การปฏิบัติพระกรรมฐาน

การปฏิบัติพระกรรมฐาน

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ขอเรียนท่านพระอาจารย์เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมบ้านคอนสายทรายมูล หลวงพ่อรู้สึกซาบซึ้งยินดี ปีติ และตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาทำงานถวายท่านพระอาจารย์และญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรม

          วันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้มาโปรดญาติโยมทั้งหลาย แต่ที่จริง บ้านคอนสายทรายมูลเป็นที่ที่หลวงพ่อไปๆ มาๆ อยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนโน้นก็มาสอนกัมมัฏฐานอยู่ที่วัดกุดน้ำเที่ยง หลวงปู่เกษม มาสอนวิชาปฏิบัติธรรมพระกัมมัฏฐานอยู่ที่นั้น ๓ ครั้ง คือ ๓ ปี แต่ไม่รู้ ไม่ทราบว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สัปปายะ น่าอยู่น่าอาศัย น่าที่จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

          มาเห็นครั้งแรก มาเห็นที่นี้ ภูมิใจดีใจว่า เรานี้คงมีวาสนาน้อย จึงไม่เห็นสถานที่แห่งนี้ ถ้าเมื่อก่อนหลวงพ่อได้เห็นสถานที่แห่งนี้ หลวงพ่อจะตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม หรือเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม สอนทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ทั้งปริยัติ แต่บุญน้อยเลยสู้พระอาจารย์ไม่ได้ พระอาจารย์ท่านคงเคยสร้างสมอบรมบารมีมา จึงได้มาอยู่สถานที่นี้

          วันนี้มาแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ที่ได้มาทำงานเพื่อเป็นการโสรจสรงองค์ศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกา ที่มีปสาทะศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้พร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ท่านทั้งหลายคงจะรู้คงจะทราบว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างไร การปฏิบัตินั้นจะได้ผลอย่างไร อะไรทำนองนี้ เราได้เรียนมาพอสมควร และได้ปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว เหตุนั้น วันนี้หลวงพ่อเพียงแต่จะมาชี้แนะแนวทางของการปฏิบัติบางสิ่งบางประการ เพื่อเหมาะแก่เวลา

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ปกติคณะครูบาอาจารย์ที่สอนการเจริญพระกัมมัฏฐาน ท่านจะสอนทั้งสมถะ สอนทั้งวิปัสสนา ส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ บางอาจารย์ก็สอนเฉพาะที่เป็นวิปัสสนา บางอาจารย์ก็สอนเฉพาะที่เป็นสมถะ แต่สำหรับหลวงพ่อ สอนทั้งสมถะสอนทั้งวิปัสสนา ผู้มีบุญวาสนาบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าอยู่ในสายงานของหลวงพ่อ ผู้ปฏิบัติจะได้ทั้งสมถะได้ทั้งวิปัสสนา

          คำว่า ได้สมถะ ก็หมายความว่า ผู้ที่มาปฏิบัติ หากว่าได้เคยสั่งสมอบรมบารมีในทางสมถะ คือให้ทานมามาก และเจริญสมถะมามาก เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเราสงบแล้ว สามารถข่มนิวรณ์ธรรมได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ ประณีต สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ลงได้แล้ว

          (เมื่อข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ลงได้แล้ว) ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด(องค์ฌานคือ) วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อจิตใจของเราได้ปีติ สุข เอกัคคตาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌาน สามารถที่จะข่มจิตข่มใจทำจิตทำใจให้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่สำหรับผู้เจริญสมถะมามาก หรือผู้ที่ให้ทานรักษาศีลมามาก จะได้ผลเป็นอย่างนี้

แต่สำหรับผู้มีวาสนาบารมี ที่ได้สร้างสมอบรมมาในทางวิปัสสนา คือเมื่อก่อนโน้นเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้ว เมื่อจิตใจสงบแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ สามารถที่จะทำจิตใจของตัวเองให้แน่วแน่ จนสามารถเกิดพลังเกิดอานุภาพ ทำให้เกิดสมรรถนะสูง สามารถทำจิตทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในแนวทางของการปฏิบัติ

          เมื่อสมาธิเกิดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เห็นอนิจจัง คือเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

          เห็นทุกขัง คือเห็นสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นของที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้

          เห็นอนัตตา คือเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

          เมื่อเจริญวิปัสสนามาดังนี้แล้ว ก็จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือได้เฉพาะทางที่เป็นวิปัสสนา

          แต่ในสำนักที่หลวงพ่อสอนอยู่ หลวงพ่อเอาทั้งสองอย่าง คือสอนทั้งสมถะสอนทั้งวิปัสสนา ผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาในทางสมถะ ผู้นั้นก็สามารถที่จะได้สมาธิ ได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แต่ถ้าผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนา ผู้นั้นก็จะได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา

          เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอันสรุปว่า เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราเอาทั้ง ๒ อย่าง คือเอาทั้งสมถะ เอาทั้งวิปัสสนา อย่างไหนแก่กล้า หรือเราเคยสั่งสมอบรมบารมีมาทางไหนก็เอาทางนั้น คือเหมือนกับว่าเราเกิดมาแล้วอยากได้ทรัพย์สินวัตถุสิ่งของเงินทองนานัปการ

          ก็สิ่งของทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ สรุปลงว่า สิ่งที่คนเราอยากได้ที่สุด ก็คืออยากได้เงินอยากได้ทอง คนเกิดขึ้นมาแล้ว ก็อยากได้ทั้งเงิน อยากได้ทั้งทอง ไม่มีใครที่ไหนจะเอาแต่เงินอย่างเดียว และก็ไม่มีใครที่จะเอาแต่ทองอย่างเดียว ต้องเอาทั้งสองอย่าง ข้อนี้ฉันใด

          พวกเราทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมา จะได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนานั้น เป็นของที่เราบังคับบัญชาไม่ได้ ว่าเออ เรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราเจริญสมถะ เราจะให้ได้ฌาน หรือว่าเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราไม่เอาละสมถะ ไม่เอาฌาน เราจะเอามรรคเอาผล เพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เป็นของที่บังคับบัญชาไม่ได้ หรือว่าเป็นของที่เราจะปฏิบัติให้ได้ตามใจของเรานั้นไม่ได้ ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

          ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลแล้วก็เจริญสมถะมาก่อน ผู้นั้นก็จะได้สมถะได้ฌาน แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว หรือว่าเมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้ทั้งวิปัสสนา คือได้มรรคได้ผล สามารถที่จะทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน

          สำหรับแนวทางการปฏิบัติ ส่วนมากครูบาอาจารย์ได้ดำเนินตามหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานใดๆ ทั้งสิ้น

          สติปัฏฐาน ๔ นั้น เมื่อพูดสรุปลงให้พอเหมาะแก่พวกเราทั้งหลายผู้มีเวลาน้อย ก็คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ คือร่างกายของเรานี้ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า มันมีของสองอย่างเท่านั้นคือ ๑.มีกาย ๒.มีใจ ท่านทั้งหลายก็คิดดูว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เมื่อสรุปลงมา ก็มีแค่กายกับใจ

          เหตุนั้น เมื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราก็เจริญที่กายที่ใจ เราก็ดูที่กายที่ใจของเรา เมื่อเราดูกายดูใจของเราให้ดีแล้ว และก็ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการปรารถนา หรือได้ในสิ่งที่เราได้สั่งสมอบรมมา จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ก็แล้วแต่บุญกรรมที่ได้สร้างสมอบรมมา

          ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ หลวงพ่อ สมัยนี้ล่วงเลยมาตั้ง ๒ พันกว่าปีแล้ว จะมีผู้ที่ได้ฌาน ได้มรรคได้ผล ได้นิพพานอยู่หรือ ส่วนมากพวกเราทั้งหลาย ผู้ที่ได้ศึกษาน้อย หรือผู้ที่วิ่งตามกระแสโลกที่เขาพูดกัน กระแสของโลกเขาว่า สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพานดอก หรือว่าสมัยนี้ไม่มีผู้ที่จะได้ฌานได้สมาบัติดอก อะไรทำนองนี้ เพราะว่ามีความรู้น้อย มีความฉลาดน้อย ศึกษามาน้อย ก็จะวิ่งตามกระแสของสังคม

          แต่ถ้าผู้มีสติปัญญาใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ก็ถือว่า เออ สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานได้มรรคได้ผลอยู่ อย่างนี้ก็มี การที่จะตัดสินใจว่า สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานอยู่หรือ ยังมีผู้ได้มรรคได้ผลอยู่หรือ สมัยนี้ยังมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ก็ไม่สามารถจะตัดสินใจได้

          เมื่อตัดสินใจไม่ได้ ท่านทั้งหลายก็พยายามทำจิตใจให้เป็นกลาง ไม่รับและไม่ปฏิเสธ คือไม่ปลงใจเชื่อว่ามันมีอยู่หรือไม่มี ก็ทำจิตใจเป็นกลางๆ นี่คนเราผู้ปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ แต่ถึงอย่างไรท่านทั้งหลาย ผลของการปฏิบัตินั้นยังมีอยู่

          เพราะเหตุไร เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าบริษัททั้ง ๔ หรือถ้าผู้ใดยังปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการอยู่ เมื่อนั้น โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์

          ก็หมายความว่า พระศาสนาจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล ถ้าผู้ใดมาปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งท่านทั้งหลายได้เรียนมาแล้ว ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามปฏิปทาของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ผู้นั้นย่อมจะได้ฌาน ได้มรรคได้ผลอยู่ ข้อนี้ก็ขอยกจากหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาคที่ ๓ ว่า

          พันปีที่ ๑ ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือในช่วง ๑ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้นั้นก็จะสามารถได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

          พันปีที่ ๒ ฉฬภิญฺเฐหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปีแล้ว ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าผู้นั้นเคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแล้ว ก็สามารถที่จะได้อภิญญาทั้ง ๖ ประการ คือได้หูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ แล้วก็สามารถทำอาสวะให้สิ้นไปจากขันธสันดาน

          พันปีที่ ๓ เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ คือผู้ได้สร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแล้ว คือหากว่าได้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็สามารถที่จะได้วิชชา ๓ ประการ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกรู้ชาติในหนหลังได้จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปจากขันธสันดาน

          พันปีที่ ๔ สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก คือเมื่อพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ และวิชชา ๓ ไม่สามารถที่จะให้เกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงสามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายทั้งปวง คือบรรลุโดยแห้งแล้ง ไม่สามารถที่จะได้บรรลุวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา เป็นแต่เพียงว่า สามารถทำให้จิตใจหมดจากกิเลสตัณหา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

          พันปีที่ ๕ ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๕ นี้ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ไม่มีใครสามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าจะทำความเพียรด้วยเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็จะได้บรรลุเฉพาะทั้งสามประการเบื้องต้นเท่านั้น คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล, สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล, อนาคามิมรรค อนาคามิผล ได้เพียงเท่านี้

          ท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิสาลินี อัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ท่านกล่าวไว้อย่างนี้

          แต่ทุกวันนี้ ประชาชนคนไทยเราหรือต่างชาติจะเห็นว่าเป็นสมัยที่ไม่มีพระอริยบุคคล สมัยนี้ไม่มีผู้ใดที่จะได้ฌาน คิดกันอย่างนี้ แล้วก็เชื่อปรัมปราไปอย่างนี้ ก็เลยโมเมขึ้นว่า สมัยนี้ไม่มีพระอริยบุคคลดอก ไม่มีใครที่จะได้ฌาน ไม่มีใครที่ปฏิบัติจนได้มรรคได้ผล ส่วนมากเราเชื่อตามนิทานปรัมปราที่ท่านครูบาอาจารย์เขียนไว้ที่โน้นบ้าง เขียนไว้ที่นี้บ้าง เขียนหนังสือไว้บ้าง

          หรือว่าเขียนไว้ในหนังสือสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระศาสนาล่วงไปเท่านั้นๆ แล้วเป็นอย่างนั้นๆ เราก็เชื่อเขา คือเป็นความเชื่อที่ปฏิเสธเหตุผล เป็นความเชื่อที่ขาดปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่มั่นใจในแนวทางของการปฏิบัติ แต่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่มั่นใจว่ามีหรือไม่มี ฌานก็ดี มรรค ผล พระนิพพานก็ดี ถ้าหากว่า ท่านทั้งหลายยังไม่เชื่อ ยังไม่มั่นใจ

          ท่านทั้งหลาย สมัยนี้ครูบาอาจารย์รุ่นทวดรุ่นปู่ของเรา แล้วก็รุ่นพ่อของเรา ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนพวกเราทั้งหลาย และพวกเราเป็นผู้เกิดมาภายหลัง เราก็อนุวัตตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียน หรือดูประวัติของครูบาอาจารย์ว่ามันมีหรือไม่มี ถ้าเราใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ใช้ปัญญาตริตรองพิจารณา ก็สามารถที่จะรู้ได้

          เรื่องนี้ เพื่อเป็นการแก้ความสงสัย หลวงพ่อจะขอยกหลักฐานที่หลวงพ่อได้สอนพระกัมมัฏฐานมา ไม่นับรวมเวลาที่หลวงพ่อปฏิบัติเอง นับแต่เริ่มสอนมาปี พ.ศ.๒๕๑๔ จนถึงบัดนี้ ก็พอที่จะทราบได้ว่า มรรคผลนั้นมีอยู่ ผู้ที่ได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผลนั้นมีอยู่

          เพราะเหตุไร เพราะอาศัยหลักที่ครูบาอาจารย์นั้นสอนไว้ แล้วก็นำมาสอนลูกศิษย์ลูกหา ลูกศิษย์ลูกหาที่มาประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ได้ฌานสามารถเข้าสมาธิได้ถึง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง สามารถทำได้ ในวัดที่หลวงพ่อสอนมา จะเป็นอย่างนี้

          สมมติว่าได้สมาธิ ๒๔ ชั่วโมง ก็หมายความว่านั่งสมาธิอย่างนี้แหละ นั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ปฏิบัติไปๆ จิตของเราก็ดิ่งเข้าๆ เข้าสมาธิไป เข้าฌานไป ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง ลมหายใจเข้าลมหายใจออกไม่มี นั่งอยู่อย่างนี้เหมือนพระพุทธรูป นั่งอยู่อย่างนี้ ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง เท่าที่หลวงพ่อสอนมา แต่หลักฐานที่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาก่อน ถึง ๗๒ ชั่วโมง คือ ๓ วัน ๓ คืนก็มี นี่ตามที่หลวงพ่อได้ศึกษามา

          แต่ที่หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหาออกตนญาติโยมทุกวันนี้ อย่างมากหลวงพ่อฝึกให้ได้เพียง ๓๐ ชั่วโมง เพราะว่า ๓๐ ชั่วโมงนี้ก็เหลือกินแล้ว เพราะว่าอานิสงส์ของการได้สมาธิได้ฌานนั้น แม้เพียง ๑ นาที ถ้าตายปั๊บ เพียง ๑ นาทีเท่านั้น เมื่อตายในฌาน ตายแล้วจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ จะไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

          นี่หลวงพ่อทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เหมือนกับที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติอยู่นี้ ในช่วงฤดูหนาวนี้ ในสถานที่หลวงพ่อไปสอนอยู่ ส่วนมากผู้ที่มาปฏิบัติจะได้ฌาน ท่านทั้งหลายก็คงเคยไปปฏิบัติในวัดที่ผ่านๆ มา วัดที่หลวงพ่อมาสอนอยู่ ๓ ปี ชื่อวัดพันสูง ผู้ที่มาปฏิบัติได้สมาธิได้ฌานนั้น ท่านที่นั่งรวมอยู่นี้ก็คงมี

          เป็นอันสรุปได้ว่า เรื่องได้สมาธิได้ฌานนี้ หลวงพ่อขอเอาคอประกันว่า สมัยนี้ ผู้ได้ฌานได้สมาบัติยังมีอยู่ เรามาทดลองหรือทดสอบอย่างไรว่า สมัยนี้ผู้ได้ฌานยังมีอยู่หรือ หลวงพ่อก็เอามาปฏิบัติแล้วก็เอามาทดสอบพิสูจน์ ให้โยมมานั่งสมาธิอย่างนี้แหละ นั่งสมาธิเอาผ้าขาว ๖ ชั้นมามัดตา แล้วก็เอาหนังสือวางไว้ตรงหน้า แล้วให้อ่านหนังสือ หลับตาอ่านหนังสือก็สามารถทำได้ จนได้อัดเป็น วีดีโอซีดี ส่งไปต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ทางวัดได้ส่งไป ๒๐
ประเทศส่ง วีซีดี ชุดนี้ไป เป็นอันว่าสมาธิคือฌานยังมีอยู่

          สมัยหนึ่งที่หลวงพ่อจัดงานปฏิบัติธรรมฤดูหนาวนี้ มีสามเณรจำนวน ๗๓ รูปมาปฏิบัติ ในขณะที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะให้ฟังอยู่นี้ ลูกเณรทั้งหลาย ก็ตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอไปๆ ๓๐ นาทีเศษๆ ก็หยุดบรรยายธรรม เมื่อหยุดบรรยายเสร็จแล้วก็ไปดูสามเณร ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย สามเณร ๓๐ รูปนั้นได้เข้าสมาธิไปหมดแล้ว

          ต่อจากนั้นมาก็ฝึกมาตามลำดับๆ ปีนั้น ปฏิบัติธรรมอยู่หนึ่งเดือน มีสามเณรสามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้เกือบหมด ๑๐ รูปเท่านั้นที่ไม่ได้ เหลือจากนั้นเข้าสมาธิเข้าฌานได้หมด อันนี้เป็นหลักฐานที่ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้

          ก็ขอปรับความเข้าใจของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายว่า สมัยนี้สมาธิหรือฌานนั้นยังมีอยู่ เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้ ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะทำได้

          อีกประการหนึ่ง หากว่าผู้ใดได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน คือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว ก็สามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คือจะมีสติสัมปชัญญะ มีสติแก่กล้าสามารถเห็นรูปเห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็สามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เมื่อใดเราเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วจะไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

          เพราะอะไร

          เพราะในขณะที่เมื่อมัคคจิตผลจิตเกิดขึ้นแก่เราเพียง ๑ ขณะจิตเท่านั้น ก็ถือว่าอย่างน้อยเราก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นปฐมมรรคแล้ว คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าเราได้สำเร็จแม้เพียงพระโสดาบันก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

          เพราะอะไร

          เพราะมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว เมื่อมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายแล้วไม่จมลงสู่อบายภูมิ เหมือนกันกับเรามีเรือรองรับ ตอนที่เรากระโดดน้ำลงไป เราไปค้างอยู่ในเรือ เมื่อค้างอยู่ในเรือเราก็ไม่จมไปอยู่ในน้ำ เพราะมีเรือเป็นเครื่องรองรับ ข้อนี้ฉันใด

          พวกเราประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อมีพระนิพพานมาเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลายก็รู้ดีทราบดี แล้วคิดว่ามันเป็นของจริง คือได้ฌานได้มรรคได้ผล ท่านก็คิดว่าพร้อมที่จะปฏิบัติต่อไปจนกว่าชีวิตของเราจะหาไม่

          แต่ขอเตือนท่านนักปฏิบัติทั้งหลายว่า เวลาประพฤติปฏิบัตินั้นเราต้องมีคุณสมบัติของนักปฏิบัติ ถ้าขาดคุณสมบัติ ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติผ่านไปได้

          คุณสมบัติของนักปฏิบัตินั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

          ๑.    ฉันทะ พอใจในการปฏิบัติ คือพอใจในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ในการกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

          ๒.    วิริยะ แข็งใจปฏิบัติ ยอมสู้ตาย มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ หรือจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมลด ละ เลิก การประพฤติปฏิบัติเป็นเด็ดขาด

          ๓.    จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ คือตั้งใจเดินจงกรม ตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          ๔.    วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ เข้าใจปฏิบัติ

          เมื่อผู้ใดตั้งอยู่ในองค์คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะได้สำเร็จผล ตามบุญวาสนาบารมีที่ตนได้สร้างสมอบรมมา

          ขอเตือนสติของท่านทั้งหลายอย่างนี้ว่า

          การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ต้องการความสงบ ต้องการฌาน ต้องการมรรคผลนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายดำเนินตามหลักวิชาการ คือมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติให้เป็นกลางๆ ไม่เร่งเกินไป แล้วก็ไม่หย่อนเทิบทาบเกินไป คือถ้าหากว่าเราเร่งเกินไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก เมื่อคิดมากจิตใจของเราก็ไม่สงบ เมื่อไม่สงบแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุผลที่เราต้องการได้ มิหนำซ้ำ อาจทำให้เสียประสาท คือเป็นบ้าไปได้ คนคิดมากนี่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบ้าได้

          เพราะอะไร จึงเป็นเช่นนี้

          เพราะว่าขาดสติ คนที่ขาดสติก็คือคนเป็นบ้า คนเป็นบ้าก็คือคนขาดสติ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติ ต้องมีสติสมบูรณ์ เหตุนั้น เมื่อพวกเราประพฤติปฏิบัตินี้ ให้พอดีๆ ถ้าเราเร่งเกินไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก เมื่อคิดมาก จิตของเราก็ไม่เป็นสมาธิ นอกจากจะไม่เป็นสมาธิแล้วยังจะเป็นบ้าไปได้

          นอกจากนี้ เราอย่าหย่อนยานจนเกินไป แล้วก็ระวัง อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าอยากเป็นผู้วิเศษ ร้อยทั้งร้อยที่มาปฏิบัติธรรม ไม่ได้ผล นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบ้าไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัตินั้น อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ

          สมมติว่า เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เออ เราจะเดินจงกรม ขณะนี้เราจะให้ได้มรรคได้ผล หรือว่าในขณะที่เรานั่งเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เราจะให้สมาธิมันเกิด ให้ฌานมันเกิด ให้มรรคให้ผลเกิด เราจะเอาเดี๋ยวนี้วันนี้ เสร็จเลย ท่านทั้งหลาย ถ้าปฏิบัติธรรมอย่างนี้ นอกจากไม่ได้ผลเลย อาจเป็นบ้าก็ได้ เหตุนั้น พึงสังวรระวังให้ดี

          นอกจากนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ มันเป็นบุญหรือเป็นบาป มันจะได้บุญหรือบาป บุญอยู่ที่ไหนบาปอยู่ที่ไหน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ท่านทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ ถ้าหากว่าจิตของเราไม่มีศรัทธา ปฏิบัติก็ปฏิบัติตามเขาไปเฉยๆ เห็นเขาเดินจงกรมก็เดินจงกรมกับเขา เห็นเขานั่งสมาธิก็นั่งสมาธิกับเขา คือไม่มีศรัทธา

          ถ้าผู้ใดไม่มีศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติร้อยทั้งร้อยก็ไม่ได้ผล นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังจะเกิดในภูมิที่เป็นอบายภูมิได้ คนเราที่ปฏิบัติธรรมนี้ ผู้ให้ทานรักษาศีลนั้นไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ แต่เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ

          สมมติว่า เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรมนั่งสมาธิ เห็นเพื่อนเขาแล้วก็ว่า มาเดินจงกรมนั่งสมาธิทำไมหนอ จะปฏิบัติทำไมหนอ มันไม่ได้บุญหรอก แต่ก็ยังปฏิบัติอยู่

          เพราะเหตุไร จึงปฏิบัติ

          เพราะว่า เห็นเพื่อนปฏิบัติก็ปฏิบัติตามเพื่อน ถ้าไม่ปฏิบัติเหมือนเขา เขาก็จะว่าเอาอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ก็เลยข่มใจปฏิบัติอยู่ ถ้าเขาตายเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็ไปบังเกิดเป็นเทวดาอยู่ แต่เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เห็นคนโน้นมาปฏิบัติ เห็นคนนี้มาปฏิบัติ ก็หาวิธีขัดขวางกั้นกาง ไม่ให้การประพฤติปฏิบัติของเขาได้ผล นี่คนที่ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างนี้

          เหตุนั้น ญาติโยมทั้งหลาย เวลาเราทำบุญทำทาน เราทำบุญสลากภัตก็ดี บุญเข้าพรรษาก็ดี บุญโน้นบุญนี้ เราก็สมาทานศีลใช่ไหม บางคนก็คิดว่า เอ จะสมาทานศีลไปทำไมหนอ รับศีลไปทำไมหนอ รับไปแล้วก็ไม่ได้บุญ ไม่เห็นเป็นบุญที่ตรงไหน อะไรทำนองนี้ คนนี้ถ้าหากว่าตายเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดา แต่เป็นเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระศาสนา

          เพราะเหตุไร จึงเป็นอย่างนี้

          เพราะในขณะที่เรารับศีลอยู่นั้นเราคิดว่า เออ เราข่มใจทำตามเขา เขารับศีลก็รับตามเขา เขาว่าอย่างนั้นก็ว่าตามเขา จิตดวงนี้มันเป็นบุญอยู่ ถ้าตายเพราะจิตดวงนี้ ก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ท่านทั้งหลาย เวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้แหละ เราจะได้ผลไม่เหมือนกันก็ตรงนี้

          ถ้าว่า เราทำจิตทำใจของเราครึ่งๆ กลางๆ ห้าสิบๆ มันได้ทั้งบุญทั้งบาป จำไว้นะ ถ้าเราทำใจ ห้าสิบๆ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ได้ผล ห้าสิบๆ คือ มันได้ครึ่งๆ กลางๆ คือในขณะใด จิตของเรามันคิดไม่ถูก คิดไม่ดี แต่ปฏิบัติตามเขา ถ้าหากว่าจิตของเราเป็นอกุศลอย่างนี้ ในขณะที่จิตของเราเป็นอกุศลอย่างนี้ ชวนจิตดวงแรกของเราจะนึก จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป

          เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๒  สัมปฏิจฉนจิต ก็จะตัดสินรับเอาบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมา พิจารณาบาปของเรานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตก็เกิดขึ้นมา ตัดสินรับเอาบาปนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

          เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๗ก็จะเกิดขึ้น เสวยบาปอยู่ ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ๗ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเก็บเอาบาปนั้นๆ ลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ภวังคจิตนั้น ก็รักษาบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นไว้ในจิตในใจ รักษาไว้อย่างนั้น ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาลบล้างได้ ติดตามเราไปทุกชาติทุกภพ ทุกกัปทุกกัลป์ นี่ถ้าจิตของเราเป็นอกุศลดังกล่าวมาแล้ว

          สรุปเอาสั้นๆ ว่า เมื่อจิตของเราเป็นอกุศลปั๊บ ขึ้นมา คิดว่าให้ทานไปก็ไม่ได้ผลดอก หรือว่าสมาทานศีลก็ไม่ได้ผลดอก หรือว่าเจริญภาวนา พองหนอ ยุบหนอ นี้ไม่ได้ผลดอก ถ้าจิตของเรามันคิดอย่างนี้ เมื่อจิตของเรา(ปวัตติ)ดำเนินไปตามวิถีของจิต ลงสู่ห้วงแห่งภวังค์

          ภวังคจิตนั้น ก็จะทำหน้าที่รักษาบาปไว้ในจิตในใจของเรา รักษาไว้อย่างนี้แล้วก็ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาทำลายได้ แล้วก็รักษาไว้อย่างนี้ บางทีก็ไปตกนรกอเวจี ตามบาปกรรมของเราได้

          แต่ถ้าว่าพวกเราทั้งหลายมาเจริญพระกัมมัฏฐานแล้ว เรามีสัมมาทิฏฐิตั้งแต่เริ่มจะออกจากบ้านจะมาปฏิบัติ จิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นดีเห็นชอบ เรามาถึงวัดแล้วจิตของเราก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มาถึงวัดแล้วก็พากันไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

          นี่จิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เมื่อจิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิในขณะใด ขณะนั้น ชวนจิตของเราดวงที่ ๑ ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับไป จิตดวงที่ ๒ คือสัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

          ชวนจิต ดวงที่ ๓ สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมา พิจารณาบุญที่เราบำเพ็ญมาแล้ว ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาบุญที่เราบำเพ็ญมานั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไปแล้ว

          ชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมาเสพบุญ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๑ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๒ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๓ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๔ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๕ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๖ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ขณะจิต

          เหมือนกับเมื่อเราได้ธนบัตรใบละหนึ่งพันบาท เมื่อได้มาแล้วเราก็พิจารณาว่า เอ ธนบัตรนี้จะใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่หนอ หรือว่าเป็นธนบัตรปลอม เมื่อเราพลิกไปพลิกมา ข้างหน้าข้างหลังจึงว่า เออ เป็นธนบัตรที่ใช้ได้ตามกฎหมาย เมื่อเห็นว่าเป็นธนบัตรที่ใช้ได้ตามกฎหมาย จึงเก็บไว้ในตู้ในเซฟ ในห้องหับของเรา ข้อนี้ฉันใด บุญกุศลก็เหมือนกันฉันนั้น

          เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นมาเสพบุญคือเสวยบุญแล้ว ๗ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิตนี้ก็จะเก็บเอาบุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมานั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป แล้วภวังคจิตก็จะรักษาเอาบุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมาไว้อยู่ในจิต ในใจและก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาทำลายบุญของเราได้ เก็บไว้อย่างไร ท่านทั้งหลาย

          สมมติว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเรา เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในชีวิตที่พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งแต่โน้นแหละ การปรารถนาพุทธภูมิก็ถือว่าเป็นบุญ และบุญเหล่านั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยติดต่อกันมาตามลำดับๆ จนพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วจะมาตรัสรู้เอาเองนั้นมันเป็นไปไม่ได้

          พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี ท่านต้องบำเพ็ญบารมีอยู่โน้น ตั้ง ๒๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัป จึงได้ตรัสรู้ และบุญที่สร้างสมอบรมมาตลอด ๒๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัปนั้น ก็ติดตามมาตามลำดับๆ ผู้ที่จะมาทำลายพระองค์ สมมติว่า พระเทวทัตจะมาทำลายอย่างนั้นอย่างนี้จิปาถะ ก็ทำลายไม่ได้

          เพราะอะไร

          เพราะว่าบุญมันอยู่ภายในอยู่ในจิต

          เหตุนั้น บุญกุศลที่เราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมานี้ วิถีจิตของเรา เมื่อเราทั้งหลายมีจิตใจปสาทะศรัทธา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา จิตของเรานั้นก็จะปวัตติไปตามวิถีของมัน จนลงสู่ห้วงแห่งภวังค์

          แล้วก็บุญกุศลเหล่านั้น ภวังคจิตก็ทำหน้าที่รักษาไว้ เมื่อบุญกุศลของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้อานิสงส์ เช่นว่า เกิดขึ้นมาแล้วเป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินศฤงคาร บริวารนานา ไม่อดไม่อยาก หรือว่าเมื่อเราเกิดมา บุญของเราที่ทำไว้แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย อายุยืน ไม่ตายง่าย หรือบุญกุศลเหล่านั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดดี มีความหลักแหลมดี

          สรุปแล้วว่า คนที่เกิดขึ้นมาแล้ว ได้เป็นเศรษฐีก็ดี อภิมหาเศรษฐีก็ดี หรือเกิดขึ้นมาแล้ว ได้เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เป็นพระราชา มหาราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดี หรือเกิดขึ้นมาแล้ว ได้ฌานก็ดี ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี หรือว่าเกิดขึ้นมาแล้ว ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศาสดาเอกในโลกก็ดี

          ก็ล้วนต้องอาศัยบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่ได้สร้างสมอบรมไว้แล้ว อยู่ในจิตใจ เมื่อบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยดลบันดาลให้เราทั้งหลายได้สำเร็จสุข ทั้งที่เป็นสุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ สุขในพรหมโลก และสุขคือพระนิพพานได้

          อีกอย่างหนึ่ง ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า เราผู้มาปฏิบัตินั้นต้องมีศรัทธา ถ้าศรัทธาของเราสมบูรณ์แล้วการปฏิบัติก็ก้าวหน้า ได้สำเร็จสามัญผลตามที่เราต้องการ หากว่าศรัทธาของเราไม่มีการปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายทำอย่างไรศรัทธาของเราจึงจะสมบูรณ์แบบ บ้านเราว่าศรัทธาหัวเต่า ผุดออกผุดเข้า มันก็ไม่สำเร็จ การที่จะเพิ่มศรัทธาของเรานี้มีอยู่ว่า

          ๑.    เรานึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นร่มพุทธธรรม ร่มโพธิ์ ร่มไทร อภิบาลปกป้องรักษาเราให้ได้มีความสุขอยู่ทุกวันนี้ หรือว่าระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ ว่าอาจารย์นั้นเป็นผู้มีคุณูปการ เรามีความรู้ความฉลาดความสามารถอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะครูอาจารย์

          หรือว่าเรานึกถึงบุญคุณของพ่อของแม่ว่า พ่อแม่นั้นท่านเป็นผู้มีอุปการคุณ หากว่าเราไม่อาศัยพ่อแม่แล้วเราก็ไม่ได้เกิด หรือเกิดมาแล้วก็ไม่สามารถเป็นอยู่ได้เพราะไม่มีพ่อแม่เลี้ยงดูปูเสื่อ หรืออีกอย่างหนึ่งเราก็นึกถึงคุณสมบัติของเราว่า เออ เราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาถึงปานนี้ก็เป็นโชคล้นฟ้าล้นดินจึงเกิดมาเป็นคนได้ เมื่อเรานึกถึงไปอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดศรัทธา เมื่อเกิดศรัทธาแล้วก็สามารถยังการปฏิบัติให้ได้ผลตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

          ๒.    อย่าเร่งเกินไป หรืออย่าอยากได้จนเกินไปจนขาดเหตุผล ถ้าว่าเราเร่งเกินไป เช่นว่า วันนี้เราจะเดินจงกรมให้ได้สมาธิได้ฌาน หรือว่าวันนี้เราจะนั่งสมาธิภาวนาให้ได้ฌาน หรือว่าเราจะนั่งภาวนาให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน นี้ก็ถือว่าเร่งเกินไป จิตใจของเราก็ไม่สงบคือมันจะคิดมาก

          ถ้ามันคิดมากจิตของเราก็ไม่สงบ เมื่อจิตไม่สงบ ก็ไม่เป็นสมาธิ เมื่อไม่เป็นสมาธิ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้ เหตุนั้นให้เราปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ให้พอดิบพอดี

          ๓.    อย่าหย่อนเทิบทาบจนเกินไป ถ้าหย่อนเกินไปมันก็ไม่ได้ผล เช่นว่า เราเดินจงกรม ก็เดินไปตามธรรมชาติ ไม่กำหนด ตาเห็นรูปก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ หูฟังเสียงก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ จมูกดมกลิ่นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ลิ้นลิ้มรสก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กายถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เราไม่กำหนด เราไม่กำหนดสภาวะที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เรียกว่าหย่อนเทิบทาบ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้

          ๔.    อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าท่านใดอยากเป็นผู้วิเศษ เออ นั่งสมาธิไปอยากได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ หรือว่านั่งสมาธิไปอยากเห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว เห็นพระอินทร์ เห็นพระพรหม เห็นโน้นเห็นนี้อะไรจิปาถะ เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์

          ถ้าผู้มีจิตใจลักษณะอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย เวลามาประพฤติปฏิบัติ ร้อยทั้งร้อยเป็นบ้าได้ เหตุนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติเราต้องมีสติ ถ้ามีสติสมบูรณ์แล้ว สติของเรานี้แหละ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌาน ให้เกิดมรรค เกิดผล

          ขอให้ท่านทั้งหลายจดจำไว้เสมอว่า สมาธิที่เกิดแก่เรานั้น มี ๒ ประการ คือ

          ๑.    สมาธิที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌานชวนวิถี ถ้าอัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี สมาธินั้นได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

          ๒.    ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมรรควิถี อัปปนาสมาธินั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดมรรค เกิดผล ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

          เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านหลวงปู่ ท่านหลวงตา และชี้แนะแนวทางการปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

          อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงถึงสุข นิราศทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

          สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

          ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ ให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

          ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ขอจงได้เป็นพลวะปัจจัย เป็นอุปนิสัยตามส่ง ให้เกิดปัญญาญาณ ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ อนาคตังสญาณ มโนมยิทธิ ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน เทอญ.