นามรูปปริจเฉทญาณ – ปัจจยปริคคหญาณ

นามรูปปริจเฉทญาณ – ปัจจยปริคคหญาณ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

       วันนี้จะพูดเรื่อง นามรูปปริจเฉทญาณ คือเมื่อเราทั้งหลายตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์

       เมื่อใดสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปเห็นนาม ว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้วก็สามารถที่จะแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

       เช่นเวลาเรากำหนด “ยืนหนอๆๆ” นี้ เราต้องรู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เมื่อเรากำหนดว่า “ยืนหนอๆ” ยืนเป็นรูป รู้เป็นนาม “อยากเดินหนอๆ” อยากเดินเป็นนาม เดินเป็นรูป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ขวาย่างซ้ายย่าง เป็นรูป อยากก้าวเท้าขวาอยากก้าวเท้าซ้าย เป็นนาม คือตัวนามนั้นเป็นตัวอยาก “อยากนั่งหนอๆ” อยากนั่ง เป็นนาม นั่ง เป็นรูป “นั่งหนอๆ” นั่งเป็นรูป อยากนั่งเป็นนาม “พองหนอ” พองเป็นรูป รู้เป็นนาม “ยุบหนอ” ยุบเป็นรูป รู้เป็นนาม “ปวดหนอๆ” อาการปวดนั้นเป็นรูป รู้ว่าปวดนั้นเป็นนาม “คิดหนอๆๆ” คิดเป็นรูป คิดหนอเป็นนาม คือใจเป็นผู้อยากคิด

       เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองกับอาการยุบอันเดียวกันหรือคนละอัน “คนละอัน” อาการพองอาการยุบเป็นรูป รู้ว่าพองว่ายุบนั้นเป็นนาม เวลากำหนด “ได้ยินหนอๆ” เสียงเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาจมูกได้กลิ่น “กลิ่นหนอๆๆ” กลิ่นเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาบริโภคอาหาร “รสหนอๆๆ” รสเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลากายสัมผัส ถูกหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ แข็งหนอ อ่อนหนอ อาการที่เกิดขึ้นเป็นรูป รู้เป็นนาม คือรู้ว่ามันเย็น มันอ่อน มันแข็ง มันร้อน มันเย็น ตัวรู้เป็นตัวนาม แต่อาการที่มันแสดงออกมันเป็นรูป

       แล้วก็ในขณะที่กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” กำหนดอยู่นั้นมันแยกกัน เราก็จะรู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม คือในขณะที่เห็นหนอๆ สีที่เราเห็นก็ดี ตาของเราก็ดี เป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาหูได้ยินเสียง “ได้ยินหนอๆ” เสียงก็ดี หูก็ดี เป็นรูป ใจที่รู้นั้นเป็นนาม จมูกได้กลิ่น เรากำหนดว่า “กลิ่นหนอๆๆ” กลิ่นเป็นรูป จมูกก็เป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม เวลาเราได้รับรสอาหารว่า “รสหนอๆ” รสอาหารก็เป็นรูป ลิ้นก็เป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม เวลากายถูกต้องอาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง เรากำหนดว่า “อ่อนหนอ” “แข็งหนอ” “ร้อนหนอ” “เย็นหนอ” อาการเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม

       เมื่อเราทั้งหลายเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่า เราได้ลุถึงญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ทีนี้สภาวะที่ ๑ นี้ท่านแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

       ๑. รูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้

       ๒. นามปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกนามออกจากกันได้

       คือหมายความว่าเราแยกออกเป็นชิ้นๆๆ เวลาเรากำหนด “คิดหนอๆ” ตัวคิดนั้นเป็นนาม เวลาทำบุญก็เหมือนกัน ขณะที่เราทำบุญ ใจที่อยากทำบุญนั้นเป็นนาม ในขณะที่เราทำบุญอยู่นั้น วัตถุต่างๆ ที่เราใช้ทำบุญเป็นรูป

       สรุปแล้วท่านทั้งหลาย เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านั้น มีของสองอย่างเท่านั้น คือ มีรูปกับนามเท่านั้น เมื่อเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานรู้และเข้าใจอย่างนี้ หากว่าเราตายไปในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปีก็ดี จึงจุติคือตายไป เมื่อตายไปในขณะตายนั้นเรามีรูปมีนาม ไม่เผลอจากรูป จากนาม คือ อาการพอง อาการยุบ ที่เรากำหนดอยู่ในขณะนี้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้จุติแล้วคือตายแล้วเราก็จะไม่ไปอบายภูมิ คือไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสุคติตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ หากมาเกิดในมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ ยินดีในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี แล้วก็จะได้นั่งใกล้พระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม จะได้รู้ธรรม

       นี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระกัมมัฏฐาน เริ่มตั้งแต่เจริญพระกัมมัฏฐาน หากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราก็ถือว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตตั้งแต่วันนี้ถึงวันตาย หากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปสู่สุคติภพได้ เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปอีก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป เมื่อสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์แล้ว สมาธิของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ขึ้นตามลำดับๆ คือความรู้จะเพิ่มปริมาณขึ้นไปเรื่อยๆ ความรู้นี้จะเฉียบแหลมคมคายขึ้นไปเรื่อยๆ จนสามารถเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมันก็เห็นขึ้นมา สิ่งใดที่ไม่รู้ก็จะรู้ขึ้นมา สิ่งใดไม่เข้าใจก็จะเข้าใจขึ้นมา

       เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานมาถึงอันดับที่ ๒ นี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม ท่านเรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม เช่นเวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการยุบนั้นเป็นรูป สมมติว่าเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นี้ จนอาการพองมันพองขึ้นมา คือมันพองขึ้นมาแล้วเราจึงรู้ทีหลังนี้เรียกว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปของนาม คือใจที่รู้นั้นเป็นตัวเหตุ อาการพองที่มันเกิดขึ้นมาทีหลังนั้นเป็นตัวผล มันมีเหตุมีผลขึ้นมาแล้ว เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน บางครั้งใจของเรามารอคอยอยู่ก่อนแล้วขาของเราจึงก้าวไป อย่างนี้เรียกว่านามเป็นเหตุ รูปเป็นผล แต่บางครั้งรูปเป็นเหตุนามเป็นผล คือเท้าของเรามารอคอยอยู่ก่อนแล้วเราจึงรู้ทีหลัง นี้เรียกว่ารูปเป็นเหตุนามเป็นผล มันวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่เราผู้ปฏิบัติเราจะไม่รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุ อันนี้เป็นผล ไม่รู้ หรือว่าอันนี้มันทันกัน อันนี้มันไม่ทันกัน

       บางครั้งเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นว่ามันกำหนดยาก เช่นนั่งกัมมัฏฐานอยู่มันมีอาการปวดมาก เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆๆ” แล้วก็ “อยากพลิกหนอๆ” ไป อาการปวดนั้นแหละเรียกว่าเป็นรูป ใจที่อยากพลิกเป็นนาม สภาวะที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติบางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” อย่างนี้ อาการพองมันพองขึ้นมาถึงที่แล้วค้างอยู่ไม่ยุบลงไปก็มี บางทีเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” มันยุบลงไปลึกๆ แล้ว ค้างอยู่ไม่ยอมพองขึ้นมาก็มี

       บางครั้งก็มีเวทนามาก เรานั่งกัมมัฏฐานไป มันปวดที่โน้นมันปวดที่นี้อะไรร้อยแปดพันประการ เราผู้ที่มาบวชก็คิดว่า “เอ เรานี้คงไม่มีบุญวาสนาบารมีเสียแล้ว เพราะโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นแก่เราหลายวัน หลายเดือน หลายปีที่ผ่านมามันก็เกิดขึ้นมาอีก เราคงจะทำกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ เราคงไม่มีบุญวาสนาบารมีเสียแล้ว” อย่างนี้ก็มี

       บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานพองหนอยุบหนออยู่นั้น มันสะดุ้งฟุบไปข้างหน้าบ้าง มันสะดุ้งฟุบไปข้างหลังบ้าง บางทีสะดุ้งฟุบไปข้างซ้าย บางทีก็สะดุ้งฟุบไปข้างขวา หรือบางทีจะเห็นอาการพองอาการยุบเป็น ๒ ระยะ คือ ต้นพอง สุดพอง แล้วก็ต้นยุบ สุดยุบ

       ตกลงท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน จุลละ แปลว่า น้อย โสตะ แปลว่า กระแส อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติต่อๆ ไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบัน อุปมาเหมือนกันกับเราไปขุดบ่อน้ำ กำลังเห็นน้ำไหลซึมเข้ามา ถ้าเราพยายามขุดต่อไปก็จะได้น้ำมาก ข้อนี้ฉันใด เมื่อผู้ปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ก็จะได้ความเบาใจได้ที่พึ่งในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท

       ในครั้งพุทธกาลโน้น มีสตรีนางหนึ่งไปฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางก็เอาลูกน้อยไปด้วย ลูกน้อยก็ร้องงอแงกวนแม่อยากกินนม แล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ กลับไปเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่บ้าน เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสว่า “เป็นผู้ได้ที่พึ่งอย่างดีในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน”

       เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลายผู้นั้นถือว่าเป็นจุลโสดาบันแล้วนะ หากว่าเราตายลงขณะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปีจึงตายก็ดี แต่ในขณะที่จะตายนั้นเรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เช่นว่าเรากำหนดว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือ “พุทโธๆ” “สัมมาอะระหัง” บทใดบทหนึ่งที่เราเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ถ้าตายในลักษณะดังนี้ ผู้นั้นตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน อย่างน้อย ๒-๓ ชาติ จุติแล้วก็จะไปสู่สุคติภพตามบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมาเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ แล้วก็จะมีความเลื่อมใสในพระศาสนา จะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม จะได้บรรลุธรรม

       อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนมีความรู้ ความเห็น ความเข้าใจมาถึงอันดับนี้ คืออันดับที่ ๒ ถือว่าเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ ในอันดับที่ ๒ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้มันเป็นอันดับๆๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงอันดับสุดท้าย แต่ที่หลวงพ่อเอามาเล่าโดยสังเขปวันนี้เป็นอันดับที่ ๒ ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงอันดับที่ ๒ นี้แล้วก็ถือว่าได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนาตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน “จุลละ” แปลว่า “น้อย” “โสตะ” แปลว่า “กระแส” “อาปันนะ” แปลว่า “ถึง” หมายความว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติต่อไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบันในวันข้างหน้า

       เอาละ ท่านทั้งหลาย สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะขอพูดโดยสังเขปกถา เพียง ๒ ประการ หากว่ามีโอกาส มีเวลา จะค่อยนำมาชี้แจงให้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง สำหรับวันนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้.