วัดพิชโสภาราม

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีเนื่องในวันชาตกาลครบ ๘๐ ปี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

ภังคญาณ

ภังคญาณ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

       สำหรับวันนี้หลวงพ่อก็ขอน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ภังคญาณ มาบรรยายถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชี และญาติโยมทั้งหลาย จนกว่าจะสมควรแก่เวลา

       คำว่า ภังคญาณ คือ ญาณที่เห็นความดับของรูปนาม เช่น เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ ในขณะอาการพองอาการยุบเกิดขึ้นนั้น เราจะเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม ไม่เหมือนอุทยัพพยญาณ อุทยัพพยญาณนั้น เกิดก็เห็น ดับก็เห็น แต่ภังคญาณนี้ เกิดไม่เห็น เห็นแต่เฉพาะดับอย่างเดียว เหมือนกันกับฝนที่ตกมาในท้องฟ้า ตกมาครั้งแรกเรามองเห็นเม็ดฝน การที่มองเห็นเม็ดฝนนี้เหมือนกันกับอุทยัพพยญาณ คือเห็นทั้งเกิด เห็นทั้งดับ คือหมายความว่า หยาดฝนนั้นตกลงมาเราก็เห็น มันถึงพื้นเราก็รู้ แต่สำหรับภังคญาณนี้ไม่เห็นเบื้องต้น เห็นแต่ดับ เม็ดฝนก็เห็นเมื่อเวลามันตกถึงที่แล้ว แต่ว่าครั้งแรกฝนนี้มันเกิดจากไหนเราไม่รู้เลย แต่พอเห็นสายฝนมันหลั่งลงมาเราจึงเห็น ข้อนี้ฉันใด ภังคญาณก็เหมือนกันฉันนั้น

       สภาวะของภังคญาณ

       ๑. เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้สุดพองสุดยุบปรากฏชัดเจนดี แต่เบื้องต้นท่ามกลางไม่ชัด เช่นว่าเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อาการยุบนี้ปรากฏชัดเจนดี เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เริ่มยกกับก้าวไปนี้ไม่ชัด แต่เวลาเราเหวี่ยงหรือเหยียบเท้าลงไปนั้นปรากฏชัด บางทีเหมือนกันกับมีอะไรมาค้ำเท้าของเราไว้ เหวี่ยงไม่ลง เหมือนกันกับมีภูติผีปิศาจหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือตัวอะไรมาค้ำเท้าของเราไว้ เหวี่ยงไม่ลง จนเหวี่ยงอย่างแรงหัวคะมำลงไปก็มี หรือบางทีเรากำหนด “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ในขณะที่เราเหวี่ยงเท้าลงไปจะเหยียบ เหวี่ยงเท้าลงไปเหมือนกันกับมีอะไรมาดูดเอาเท้าของเราวูบไปติดแนบกับพื้น เหมือนกับว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออาถรรพ์อย่างใดอย่างหนึ่งมันดูดเอาเท้าของเราไปติดอยู่กับพื้น

       ๒. อารมณ์ที่กำหนดไม่ชัดแจ้ง เช่น เรากำหนด “พองหนอ” อาการพองของเราก็ไม่ชัดแจ้ง กำหนดว่า ”ยุบหนอ” ก็ไม่ชัดแจ้ง เหมือนกันกับหลวงพ่ออธิบายมาเมื่อตะกี้นี้ ซึ่งอุปมาเหมือนกันกับเม็ดฝนนั้น คือ เรามองไม่ชัด หมายความว่ากำหนดอาการพองอาการยุบก็เลือนๆลางๆ พองหนอ คล้ายๆ กับเห็นพองแต่ก็ยังไม่มั่นใจ ยุบหนอ มันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง คล้ายๆ กับเห็นอาการยุบ แต่คิดอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับไม่เห็นอาการยุบ มันไม่ชัดแจ้ง

       ๓. บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบหายไป “พองหนอ” อาการพองก็ไม่เห็น “ยุบหนอ” อาการยุบก็ไม่เห็น จนผู้ปฏิบัติจะกำหนดว่า “รู้หนอๆ” ผลสุดท้ายอาการ “รู้หนอๆ” นั้นก็หายไป

       ๔. คล้ายกับไม้ได้กำหนดอะไร เราเดินจงกรมก็ดี นั่งกัมมัฏฐานก็ดี “พองหนอ” ”ยุบหนอ” ก็ดี คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้กำหนดอะไร คล้ายๆ กับนั่งอยู่เฉยๆ เหมือนกับว่านั่งอยู่ทื่อๆ ไม่ได้กำหนดอะไรทั้งนั้น บางคนจะพิจารณาเห็นหรือคิดว่า เอ๊ะ เรามานั่งอยู่เฉยๆ เราไม่ได้ภาวนาว่ากระไร ไม่ได้กำหนดว่าอะไร มันจะได้บุญที่ตรงไหน

       ๕. พองยุบกับจิตผู้รู้หายไป เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองยุบมันหายไป เรากำหนดว่า “รู้หนอๆ” ความรู้ก็หายไป

       ๖. พองยุบห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอาการพองก็ดี อาการยุบก็ดี มันห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี กำหนดไม่ได้ดี

       ๗. ไม่เห็นสันฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ไม่เห็นสันฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆอยู่ เหมือนกันกับไม่ได้หายใจ เหมือนกับไม่มีอาการพองอาการยุบในขณะนั้น

       ๘. บางครั้งไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองก็ไม่เห็น อาการยุบก็ไม่เห็น เหมือนกับว่าเราไม่ได้หายใจในขณะนั้น บางทีต้องเอามือไปคลำดูไปแตะดูว่า มันมีพองไหมมันมียุบไหม อย่างนี้ก็มี

       ๙. พองยุบหายไปนาน เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบบางคนก็หายไปนาน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน ๗ วัน ไม่เห็นอาการพองอาการยุบเลย ถ้าลักษณะดังนี้เกิดขึ้นท่านทั้งหลาย เดินจงกรมให้มากๆ จึงมานั่งต่อไป อาการพองอาการยุบจะได้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น

       ๑๐. กำหนดไม่ได้ดี เรากำหนด “ขวาย่างหนอ” ”ซ้ายย่างหนอ” ไม่ได้ดี “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” ก็ไม่ได้ดี กำหนดเวทนา “เจ็บหนอๆ” “ปวดหนอๆ” หรือ “สุขหนอๆ” หรือ “สบายหนอๆ” ก็ไม่ได้ดี กำหนดว่า “คิดหนอๆ” ก็ไม่ได้ดี เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะล่วงบัญญัติมีแต่อารมณ์ปรมัตถ์ ล่วงอารมณ์บัญญัติไปแล้วตอนนี้ มีแต่ปรมัตถ์

       ๑๑. บางทีวูบๆ ไปตามตัว มันมีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย เหมือนกันกับมีภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน หรือเหมือนกันกับผีสิง บางทีมันวูบขึ้นที่เท้าของเรา วูบไปตามตัวของเรา บางทีวูบขึ้นศีรษะ บางทีมันมีอาการวูบวาบตั้งแต่ศีรษะไปตามร่างหายแล้วก็วิ่งไปตามเท้า เหมือนกันกับผีสิงในขณะนั้น

       ๑๒. เมื่อเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จะมีอาการชาๆ มึนๆ ไปตามร่างกายจนถึงศีรษะ เสร็จแล้วก็คล้ายๆ มีคนเอาร่างแหมาครอบตัวเรา เหมือนกันกับเอาเสื้อนวมมาห่มตัวเรา เหมือนเอาจีวรมาห่มตัวเรา อยากกระดุกกระดิกก็กระดุกกระดิกไม่ได้ อยากเงยก็เงยไม่ได้ อยากก้มก็ก้มไม่ได้ ภาษาบ้านเราว่า เหมือนกับถูกผีอำ เหมือนกันกับภูตผีปิศาจมันมากอดตัวของเรามัดตัวของเรา บางทีนั่งอยู่ถึง ๕ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย บางทีต้องนั่งอยู่ตั้ง ๗-๘ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย

       สมัยหนึ่งมีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่สถานที่แห่งนี้ ท่านก็บอกว่า “หลวงพ่อ ไม่รู้เป็นอย่างไร ผมปฏิบัติไป นั่งเท่านั้นละ ผีมันมากอดแล้ว ผีมันมาห่มแล้ว กระดุกกระดิกไม่ได้ ทีนี้ก็เห็นว่ามีแม่ชีคนหนึ่ง โน้น จะสว่างแล้ว ลืมตาก็ “พองหนอ” “ยุบหนอ” เหมือนกับผีมันเดินมาวูบๆๆ ผลสุดท้ายก็ทุบหัวเข่าเลย ต้องร้องโวยวายให้คนโน้นคนนี้ช่วย นี้แหละลักษณะอย่างนี้มันเหมือนกันกับผีสิง ท่านทั้งหลาย

       ๑๓. อารมณ์กับจิตหายไปพร้อมกัน ครั้งแรกรูปหายไปก่อน ใจยังรู้อยู่ ครั้งต่อมาอารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ก็หายไปพร้อมกัน “พองหนอ” “ยุบหนอ” หายไป อาการพองอาการยุบหายไป เรากำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ความรู้ก็หายไป

       ๑๔. อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของรูปนามนั้นมีอยู่ คือ ของอาการพอง อาการยุบยังมีอยู่ อาการพองหนอ ยุบหนอ นี้ยังมีอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติไม่สนใจ ไปสนใจเฉพาะความดับไปของรูปนามเท่านั้น

       ๑๕. อารมณ์ภายใน เช่น พองยุบไม่ชัด เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้อาการพองอาการยุบมันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง บางทีพอเรามองดูกุฏิวิหาร ต้นไม้ ก็ปรากฏสั่นๆ เรามองดูศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร ก็ปรากฏสั่นๆ คือเหมือนๆ กับว่าร่างกายของเราผิดปกติ คล้ายๆ กับว่ามีอะไรมาสิงในขณะนั้น เรามองดูกุฏิของเรามันก็สั่นๆ เรามองดูต้นไม้ก็สั่นๆ เรามองดูโบสถ์ ดูศาลา หรืออะไรก็ตาม ปรากฏสั่นๆ อยู่ตลอดเวลา สำหรับตัวของเราก็เหมือนกัน คล้ายๆ กับว่ามันสั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันไม่สั่น มันอยู่เฉยๆ แต่ปรากฏเหมือนสั่นๆ

       ๑๖. ดูอะไรๆ คล้ายๆ กับดูสนามหญ้าในฤดูหมอกลง ปรากฏสลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้จะดูท้องฟ้าอากาศ ก็สลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง บางทีต้องขยี้ตา คิดว่าเราไม่ได้ล้างหน้าไม่ได้ล้างตา ไม่ได้ทำความสะอาด คล้ายๆ ว่าเรามองอะไรไม่เห็น

       ๑๗. พองยุบหายไป พองยุบที่เรากำหนดหายไป บางทีก็หายไปนาน บางทีก็หายไปไม่นาน

       ๑๘. บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบนี้ไม่ปรากฏชัด คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน บางทีเราตั้งนาฬิกาไว้ ว่าวันนี้จะนั่ง ๓๐ นาทีก็ตั้งนาฬิกาไว้ แต่ไม่ได้ตั้งปลุกนะ ตั้งนาฬิกาไว้แล้วก็นั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ถึงเวลาออกจากสมาธิมาไม่รู้ว่าเราตั้งเข็มนาฬิกาไว้ใช้เวลาเท่าไร เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วก็ เราจำไม่ได้ว่าเราตั้งนาฬิกาไว้ที่ตรงไหน อาการสภาวะมันชัดเจนแล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย เราคิดว่าเออ วันนี้เราจะนั่ง ๔๕ นาที ตั้งนาฬิกาไว้ พอดีรู้สึกตัวขึ้นมาไม่รู้ว่าเราตั้งนาฬิกาไว้ที่ตรงไหน มันเป็นอย่างนี้

       ลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นท่านทั้งหลาย บางทีร้องห่มร้องไห้นะ ลักษณะอย่างนี้บางทีก็เป็นอยู่นานตั้ง ๗ วันก็มี พอเรานั่งไป นั่งกำหนด ตั้งนาฬิกาไว้อย่างดี “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งไปรู้สึกตัวขึ้นมาเราคิดทบทวนว่าเรากำหนดอย่างไร ก่อนจะนั่งเรากำหนดอารมณ์กัมมัฏฐานอย่างไร เราตั้งนาฬิกาไว้อย่างไรไม่รู้เลย บางทีเรานั่งไปทางทิศเหนือ รู้สึกตัวขึ้นมาเห็นว่าเรานี้นั่งหันหน้าไปทางทิศใต้ บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก รู้สึกตัวขึ้นมาคล้ายๆ กับว่าเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คือจำสภาวะไม่ได้

       มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ตั้งอาทิตย์กว่าๆ จนแกร้องห่มร้องไห้ มาปฏิบัตินี้ก็ไม่ได้อะไร มีแต่นั่งหลับ กำหนดพระกัมมัฏฐานไม่กี่คำก็หลับไปแล้ว ตื่นมาก็ไม่รู้อะไร เสียอกเสียใจน้อยอกน้อยใจ ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา

       ๑๙. รูปนามที่ปรากฏอยู่นั้นปรากฏเร็ว “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็ปรากฏเร็ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ปรากฏเร็ว คล้ายๆ กับว่ารูปนามที่เรากำหนดอยู่นั้น มารอคอยจะให้เรากำหนดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสภาวะอย่างนี้แก่กล้าแล้วท่านทั้งหลาย เดินจงกรมก็ซึมเหมือนกับง่วงนอน เดินไปหลับไปๆๆ เหมือนกับง่วงนอน เหมือนกับเราง่วงนอนมาทั้งคืนทั้งวัน มานั่งกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งไปหลับไปๆๆ เหมือนกับง่วงนอนแต่ไม่ใช่ง่วงนอน อันนี้เป็นลักษณะของภังคญาณ

       อานิสงส์ของภังคญาณนี้ ก็มีเหมือนกันกับอุทยัพพยญาณที่กล่าวมาแล้ว จัดว่าอยู่ในขั้นมัชฌิมโสดาบันเหมือนกัน แต่ว่า อานิสงส์ของภังคญาณนี้จะแก่กล้า คือ มีอานิสงส์มาก ได้บุญมากกว่าอุทยัพพยญาณ สำหรับภังคญาณนี้เมื่อแก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ภยตูปัฏฐานญาณตามลำดับๆ เหมือนกันกับต้นไม้ เมื่อใบไม้นั้นแก่แล้ว ก็จะสลัดใบทิ้งแล้วใบใหม่ก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ข้อนี้ฉันใด อุทยัพพยญาณกับภังคญาณก็เหมือนกันฉันนั้น

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่องภังคญาณมาถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชี ทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.