่มใจที่เรียกว่า ปีติ ๕ มีขุททกาปีติ ความอิ่มใจชั่วขณะ ทำให้ขนลุกน้ำตาไหล ใจเอิบอิ่มเยือกเย็น เป็นต้น

                 )     ความอิ่มใจขั้นสูง เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรมจนได้ผลเต็มที่แล้ว เกิดความอิ่มใจเป็นพิเศษ เช่น พระเจ้ามหากัปปินะ เป็นตัวอย่าง

                 ท่านได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สละราชสมบัติออกบวช เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ ท่านมีความอิ่มใจสุขใจในธรรมมาก ย่อมเปล่งอุทานทั้งกลางคืนและกลางวันว่า อโห สุขํ อโห สุขํ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสพระคาถาไว้ว่า[๓]

                        ธมฺมปีติ สุขํ เสติ                วิปฺปสนฺเนน เจตสา

                        อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม           สทา รมติ ปณฺฑิโต ฯ

          บุคคลผู้มีใจผ่องใส มีความอิ่มใจในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมอันพระอริยเจ้าประกาศแล้ว คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

          ผู้มีความอิ่มใจดังกล่าวมานี้ ได้สมญาว่า เวทพหุโล

          ๔.     คำว่า ผู้มากไปด้วยความไม่พอไม่หยุด หมายความว่า ไม่พอใจเพียงเท่านั้น ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ต้องพยายามก้าวหน้าต่อไปอีก คือพยายามทำทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล ไม่ลดละ

          ในอรรถกถาท่านได้แก้ไว้ว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ อสนฺตุฏฺโฐ ไม่พอใจในกุศลธรรมเพียงเท่านั้น เช่น เราเคยทำทานกุศลอยู่แล้ว ก็อย่าทำความพอใจในกุศลเพียงเท่านั้น บุญกุศลอื่นๆ ที่ประเสริฐเลิศกว่านั้น ดีกว่านั้น สูงกว่านั้น ยังมีอยู่อีกมาก เช่น ศีลกุศล เป็นต้น เรื่องเช่นนี้ในอดีตกาลเคยมีมาแล้ว ตัวอย่าง

          มีชายคนหนึ่ง ไม่อิ่ม ไม่พอใจ ไม่หยุดอยู่เพียงกุศลธรรมชั้นต่ำๆ พยายามทำให้ยิ่งขึ้นไป จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน คือ ครั้งที่ ๑ เห็นชายจีวรของพระภิกษุสงฆ์เปียกชุ่มน้ำค้าง ในเวลาที่ท่านยืนห่มจีวรไปบิณฑบาตในบ้าน จึงพยายามหาจอบมาดายหญ้า ทำให้เตียนและสะอาดดี ครั้งที่ ๒ นำเอาทรายมาเกลี่ยลง ณ ที่นั้น ทำให้สะอาดเรียบร้อยดี ครั้งที่ ๓ สร้างมณฑปกันแดดมุงด้วยใบไม้ ครั้งที่ ๔ สร้างศาลากันฝนมุงด้วยกระเบื้องอย่างดี

          ครั้งที่ ๕ ทำการฉลองเป็นการใหญ่ โดยอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเป็นประธาน ครั้งที่ ๖ ถวายทาน ฟังธรรม ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน อย่างนี้เรียกว่า อสนฺตุฏฐิพหุโล ผู้มากด้วยความไม่พอไม่หยุดในกุศลธรรม ธรรมดากุศลนั้น มีมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นของดี เพราะฉะนั้น ควรสร้างความดีไว้มากๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือ พระนิพพาน

          ๕.     คำว่า ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นั้น กุศลธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ

                 ๑)     กามาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากทาน ศีล เป็นต้น

                 ๒)    รูปาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถกัมมัฏฐานในส่วนที่เป็นรูปกัมมัฏฐาน จนได้รูปฌาน

                 ๓)     อรูปาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญอรูปกัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จอรูปฌาน

                 ๔)    โลกุตตรกุศล ได้แก่ บุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

          ผู้ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้ง ๔ นี้ ได้ชื่อว่า อนิกฺขิตฺตธุโร

          ๖.     คำว่า พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง หมายความว่า พยายามก้าวหน้าต่อไป ทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จนสามารถหลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่พยายามก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างนี้ ย่อมได้รับประโยชน์โสตถิผลทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ทั้งภพนี้และภพหน้า ตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงสุด

          ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลไว้ ๗ จำพวก เพื่อให้นักปฏิบัติธรรมเปรียบเทียบดูว่า ขณะนี้ตัวเราอยู่ในประเภทไหน เมื่อไรจะพยายามก้าวหน้าต่อไป หรือได้พยายามเต็มที่แล้ว บุคคล ๗ จำพวกนั้น คือ

          บุคคลจำพวกที่ ดำน้ำดิ่งลงไปฝ่ายเดียว ไม่ยอมโผล่ขึ้นมาอีกเลย ได้แก่ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ยอมละทิฏฐิผิดนั้น

          บุคคลจำพวกที่ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว กลับดำดิ่งลงไปอีก ได้แก่ บุคคลผู้มีศรัทธาดี มีความเพียรดี แต่ภายหลังกลับไม่มีศรัทธา ไม่มีความเพียร เช่น บางท่านครั้งแรกมีศรัทธาในการเจริญวิปัสสนา แต่ภายหลังกลับไม่มีศรัทธา หมดความอุตสาหะที่จะเจริญวิปัสสนาต่อไป

          บุคคลจำพวกที่ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วยืนอยู่เฉยๆ ได้แก่ บุคคลที่เคยทำทานมาแต่ก่อนก็ทำทานตลอดไป เคยรักษาศีลมาก็รักษาตลอดไป เคยฟังเทศน์มาก็ฟังเทศน์ตลอดไป ที่จะคิดปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่มี พอใจเพียงเท่านั้น หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

          บุคคลจำพวกที่ ดำน้ำขึ้นมาแล้ว เหลียวดูข้างโน้น มองดูข้างนี้ ได้แก่ บุคคลผู้มีศีลมีศรัทธาดีอยู่แล้ว แต่ไม่พอใจอยู่เพียงแค่นั้น ได้พยายามก้าวหน้าต่อไปอีก คือลงมือเจริญสมถะและวิปัสสนาจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

          บุคคลจำพวกที่ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว ข้ามน้ำต่อไปอีก ได้แก่ ผู้ที่เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วไม่พอใจเพียงเท่านั้น ตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี

          บุคคลจำพวกที่ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว พยายามก้าวหน้าต่อไปอีกจนจวนจะถึงฝั่ง ได้ที่พึ่งที่อาศัยอันสมควรแล้ว ได้แก่ บุคคลผู้ไม่ละความเพียร พยายามปฏิบัติต่อไปจนผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ สำเร็จเป็นพระอนาคามี ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีกต่อไป

          บุคคลจำพวกที่ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วพยายามก้าวหน้าต่อไปจนถึงฝั่ง ได้แก่ บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้เป็นพระอนาคามีแล้ว แต่ไม่พอใจหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ตั้งใจปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน

          บุคคลประเภทที่ ๔ ถึงประเภทที่ ๗ รวม ๔ จำพวกนี้ ได้ชื่อว่า อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ ผู้พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง

          เท่าที่บรรยายมา พอสรุปใจความได้ว่า ผู้จะเข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม นำตนให้พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร และมรณกันดาร ต่อกาลไม่นานเลยนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยธรรมทั้ง ๖ ประการดังกล่าวมา

          ดังนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติธรรม บำเพ็ญตนอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนั้นให้บริบูรณ์ เพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับๆเถิด จะได้เกิดประโยชน์โสตถิผลอันยิ่งใหญ่ไพศาล  จนถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

          กิเลสจะเบาบางเป็นลำดับๆไป ในขั้นพระอนาคามียังคงเหลืออยู่แต่อย่างละเอียด โดยเฉพาะคือ อยากได้หรือสนใจในมรรคผลชั้นสุดท้าย แล้วสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสต่างๆมีอวิชชาเป็นต้นก็สิ้นไป

          สิ้นความสงสัย สิ้นความอยากได้ เพราะรู้แล้วได้แล้ว ตามคติในทางพระพุทธศาสนา ชาติปัจจุบันเป็นชาติสุดท้ายในโลกของพระอนาคามี

          เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว อริยบุคคลชั้นนี้จะไปสู่แดนสุทธาวาส คือ แดนอันบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกามราคะซึ่งอยู่ในรูปภพ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในแดนสุทธาวาสนั้น

          สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่อีก ๓ ประการดังกล่าวมา ย่อมดับลงอย่างเด็ดขาด

          กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชีวิตนั้นก็หมดสิ้นแล้วซึ่งราคะตัณหา ดับแล้วซึ่งมวลกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงจะเหลือแต่เบญจขันธ์ ได้แก่ รูปคือร่างกาย เวทนาคือความรู้สึก สัญญาคือความจำได้ สังขารคือการปรุงแต่งจิต วิญญาณคือความนึกคิดรู้อารมณ์

          ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ยิ่ง เป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าเป็นฆราวาสได้บรรลุพระอรหันต์แล้วจะอยู่ในเพศฆราวาสได้ไม่เกิน ๑ วัน จำต้องบวช มิฉะนั้นแล้วจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน เพราะเพศของคฤหัสถ์นั้นเป็นหีนเพศ ไม่สามารถที่จะทรงคุณของพระอรหันต์ได้

          เหตุนั้น เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์จำเป็นต้องออกบวช ถ้าไม่บวชก็จะต้องปรินิพพานภายในวันนั้น และเมื่อประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว ก็เป็นอันว่า เมื่อดับขันธ์แล้วเข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ้นทุกข์ สิ้นชาติ สิ้นภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปชั่วนิรันดร

          ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานยังมีมากกว่านี้ แต่นำมาบรรยายเพียงสังเขปกถา แต่คิดว่าท่านทั้งหลายคงพอที่จะรู้ได้ พอที่จะอนุมานได้ ว่าการมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของเราครั้งนี้ เราได้ผลอย่างไร และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอย่างไรบ้าง

          หากว่าท่านเป็นนักสังเกตหรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดี อะไรต่างๆนานา ที่เกิดขึ้นมารอบด้านก็สังเกตดู ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า การมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ได้ผลคุ้มค่า ได้ผลเกินค่า จนไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลงไปได้ นี้สำหรับผู้ที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆเท่านั้น แต่ถ้าว่าท่านใดที่ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติก็เหลือวิสัยที่จะช่วยเหลือได้   

          เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมในเรื่อง ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม มาบรรยายโดยสังเขปกถา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงแค่นี้.


[๑] องฺ. ฉกฺกนิปาตา ๒๒ / ๓๕๑ / ๔๘๒

[๒] ม. อุปริปณฺณาสกํ ๑๔ / ๕๒๗ / ๓๔๘

[๓] ขุ. ขุทฺทกปาฐ-ธมฺมปทคาถา ๒๕ / ๑๖ / ๒๕