อุทยัพพยญาณ

อุทยัพพยญาณ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

       ๑. บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบของเรามันปรากฏอยู่ข้างนอก มันไปพองไปยุบอยู่ข้างนอก เหมือนกับว่าเป็นคนละกาย บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบมันไปยุบอยู่ข้างหลังของเรา บางทีไปยุบอยู่ข้างขวา บางทีไปยุบอยู่ข้างซ้าย ในขณะนั้นสติของเรามันวิปริต คล้ายๆ กับเป็นบ้า แต่ไม่ใช่ท่านนะทั้งหลาย เป็นลักษณะของวิปัสสนาญาณต่างหาก คือเห็นอาการพองอาการยุบมันดับลงไป ถ้าผู้มีปัญญาดีก็จะเห็นไปถึง ๖ ระยะ มันยุบลงไปเป็นหยักๆ เป็นห้วงๆๆ ลงไปเหมือนกับหายใจไม่พอ เหมือนกันกับหายใจเป็น ๒ จังหวะ ผู้มีปัญญามากจะเห็นในลักษณะอย่างนี้

       ๒. ในขณะที่เราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” นี้ เวลาเรายกขึ้นกับเหยียบลงมันปรากฏชัดเจนดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็เหมือนกัน ต้นพองสุดพองนี้ปรากฏชัดเจนดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น บางทีจะเห็นอาการพองอาการยุบมันขาดๆ หายๆ ไปตามลำดับๆ คือบางทีเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อย่างนี้ จะเห็นอาการยุบมันขาดไปเรื่อยๆ คือมันไม่สม่ำเสมอ อาการยุบมันไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวก็เห็นเดี๋ยวก็หายไปๆ เวลากำหนด “พองหนอ” เหมือนกัน อาการพองเดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็หายไป เรียกว่าอาการพองอาการยุบมันขาดๆ หายๆ ไปตามลำดับ

       ๓. บางทีมีเวทนามาก เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ๕ นาที เจ็บที่โน้นปวดที่นี้เหมือนใจจะขาด เมื่อเรากำหนดมันหายเร็ว ไม่เหมือนกับญาณที่ ๓ ญาณที่ ๓ เมื่อกำหนดแล้วไม่ค่อยหาย กำหนดตั้ง ๗-๘ ครั้งจึงหาย บางที ๑ ชั่วโมงนี้ไม่หายเลย

       สรุปแล้วว่าเวลาเรากำหนดเวทนามันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีเราตั้งใจกำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หรือ “ทุกข์หนอๆ” กำลังจะกำหนดเท่านั้นมันหายวับไปเลย เหมือนกับมีตนมีตัว

       ๔. มีนิมิตมากแต่หายเร็ว เช่นว่าเรานั่งกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้  ภูเขา แม่น้ำลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์อันหุ้มด้วยทองคำอร่ามเรืองก็มี บางทีก็เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวโลก เห็นพรหมโลก เห็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้วเป็นต้น แต่นิมิตนี้มันหายเร็ว เรากำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีเรากำลังจะตั้งสติกำหนด “เห็นหนอๆ” เท่านั้นล่ะหายวับไปเลย

       ๕. สว่างมาก มีแสงสว่างมาก คือแสงสว่างนี้ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ มันจะสว่างเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกันกับแสงหิ่งห้อย แสงเทียนไข วับๆ แวบๆ เกิดแล้วหาย แต่ถ้าว่าถึงอุทยัพพยญาณนี้จะสว่างมาก บางทีสว่างทั้งห้อง บางทีสว่างจนเห็นไฟฟ้า เห็นไฟนีออน เห็นตะเกียงเจ้าพายุ เห็นดวงดาว เห็นดวงจันทร์ เห็นดวงอาทิตย์ แต่แสงสว่างนี้มันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย

       ๖. ผู้มีสมาธิดีจะดับวูบลงไปบ่อยๆ พองหนอ ยุบหนอ ดับวูบลงไป พองหนอยุบหนอ ดับวูบลงไป เหมือนกันกับหายใจไม่พอ เหมือนกันกับตกหลุมอากาศ เหมือนกันกับเราเหยียบบันไดข้ามขั้น เวลาเราลงบันได เราเหยียบบันไดข้ามขั้นมันวาบลงไป เหมือนกับเราตกบันไดมันวูบไปเลย มันวับไปเลย มันขาดช่วงกัน

       ๗. ผู้ปฏิบัติจะสามารถกำหนดติดต่อกันเป็นสายไม่ขาดระยะเหมือนด้ายสนเข็ม คือเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” มันติดต่อกันไปเลย เหมือนกับเราเย็บผ้า ตะเข็บมันติดต่อกันไม่มีการขาดช่วง อันนี้ก็เหมือนกันในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ เมื่อกำหนดไปๆ อาการเกิดดับมันเกิดขึ้นมา ดับพรึบๆๆ ไป พองหนอยุบหนอดับพรึบลงไปๆๆ เหมือนกันกับเราง่วงนอนมาแต่หลายๆ วัน หลายๆ เดือน ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาบางคนก็เห็นว่า เออ สนุก บางคนก็รำคาญ บางทีคล้ายกับภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน นั่งลงไปวับไปๆๆๆ เหมือนกับเราเย็บผ้าดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

       ๘. อาการเกิดดับกับอารมณ์ที่กำหนดนั้นปรากฏชัด กำหนดได้สะดวกสบายดีและมีจิตใจผ่องแผ้วขึ้นอีกเป็นอันมาก คือ อารมณ์ที่เกิดทางตาก็ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี ปรากฏชัด เวลากำหนดก็กำหนดสบายๆๆ แล้วก็จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะผ่องแผ้วขึ้นเป็นอันมาก บางคนเข้าใจว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็เข้าใจว่าตนได้บรรลุแล้ว บางทีเรากำหนด “รู้หนอๆ” ความรู้นี้หายวับไป บางทีเรากำหนด “คู้หนอๆๆ” จะเห็นอาการคู้นั้นหายวับไปทันที เรากำหนดว่า “เหยียดหนอๆๆ” จะเห็นอาการเหยียดนั้นหายวับไปทันทีไม่ติดต่อกัน เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้? เพราะรูปปรมัตถ์ รูปเกิดที่ไหนดับที่นั้น นามเกิดที่ไหนดับที่นั้น เพราะฉะนั้นเวลาเรากำหนดเหยียดแขน เรากำหนดว่า “เหยียดหนอๆๆ” หายวับไป เรากำหนดว่า “ยุบหนอๆๆ” หายวับไป ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่ารูปนามในขั้นปรมัตถ์นี้เกิดที่ไหนดับที่นั้น

       ๙. การปฏิบัติให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจว่า ดีชั่วไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ (๑) ปฏิบัติ (๒) กำหนด เมื่อเราทำได้อย่างนี้การปฏิบัตินั้นจะได้ดีขึ้น

       ๑๐. มีอาการสัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่อำนาจสมาธิ ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบาๆ แล้วแต่อำนาจของสมาธิ อาการที่มันสัปหงกวูบลงไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวานี้เป็นลักษณะของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานเมื่อมาถึงนี้แล้วจะเห็นพระไตรลักษณ์ เริ่มแล้วตอนนี้ คือ พระไตรลักษณ์นั้นจะเห็นครั้งหนึ่ง เห็นอยู่ในญาณที่ ๓ แต่ในญาณที่ ๓ กับญาณที่ ๔ ไม่เหมือนกัน คือ ญาณที่ ๓ อาการพองอาการยุบของเราบางทีมันเร็วขึ้นๆๆๆ คือ อนิจจัง ลักษณะของอนิจจังมันเร็วขึ้นๆๆๆๆ แล้วก็หายไปจางไป นี้อยู่ในญาณที่ ๓ บางทีพองหนอ ยุบหนอ นี้ อาการพองอาการยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป นี้อยู่ในญาณที่ ๓

       บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตาที่ปรากฏอยู่ในญาณที่ ๓ แต่ในญาณที่ ๔ นี้ไม่เป็นอย่างนั้น คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันจะดับวูบลงไปเสียก่อน ที่มันเป็นอย่างนี้เป็นอำนาจของพระไตรลักษณ์ คืออาการที่พองยุบนั้นเร็วขึ้นๆๆ นี้เป็นลักษณะของอนิจจัง บางทีพองยุบฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาดเป็นลักษณะของทุกขัง ขอย้ำอีกที อาการพองยุบสม่ำเสมอดี แล้วก็แผ่วเบาเข้าๆๆ ความรู้สึกของเราน้อยเข้าไปๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไปนี้เป็นลักษณะของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในอุทยัพพยญาณ

       อุทยัพพยญาณนี้เกิดในลักษณะต่างกัน คือ ผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง เช่น ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป อาจจะไปข้างหน้า อาจจะไปข้างหลัง อาจจะไปข้างซ้ายข้างขวา อย่างนี้เรียกว่าอนิจจังปรากฏชัด ดังพระบาลีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า สนฺตติยา วิโกปิฏาย อนิจฺจลกฺขณํ ยาถาวาสรสโต อุปฏฺฐาติ เมื่อใดนักปฏิบัติมาเพิกสันสติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏชัดตามความเป็นจริงดังนี้

       ทุกขัง ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะเห็นทุกขังชัด เช่นว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางคนถึงกับกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” เหมือนดังโยมชีน้องสาวผู้มีบุญสร้างสมอบรมมาแต่ภพก่อนชาติก่อนได้ปรารถนา เกิดชาติหน้าชาติใดขอให้ได้นั่งกินนอนกิน สมัยนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานอยู่บ้านอีเติ่ง เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ยอมปฏิบัติ ก็จะเห็นว่าจะมายุให้ตาย มาทำให้ตาย พอภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป ใจจะขาด มันแน่นเข้าๆๆ มีแต่จะตายอย่างเดียว ตกลงหลวงพ่อเลยบอกว่า “ตายก็ตาย หลวงพ่อจะนั่งอยู่นี้ละ จะดูอยู่นี้ ว่ามันจะตายจริงหรือ ถ้ามันจะตายจริงละก็สาธุอนุโมทนา กลัวแต่ว่ามันไม่ตายจริงเท่านั้นละ” ก็พากันประพฤติปฏิบัติเจริญพระกัมมัฏฐาน ในสมัยนั้นก็มีโยมน้องสาว ๒ คน คือโยมแม่ชีเขี่ยม และโยมแม่เนียม พากันประพฤติปฏิบัติ ใช้เวลาปฏิบัติไม่ถึง ๗ วัน ก็สามารถทำสมาธิได้ ผลสุดท้ายได้มาบวชอยู่ที่วัด อย่างแม่ชีเขี่ยมก็อยู่ตลอดจนทุกวันนี้ แต่สำหรับแม่เนียมนั้นกลับไป เพราะมีครอบครัวอยู่

       นี่แหละท่านทั้งหลาย เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ส่วนมากผู้ปฏิบัติกลัวตาย ไม่อยากปฏิบัติ อย่างหลวงปู่พึ่ง บ้านนาแวง เวลาปฏิบัติมา ไม่ยอม กลัวตาย ถ้าปฏิบัติก็ขอให้หลวงพ่อไปนั่งเฝ้าด้วย ผลสุดท้ายก็ไปนั่งเฝ้า นี้แหละท่านทั้งหลายลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้มีอาการฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เมื่อมันแน่นขึ้นแล้วแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างซ้ายบางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวืบลงไปข้างล่างเหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน นี้ทุกขังเกิดขึ้นมาแล้วมีลักษณะดังนี้

       อนัตตา ผู้ใดได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่โน้นตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้วจะเห็นอนัตตาชัด ลักษณะของอนัตตาเมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้ คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ ความรู้สึกของเราก็น้อยเข้าไป เล็กเข้าไปๆ ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเราอุปมาเหมือนกับเหลือแค่เส้นด้ายเท่านั้น เกือบจะขาดความรู้สึกแต่ยังไม่ขาดความรู้สึก และในขณะมันละเอียดเข้าไปๆๆ น้อยเข้าไปๆๆ ในขณะที่มันน้อยเข้าไปๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวืบลงไปข้างล่าง นี้เรียกว่า อนัตตาปรากฏชัด แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่ทราบ ไม่ทราบว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ทราบแต่เพียงเท่านี้ คือ เราทราบแต่เพียงว่า อ๋อ อันนี้มันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป อ๋อ อันนี้มันฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป เอ๊ะ อันนี้มันสม่ำเสมอดี เมื่อสม่ำเสมอไปตามลำดับๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป รู้แต่เพียงเท่านี้ท่านทั้งหลาย คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้แต่เพียงเท่านี้ เพราะความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปฏิบัติ แต่ถ้าภาคปริยัติไม่รู้อย่างนี้

       เราเรียนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราท่องเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา เป็น ๑๕ วัน เป็น ๑ เดือนก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติแวบเดียวเท่านั้นผ่านไปแล้ว คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ท่านทั้งหลาย เวลาเกิดขึ้นมีเท่านี้ แต่ส่วนมากผู้ปฏิบัติไม่รู้ เพราะครูบาอาจารย์ไม่บอก ไม่บอกว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ท่านไม่บอกเลย ปิดเป็นความลับ เพราะเหตุไร เพราะจะเกิดอุปาทานจิต เมื่อเกิดอุปาทานจิตขึ้นแล้วเกรงว่าจะได้ของปลอม คือ จะได้มรรคปลอม ผลปลอม นิพพานปลอม ฌานปลอม อะไรทำนองนี้ เหตุนั้นท่านจึงไม่บอก ถึงอย่างไรก็ตามถึงไม่บอกมันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำนั่นแหละ

       เหมือนกันกับไมโครโฟนที่หลวงพ่อพูดอยู่นี้ จะมีใครรู้ว่าเป็นไมโครโฟน หรือไม่มีผู้รู้ว่าเป็นไมโครโฟนก็ตาม มันก็เป็นไมโครโฟนวันยังค่ำ ข้อนี้ฉันใด เรื่องพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะรู้หรือไม่รู้ มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำ

       ญาณนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย ถ้าผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญไม่เกิด สมมุติว่าผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด หรือว่าเป็นพระต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด หรือผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ไตรเหตุ คือ ไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ เพียงแต่ให้สำเร็จซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ไม่ได้ปรารถนานิพพานสมบัติ หรือโลกุตตรสมบัติ สภาวะนี้จะไม่เกิด เรียกว่าเป็นทวิเหตุ ไม่ได้ไตรเหตุ เมื่อใดทำบุญครบไตรเหตุแล้ว พระไตรลักษณ์จึงจะเกิดขึ้น เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายเวลาให้ทาน “ทานํ เม ปริสุทฺธํ, นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ, นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” “ทานของข้าพเจ้าบริสุทธิ์แล้ว ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานเถิด” นี้ถือว่าไตรเหตุ ได้ทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และโลกุตตรสมบัติ หรือบางทีว่า “สุทินฺนํ วต เม ทานํ, อาสวกฺขยาวหํ โหตุ” เท่านี้ก็เรียกว่าได้ไตรเหตุ ถ้าทำบุญได้ไตรเหตุอย่างนี้ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ความเกิดดับจึงจะเกิดขึ้น ถ้าว่าทำบุญทำทานไม่ได้ไตรเหตุ สภาวะคือพระไตรลักษณ์ดังกล่าวมาแล้วไม่เกิดเป็นเด็ดขาด

       สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญ ไม่เกิด สมมุติว่าพระไปต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด ผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้วญาณนี้ก็ไม่เกิด ถ้าผู้ใดทำบุญไว้ไม่ได้ไตรเหตุ คือไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ ญาณนี้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าญาณนี้เกิดผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาท นี้เป็นอานิสงส์ของญาณนี้ท่านทั้งหลาย เมื่อถึงญาณนี้แล้วผู้นั้นชื่อว่าเป็นมัชฌิมโสดาบัน เวลาจุติจากอัตภาพนี้ไปเรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เคยภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือว่า “พุทโธ” “สัมมาอะระหัง” หรืออย่างไรก็ตาม จุติแล้วจะไม่ไปอบายภูมิอย่างน้อย ๗ ชาติ

       หรือหากว่าไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา ก็จะได้เป็นเทพบุตรเทพธิดาที่มีศักดานุภาพมาก คือ จะเป็นเทพบุตรก็เป็นเทพบุตรที่มีศักดานุภาพมาก มีอานุภาพมาก ถ้าเป็นเทพธิดา ก็เป็นเทพธิดาที่มีศักดิ์มาก มีอานุภาพมาก หากว่ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า เกิดในตระกูลกุฎุมพี เกิดในตระกูลพราหมณ์ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เป็นคฤหบดีมหาศาล เกิดในตระกูลเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี ไปเกิดในตระกูลพระราชา มหาราชา หรือพระราชาธิราช

       แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลาย ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีสัมมาทิฏฐิ ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ จะเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ จะสร้างสมอบรมแต่คุณงามความดี และจะได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หรือจะได้ฟังธรรมของพระอริยบุคคล แล้วก็ได้รู้ธรรม แล้วก็บรรลุธรรม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ได้พบพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วก็บรรลุธรรม แล้วก็จะได้มาเกิดในกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

       หากว่าเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า ไม่พบพระพุทธเจ้า บังเอิญไปเกิดในกัปที่เป็นสุญญกัป คือไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จหรือตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นี้เป็นอานิสงส์ของอุทยัพพยญาณ

       อาการดับนี้ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะเวลานั่งสมาธินะท่านทั้งหลาย ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ตลอดถึงนอนหลับไปมันก็ยังเกิดอยู่นะ เรานอนหลับอยู่ก็เกิดอย่างนี้ หากว่าเกิดในขณะที่นอนหลับนั้น บางทีเราก็เห็น ในลักษณะที่เรียกว่าฝัน เพราะว่าเวลาจิตของเรามันลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ไปแล้วขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็ลงไปๆ เลยกลายเป็นฝัน เราเห็นความดับในเวลาฝัน นอกจากนี้สภาวะของอุทยัพพยญาณนี้ก็มีมาก

       อันนี้ก็เป็นเพียงสังเขปกถาให้ท่านทั้งหลายไปเปรียบเทียบแล้วก็ไปตัดสินเอาเองว่า เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราลุถึงอุทยัพพยญาณแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าได้แล้วก็สาธุอนุโมทนา หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึงก็พยายามทำต่อไป สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เหลือวิสัย บุญกุศลเราสร้างสมอบรมมาแล้วจึงได้มีโอกาสมาบวชนี้ เมื่อมาบวชแล้วนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้วิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน สภาวะของอุทยัพพยญาณนี้ก็จะเกิด แต่ว่าสภาวะของอุทยัพพยญาณนี้บางทีก็เกิดมาก บางทีก็เกิดน้อย บางทีเกิดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ บางทีก็เกิดเพียงอนิจจัง บางทีก็เกิดเพียงทุกขัง บางทีก็เกิดเพียงอนัตตา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง แต่มันก็มีอยู่ทั้ง ๓ อย่างนั่นแหละแต่มันจะปรากฏชัดอย่างเดียวเท่านั้น บางทีอนิจจังปรากฏชัดแต่ขณะนั้นทุกขังและอนัตตายังมีอยู่ บางทีทุกขังปรากฏชัดแต่อนิจจังและอนัตตาก็ยังมีอยู่ แต่บางครั้งอนัตตาปรากฏชัด แต่อนิจจัง ทุกขังก็มีอยู่ หากว่าอย่างไหนมีมากแล้วก็ปรากฏชัดเราก็ถือเอาอย่างนั้นเป็นเกณฑ์

       เอาละท่านทั้งหลายวันนี้หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมมะ เรื่อง อุทยัพพยญาณ มาให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจ ได้หมดความสงสัย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ.