ถาม-ตอบ ปัญหากัมมัฏฐาน
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านครูบาอาจารย์ที่เคารพทุกท่าน……….
หากว่าหลวงพ่อได้กล่าวพลั้งพลาดประมาทท่านทั้งหลายด้วยกายวาจาและจิตใจแล้ว หลวงพ่อก็ขออโหสิกรรมด้วย เพราะว่าบางสิ่งบางประการที่หลวงพ่อพูดจาปราศรัยไป อาจทำให้ท่านทั้งหลายไม่สบอารมณ์ หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่พูดไปแล้ว(ทำให้)ไม่สบายหู ไม่รื่นหู ไม่ถูกอกถูกใจ ก็ขออภัยหลายๆ
สำหรับวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าหลวงพ่อจะมาจับผิดอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ที่ได้นัดกันเป็นกรณีพิเศษ ที่ผ่านๆมา ๒-๓ วัน ไม่มีโอกาส ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย วันนี้จะได้ถือโอกาสพูดจาปราศรัยกับท่านทั้งหลาย เพราะว่านับตั้งแต่เรามาอยู่ร่วมกันเกือบ ๓ เดือน บางท่านก็ไม่ได้คุยกันพูดกันในเรื่องส่วนตัวอะไรต่างๆ
เหตุนั้น วันนี้หลวงพ่อจึงขอโอกาส ท่านทั้งหลายมีอะไรจะพูดจาปราศรัยกัน ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายได้ดำเนินการตามอัธยาศัย นับตั้งแต่เข้าพรรษามาจนถึงบัดนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ หรือไม่สบอารมณ์กับหลวงพ่ออย่างไร ก็ขอเปิดโอกาส ขอจัดให้ท่านทั้งหลายได้ปรับความเข้าใจกัน
ก่อนอื่น หลวงพ่อขอพูดว่า หากว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมาแล้ว ยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เข้าใจในบางสิ่งบางประการ ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายได้ไต่สวนทวนถาม แต่ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจ แม้สิ่งทั้งหลายที่ไต่สวนทวนถามไว้แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงพ่อขออนุโมทนา เอาอย่างนี้ท่านอาจารย์มหา อย่างเรื่องพระติสสเถระ[1]
พระติสสเถระนั้น ท่านออกเดินทางจากทวีปมคธ มานมัสการมหาวิหาร ผ่านมาตามทางได้พูดจาปราศรัยกับทุคตบุรุษคนหนึ่ง พอได้ทราบเรื่องราวแล้ว ผลสุดท้ายเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านปฏิบัติธรรมตลอด ๗ วัน จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านได้ถามพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งหลายว่า พระคุณเจ้ามีความเคลือบแคลงสงสัยอะไรเกี่ยวกับมรรคผล ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายถามได้ ผมพร้อมที่จะบอกที่จะวิสัชนา
พระสงฆ์ทั้งหลายอยู่ในมหาวิหาร ไม่มีแม้แต่รูปเดียวที่จะถามเรื่องมรรคผล สุดท้ายก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระมหาเถระที่เป็นประธานเกิดอัศจรรย์ใจว่า โอ เรื่องนี้ผมอัศจรรย์ใจจริง เพราะว่าพระทั้งหมดไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องมรรคเรื่องผล
ท่านทั้งหลาย ถ้าเคลือบแคลงสงสัยบางสิ่งบางประการก็ขอนิมนต์ หลวงพ่อจะไม่ถาม ให้ท่านทั้งหลายถามเอา อย่าได้เป็นอย่างหลวงพ่อพระครูท่านหนึ่ง ตอนที่ท่านมาอยู่วัดนี้แหละ ท่านเป็นประธานดำเนินการเกี่ยวกับกัมมัฏฐาน
หลวงพ่อก็ไม่รู้ว่าท่านมาสังเกตการณ์ ตลอดไตรมาสพรรษา ๓ เดือน ท่านก็เดินธรรมดา นั่งไปธรรมดา เล็กๆน้อยๆ ผลสุดท้ายก็หมดพรรษา หลวงพ่อก็ไม่รู้ไม่เฉลียวใจว่าท่านมาอย่างนี้ เพราะว่าปกติก็เป็นธรรมชาตินิสัยของหลวงพ่อเป็นอยู่อย่างนั้น จนกว่าท่านจะเปิดความในใจให้ฟัง ท่านพูดกับญาติกับโยมกับลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า
หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ หลวงพ่อไม่ได้มาปฏิบัติ แต่มาเพื่อสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างของหลวงพ่อพระครู(หลวงพ่อใหญ่) ว่าท่านพอที่จะเป็นผู้ที่เราจะมอบกายถวายชีวิตเป็นลูกศิษย์ลูกหาได้หรือไม่
ท่านมาดู มาคอยสังเกตการณ์ตลอดไตรมาสพรรษา ๓ เดือน หลังจากกฐินเสร็จแล้ว ท่านขึ้นธรรมาสน์ สั่งลาญาติโยมทั้งหลายแหละ ท่านก็เปิดความในใจว่า ที่มานี้ไม่ได้มาปฏิบัติ แต่มาดูหลวงพ่อของญาติโยมทั้งหลาย ว่าพอที่จะมอบกายถวายตัวได้หรือไม่
พอท่านได้เปิดความในใจทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงพ่อก็ไม่นึกว่าท่านจะมาสังเกตการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ดี เพราะว่าปีนั้น ตลอดพรรษาไม่ได้พูดจาปราศรัยกันเป็นกรณีพิเศษเหมือนกับปีนี้ หลวงพ่อพูดอะไรกับลูกพระลูกเณร เล็กๆน้อยๆ บางทีก็ไม่พอใจ อะไรทำนองนี้ ถ้าในลักษณะนี้ หลวงพ่อก็เข็ดเลย แต่ที่ผ่านมาไม่มีลักษณะอย่างนี้ เรื่องส่วนมากก็มีเรื่องมรรค เรื่องผล ก็แล้วแต่จะพูด
ถ้าไม่สงสัยหลวงพ่อก็ขออนุโมทนา แต่ถ้าสงสัยก็นิมนต์ หรือว่าท่านทั้งหลายที่สงสัยว่าออกไปแล้ว ปีนี้จะไปทำหน้าที่การเผยแผ่ธรรมะเรื่องการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องสมาธิสมาบัติ ที่พวกเราทั้งหลายทำอยู่ หากว่าสงสัย หรือว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ขอนิมนต์
ถาม ขอโอกาสกราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เรื่องการประพฤติปฏิบัตินี้ ไม่ทราบว่า หลังจากการประพฤติปฏิบัติธรรมผ่านไปแล้ว ความฝันที่เราฝันนั้นจะมาช่วยยืนยันว่าเราผ่านขั้นนั้นขั้นนี้ มีเหตุมีปัจจัยบ้างไหมครับ คือหลังจากที่ผู้ประพฤติปฏิบัติผ่านชั้นภูมิชั้นนั้นชั้นนี้แล้วมีความฝันที่เรียกว่าเป็นนิมิตมาบอกบ้างไหมครับ
ตอบ อันนี้สังขารมันปรุงแต่งมาหลอก ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารตัวนี้แหละเป็นตัวที่ทำให้เกิดการปรุงแต่ง อยากฝันอย่างโน้นฝันอย่างนี้ อะไรจิปาถะ แล้วแต่มันจะฝัน บางทีมันก็มาบอกว่า โอ คุณได้พระโสดาปัตติผลแล้ว หรือว่าคุณได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ตัวนี้ตัวสังขาร
เหตุนั้น เราผู้เป็นเจ้าของความฝันก็ต้องดูตัวเราเองว่า เราผ่านแล้วหรือยัง ที่มันฝันอย่างนี้กระซิบอย่างนี้ เป็นความจริงไหม เราเองที่รู้ตัวเราเอง หลวงพ่อเคยบอกว่า อภิชัปปา แปลว่า กิเลสกระซิบที่จิต แล้วแต่มันจะกระซิบอะไร เช่นว่า เมื่อชาติก่อนโน้น เคยเป็นผัวเมียกันอย่างนั้นๆ ปรุงจิตปรุงใจจนจะไปแต่งงานกับเขา สภาวะที่เกิด กิเลสกระซิบที่จิตนี้ มันไม่ใช่ธรรมดาๆ เป็นพันๆเรื่อง
เหตุนั้น เราทั้งหลายเรียนมาแล้ว นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก เป็นมหาเปรียญแล้ว เราก็พอจะรู้ได้ว่าเขาโกหก อุปกิเลสในจิตมันโกหก หรือว่ามันความจริง เออ ถ้าว่ามันเป็นความจริง บ่ปาก(ไม่พูด) ถ้ามันเป็นความจริงก็บ่ปาก ก็ภูมิใจ ดีใจว่า เออ เราผ่านมาได้จริงๆ
หรือจะพูดอย่างหลวงปู่หลวงตาบางรูปว่า เราได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วนะ อยากเว้าจังซี่บ้อ (อยากพูดอย่างนี้หรือ) พอได้ยินท่านว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วอย่างนั้นอย่างนี้ โอย หลวงพ่อเหนื่อย(ใจ) แต่ไม่ได้ว่าท่านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรอก ลักษณะนี้ เหนื่อยหัวใจว่า โอ หลวงปู่ไม่น่าจะว่าอย่างนี้เลย ทำให้ลูกศิษย์ลูกหา ลูกๆหลานๆเขาหมั่นไส้เอาได้
ถาม ถ้าเราได้สมาธิแล้ว สมาธิเสื่อมไป จะทำอย่างไรดีครับ
ตอบ เอ้า สมาธิเสื่อมไป เราก็ปฏิบัติใหม่ ทำใหม่สิ
ถาม เพราะเหตุอะไร ทำให้เสื่อมไปครับ
ตอบ เพราะขาดการสังวร เพราะขาดความสำรวมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อเราไม่สำรวม มันก็เสื่อมได้ ไม่มีเทวดาองค์ไหนที่จะมาทำให้มันเสื่อมได้หรอก เข้าใจไหม
แต่สมาธินี้ (เมื่อ)มันเสื่อมได้ มันก็ฟื้นได้ เห็นว่ามันเสื่อมไปแล้ว เราก็หลีกเร้นอยู่ในเสนาสนะที่ใดที่หนึ่งที่วิเวก เป็นสถานที่สัปปายะ เราก็ภาวนา มันเสื่อมอย่างไรก็ตาม สมาธิมันจะเสื่อมถึงไหนๆก็ตาม วันสุดท้ายมันก็จะต้องเกิดขึ้นมาอีก
อะไรคือวันสุดท้าย วันสุดท้ายคือวันที่เราจะตายจากโลกนี้แหละ คนจะตายมันก็ต้องเตรียมตัวก่อนตาย ไหนๆก็จะตายแล้ว แล้วมันก็จะคิดจะนึกเห็นกัมมัฏฐานที่เคยปฏิบัติมาแล้ว มันนึกถึงเลย มันก็เตรียมตัวแหละ มันจะตายอยู่รอมร่อแล้ว ไม่มีใครจะอยู่เป็นเพื่อน มันก็เตรียมตัว กำหนดขึ้นมา พองหนอ ยุบหนอ หรือว่าอะไรก็ว่าไป
เพราะในขณะที่เราเตรียมตัวจะตายนั้น ก่อนที่จะตาย หากเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ หรือ สัมมาอรหัง บทใดบทหนึ่งก็ตามแต่ แล้วเกิดสมาธิขึ้นมา ถ้าเกิดสมาธิแล้วมันตายเท่านั้นแหละ มันดับปั๊บลงไปตรงนี้ ในลำดับฌานชวนวิถี เราก็ไปเกิดบนพรหมโลกตามกำลังของสมาธิหรือของฌาน
แต่ถ้ามันดับโดยอำนาจของมัคควิถี พองหนอ ยุบหนอๆ ก็เห็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับพึบลงไป เราได้บรรลุพั้บ ก็ถึงแก่มรณกรรมทันที ส่วนมากเราปฏิบัติมาแล้ว แล้วตอนนี้เรายังไม่บรรลุเลย แต่บางทีมันก็ไปบรรลุตอนเราจะตาย เข้าใจไหม
ถาม ญาณนี้มันจะเกิดขึ้นตามลำดับๆไป ถึงแม้ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใช่ไหมครับ
ตอบ มันก็เกิดตามลำดับๆไป แล้วไม่ใช่ว่านั่งกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ จะกระโดดไปเลย ปฏิสังขาญาณ มันกระโดดข้ามไปได้ (ไม่ใช่นะ) มันไปเรื่อยๆ มันก็ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ มันก็ไปตรงๆอย่างนี้
แต่ถ้ามันไปไม่ได้ มันก็กลับหลัง (จากญาณที่) ๑๑ – ๑๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ – ๓ – ๒ – ๑ นี่มันกลับ คือว่ามัน อนุโลม ปฏิโลม ถ้าว่ามันไปเรื่อยๆ ตรงไปตามลำดับๆ เมื่อกำลังของเราพอ ญาณของเราแก่กล้าแล้ว มันก็เข้าสู่มัคคญาณผลญาณ บรรลุมรรคผลนิพพานเลย
แต่พอไปถึงสังขารุเปกขาญาณ ถ้ากำลังพอแล้ว กำลังทุกสิ่งนั้นพอแล้ว มันก็ข้ามไปเลย แต่ถ้ากำลังไม่พอ มันก็ปฏิโลมกลับมาใหม่ ๑๑ – ๑๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ พอมาถึง(ญาณที่) ๔ แล้วก็ ๔ – ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ กลับไป แล้วก็หมุนอยู่อย่างนั้น
อย่าลืมว่า เวลาเรานอนหลับมันก็หมุนอยู่อย่างนี้นะ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของเรา ของรูปของนาม มันเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เรานอนหลับมันก็หมุนอยู่ เหมือนกับเข็มนาฬิกา มันหมุนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มันอยู่เฉยๆ
ถ้ามันอยู่เฉยๆ มันไม่หมุน ไม่เดิน มันก็มีอยู่สองอย่าง คือ ๑) มันเข้าฌานไปเลย ๒) มันดับ ถ้ามันหมุนอยู่อย่างนี้ หมุนอยู่ตลอดเวลานี่ เราก็อยู่ได้ ถ้ามันหมุนไปถึงอุทยัพพยญาณ ญาณที่ ๔ มันผ่านไป ถ้าไปถึงอุทยัพพยญาณนี่ มันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เพราะตอนนี้ เป็นญาณที่รวมหมด รวมสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างมารวมกัน หลวงพ่อจึงบอกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน
ถ้ามันมาถึงญาณนี้ จิตใจว่าง บางทีก็ร่าเริงเบิกบาน บางทีอยากร้องเพลงอย่างนั้น อยากเทศน์อย่างนี้ อะไรจิปาถะ มันเพลินไปเรื่อย แต่ถ้ามันผ่านไป มันก็ผ่านไปตามลักษณะของมัน
ถาม (มีอาการแปลกๆ ที่เกิดขึ้นมาเวลาปฏิบัติ)
ตอบ บางทีมันก็เหมือนผีจับหัวเราหมุนไปหมุนมา นั่นเป็นอาการของปีติ บางทีรู้สึกเหมือนตัวใหญ่ขึ้นๆ อยู่ในศาลาก็ใหญ่จนเต็มศาลา เรานั่งอยู่ในกลดมันเต็มกลดของเรา อยู่ในกุฏิใหญ่ๆ ก็จนเต็มกุฏิใหญ่ๆ คือมันโตออกๆ ส่วนในทางกลับ บางทีมันก็น้อยเข้าไปๆ เล็กเข้าไปๆ จนเท่าเด็กน้อย จนเท่ากบเท่าเขียด บางครั้งมันพองออกข้างนอก พองออกๆ แต่บางครั้งปรากฏฟันยาว แขนยาว ขายาว นี่เป็นตัวปีติ
ถาม ถ้าหากว่าญาณนี้เกิดขึ้นแล้ว บางครั้งปิดประตูหน้าต่างไว้แล้ว ก็เหมือนมีคนมาเปิดดู ไม่ทราบเป็นสภาวะอะไรจึงเป็นอย่างนี้
ตอบ นั่นเป็นอาการของปีติอันเดียวกัน บางครั้งเรานั่งอยู่ในกุฏิในห้องกัมมัฏฐาน ก็เหมือนกับมีคนมาเปิดประตูหรือหน้าต่างดู มันเปิดออกๆ บางทีลืมตา คิดว่าเขามาเปิดจริงๆ พอนั่งหลับตาเขาก็มาเปิด บางทีก็ถึงกับลุกขึ้นเดินไปๆ จะไปปิดประตูหรือหน้าต่าง อันนี้เป็นลักษณะของปีติ
ถาม เวลานั่งหรือนอนนี่ กำหนดเหมือนเดิมครับ กำหนดแล้วมันขาดสติ แล้วก็หลับไป แต่ทีนี้ บางทีก็เป็นนิมิตโอภาสเกิดขึ้นมา แล้วก็กำหนดแล้วก็หลับไป อย่างนี้จะมีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่
ตอบ ถ้าอาการเป็นอย่างนี้ๆ ก็จะมีนิมิตอย่างนี้ ถ้าอาการอย่างนี้ไม่เกิด ลักษณะอย่างนี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น หลวงพ่อว่าสภาวะนี้พร้อมแล้วที่จะเกิด มันจะเกิดเพราะเรามีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เรานอนหลับอยู่นั้น จิตของเรามันตื่นอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆๆ อยู่ในวิถี มันเกิดขึ้นมา จิตดวงนี้มันตกภวังค์แล้วก็เกิดขึ้นอีก ตกลงอีก เกิดขึ้นอีก ก็รู้สึกตัว อาการเกิดขึ้นตั้งอยู่นี้แหละเป็นความฝัน เรียกว่าเป็นนิมิต คืออาการเกิดขึ้นในเวลาที่เรานอนหลับ
ถาม สำหรับผู้ปฏิบัติถึงญาณที่ ๔ ไปจนถึงญาณที่ ๑๑ แล้วแต่ยังไม่ดับ แล้วกลับมาปฏิบัติใหม่ ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จะเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ
ตอบ เกิด มันก็ต้องเกิด เพราะว่ามันยังมีรูปมีนามอยู่ ถ้าไม่มีรูปมีนาม มันก็ไม่เกิด เราปฏิบัติไปจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สภาวะอย่างนี้ก็จะเกิดตามมา
เพราะฉะนั้น เราเกิดมาทั้งที และได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือมาศึกษาตัวเองให้รู้ให้เข้าใจ ว่าร่างกายจิตใจของเรามันเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อศึกษารูปก็รู้เรื่องรูปคือ รู้หมดแล้วไปเลย ได้สำเร็จก็รู้หมดแล้ว ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เรารู้หมดแล้ว
ถ้าทวนญาณเราจะรู้ว่า อะไรที่จะเกิดขึ้นมันจะสะดุด เมื่อสะดุด… รูปมันตายไปแล้ว นามก็ตายไปแล้ว กิเลสที่มันติดกันมาก็ตายไปแล้ว ความเป็นปุถุชนมันตายไปแล้ว เข้าใจไหม เมื่อเรามาปฏิบัติอีก สภาวะอย่างนี้มันก็เกิดอีก ถ้าว่าเราตายอีกครั้งที่ ๒ กิเลสมันก็จะอ่อนกำลังลงไปอีก
หากว่าปฏิบัติต่อไปอีก มันตายครั้งที่ ๓ เมื่อตายครั้งที่ ๓ ภาวะที่เราจะไปทำอะไรๆ เช่นความดีใจหรือขัดใจมันก็เบาบางลง ถ้าทำไปๆ ถึง ๔ ครั้ง ดับวูบเลย มันก็หมดเลย เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงพูดเสมอว่า คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้วจะต้องตาย ๔ ครั้ง ถ้าคนไหนสามารถตายได้ ๔ ครั้ง คนนั้นก็ถือว่าได้สำเร็จถึงฝั่งแล้ว กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันก็หมดสิ้นไป หากว่าตายแล้ว ๔ ครั้ง ครบหมด หลวงพ่อขออนุโมทนา แต่หลวงพ่อว่ามันไม่ตายครบ ๔ ครั้ง ครั้งเดียวก็ยังไม่ตาย
ถาม ตอนกำลังปฏิบัติมันมีแต่ความคิด ก็กำหนดว่า คิดหนอๆขณะที่กำหนดอยู่ๆ เกิดหูอื้อขึ้นมาแล้ววูบลงไป ก็ตกใจว่า อะไร ใจเต้นตึกๆเลย
ตอบ อาการเกิดนั้นมันมี ๕ ประการ คือ ๑) ปีติ ก็ทำให้ดับได้ ๒) ปัสสัทธิ ก็ทำให้ดับได้ ๓) สมาธิ ก็ทำให้ดับได้ ๔) ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ก็ทำให้ดับได้ ๕) อุเบกขา ก็ทำให้ดับได้ แต่การดับอย่างที่ว่ามานี้ ไม่สามารถที่จะละกิเลสตัณหาได้
ถ้าหากว่าการเกิดดับเกิดขึ้นด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่า พองหนอ ยุบหนอ อยู่ดีๆ อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆ แล้วก็วืบ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือว่า เราได้บรรลุถึงขั้นปฐมมรรคแล้ว เพราะฉะนั้น รูปนามและกิเลสมันดับไปครั้งที่ ๑ แล้ว
แต่บางครั้ง เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบมันฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ หายใจไม่ออก เหมือนใจจะขาด บางทีต้องกำหนดว่า แน่นหนอๆ กำหนดไปๆ มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็ดับ เพราะรูปนามมันดับ และพร้อมกันนั้นกิเลสมันก็ดับไปด้วยกัน ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้ว ตาย ๒ ครั้งแล้วนะ ถ้าหากว่าเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราเหลือแค่เส้นด้าย ในขณะที่เรากำหนดอยู่มันดับวูบไปเลย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่า เราได้ผ่านญาณ ๑๖ มาแล้ว
ถาม การดับในขั้นมรรคขั้นผลนี่ ต้องผ่านพระไตรลักษณ์ ต้องจำให้ได้ ถ้าจำไม่ได้ถือว่าไม่ผ่าน ใช่ไหมครับ
ตอบ ไม่ผ่าน เพราะว่าอาการดับโดยพระไตรลักษณ์นั้นมี ๓ อย่าง
บางทีถ้าเราปฏิบัติผ่าน อาการดับนั้นปรากฏชัด ไม่ต้องพิจารณาละ มันรู้อยู่ แต่ถ้าดับด้วยอาการทุกขังมันปรากฏชัด กำหนดไปๆ มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็ดับวูบไปเลย เพราะตอนนี้สติของเรามันสมบูรณ์แล้ว แต่ว่าการดับของอนัตตานั้นมันละเอียด จิตใจของเรา เวลากำหนดอาการพองยุบของเรามันจะค่อยๆอ่อนแผ่วเบาๆไปเรื่อยๆ ความรู้สึกของเรามันเหลือประมาณเส้นด้าย แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วเราจะรู้สึกว่า มันดับหรือไม่ดับ คือมันบอกไม่ได้ เมื่อมันไปอย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้
ถาม อยากทราบว่า อาการดับในขณะเดินจงกรมมีไหมครับ แล้วมันจะมีอาการเป็นอย่างไรครับ
ตอบ อาการที่เกิดขึ้นนั้นก็ไปเรื่อยๆ แต่ในขณะนั้นยังมีสภาวะที่เป็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจังก็ได้ ทุกขังก็ได้ อนัตตาก็ได้ และในขณะที่กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ในขณะที่กำหนด มันดับไปเลย ดับในขณะเดินจงกรม บางทีมันก็ดับในขณะยืนก็มี แม้เวลานอนมันก็ดับได้ ในขณะกินข้าวมันก็ดับได้ เพราะว่าเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ความรู้คือสติสมบูรณ์เมื่อใด มันก็ดับลงเมื่อนั้น เป็นอย่างนี้
ถาม ปฏิบัติไปๆ เกิดขนลุกซู่ขึ้นทั่วสรรพางค์กาย ก็คิดว่า เอ๊ะ เราเป็นอะไร ปฏิบัติแล้วเป็นสภาวะอย่างนี้ใช้ได้ไหมครับ
ตอบ นี่ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริงๆ รู้สภาวะจริงๆ เป็นสภาวะจริงๆ เรียกว่าใช้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราอย่าไปสงสัย ครูบาอาจารย์ที่สอบอารมณ์เขาไม่บอกหรอกว่า คุณทำได้อย่างนั้น คุณทำได้อย่างนี้ ไม่บอก
เพราะเหตุไรจึงไม่บอก? เพราะถ้าไปบอก มันก็จะเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติเกิดจิตปรุงแต่ง เกิดปลื้มใจภูมิใจขึ้นมา มันสุขจนเกินขอบเขต เหมือนคนได้เงินมาเป็นแสนๆ เป็นล้านๆ ไม่ได้ไปทำอะไร ไม่ได้หาอะไร เขาก็โยนให้ เอ้า คุณเอาไปใช้เลย เงิน ๑ ล้านบาท พอได้รับก็ฟูใจ
อีกอย่างหนึ่ง หากว่าบอกแล้ว ก็จะไปอวดไปอ้างว่า ดีอย่างนั้น ได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้ก็ได้ ทำอย่างนั้นก็ได้ ก็จะเกิดมานะทิฏฐิขึ้นมา เพราะเหตุไร เพราะว่าจะตั้งตนอวดอ้างลักษณะอย่างนี้มันมีอยู่ ความถือตัวยังมีอยู่
ทีนี้ถ้าบอกตรงๆว่า คุณไม่เหลืออย่างนั้น คุณไม่เหลืออย่างนี้ หากว่าเราพยากรณ์ผิดล่ะ เขาก็ตกนรก แม้เราก็ตกนรกเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ครูบาอาจารย์จึงไม่บอก แต่เวลาสอน คือจะสั่งว่าให้พิจารณาอย่างนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ฟังทั้งหลาย ที่หลวงพ่อไม่พูดว่า คุณนั้นได้อย่างนั้น คุณนั้นได้อย่างนี้ มีแต่เทศน์ให้ฟัง
คุณทำนายความหลุดพ้นของตนเองดูว่า ความโลภ ความโกรธ ตอนนี้มีอยู่เท่าไร สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉามีไหม มีเท่าไหร่ ตามองค์ของมัน เรากล้าตัดสินสิ่งเหล่านี้เอง เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงไม่ให้บอก แต่ว่าให้เราผู้ปฏิบัติเป็นผู้ตัดสิน เพราะว่า เวลาที่มันเกิดขึ้นมา บางทีเราอาจถูกอุปกิเลสที่นอนเนื่องอยู่หลอกเอาว่า คุณได้ผ่านโสดาปัตติผลไปแล้วนะ เราจะติดอยู่นี้ เหตุนั้น พึงสังวรระวังไว้ให้ดี ถ้าเราดับลงไปจริงๆ แล้วก็จำได้ด้วย ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้ามันผ่านไปได้ แต่ระวังว่า เจ้าตัวนี้มันจะหลอกเอา มันจะยึดตัวเราไว้เป็นเจ้าของ
ถาม ขออนุญาตถามหลวงพ่อ คือว่าช่วงที่เรานั่งสมาธิสบายๆ ช่วงนั้น นั่งประมาณ ๒ ชั่วโมง แล้วก็คลายออกจากสมาธิแล้ว กำลังจะเก็บกลด ก็มีอาการคล้ายหน้ามืด จึงกำหนดถี่ๆ ก็มีอาการคล้ายหน้ามืดแล้วก็วูบไป ก็กำหนดไปเรื่อยๆ มีอาการแน่นเข้าๆ อยากทราบว่า เป็นอะไรครับ
ตอบ อันนี้เป็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง คือเวลาเรากำหนด อาการพองอาการยุบจะเร็วขึ้นๆ เป็นลักษณะของอนิจจังมันเกิดขึ้นแล้ว อาการพองยุบที่กำหนดแล้วรู้สึกอึดอัดแน่นๆ นี้เป็นลักษณะของทุกขัง อาการพองอาการยุบสม่ำเสมอดี แล้วแผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็วู้บ อันนี้เป็นลักษณะของอนัตตา
ถาม การเกิดดับในผลสมาบัติ จะมีนิมิตเกิดร่วมด้วยไหมครับ
ตอบ ญาณที่เกิดขึ้นๆ เรื่อยๆ เวลามันดับ มันก็วูบไปเลย แล้วก็เข้ามาอยู่ในผลสมาบัติสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ตาม นิมิตไม่มี เพราะเป็นโลกุตตระ ถ้าหากว่าจิตของเราออกจากสมาธิมาแว้บนึง อาจจะ ๕ วินาที หรือ ๑๐ วินาที นิมิตก็เกิดได้ เพราะว่ามันออกมาแล้ว เดี๋ยวมันก็แพ้บเข้าไปอีก ไม่มีนิมิต
ถาม การอวดอุตตริมนุสสธรรมจะเกิดขึ้นมาได้โดยนับจากการปฏิบัติถึงตั้งแต่ญาณไหนขึ้นไปครับ
ตอบ ไม่ต้องญาณไหนหรอก พวกเรานั่งกันอยู่นี่ พวกเราประชุมกัน มันตั้งใจจะบอกก็เดินตามมา หลวงพ่อ หนูได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วนะ ถ้าคิดต้องการจะพูด แต่เป็นโยมก็ไม่เป็นอะไร ถ้าเป็นพระเป็นเณรถือว่าอวดอุตตริมนุสสธรรม ปรับอาบัติปาราชิกทันที
พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์จะไม่อวด แต่ถ้าเป็นปุถุชนนั้นอวดได้ ถ้ามีเจตนาจะอวด แล้วก็พูดให้ผู้ฟังเข้าใจ ปรับอาบัติปาราชิกทันที[2]
ถาม ถ้าโยมมาปฏิบัติแล้ว แต่วิปัสสนาญาณ ๔ ก็ไม่เกิด และตอนที่กำหนดพระกัมมัฏฐานก็ปล่อยตามธรรมชาติ หรือว่ากำหนดหยาบๆล่ะครับ
ตอบ ถ้าเรากำหนดอย่างธรรมชาติ มันก็ไปอย่างธรรมชาติ
ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็เป็นไปอย่างธรรมชาตินะสิ หนักๆเข้ามันก็เป็นบ้า
จะไปผูกคอตาย
กินยาตาย เพราะเราปล่อยไปตามธรรมชาติ เอ้า กลุ้มใจเว้ย ตายซะดีกว่า ระวังเถอะ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ
เราต้องใช้สติบังคับควบคุมจิตใจของเรา มีสติเป็นผู้บังคับ มีสติเป็นผู้เชิดชู
มีสติเป็นผู้อุปถัมภ์
ถ้าไม่มีสติ จิตของเรามันก็ซ่านไปนะ เพราะฉะนั้น เหตุที่พูดกันว่าปฏิบัติกัมมัฏฐานแล้วเป็นบ้า ก็เพราะว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ พอรู้สึกตัวขึ้นมา อาย อะไรครับ ขณะนี้ผมเดินจงกรมอยู่ อาจารย์อยู่ที่ไหน นี่แหละธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้
ถาม พอกำหนดไปๆ ความรู้สึกมันเงียบไป มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราสัปหงกไปอย่างนี้
ตอบ นี้มันเป็นสมาธิ เพราะมันไม่ผ่านพระไตรลักษณ์ จัดเป็นสมาธิ
ถาม เวลาเรานั่งกำหนดอยู่ ขณะนั้นจิตรู้สึกสบายปลอดโปร่งอยู่ กำหนดไปๆ พองยุบสม่ำเสมอแล้วก็ค่อยเร็วเข้าๆ ความรู้สึกยิบๆ แล้วตัวก็งุ้มลงไป ในขณะนั้นมันวูบลงไปนิดเดียว ไม่เกิน ๒ วินาทีก็ปรากฏ
ตอบ ลักษณะอย่างนี้หลวงพ่อได้เฉลยมาหลายรุ่นแล้ว เพราะฉะนั้น ให้ตัดสินเอาเอง
ถาม ในพรรษานี้ผมนั่งสมาธิกับนอนพิจารณาเหมือนกัน ซึ่งไม่รู้ว่ากำหนดถูกหรือไม่ครับ คือผมกำหนดไป จะถือว่าขาดสติไป แล้วนอนหลับฝันว่าได้ไปเที่ยวที่นั้นที่นี้ เห็นพระพุทธรูปบ้าง เห็นป่าไม้บ้าง ก็เอามือไปจับ แล้วก็มีสติขึ้นมา ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆอย่างนี้ การเกิดดับแบบพระไตรลักษณ์จะเกิดขึ้นยากไหมครับ
ตอบ คำถามนี้มันไม่เกิดเลย มีแต่ปีติเท่านั้นที่เกิด คำถามที่ท่านถามนั้น มัคคจิตผลจิตมันไม่เกิดเลย เป็นแต่เพียงปีติเท่านั้น มีแต่กำหนดนิทรารมย์ เขาเกิดเอง ไม่ใช่อารมณ์ของฌานเลย วิธีแก้ปัญหาก็คือทำสติเพิ่มสติให้มากอย่าให้หลับนาน
ถาม เมื่อผู้ปฏิบัติในตอนเช้า หลังจากฉันเช้าแล้วก็นั่งภาวนา ไม่ได้หลับ อยู่ในท่านั่งแล้วก็เห็นอาหารที่อยู่ในกระเพาะอย่างนี้
ตอบ มันเกิดขึ้นด้วยอำนาจของปีติ ไม่ใช่ญาณ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ถ้าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นพร้อม และในขณะนั้น อาการที่มันดับไปนั้น เราจำไม่ได้ อาการดับลงไปนั้นก็เป็นโลกิยะ และการเข้าสมาธินั้นก็เป็นโลกิยฌาน
แต่ถ้าพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นพร้อมและดับพรึบลงไป เราจำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน เราจำได้ว่าตอนพองหรือตอนยุบ หรือว่าในขณะปฏิบัติอยู่นั้น วัตรของเราที่ทำอยู่นั้น เราตั้งจิตไว้ที่ตรงไหน จิตของเราเป็นอย่างไร เรารู้เลย ถ้าเรารู้เลย ไม่ได้คาดเดาเอาหรือคะเนเอา เราจำได้จริงๆ มันดับวูบลงไป สมาธิหรือฌานนั้นเป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์
ถาม ในขณะที่นั่งภาวนาปฏิบัติไป อาการตรงนั้นชัดเจน แล้วก็มีอาการสับ (กายผงกลงไปอย่างเร็ว) คือที่มันดับไปแล้ว รู้ว่ามันดับ แต่จำไม่ได้ว่าลักษณะที่มันดับลงไปเป็นยังไง อยากถามว่าอาการดับอย่างนี้ ถือว่าดับโดยมีพระไตรลักษณ์เกิดร่วมได้ไหมครับ
ตอบ ทีนี้หลวงพ่อจะถามกลับว่า ก่อนที่มันจะดับนั้น อาการพองอาการยุบที่เรากำหนดอยู่นั้น เร็วขึ้นๆแล้วก็ดับไป มีไหม
หรือว่าก่อนที่จะมีอาการอย่างนี้ อาการพองอาการยุบของเรามันฝืนๆ อึดอัดแน่นๆ มันแน่นเข้าๆ แล้วก็วูบลงไป แล้วเราก็รู้จักอาการที่มันวูบลงไป จะเป็นตอนท้องพองท้องยุบก็ตาม เรารู้ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น เรารู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ตรงจมูกหรือตรงศีรษะ เราจำได้ หรือในขณะนั้น อาการพองอาการยุบของเรามันสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็วูบลงไป แล้วในขณะนั้นเราจำได้ไหม ว่าสติกับจิตของเรามันอยู่ตรงไหน ไม่ต้องถามอาการพองอาการยุบละ มันอยู่ตรงไหน เอาสติไว้ที่ตรงไหน ถ้าท่านยังจำได้ สภาวะที่กล่าวมานี้ก็เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเราจำไม่ได้ สภาวะนี้ก็เป็นโลกิยะ ยังไม่เป็นโลกุตตระ
ถาม ขอถามเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า สภาวะอย่างนี้ ถ้าเรายังจำไม่ได้ สภาวะอย่างนี้จะยังเกิดขึ้นอีกไหมครับ
ตอบ ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ มันก็เกิดอีก หากว่าเรายังปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ หากว่าบารมีของเรายังไม่พอ เราก็อาจใช้เวลาชั่วโมงที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ หากว่าเราพร้อมแล้วเมื่อไหร่ มันก็เกิดขึ้นทันที สำหรับผู้ที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้วครั้งที่ ๑ ก็ดี ครั้งที่ ๒ ก็ดี ครั้งที่ ๓ ก็ดี ครั้งที่ ๔ ก็ดี ลักษณะอย่างนี้ เมื่อเรานั่งได้ถูกที่เมื่อไร มันก็เกิดขึ้นทันที
อาการที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการเกิดการดับซึ่งเป็นผลสมาบัติ เป็นโลกุตตระ เราปฏิบัติผ่านครั้งที่ ๑ ลักษณะอย่างนี้ก็เกิดขึ้นได้ตลอด แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว ถ้าเรานั่งได้ถูกที่เมื่อไร มันก็เกิด บางทีก็เกิดช้า บางทีก็เกิดเร็ว เพราะเหตุไร เพราะรูป นาม ขันธ์ ๕ มันมีอยู่อย่างนี้ พระไตรลักษณะก็มีอยู่อย่างนี้
ถาม ถ้าหากว่าญาณมันเกิดขึ้นแล้ว เราควรจะรักษาไว้อย่างไร เพราะเวลาเราออกไปข้างนอก ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงปฏิบัติ เราควรจะรักษาไว้อย่างไรเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว แล้วญาณแต่ละญาณนี่เกิดขึ้นตลอดหรือเปล่าครับ
ตอบ ถ้าสมาธิของเราดี มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง ถ้าสมาธิไม่พอ มันก็ไม่เกิด แต่ถ้าสมาธิพอ มันก็เกิดขึ้นทันที บางทีนั่งคุยๆกันอยู่อย่างนี้ เพียงแค่เราตั้งใจสำรวมระวัง (ญาณ)มันก็ขึ้นมาแล้ว
พูดให้เข้าใจสั้นๆว่า การทวนญาณนี่ เราดูความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ มันจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ เราจะทำงานอะไร หรือท่องมนต์ หรือทำงานอะไรๆ มันก็อยู่อย่างนี้ เวลาเรานอนหลับ มันก็อยู่อย่างนี้ สภาวะก็อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
การที่เราทวนญาณก็คือว่าให้รู้จักสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ญาณที่ ๔ มันเกิดอย่างไร ญาณที่ ๕ มันเกิดอย่างไร เพื่อจะได้แยกแยะกันออกมา คนเราน่ะ เวลาจะตายมันก็ตายอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะว่าความเป็นไปของร่างกายและจิตใจมันหมุนอยู่อย่างนี้ หมุนไปๆ มันถึงที่แล้วก็ถอยๆลงมา มาถึงนี่แล้วก็ไปอีก
ทางเดินของรูปนามมันมี ๘ ประการ มันหมุนเปลี่ยนไป ถอยลงมาญาณที่ ๔ เมื่อตัวนี้แก่กล้า ก็ขึ้นไปอีก เลยขึ้นไป เป็นอย่างนี้ๆ ถ้าเราไปดูคนป่วยก็จะเห็น หากว่าเราเรียนรู้มัน เราก็จะรู้ว่า โอ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายจิตใจมันมาถึงจุดนี้ ถึงแล้ว ถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว เราก็ดูอยู่ แต่เวลามันถอยนี่ มันถอยพรวดเลยนะ ไม่ใช่ ๑ ๒ ๓ ๔ นะ มันถอยพรวดเดียวเลย
มันถอยลงมาตั้งตัวใหม่ อาจจะใช้เวลาหลายนาที ถ้าสมาธิของเรามีมากมันก็ขึ้นเร็ว ถ้าสมาธิของเราไม่พอ มันก็จะค่อยขึ้นไปๆ มาถึงภยตูปัฏฐานญาณ เป็นอย่างนี้ อาทีนวญาณเป็นอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ จนถึงสังขารุเปกขาญาณนั่น สบายๆ เราจะไปที่ไหนๆก็สบายๆ
เพราะฉะนั้น เหตุที่เรายังไปไม่ได้ ก็เพราะว่าเรายังต้องปฏิบัติต่อไป เลยไปไม่ได้ พอไปไม่ได้ มันก็ถอยกลับมา เหมือนเราตกต้นไม้ เมื่อตกลงแล้ว ถ้าจะขึ้นไปอีก ก็ต้องเตรียมตัว จึงจะขึ้นไปได้
ถ้าเราไปดูคนป่วยเราจะรู้ทันทีเลยว่า เดี๋ยวนี้การเปลี่ยนแปลงของกายและของใจน่ะ มันเป็นอย่างไร คือมาศึกษาวิปัสสนา มาศึกษาตนเอง ไม่ไปศึกษาทางโลก มาศึกษาตนเอง เราก็(รู้)ขึ้นมาทันทีว่า การเปลี่ยนแปลงของกายของใจมันเป็นอย่างนี้ แต่มันมีอีก ๘ ระดับ เมื่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของใจ ๘ ระดับนี้มันชัดเต็มที่แล้ว พอมันเต็มที่ก็พรวดไปเลย กระโดดข้ามไปเลย
ฉะนั้น พอเรากำลังดูเพลินๆอยู่ก็วืบไปเลย นิดเดียวเท่านั้น รวดเดียวก็ถึงสัจจานุโลมิกญาณ อนุโลมิกญาณ ๑ โคตรภูญาณ ๑ มัคคญาณ ๑ มันชัด จิตมันเกิดขึ้น ๓ ครั้ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอดีออกจากตัวเห็นชัด มันก็ขึ้นผล ผลนี้มีอยู่ ๓ ขณะ แล้วแต่บุญ
ถ้าผู้ใดเป็นติกขบุคคล ก็จะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ๓ ขณะ แล้วก็ตกภวังค์ขึ้นมา แล้วก็พิจารณาธรรมต่อไปว่า มันเป็นยังไงนะ มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือว่ามันตายไปเมื่อตะกี้ บางทีก็ว่ากัมมัฏฐานบ้าๆบอๆ แบบนี้ไม่ปฏิบัติต่อแล้ว ลักษณะมันเป็นอย่างนี้
ปัจจเวกขณะมันเป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนที่เราเรียนมาว่า ปัจจเวกขณะพิจารณาถึงมรรค ผล พระนิพพาน ตัดกิเลสแล้ว กิเลสที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่ ว่าตอนนี้ โลภะ โทสะ โมหะไปหมดแล้ว พิจารณาอย่างนี้เป็นแนวทางของปริยัติ
แต่แนวทางของการปฏิบัตินั้นไม่ใช่ ดีดนิ้วมือนี้ มันยังช้ากว่า พูดง่ายๆว่า เรากำหนดพองหนอยุบหนออยู่นี่มันดับแล้ว อะไรดับ? รูป คือลมหายใจเข้าหายใจออกดับแล้ว นาม คือความรู้สึกมันดับไปแล้ว และก็กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมันดับไป
เมื่อมันดับปั๊บไป ลักษณะนั้น ตามหลักการก็ถือว่าเป็นการบรรลุ คือเมื่อก่อนเราคิดว่า เวลาบรรลุเราก็จะได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ต้องเทศน์ได้สอนได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น คนละอย่างกัน อันนั้นเป็นปริยัติ
ถาม บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วผ่านญาณ ๑๖ ไปครั้งแรกนี้ ในเบื้องต้น เขาผู้นั้นสามารถตัดสินตัวเองได้เด็ดขาดไหมว่าเขาได้บรรลุเป็นโสดาบัน
ตอบ อ้าว เขาก็ต้องรู้ ไม่ใช่ของทำแล้วไม่รู้ ของอันนี้ไม่ใช่เป็นของเป็นเรื่องปกปิด
เราปฏิบัติผ่านไปๆ เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว กำลังของเราก็พอแล้ว ตอนนั้นสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมารวมกันตรงนี้ เมื่อรวมกันแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด มัคควิถี
เมื่อเกิดมัคควิถีแล้ว ไม่มีอันใดที่จะไปปิดบังเรา ไม่มีอะไรเป็นเครื่องปิดบัง เพราะในขณะนั้น บางทีพระไตรลักษณ์มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็ดับวูบลงไป บางทีทุกขังมันเกิดขึ้นๆ แล้วก็ดับไป บางทีอนัตตามันก็ปรากฏขึ้น และก่อนมันจะดับลง เราก็รู้ ตอนที่มันลงเราก็รู้ เวลามันลง มันดับไปเลย ก่อนที่มันจะดับมันไม่ใช่ของธรรมดา สติของเรามันใสแจ๋วกว่าปกติ
เมื่อก่อนโน้นสติของเรามันไม่ใสเท่าไร แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ สติของเรามันก็ใสแจ๋ว เราจะรู้ทันทีเลยว่ามันจะดับแล้ว นี่ตามปกตินะ ถ้าผู้ที่ได้เรียนปริยัติมา (พอปฏิบัติมา)ถึงนี่แล้วละ โอ มันจะดับแล้วนี่ ตั้งใจไว้เลย ถึงไม่อยากให้ดับมันก็ดับไป พอผ่านไปแล้วก็ภูมิใจดีใจว่า ผ่านแล้ว และไม่มีเคลือบแคลงสงสัย แต่ที่ผ่านๆมา ๑) เราไม่ได้เรียนปริยัติมา เราเลยไม่รู้ ๒) สภาวะที่เกิดขึ้น (เพราะเห็นด้วยอำนาจของ) อนัตตานี่
อนัตตาเกิดขึ้นมา มันก็จะเห็นอาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราน้อยเข้าไปๆ อุปมาเท่ากับเส้นด้าย ตอนนั้นแหละ แว้บไปเลย ขาดความรู้สึกไปเลย พอเรารู้สึกตัวขึ้นมาจึงว่า โอ มันเป็นอะไรหนอนี่ มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้ สภาวะมันชัดถึงที่คือมันละเอียดถึงที่แล้ว ละเอียดเข้าๆ ถึงที่แล้วมันก็ดับไป บางทีมันก็เบาไปๆๆ บางทีมันก็หนักๆ บางทีก็ผงะไปข้างหลังเลย บางทีก็ผงะไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างซ้ายผงะไปข้างขวา บางทีก็ดิ่งเข้าๆ พั้บไปเลย
ถาม ครูบาอาจารย์ที่เป็นสหธรรมิกกัน ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านก็ปฏิบัติดำเนินมาแล้ว มันดับไป แต่เมื่อมันดับไปแล้ว บางครั้งท่านก็ยังสงสัยว่าตนเองเป็นอริยะ บางครั้งก็สงสัยว่าตนเองเป็นปุถุชน ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีความลังเล
ตอบ เพราะว่าไม่กล้าตัดสินใจ สภาวะมัน ๕๐/๕๐ คือว่าไม่กล้าตัดสินใจ มัน ๕๐/๕๐ มันไม่ชัดเจน
ถาม อาการดับนี้ มันเริ่มมีในญาณอะไรครับ
ตอบ อ้าว ถ้าตอนปฏิบัติธรรมดาๆ ก็โน้นแหละ มันเริ่มดับตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ญาณที่ ๓ มันก็เริ่มดับแล้ว แต่ในญาณที่ ๓ ถ้ามันดับด้วยอำนาจของปีติ ของปัสสัทธิ ของสมาธิ ของอุเปกขา ของถีนมิทธะ เราไม่นับ อันนั้นมันก็ดับเป็นเหมือนกัน ปีติบางทีมันก็ดับ ผงะไปจนอะไรเป็นอะไร เราต้องสังเกตให้ดี ทีนี้ถ้าญาณที่ ๔ มันก็ดับ ญาณที่ ๕ มันก็ดับ มันก็ดับทุกญาณ
ถาม เวลาครูบาอาจารย์พูดคุยกัน ส่วนมากก็บอกว่า ดับๆ
ตอบ ไม่มีใครที่ไหนจะรู้จักเท่ากับตัวเราเองเป็นผู้รู้จัก ถ้าเรายังไม่กล้าตัดสินใจ เราก็ยกเรื่อง ธัมมาทาส ๔ ประการ คือ (สุตฺต ที. มหาวคฺโค หน้า ๑๑๑)
๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว
๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว
๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว
๔. อริยกนฺเตหิ สีเลหิ สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ
ถ้าเราพร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี่ (มีใคร) เขาบอกว่าไม่บรรลุ มันก็บรรลุ เพราะองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี่เป็นเครื่องตัดสิน เราเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ใครจะว่าอย่างไรๆก็ตาม เราก็ยังเลื่อมใสอยู่
เรื่องพระธรรมก็เหมือนกัน หากมีใครมาพูดว่า พระธรรมเป็นของปฏิรูปอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ใครยังวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่เราไม่วิพากษ์วิจารณ์เลย มีแต่จะคิดว่า โอ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีจริง วิเศษจริง เลิศจริง ผู้ใดปฏิบัติตามก็ได้บรรลุอย่างนี้จริง เมื่อประกอบไปด้วยความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหวแล้ว
ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ถ้าว่าเราผ่านจริง เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ โอ ดีใจ เหมือนกันกับได้เห็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ก็สาธุอนุโมทนา อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีความระแวงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีใครทำไม่ดีอย่างนั้นๆๆ มันก็เฉยๆ ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว
เมื่อพร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี้ ก็สามารถพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เออ เราผ่านมาแล้ว แต่ก่อนว่า ๕๐/๕๐ เมื่อผ่านมาถึงแล้ว โอ มันผ่านไปแล้ว
ถาม ขอถามพระเดชพระคุณหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อมรรคเกิดขึ้น ผลจะเกิดขึ้นต่อกันเลยหรือ
ตอบ จะว่ามรรคเกิดขึ้นแล้ว ผลเกิดขึ้นต่อเลยหรือ ไม่ใช่อย่างนั้น มันอยู่ในมัคควิถี เอ้า จะอธิบายละนะ
วิถีจิตก่อนที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น พอดีจังหวะที่ ๑ ชวนจิตดวงที่ ๑ ดับพั้บไป ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ โคตรภู ดับพั้บไป หลังจากนั้นทรงอยู่ ๑ ขณะจิต มัคคญาณดับพั้บไป หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้ว ทรงอยู่ ๑ ขณะจิต ผลจิตก็ดับพั้บไป
พอเรารู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณา เอ มันเป็นอะไรหนอ มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง นี่มันผ่านไปแล้ว เวลาไม่นาน เวลาบรรลุเท่านั้นแหละ ๑ – ๒ (วินาที)เท่านั้นนะ เวลาได้บรรลุมันมีเท่านั้นนะ ไม่ใช่ว่าพองหนอ ยุบหนอ (ลากเสียงยาว) มันผิดเท่านั้น เพราะอะไร เพราะว่าเวลาดับลงไป เราจะรู้เลยว่า รูปคืออาการพองอาการยุบมันก็ดับ นามคือความรู้สึกของเรามันก็ดับ และกิเลสก็ดับไปด้วยกัน
ถาม บางท่านดับพร้อมเห็นกิเลสด้วย บางท่านเพียงแต่ดับ แต่ไม่เห็นกิเลสดับ ต่างกันอย่างไรครับผม
ตอบ มันอยู่ด้วยกันนะ และถ้ามันดับไป มันยังแข็งตัวอยู่หรือ หรือดับไปแล้วแข็งขึ้นมาเลย ถือว่ามันไม่ดับ มันต้องเห็นนะ
เพราะอะไร? เพราะคำว่า เห็น ในที่นี้ เราแยกประเภทไม่ได้ สมมติว่าชวนจิตทั้ง ๗ ดวงนี้ ดวงที่ ๑ อนุโลม โคตรภู มรรค ผล และปัจจเวกขณ์ มันใช้เวลาไม่นานเท่าไร เราจะไปรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าจะค่อยดับไปๆ ไม่ใช่อย่างนั้น พองหนอ ยุบหนอ เท่านั้นเสร็จแล้ว
วิถีจิตมันเสร็จไปแล้วนี่ ผ่านไปแล้วนี่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ พรึ้บลงเลย มันดับลงไปเลย รูปดับ นามก็ดับ กิเลสมันก็ดับ ไม่ใช่ว่านานๆค่อยดับลงไปๆ ค่อยๆดับไปทีหนึ่ง ง่วงนอนค่อยๆดับลงไป พองหนอๆ ดับลงไปนี่ถีนมิทธะ ถ้ามันดับไปอย่างนี้ก็ถือว่าดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ
ถาม ทำไมบางคนเวลาดับลงไปแล้วก็รู้ว่ากิเลสดับลงไปด้วย แต่บางคนทำไมเพียงแต่ดับ แต่ไม่เห็นกิเลสดับไปด้วย ต้องใช้เวลาดับพร้อมกันไหมครับ
ตอบ เพราะว่ากิเลสนั้นเป็นนามธรรม มันเลยไม่เห็น ถ้ามันเป็นรูปธรรมเราจึงจะเห็น เพราะกิเลสมันเป็นนามธรรม แต่ถ้าเข้าใจหรือรู้ว่ามันอยู่ในจังหวะแบบเดียวกัน มันก็แปลว่าใช้ได้ รูปก็ดับ นามก็ดับ กิเลสมันก็ดับไปด้วยกัน ถ้ามันดับก็ดับไปพร้อมกัน เพราะว่าใจเป็นนามธรรม กิเลสมันก็เป็นนามธรรม มันก็เลยไม่เห็น
ถาม อาการเกิดดับ เพียงแต่เราจ้องอยู่แล้วก็ดับลงเรื่อยๆ จนเราเห็นอาการพองอาการยุบเกิดขึ้น แต่มันเบามาก และจำได้ว่ามันพองขึ้นหรือยุบลง สามารถตัดสินได้
ตอบ ก็ตัวเองนั่นแหละสามารถตัดสินได้ มันจริงหรือไม่จริง ดับหรือไม่ดับ ครูบาอาจารย์ตัดสินให้ไม่ได้นะ เราต้องตัดสินเอาเอง
เพียง คิดหนอ คำเดียว เราผู้ปฏิบัติก็จะรู้ทันทีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดดับชัดเจนไหม ถ้าอาการเกิดดับเกิดขึ้นในขณะที่ทวนญาณ อาการเกิดดับที่เกิดมานั้นถือว่าเป็นผลสมาบัติ บางท่านที่มีสมาธินั่งอยู่ได้นานๆ หรือนั่งได้ทน สมาธิดีก็สามารถอยู่ได้นานๆ อาจจะห้าวันเจ็ดวันก็ได้
ใครที่มีความเพียรไม่พอ โดยเฉพาะสมาธิไม่มาก สมาธิมีนิดเดียว อาจจะเข้าผลสมาบัติไม่มาก มีประโยชน์เหมือนกัน เหมือนอาหาร ไม่ใช่ว่าต้องกินเยอะๆจึงจะถือว่ามีประโยชน์ ไม่ใช่ เราจะกินคำเดียว สองคำ สี่คำ ก็ถือว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด
ผลสมาบัติก็เหมือนกัน เราได้เข้าไปนิดเดียวเท่านั้น อาจจะนาน ๑ นาที ๒ นาที ๓ นาที ก็ถือว่าเป็นประโยชน์เหมือนกัน เพราะว่า อำนาจของผลสมาบัตินี้ หากว่าเราจุติในผลสมาบัติ หรือว่าจุติในฌาน เข้าได้เพียง ๑ นาทีเท่านั้น เมื่อจุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ มีสุคติเป็นที่ได้ที่ถึงตามกำลังผลสมาบัติของเรา
มีอะไรอีก สงสัยไหมต่อคำตอบนี้
เมื่อเราปฏิบัติกัมมัฏฐานถึงญาณที่ ๔ สภาวะอย่างนี้มันจะเกิด เมื่อเกิดแล้วมันจะไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะบางคนน้ำลายไหล แล้วมันก็หมุนๆอยู่อย่างนั้น จนบางครั้งอยากร้องไห้ บางทีเอาผ้ามาเช็ด เพราะไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ ยิ่งเอาผ้าเช็ดก็ยิ่งไปกันใหญ่ กลับเป็นหนักขึ้น มันเป็นสภาวะอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ
สภาวะอย่างนี้ เราปฏิบัติครั้งแรกนี่มันทนทุกข์ทรมาน แต่เมื่อสภาวะมันผ่านไปๆ ถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว การปฏิบัติมันจะมีความรู้สึกสบายๆ เพลิดเพลิน กำหนดได้ง่าย ถ้าสภาวะนี้ไม่เกิดเราก็ไม่ได้สมาธิ ถ้าสมาธิเกิดขึ้นมา มันหมุนขึ้นๆ กำหนดไปๆ มันนิ่ง เมื่อมันนิ่งแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเกิดเป็นสมาธิ
อาการอย่างนี้เวลามันเกิดขึ้น อาการพองยุบนั้น บางทีมันมาพองยุบอยู่ด้านหลัง สภาวะอย่างนี้มันเกิดชัดแต่ละท่าน เมื่อเกิดจากญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ลักษณะนี้ มันยืนพื้นอย่างนี้ แต่อะไรที่เป็นปลีกย่อย มันก็มีตามญาณ แต่ตัวนี้มันเป็นตัวยืนพื้น พื้นฐานของความเกิดดับ
หลวงพ่อเองก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ปฏิบัติเมื่อก่อนต้องเอาเทปมาฟังจึงเริ่มเข้าใจ มันเป็นสภาวะเริ่มตั้งแต่ญาณที่ ๔ ถึงสังขารุเปกขาญาณ ส่วนญาณที่ ๔ – ๕ ก็ยังไม่เป็นไร พอมาถึงญาณที่ ๖ เริ่มหนักแล้วทีนี้ พอถึงอาทีนวญาณ และ นิพพิทาญาณ ก็หนักเข้าไปๆ เมื่อมาถึง มุญจิตุกัมยตาญาณ เหมือนเจออุปสรรค ไม่อยากปฏิบัติต่อไป อยากเลิกอย่างเดียว
แต่เมื่อปฏิบัติไปถึง ปฏิสังขาญาณ จิตใจมันก็เข้มแข็ง มันจะเป็นอะไรก็ยอมตาย ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไรก็จะไม่ยอมหยุดการปฏิบัติ จิตใจก็มั่นคงหนักแน่นยอมตาย พอดีมาถึงสังขารุเปกขาญาณ ที่มันทนทุกข์ทรมานมามาก มันนุ่มมันนวล สบายๆ อันนี้แหละดี
ถาม หลวงพ่อครับ ถ้าบุคคลไม่ได้ผ่านปฐมมรรคแล้ว ถ้าอธิษฐานการเกิดดับอีก จะสามารถเห็นการเกิดดับได้ไหมครับ
ตอบ ถ้าไม่ผ่านนะ โอ เป็นไปไม่ได้
ถาม แล้วการเกิดดับ ถ้าสมมุติว่าอธิษฐานการเกิดดับ การเกิดดับจะเกิดมากน้อยขนาดไหนครับ
ตอบ แล้วแต่ บางทีเรานั่งอยู่นี่มันเกิดได้สัก ๑๐ ครั้ง หรือ ๑๕ ครั้งก็ได้ ถ้ามันถี่ คือมันละเอียด คือสภาวะมันปรากฏชัด สมมุติว่า พองหนอ ยุบหนอ มันมีลักษณะนี้แล้วมีอาการเกิดดับ ที่ให้อธิษฐานนั้น เรานั่งพองหนอยุบหนออยู่ มันไปแล้ว จะตั้งใจดีๆนี่ไปแล้ว มันดับพรึบๆไปเลย อย่างบางท่านก็ตั้ง ๑๕ – ๑๖ ครั้งนะ อันนี้แหละถือว่าผ่านแล้ว ถ้าเราไม่ผ่าน ลักษณะอย่างนี้ไม่มี
ถาม แล้วถ้าเราอธิษฐานทุกครั้ง มันจะเกิดทุกครั้งหรือเปล่าครับหลวงพ่อ
ตอบ อันนี้แล้วแต่สมาธิ ตัวที่จะพาให้เกิดคือสมาธิ ถ้าสมาธิของเรามันพร้อม มันก็เกิด ถ้าสมาธิไม่พร้อม คือสมาธิมันอ่อน มันก็ไม่เกิด เวลาเราทวนญาณก็เหมือนกัน เพราะว่าเราปฏิบัติมาแล้ว สมาธิของเรามันเต็ม มันก็จะปรากฏ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติมา อย่างน้อยที่สุด ๗ วัน ยังไม่เกิดนะ ยังไม่เห็นอาการ ยังไม่ได้เกิด
ถ้ามันผ่านพ้นประมาณสัก ๑๕ วัน เวลาเราทวนญาณเข้าไปมันก็อาจปรากฏ คือว่ามันเร็ว เรียกว่าปฐมมรรคนี่มันเร็ว มันผ่านไว ผ่านไปเร็ว บางทีเวลาเราไปทวนญาณนี่ มันก็ไม่ค่อยชัด คือว่าสมาธิของเราไม่พอ มันยังไม่เต็มอัตราส่วน แต่ถ้าสมาธิพอ เหมือนกับที่เราท่านทั้งหลายทวนญาณกันอยู่นี่ มันก็ดูกันสบายๆ เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะว่าสมาธินี้มันเป็นพื้นฐานที่จะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ถาม อยากจะรู้ว่า ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนานี้ จำเป็นจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกถึงระยะที่ ๖ ตลอดเวลาหรือเปล่า
ตอบ ไม่ต้องหรอก อยู่ที่ว่าสติของเรามันดี ที่ผ่านๆมานี่ หลวงพ่อกำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ (ระยะที่ ๓ ที่ ๔) ส่วนมากหลวงพ่อทำไม่ค่อยได้ (ได้แต่)พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ ส่วนมากหลวงพ่อทำได้เพียงระยะ ๓ นี้เท่านั้นแหละ ๖ ระยะนั้น มันก็ทำได้อยู่ แต่มันทำได้พักหนึ่งมันก็เลิก คือมันก็หยุดทำ มันก็เหลือแต่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ ส่วนมากหลวงพ่อเหลือแต่ พองหนอ ยุบหนอ
แต่ว่าข้อสำคัญคือ สติของเราดีแค่ไหน ถ้าสติดีมันก็ใช้ได้ หลวงพ่อพูดเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป[3] เพราะความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นสายกลาง ความเป็นกลางของเรามันอยู่ตรงไหน เรียกว่า ในพองหนอยุบหนอ ๖ ระยะนี่ ชวนะของเรามันก็ไม่ทัน มันไม่พอ มันก็แล้วแต่ความพอดีของเรา บางทีมันยาวไป มันเหนือความพอดีของเรา
หลวงพ่อใช้เพียงแค่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอๆ เพียงเท่านี้ หรือบางที่มันหนักเข้าๆ สภาวะมันเร็วขึ้น มีแต่พอง มีแต่ยุบ พอมันเร็วถึงที่กำหนดไม่ไหว ได้แต่ รู้หนอๆ เข้าใจไหม ไม่ใช่ว่ากางแบบออกไปเลย นั่นมันเป็นหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้พวกเรา
แต่ว่าพวกเราทั้งหลายต้องใช้คำว่า อาสวักขยญาณ ปัญญารู้ทัน รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ทำอย่างไรมันจึงจะหมดจะสิ้นไป นี้อยู่ที่ความฉลาดของเรา บางทีเราว่า พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ แล้วใจจะขาดตาย เราต้องฉลาดในอุบาย ในการกำหนด บางทีก็ สัมมาอะระหังๆ มันก็อยู่ที่ความพอดีของเรา บางทีก็ไม่เลย ไม่พองหนอยุบหนอเลย เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้น อย่างนี้ก็ไปได้
สรุปได้ว่า ถ้าเรารู้หลักการ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ทำตามจังหวะต่างๆ ตามวิธีการของการบริกรรมทุกสิ่งทุกอย่าง ตามหลักวิชาการหมดทุกอย่างก็ยังได้ แต่ต้องมีสตินะ บางทีหลวงพ่อทดลองให้เขานั่งอยู่ ให้เพ่งแต่ดิน เพ่งอยู่นั่น เพ่งอยู่ตลอดเวลา มันก็ดับได้
บางครั้งภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่เราไม่อยากตายจริงนะ เรามีสติสัมปชัญญะ มันก็ดับได้ อันนี้เรียกว่า มันอยู่ที่สติของเรา อาจารย์บางท่านกำหนด ไหวนิ่งๆ หรืออวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งมันเคลื่อนไหว ส่วนมากเขาใช้มือบริกรรม ไหวนิ่งๆ มันก็ไปได้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติที่เห็นแล้วจะไม่กล่าวว่า สำนักนั้นไม่ดีๆ สำนักนั้นดี ไม่ใช่ มันยังไม่ถูก หมายความว่า จุดหมายปลายทางของเราอยู่โน้น อยู่ที่ดับกิเลสตัณหา ดับทุกข์ มันอยู่โน้น เราจะทำอะไร เดินได้ด้วยวิธีไหน มันก็ไปถึงจุดนั้น เรียกว่า ผ่าน เดินไปมันก็ไปๆ ตามทางไป มันผ่านอย่างนั้น มันก็ถึงจุดหมายปลายทางเหมือนกัน
ก็เหมือนที่หลวงพ่อพาโยมมาปฏิบัติ บางทีมันได้ ๒๔ ชั่วโมงแล้ว สอบอารมณ์ดู โอ มันผ่านไปไม่ได้ มันได้แต่ฌาน เมื่อมันมีแต่ฌานแล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เวลาก่อนนั่งสมาธิไม่ต้องอธิษฐานนะ ไม่ต้องว่า ขอให้สมาธิของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป เท่านั้นนาที เท่านั้นชั่วโมง ไม่ต้องว่านะ ให้เอาอย่างนี้เลย คือต้องสังเกตว่ามันจะเข้าสมาธิไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ให้สังเกต ผู้ที่ได้ฌานอยู่แล้วนี้ เวลาจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมันง่ายๆ แว้บเดียว
เพราะอะไร? เพราะว่า สมาธิของเรามันเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ในขณะที่ผ่านๆมานั้น เราก็มีพระไตรลักษณ์อยู่แล้ว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรามีอยู่แล้ว มันมีอยู่ แต่ว่าเราเพลินในฌาน มีการเพลินไปๆ สนุกสนานไปเรื่อยๆ แต่ทีนี้เรามาตั้งใจใหม่ว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เวลาจะเข้าสมาธิหรือจะเข้าฌานนั้น ไม่ต้องอธิษฐานนะ พยายามจำสภาวะให้ได้ว่า เวลาเข้าสมาธิ เข้าฌาน มันจะเข้าสมาธิหรือเข้าฌานไปตรงจุดไหน ตอนไหน เราจะจำได้ไหม ถ้ามันจำได้ ทำถูก ก็ถือว่าใช้ได้
หลวงพ่อท้าเลยว่า ถ้ามัคคจิตผลจิตไม่เกิด ต่อให้เทวดาพูด มันก็ไม่ถูก เพราะว่าถ้ามัคคจิตผลจิตไม่เกิด มันไม่มีโอกาสที่จะจำได้เลย
เพราะอะไร? เพราะสติยังไม่สมบูรณ์มันก็จำไม่ได้ แต่ถ้าว่าสติของเราสมบูรณ์ อินทรีย์ ๕ มันสมบูรณ์ มันก็จำได้ เพราะมันเป็นมัคคสามัคคี มันรวมกันเลย เมื่อสภาวะทั้งปวง (คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗) มีสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ มารวมกัน พอเกิดมัคควิถี มันก็จำได้ทันที
หลวงพ่อเคยบอกว่า การดับนั้นมี ๕ ประการ คือ
๑. ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ จิตและเจตสิกของเรามันสงบมาก ดิ่งเข้าไปๆ ดับพั้บไป แต่เราจำไม่ได้ นี้เรียกว่าดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ
๒. ดับด้วยอำนาจของปีติ เดินอยู่ นั่งอยู่ เรากำหนดไปๆๆ ปีติบางอย่างมันเกิดขึ้น ก็สงบไป บางอย่างก็ผงะไป อันนี้มันดับพร้อมกับปีติ
๓. ดับด้วยอำนาจของสมาธิ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ เราทำได้สบายๆ กำหนดได้สบายๆ ดับพรึ้บไปเลย แต่พระไตรลักษณ์ไม่มี ไม่ปรากฏ
๔. ดับด้วยอำนาจของอุเบกขา บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่นั้น เรานั่งไปๆ จิตใจมันเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ เพลินไปๆ สงบไปๆ กำลังเพลินอยู่นั่นแหละ สงบลงไป อันนี้คือดับด้วยอุเบกขา
๕. ดับด้วยอำนาจถีนมิทธะ เวลากำหนดพองหนอยุบหนอ ก็ตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา นั่งไปๆ มันง่วง นั่งไปๆ สงบลงไป แล้วก็ตาใสขึ้นมา ผลสุดท้ายเลยไม่อยากนอน อันนี้มันดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ
ดังนั้น จึงให้ตัดสินใจเอาเองว่า เออ บัดนี้ความโกรธมันยังเหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ ความอยากได้ยังอีกกี่เปอร์เซ็นต์ ความโง่ คือไม่รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี่ยังอีกกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราที่มาปฏิบัติธรรมถึงปานนี้ รับรองว่าอย่างน้อยๆนี่ ๖ ชาติ ๗ ชาติ ไม่ตกนรก
ถาม เวลาที่เราอธิษฐานทวนญาณ สภาวะจะเกิดทุกอย่างเลยหรือเปล่าครับ
ตอบ ถ้าเราอธิษฐานอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะตอบสภาวะอย่างนั้นขึ้นมา มันอาจจะคล้ายคลึงกัน คล้ายๆกัน ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเราอธิษฐานแล้วไม่มีอะไรเกิดเลย ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเราทวนเข้าไปๆ เออ อันนั้นมันเกิดอย่างนั้นเกิดอย่างนี้ นี่ก็ใช้ได้
บางทีมันปรู๊ด ไปถึงญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ มันจะแก่กล้าถึงที่แล้ว มันผ่านวูบ แวบเดียวเท่านั้นนะ บางที ๕ นาที มันครบวงจรแล้ว บางทีเรายังรู้อยู่ๆ มันก็ค่อยไปๆ บางทีรู้สึกตั้งแต่ญาณที่ ๔ เหลือจากนั้นมันไม่รู้เลย โน้น ไปรู้ญาณที่ ๘ ญาณที่ ๙ ญาณที่ ๑๐ มันไปรู้โน้น มันเร็ว ถ้ามันเกิดก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
ถาม ถ้าเราไม่เคยสร้างบารมีมาก่อน ต้องใช้เวลาทำความเพียรนานสักเท่าไหร่ครับ
ตอบ ตามหลักฐานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน[4] ๔ ว่า ๗ ปี ผู้ปฏิบัติธรรมที่บารมีมันน้อย ต้องปฏิบัติไปโน้น ๗ ปี แต่ถ้าบารมีเราไม่มีเลย มันก็ไม่ได้บรรลุ
หรือว่าท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิ เมื่อเวลาเจริญกัมมัฏฐานไป จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ก็จบลงแค่นี้ เจริญกัมมัฏฐานอยู่จนวันตายมันก็อยู่แค่นี้ แม้ชาติหน้ามาปฏิบัติอีก มันก็เริ่มตั้งแต่ญาณ ๔ ไปถึงญาณที่ ๑๑ มันก็ยังไม่บรรลุ เพราะอะไร? เพราะว่าเราปรารถนาพุทธภูมิ ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเสียก่อนมันจึงจะได้บรรลุ
ถาม สำหรับผู้ที่ไม่มีบารมีทางสมาธิทางสมาบัติ ต้องใช้ความเพียรในการปฏิบัติอยู่นานแค่ไหนครับ
ตอบ ถ้าไม่สร้างบารมีมา กะคือจั่งคนพายติบข้าวเปล่า (เหมือนกับคนสะพายกระติบข้าวเปล่า) ลูกศิษย์บางรูปนะ ปฏิบัติอยู่ บอกว่าชาตินี้บ่อเอาดอก ชาติหน้าชาติใดแสดงฤทธิ์ได้เก่งค่อยเอา
ถ้าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาทางสมถะมาก่อน ถึงอย่างไรๆมันก็เกิด ส่วนมากเวลาปฏิบัติ มันพั้บ เอาละ เกิดแล้ว นี่มันเกิดแล้ว แต่ถ้าเราไม่เคยสร้างสมอบรมบารมีมา ฌานมันก็ไม่เกิด เป็นประเภทสุกขวิปัสสกะ บรรลุโดยแห้งแล้ง มันก็มีเท่านั้นแหละ
ถาม คนที่เข้าสมาธิ(ฌาน)ได้นานกว่าเพื่อน เช่น ๓๐ นาทีก็ดี ๑ ชั่วโมงก็ดี หรือ ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ผลจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนครับ เกี่ยวกับการเกิดอภิญญา
ตอบ เราก็มีความสุขหลายกว่าหมู่ (มีความสุขกว่าเพื่อน) สบายกว่าหมู่ เวลานั่งก็ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เกร็ง นั่งไปมีความสุขสบายๆ เพราะว่าฌานมันมีกำลังภายในอยู่
ส่วนเรื่องอภิญญาจิต หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้การเกิดการตายของคนอื่นบุคคลอื่น สำหรับพวกเรียนอภิญญาจิต เมื่อเราไม่เคยสร้างสมบารมีมาเลย ไม่เคยอธิษฐานในเรื่องอภิญญา วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ เราไม่เคยอธิษฐานมาก่อนเลย บอกให้เกิดมันก็ไม่เกิด เราไม่มีมูล ไม่มีมูลเก่า เห็นไหม คนบางคนพอนั่งสมาธิไปๆ ก็เห็นผีแล้ว
หลวงพ่อว่า เห็นพวกเผิ่นนั่งเห็นผี อยากให้มาปฏิบัติ ทำไมถึงอยากให้มาปฏิบัติ เพราะว่าเราจะได้อาศัยการทำงาน ช่วยกันทำงาน เพราะว่าพวกที่เคย บ้านเราว่า นั่งธรรม ถ้ามันนั่งได้จริงนี่ เวลามาปฏิบัติกัมมัฏฐาน โอย แจ้งจ่างป่างเลย นั่งหมดวัน ยุงตัวเดียวก็ไม่กัด
ถาม ขอโอกาสถามหลวงพ่อถึงวิธีแก้ความกำหนัดซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปฏิบัติพระกัมมัฏฐานว่า ควรทำอย่างไร
ตอบ เอาอย่างนี้ สำหรับราคะกับพระกัมมัฏฐาน ถ้าพิจารณาพระกัมมัฏฐานแล้วผ่านไปได้ ถ้าเราตั้งใจ มันก็ผ่อนลดลงไปได้ แต่ถ้าคิดว่าจะตัดทิ้ง มันก็ยังไม่หมด ถ้าเราไปตัดอวัยวะเพศทิ้งมันก็ยังไม่หมด เพราะอะไร เพราะเชื้อมันยังมีอยู่
เพราะฉะนั้น วิธีของเรา หลวงพ่อก็ให้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน เอาซากศพมาเป็นอารมณ์บ้าง เอาร่างกายมาเป็นอารมณ์บ้าง มันก็จะผ่อนลงไปๆ หรือว่าเราจะหนีเข้าสมาธิไป มันก็บรรลุได้ หากว่าเรารู้สึกตัวขึ้นมาแล้วมันยังไม่เกิด แต่เมื่อเราประสบกับอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันก็เกิดขึ้นอีก
แต่ถ้าเราตั้งจิตตั้งใจ ตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา อารมณ์เหล่านั้นมันก็รบกวนเราไม่ได้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือเราไม่ได้ดำริ เมื่อไม่ดำริ ความกำหนัดก็ไม่เกิด แต่ถ้าเราดำริมันก็เกิดขึ้นทันที โอ้ คืองามแท้ เออคนนั้นสวย คนนี้สวย ตาก็สวย แก้มก็สวย อะไรๆก็สวย เพียงแค่นึกว่าคนนั้นสวยนา มันก็มีอาการขึ้นมา ถ้าเราไม่ดำริ คือไม่ปลุกมันก็ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าเท่าที่สังเกต ที่สำคัญๆ ลักษณะเช่นนี้มันจะเกิดตอนเช้า ตี ๓ ตี ๔ มันจะเกิดขึ้นมาทันที หรือตอนกลางคืนดึกๆ มันจะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมา
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเรา พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วให้รีบลุกขึ้นจากที่นอนทันที แล้วไปอาบน้ำชำระร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า แล้วก็ไปทำงานทำการ นี่เราต้องแก้มัน
ถาม ทำไมอุปกิเลส ๑๐ ถึงเกิดได้ครับ
ตอบ อันนี้หลวงพ่อไม่เฉลย ท่านเรียนจนเป็นมหาเปรียญแล้ว มหาก็จบแล้ว นักธรรมเอกก็จบ หลวงพ่อไม่เฉลยนะ อุปกิเลสอะไรๆนั้น สมัยปฏิบัติอยู่ปีก่อนโน้น บางองค์อุปกิเลสแกล้วกล้าที่สุด ตกลงเอาเอง ว่า(ตน)สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อก่อนบอกว่า ผมสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ครูบาอาจารย์รูปใดๆจะมาเทศน์มาบอกให้ก็ไม่ยอมฟัง หลวงพ่อโขกเอา เออ มันไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์นะ มันเป็นพระจับหัน อาจารย์พระครูของท่าน จะไปเทศน์อย่างนั้นเทศน์อย่างนี้ก็ไม่ยอมฟัง ยังว่า ผมสำเร็จอรหันต์แล้ว
ถาม ถ้าเคยปฏิบัติแล้วว่างเว้นไปนาน หลังจากปฏิบัติเวลาผ่านไป ๗ ปี ญาณยังคงรวบรวมอยู่ไหมครับ
ตอบ ตลอดเวลา เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปนามอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ถึงเราไม่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเราไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราไม่กำหนด มันก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มันจึงรู้ รู้ว่ามันอย่างนี้ๆอยู่ตลอดเวลา
ถาม กราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ การอธิษฐานให้จิตแน่นิ่งไป ในเวลาที่แน่นิ่งตลอด ๒ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง บางทีนั่งไป ๙ ชั่วโมงก็มี ๑๒ ชั่วโมงก็มี ๕ – ๖ ชั่วโมงก็มี แต่มันยังไม่ดับเลย ถือว่าใช้ได้ไหมครับ
ตอบ ใช้ได้ บางทีสมาธิของเราดี เพียงแค่ปฐมฌานอย่างเดียวมันก็อยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกัน ทุติยฌานก็อยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงคือกัน ตติยฌานก็อยู่ได้ ๒๔ ชั่วโมง
แต่มีข้อสำคัญว่า ความเพียรของเรา สติของเรา สมาธิของเรา มันพอไหม ถ้าพอก็ใช้ได้ บางคนนั่งสมาธิได้แต่ฌานที่ ๑ อยู่นั่นแหละ หมดพรรษาจึงข้ามได้ก็มี แต่ถ้ามันมีแล้ว หน้าที่ของเราคือพยายามทำให้สมาธิมันดีขึ้นๆ เพิ่มขึ้นๆ มันก็จะขยับขึ้นไปฌานที่ ๒ ที่ ๓ ไป
ถาม เวลาเรานั่งไปครับ มันขาดความรู้สึกไป แล้วรู้สึกตัวขึ้นมาอีกที เวลามันผ่านนานไปแล้ว จำไม่ได้ว่ามันเป็นตอนไหน มันดับหรือเปล่า นี่เป็นการดับไหม
ตอบ จิตมันเข้าสมาธิไป ทีนี้มันจะเข้าเร็วหรือช้า มันก็แล้วแต่สมาธิของเรา บางทีก็โน้น ขาดความรู้สึกไปเป็น ๓๐ นาทีก็มี บางท่านก็ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที ก็แล้วแต่ บางท่านก็ดับไปโน้น ๑ ชั่วโมง รู้สึกตัวขึ้นมา โอ มัน ๑ ชั่วโมงแล้ว มันเป็นสมาธิ ถ้าการปฏิบัติเคยผ่านปฐมมรรคมา มันก็เป็นผลสมาบัติ
ถาม กระผมมีความไม่สบายใจ (ที่ได้เคยรู้สึกหรือคิดในแง่ไม่ดีต่อครูบาอาจารย์) กราบขออภัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และขออภัยเพื่อนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยครับผม
ตอบ เท่านั้นหรือ มีแต่ขออภัยๆ ถ้าในเรื่องในสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว ไม่เป็นไรดอก ครูบาอาจารย์ให้อภัยอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะให้อภัยครูบาอาจารย์ไหม
ถ้าครูบาอาจารย์ให้อภัย เราก็ต้องให้อภัยท่านเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จึงจะใช้ได้ ส่วนมากเวลามาประพฤติปฏิบัติ ก็จ้องจับผิดครูบาอาจารย์ นี่เบอร์ ๑ เลย ถ้าจับผิดครูบาอาจารย์ เราปฏิบัติผ่านไปไม่ได้ เพราะจิตใจไม่ตรงกัน มันใกล้ครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา จิตใจไม่ตรงกัน ไปไม่ได้ ถ้าจิตใจมันตรงกัน มันก็ไปตามวิถีไปเรื่อยๆ
ลูกศิษย์ลูกหามาปฏิบัติหลายๆท่าน เวลาปฏิบัติหลวงพ่อทักเอาเรื่อยว่า โอย ทำจิตใหม่ ให้ทำจิตทำใจใหม่หน่อยเถอะ อย่ามีแต่หมั่นไส้หลวงพ่อ หมั่นไส้ครูบาอาจารย์ตลอดเวลา มันไปไม่ได้หรอก
เขาเลยสะดุ้งขึ้นมาว่า เอ๊ะ หลวงพ่อรู้เรานี่ มันลักษณะอย่างนี้ ถ้าจับผิดครูบาอาจารย์ ส่วนมากมันไปไม่ได้ เพราะจิตใจมันไม่ตรงกัน มันค้านกันอยู่ตลอดเวลา
หลวงปู่ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ถ้าภาษาบ้านเราว่า ซอมอารมณ์ มีแต่นั่งเบิ่ง นั่งเบิ่ง นั่งไปนั่งมา เดี๋ยวภาวนา พองหนอ ยุบหนอๆ เอ้า นั่งไปนั่งมา เดี๋ยว(เปลี่ยน)ภาวนา สัมมาอรหังๆ นั่งไปนั่งมาก็ว่า ไหวนิ่งๆ
หลวงพ่อเลยเตือนว่า หลวงปู่ อย่าภาวนาหลายคำหลาย(หลายอย่าง) เดี๋ยวก็จับนั่นใส่นี่ เดี๋ยวจับนี่ใส่นั่น มันไปไม่ได้ หลวงปู่ค่อยได้สติ แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติต่อ
ถาม เมื่อช่วงปฏิบัติในฤดูหนาวปีที่แล้ว ที่นาห้วยแดง เจอเหตุการณ์ว่า เด็กนักเรียนที่เข้ามาประพฤติปฏิบัตินั้น สามารถเข้าสมาธิได้ แต่ว่าอาการของสมาธินั้น มีอาการแสดงลักษณะอาการต่างๆ เด็กบางคนเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสือ บางคนเข้าใจว่าเป็นกบ บางคนเข้าใจว่าเป็นวัว แล้วที่เข้าใจว่าเป็นวัวกระทิง ลุกขึ้นชกครูบาอาจารย์ ทั้งที่ยังหลับตาอยู่ ไม่ทราบว่า อาการเหล่านี้เกิดจากเหตุอะไรครับ
ตอบ มันมีเหตุมีปัจจัย อุปาทานจิตมันเกิดขึ้น ถ้าจะพูดว่าเป็นกรรมที่เขาสร้างไว้อย่างนั้น เขาสร้างไว้อย่างนี้ มันก็นานจบ(ไม่จบง่ายๆ) ถ้าจะว่าเป็นไปตามกรรมๆ มันนานจบ เพราะเรื่องกรรมนี่มันเป็นอจินไตย ถึงเราจะว่าอย่างไร คนเขาก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าเราพูดว่า อุปาทานจิต มันก็หมดเรื่องแค่นี้
เมื่อก่อน เวลาปฏิบัติ หลวงพ่อปล่อยเลย อยู่ในโบสถ์นั่น ปิดโบสถ์ไว้เลย บางทีมันก็ร้องเป็นหมู อู๊ดๆ บางทีก็เป็นเสือ มันร้องเป็นเสียงเสือเลย บางทีก็เป็นช้าง บางทีก็เป็นวัว ปีที่แล้วทั้งเตะทั้งต่อยพระอาจารย์กรรมทั้งชั่วโมง บางทีขี้เกียจไปยุ่ง หลวงพ่อปล่อยไปเลย ปล่อยไปๆ เวลามันถึงที่มันก็หายเองมัน
ถาม อาการอย่างนี้จะแก้อย่างไร หรือปล่อยไปเลย
ตอบ มันไม่ยาก มันสั่นมือ หรือไม่สั่น
ถาม สั่นครับ สั่นไม่หยุด สาวหมัดใส่เรา จะแก้อย่างไรดี
ตอบ จับมือเลย จับให้แน่น บอกว่า เอ้า ตั้งสติ หยุด ถ้ามันไม่หยุด ตบแรงๆมันก็หยุด ทำไมมันจะไม่หยุด อย่างพระที่อยู่นาหนองตาลนั้น เริ่มตั้งแต่เช้าเลย ยังไม่ได้ฉันเช้า ทำวัตรเสร็จก็เอาแล้ว มันสั่นๆ จนเพลก็ไม่ได้ฉัน มาทำวัตรตอนค่ำก็ยังไม่หาย
เขามารายงานหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ มันไม่หาย ถามว่า หมดแล้วหรือ หมดวิชาแล้วหรือ เขาว่า หมดแล้วหลวงพ่อ หลวงพ่อก็เดินไป เดินไปถึงก็ว่า เอ้า ตั้งสติ หยุด! ลืมตาขึ้นมา เท่านั้น ต้องฉลาดแก้อารมณ์
ถาม สมัยก่อน ตอนอายุยังน้อยๆ ผมนั่งอยู่ ขณะนั้นจิตมันนิ่งแล้วปรากฏภาพนิมิตเป็นรูปภูเขาลอยเข้ามาในตัวของเรา ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ มันเป็นอาการของอะไร
ตอบ อ้าว ตัวเองก็ปฏิบัติมาแล้วนี่ ไม่จำเป็นที่จะต้องถาม อันนี้มันเป็นสภาวะบุญที่เขาสร้างสมอบรมมาแล้ว ที่นั่งๆกันอยู่นี่ มันจะเป็นอย่างไรๆ มันเป็นที่บุญกรรมที่เขาสร้างสมอบรมมาแล้ว บางทีมันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ๆ คือว่ามันมีอุปนิสัย สิ่งที่เกิดมา แล้วแต่มันจะแสดงอาการ
อันนี้มันไม่ได้เป็นมรรคเป็นผลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอุปนิสัยที่เคยสร้างสมอบรมมา ก็บอกเขาสั้นๆว่า เออ เป็นอุปนิสัยที่เคยสร้างสมอบรมมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน อันนี้เป็นอย่างนี้ แต่เราอย่าพูดออกไปว่า ชาติก่อนนั้น เจ้าทำอย่างนั้น ชาติก่อนทำอย่างนี้ ชาติก่อนโน้นเคยเป็นลูกเป็นผัวกัน อย่างนั้นอย่างนี้ เสร็จกันแหละ
บางทีคนที่มาหาหลวงพ่อนั้นเป็นร้อยๆคน พอมาหาก็ว่า เมื่อภพก่อนชาติก่อน เคยเป็นเมียหลวงพ่อ อย่างนั้นอย่างนี้ หลวงพ่อก็เฉย เมียก็เมีย ผัวก็ผัว แล้วแต่จะว่า หลวงพ่อก็ไม่ได้เฉลย เฉย จะว่าเมียก็เมีย จะว่าผัวก็ผัว ว่าไป แต่จะมาเฮ็ดสะเอาะสะแอะนำเฮาบ่ได้ แต่ส่วนมาก (พระเรา) พอเขามาพูดอย่างนี้ และเขาก็สวยด้วย พูดถูกจริตด้วย ก็ทึกทัก (เชื่อไปตามที่เขาว่า) มันเลยไปกันใหญ่
เอาละ หลวงพ่อขอปวารณาไว้เป็นการส่วนตัว มีอะไรๆที่เกิดขึ้นภายหลัง มีความสงสัยอย่างนั้นสงสัยอย่างนี้ หลวงพ่อขอปวารณา ถามหลวงพ่อได้ตลอดเวลา
สำหรับวันนี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา หลวงพ่อขออนุโมทนาสาธุการที่ท่านนักปฏิบัติธรรมและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้มีโอกาสมีเวลาพูดจาปราศรัยกัน แล้วก็อะไรที่ขาดตกบกพร่องไป หลวงพ่อก็ขออภัยท่านทั้งหลาย
ขอให้ท่านทั้งหลายได้ดำเนินวิถีชีวิตไปด้วยความสดชื่นสมหวัง
ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล จนถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพานด้วยกันจงทุกท่านๆ
เทอญ.
[1] อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง อายตนะ ๑๒ เล่มที่ ๔
[2] วินย. มหาวิภงฺโค ๑/๒๓๒/๑๗๒
[3] คือฉลาดในการปฏิบัติ, รู้จักยักย้ายวิธีการเพื่อประหารกิเลส
[4] สุตฺต ที. มหาวคฺโค ๑๐/๓๐๐/๓๔๕-๖