ภยตูปัฏฐานญาณ

ภยตูปัฏฐานญาณ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

       สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ภยตูปัฏฐานญาณ มาบรรยายถวายความรู้เพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลายสืบไป

       คำว่า ภยตูปัฏฐานญาณ คือ ปัญญาที่ทำให้เกิดความกลัว ปัญญาชนิดนี้เกิดขึ้นมาแล้วเกิดความกลัว ใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย ตื่นง่าย เหมือนกับคนเป็นโรคหัวใจอ่อน เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท คนโน้นพูดอย่างนี้ คนนี้พูดอย่างนี้ กระทบเสียงดังเกินไปก็ตกใจ ใจมันหวิวลงไปทันที เหมือนกับคนเป็นโรคหัวใจอ่อน เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท ตกใจง่าย

       ลักษณะของภยตูปัฏฐานญาณมีลักษณะดังนี้ คือ

       ๑. อารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ ทันกัน หายไปพร้อมกัน เช่น เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการกำหนดก็ทัน สำหรับจิตผู้รู้ก็ทัน หายไป เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ เหมือนกันกับเราจุดไฟเกิดเพลิงขึ้นมาแล้วก็หายวับไป เกิดเปลวขึ้นมาหายวับไปๆ ท่านทั้งหลายคงจะเคยจุดไฟ เมื่อเปลวไฟมันลุกขึ้นมาแล้วก็หายวับไปๆ ลุกขึ้นมาหายวับไป อันนี้สำหรับอารมณ์ของญาณนี้ก็ลักษณะเดียวกัน เช่นว่า เรากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กำหนดอาการพองอาการยุบ กำหนดเวทนา กำหนดจิตก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้ว อารมณ์ที่เรากำหนดก็ดี จิตที่รู้ก็ดี เกิดขึ้นพร้อมกันแล้วก็หายไปพร้อมกัน เหมือนกันกับเราจุดไฟ

       ๒. มีความกลัว แต่ไม่ใช่กลัวผี ไม่ใช่กลัวเปรต ไม่ใช่กลัวศัตรู คือหมายความว่า เป็นอารมณ์ที่บอกไม่ถูกว่ากลัวอะไร คือมันเกิดความกลัวขึ้นมา แต่ความกลัวนั้นเรากลัวอะไรก็ยังบอกไม่ถูก จะว่ากลัวผีก็ไม่ใช่ จะกลัวเปรตก็ไม่ใช่ จะกลัวศัตรูก็ไม่ใช่ แต่มันมีความกลัว แต่บอกสิ่งที่กลัวแล้วไม่รู้ว่ามันกลัวอะไร แต่มันก็กลัว

       ๓. เห็นรูปนามหายไป คือเห็นว่ารูปนามที่กำหนดอยู่นั้น หายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว เช่นกำหนด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้ว ดับไป สิ้นไป สูญไป จะกำหนดที่ไหนก็ตาม ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้วทั้งรูปทั้งนามหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป ผู้ปฏิบัติก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา เอ๊ะ ทำไมอย่างนี้ มันจะไม่ตายไปเลยหรือนี่ อย่างนี้ก็มี

       ๔. รู้สึกเสียวๆ เรากำหนดพระกัมมัฏฐาน กำหนดที่นู้น กำหนดที่นี้ ก็รู้สึกเสียวๆ คือหมายความว่า เราลูบตามแขนของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบตามแข้ง ตามตนตามตัว ก็รู้สึกเสียวๆ เราทั้งหลายกำหนดที่ศีรษะก็ปรากฏเสียวๆ อาการเสียวนั้นมีลักษณะอย่างไร ท่านทั้งหลายก็คงเคยเจ็บไข้ได้ป่วยมา เช่นว่า เราเป็นไข้ เราปวดหัวตัวร้อน เรามาลูบตามศีรษะของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบตามแขนตามตัวของเราก็เสียวๆ อันนี้ก็เหมือนกัน สภาวะของญาณนี้ก็เหมือนกัน

       ๕. บางครั้งนึกถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เรานึกถึงพ่อก็ดี นึกถึงแม่ก็ดี ถึงพี่ ถึงน้อง ถึงคนที่เคยรู้จักกัน เมื่อนึกขึ้นมาก็ร้องห่มร้องไห้

       มีหญิงคนหนึ่งยังเป็นโสดอยู่ ที่บ้านเหมือดแอ่นี้แหละ เวลามาปฏิบัติอาการอย่างนี้ก็เกิดขึ้น ร้องห่มร้องไห้ จะปลอบจะโยนอย่างไรก็ไม่เอา มีแต่ร้องไห้คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ หลวงพ่อบอกว่าอย่าไปเลย อันนี้คือลักษณะหนึ่ง หรือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าว่าเราเลิกภาวนาเท่านั้นมันก็หาย เราไม่ได้กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งเฉยๆ แล้วก็อาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร เดี๋ยวมันก็หายไป หรือว่าเราไปที่โน้นบ้าง ไปที่นี้บ้าง หรือว่าซื้อของที่ตลาดบ้าง หรือไปเอาโน้นเอานี้ที่ร้านนั้นหรือบ้านนี้ก็ตามมันก็หายไป เขาก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อก็บอกว่า มันไปไม่นานหรอก หากว่าเราพ้นสะพานไปมันก็หายไปสภาวะอย่างนี้ แต่เขาก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อก็เลยว่า ไปแล้วค่อยกลับมาใหม่นะ เลยให้ไป ไปยังไม่ถึงบ้าน พ้นสะพานแล้วก็หายแล้ว แล้วก็กลับมาปฏิบัติใหม่ นี้ท่านทั้งหลายถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเรานึกถึง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา ใครก็ตามที่เราเคยรู้จัก เคยเคารพ เคยนับถือ เคยรักกัน นึกถึงแล้วก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมาเหมือนกับคนเป็นบ้า

       ๖. บางคนกลัวมากจริงๆ เห็นอะไรๆ ก็กลัว ชั้นที่สุดเห็นตุ่มน้ำ เห็นเสาเตียง เห็นกบ เห็นเขียด เห็นวัว เห็นควาย เห็นอะไรก็กลัว ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนเป็นบ้า บางคนก็กลัวมากจริงๆ

       ๗. เพียงแต่นึกในใจว่าน่ากลัวแต่ไม่กลัวจริงๆ คืออะไรเกิดขึ้นมา “เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัว” แต่ไม่ใช่กลัวจริงๆ แต่มันนึกกลัวขึ้นมา ภาษาบ้านเราเรียกว่านึกกลัวขึ้นมาแต่ก็ไม่ใช่กลัวจริงๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ สมมุติว่าเรานั่งกัมมัฏฐานไป “พองหนอ” “ยุบหนอ” ดับฟุบลงไป คือสัปหงกวูบลงไป หรือดับวูบลงไป รู้สึกตัวขึ้นมา “เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัวอย่างนี้ จะไม่ตายไปเลยหรือนี่” บางทีก็ไม่ยอมทำกัมมัฏฐานคิดว่าตัวเองนี้จะตายไปเลย มันสัปหงกวูบลงไป มันดับวูบลงไปนี้คิดว่ามันจะตายไปเลย สมัยก่อนหลวงพ่อก็เป็นในลักษณะอย่างนี้ เวลาปฏิบัติมันดับวูบลงไปรู้สึกตัวขึ้นมา กลัว กลัวจะตายไปเลย กลัวจะไม่ฟื้น ลักษณะอย่างนี้จะมีมาก

       ๘. เกิดอาการกลัวต่อความเป็นไปของรูปนามอย่างแปลกประหลาด เช่นว่านั่งกัมมัฏฐานไป บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” คล้ายๆ กับมีภูตผีปิศาจมันไปสิงอยู่ในทรวงอกของเรา ไปสิงอยู่ในท้องของเรา สิงอยู่หน้าอกของเรา เวลาเรากำหนดว่า “รู้หนอๆ” สมมุติเรากำหนดรู้ที่ตรงไหนก็ตาม กำหนด “รู้หนอๆ” ตรงคอของเรามันก็มาดูดเหมือนกับมีตนมีตัว มันก็มาดูดที่คอของเรา หรือบางทีเรานึกกำหนดที่แขนมันก็มาดูดที่แขนของเรา เหมือนกันกับพวกปิศาจพวกผีมันดูดเลือดอย่างนี้แหละ ลักษณะคล้ายๆกับมันดูดเลือด กำหนด “รู้หนอๆ” มันดูดเอาเลย เราก็คิดว่าเป็นภูตผีปิศาจจริงๆ

       หรือบางทีมันเหมือนกันกับพวกเปรตที่สูงครึ่งต้นไม้ก็มี หรือท่วมกุฏิก็มี เมื่อก่อนปฏิบัติอยู่สมัยหนึ่ง เรานั่งอยู่ในกุฏิพวกภูติพวกผีพวกเปรตนี้มันมายืนอยู่ตรงหน้าต่าง มันปล่อยของขึ้นมา เป่าขึ้นมาที่ศีรษะของเรา มันหมุนไปๆๆ ถึงทรวงอกแล้วก็หมุนลงไปเป่าเข้าไปหมุนเข้าไปแล้ว โอย ตายแล้วเราทีนี้ตายแล้ว ทำอย่างไรหนอมันถึงจะหาย เราจะหาคาถาอะไรมาป้องกัน มันก็ป้องกันไม่ได้ คิดไปคิดมา เอ๊ะ พวกคุณไสยที่เขาใส่ของอย่างนั้นใส่ของอย่างนี้ ท่านว่าเอาขี้ผึ้งบริบูรณ์มาทาแล้วมันจะหายไป มันจะออกไป เราคิดอย่างนี้นะ เราก็เอาขี้ผึ้งบริบูรณ์มาทาเต็มตัว พวกผี พวกปิศาจ หรือของที่มันปล่อยเข้ามาอยู่ในร่างกายของเรามันหมุนออกมาๆๆ บางทีก็ออกจากศีรษะ บางทีมันออกมาแรง พรึบไปจนเราสัปหงกไปก็มีพอดีมันหายไปแล้วก็ เออ คงจะได้เจริญกัมมัฏฐานต่อไปแล้วตอนนี้ พวกผีปิศาจคงจะหายไป กำลังว่า “พองหนอๆ” เป่ามาเลย หมุนเข้าทางศีรษะเลย มันไปอยู่ในทรวงอกของเรา อยู่ในท้องของเรา

       บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ เหมือนกับพวกปีศาจพวกผีนั่นแหละปล่อยเข้ามาทางศีรษะของเรา หรือตรงหน้าอกของเรา หรือที่ช่วงท้องของเรา มันปล่อยเข้ามา เอ้า อยู่ในนี้ละ ไม่ไปไหน ผีตัวนี้ไม่ไปไหน มันนอนอยู่อย่างนี้ละ เรานั่งกัมมัฏฐานไปตลอดคืนยันรุ่ง นั่งไปๆ เอ้อ ๑ ชั่วโมงนี้ ๒ ชั่วโมงนี้ ตัวนี้มันอยู่ตรงนี้ พอดีครบชั่วโมงมันหายไป เอ้า คงจะสบายแล้วหนอ พอดีกำลังจะสบาย ตัวใหม่เข้ามาอีก ตัวนี้ก็อยู่เป็นชั่วโมง ครบ ๒ ชั่วโมงแล้วก็หายไป ออกไปแล้วก็ตัวใหม่ก็มา จนสว่าง เมื่อสว่างแล้วเราก็คิดว่า เออ คงจะสบายแล้ววันนี้ ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานคงจะได้ดี คงจะได้สบาย กำลังคิดว่าจะสบาย มันปล่อยฟับเข้ามา ตัวสุดท้ายนี้มันอยู่ตลอดทั้งวัน เต็มวันนี้มันอยู่เลย โน้น ถึงเวลา หกโมงได้เวลา เหมือนกับเขาอยู่ยาม นายยามมันก็ปล่อยตัวนี้ไป ตัวใหม่เข้ามาอีก ก็ปล่อยตัวนี้ไปอีก เป็นลักษณะอย่างนี้ แล้วก็บางทีก็เหมือนกับมีพวกปิศาจหรือพวกภูตผีมันสิงอยู่ในร่างกายของเรา เราคิดว่า เออ เรามียาดี ถ้ายานี้กินเข้าไป หรือเอามาถูที่ไหนๆ มันกลัวแล้วก็ออกไป มันไม่อยู่ เราก็เอายาชนิดนี้แหละมาถูๆ แทนที่มันจะกลัว เราเอายาไปถูๆ มันหายวืบ มาหอมยา โอ้เรานี่ตายแล้ว คงจะไม่รอดซะแล้ว คงจะตายแล้ว ทำอย่างไรหนอมันจะหายไปได้ แต่ว่าเราก็ตั้งอกตั้งใจกำหนด พอดีกำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” เท่านั้นละ คือปัญญา เวลาได้ที่มันถึงจะเกิดนะ ทั้งๆที่เรายังกำหนดอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็มีช่วงพลาดไปได้ อยู่ที่สภาวะ เรากำหนด “รู้หนอๆๆๆ” ผีเก้าตัว สิบตัว หรือเป็นร้อยๆ ตัวที่อยู่ในท้องของเรา อยู่ในหน้าอกของเรามันหายปึ๊บปั๊บๆๆๆ ไป เราก็รู้ได้ว่าเออ จิตเอ๋ยจิต เจ้ายุตัวเองให้กลัว แล้วเจ้าก็กลัวเอง เจ้านึกแต่เรื่องให้กลัว เจ้าสร้างภาพ สร้างพจน์ สร้างเรื่องขึ้นมาแล้วก็กลัวเอง นี่มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย นี้ลักษณะที่ว่า มันเกิดขึ้นแล้วเราทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา

       บางทีเรามองดูต้นไม้ชายคา เหมือนกับภูตผีปิศาจเป็นร้อยๆ ตัว เป็นพันๆ ตัวมันปีนป่ายอยู่ตามต้นไม้ กลางวันมันก็ลอยเคว้งคว้าง เพ่นพ่านอยู่ตามปลายไม้ จะเดินออกกุฏิไปก็ไม่กล้าไป กลัว มันถึงขนาดนั้นนะ หรือบางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น เหมือนกันกับพวกจิ้งจกเป็นหมื่นๆ ตัวจับอยู่ที่ต้นไม้ ต้นนั้นบ้างต้นนี้บ้างต้นละร้อยสองร้อยมันจับอยู่ เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” มันร้องขึ้นมาจิ๊บจั๊บๆๆๆ ขึ้นมา มันมาร้องสนั่นไปหมด เหมือนกับว่ามันมีตนมีตัวจริงๆ แต่ว่าเรากางกลดไว้แล้วก็ พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ ไปเรื่อยๆ เวลาจิตใจของเราใกล้สงบแล้ว จิ้งจกมันเอาแล้ว แจ๊ะๆๆ ขึ้นมา โอ้ยมันอยู่อย่างไรหนอ เราก็ลุกขึ้นไปดูมันมีกี่ตัว ไปดูตัวนั้น ไปดูตัวนี้ ไปดูแล้วก็ไม่เห็น เวลามันร้องอยู่ตามต้นไม้หลายๆ พันตัวเราก็ไปดู แต่ไปดูแล้วมันก็ไม่เห็น อ้าวมันอะไรกัน คือนิสัยของหลวงพ่อก็ชอบค้นคว้า อะไรเกิดขึ้นมาแล้วก็ชอบค้นคว้า แต่ลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นลักษณะที่น่ากลัว

       บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ใกล้ๆจิตจะสงบ มันดิ่งไปๆ มันตบลงมาเลย ตบที่พื้นที่เราเหยียบ รองเท้าที่เราเหยียบ มันตบขั้นมา แต๊บๆๆๆ เราก็ลืมตาขึ้นมา เรานั่งกัมมัฏฐานไปจิตใจของเรามันจะดิ่งลงไปมันตบขึ้นมาอีก บางทีก็ตบที่โต๊ะบูชา บางทีก็ตบที่เช็ดเท้าของเรา แต่ขณะที่มันตบอยู่น่ะเราไม่รู้ว่ามันตบที่ไหน แต่คำนวณว่าอาจจะเป็นที่นั้น อาจจะเป็นที่นี้ แต่ที่จริงไม่รู้ว่าตบที่ไหน แต่ว่าจิตใจของเราจะสงบมันตบปั๊บๆๆๆ ขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมดานะท่านเป็นอาทิตย์นะ ลักษณะอย่างนี้เป็นอาทิตย์เหมือนกัน ตกลงเราแก้ปัญหาไม่ได้ นั่งหย่อนเท้าแล้วก็ลืมตา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปเรื่อยๆ เมื่อปัญญาแก่กล้าขึ้นมามันรู้ท่านทั้งหลาย มันตบแพ๊บๆๆๆ ขึ้นมาเราก็รู้ทันที ใจนี้มันรู้ทันที โอ้ จิตเอ๋ยจิต เจ้าก็หลอกตัวเองแล้วก็กลัวตัวเอง มันสับปลับท่านทั้งหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือจิตนั่นแหละเป็นตัวหลอก แล้วก็จิตตัวนั้นแหละเป็นตัวกลัว นี่มันทำให้ชัดเจนนะ จิตหลอกเองแล้วก็กลัวเอง บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ นั่งไปๆๆ พองหนอยุบหนอขึ้นมา มันมาเคาะกุฏิของเรา มันมาเคาะประตูของเราหรือข้างฝาของเรา เราก็เดินไปดู เดินไปดูมันก็เดินไป เราเห็นเดินนะ เดินไปก็ตามไป มันเดินไปเราก็ตามไป มันล้อมรอบกุฏินั้นละ ล้อมกุฏิที่เราอยู่ เดินไปก็ล้อมไป เดินตามกันไปเรื่อยๆ ตามจนทัน บางทีก็เห็นรูปเห็นร่าง บางทีก็ไม่เห็น เราก็เดินไปๆ บางทีมันก็เบ่งลมขึ้นมา บางทีมันก็หัวเราะขึ้นมา หัวเราะกึกๆๆๆ ขึ้นมา เราก็รู้ทัน เอ๊ะ จิตเอ๋ย เจ้าหลอกตัวเองเจ้าก็กลัวเอง นี่เมื่อปัญญาแก่กล้ามันก็รู้เลยนะว่า ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่ภูตผีปิศาจ จิตมันสร้างขึ้นมาเองแล้วก็กลัวเอง

       บางทีเรานั่งอยู่บนแคร่ “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่บนแคร่ เหมือนกันกับมีพวกหมูบ้า หรือหมาบ้า หรือว่าภูตผีปิศาจมันจะมาหลอกมาหลอนเรา เราก็ให้พระมา ข้างนี้นอนสองคน ข้างนี้นอนสองคน ข้างนี้นอนสองคน กำหนดไปๆ คิดว่ามันจะช่วยไม่ให้กลัว แต่ผลสุดท้ายเรานั่งไปๆๆ เหมือนกันกับพวกมันมาพลิกแคร่ของเรา มาพลิกเตียงของเราให้คว่ำไป แต่เมื่อเราลืมตาขึ้นมาก็นั่งอยู่เฉยๆ ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลาย หากว่าจิตใจของเราไม่เข้มแข็งพอ ก็ไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ หรือบางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ มันสั่นขึ้นมา สั่นขึ้นมาเหมือนกับเขาลงธรรมหรือปลุกคาถา หรืออะไรที่เขาทรงกัน ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลายเมื่อสภาวะแก่กล้าแล้วเรากำหนดทันปัจจุบันแล้วก็หายไปเอง คือลักษณะอย่างนี้มันจะเกิดความกลัวโดยที่หาสาเหตุอะไรกับตนเองไม่ได้ เหมือนกับเราเดินไปในป่าชัฏ บังเอิญเห็นสิงโต พบเสือ พบงูพิษขึ้นมาโดยบังเอิญ ก็เกิดความกลัวขนลุกขนชันขึ้นมา

       ๙. รูปนามแสดงลักษณะอันน่ากลัว เช่นบางครั้งเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ มันจะร้อนตามตัว ร้อนเหมือนกับอังไฟ บางทีทั้งร้อนทั้งเย็น ทางหน้าอกมันร้อน แต่ข้างหลังมันเย็น บางทีข้างศีรษะของเรามันร้อน แต่ร่างกายมันเย็น บางทีร่างกายร้อนแต่ว่าศีรษะมันเย็น ลักษณะอย่างนี้มันทำให้เกิดอาการกลัวขึ้นมา

       ๑๐. ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่ว่ารูปนามที่เป็นปัจจุบันก็ดี รูปนามที่เป็นอนาคตก็ดี เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อุปมาเหมือนกันกับผู้หญิงคนหนึ่ง มีบุตร ๓ คน ตายไปแล้ว ๒ คน อีกคนหนึ่งกำลังตายคามืออยู่ การที่สตรีคนนั้นเห็นลูกของตนตายไปแล้ว ๒ คน ก็เหมือนกันกับเราเห็นความดับ การเห็นลูกคนที่ ๓ กำลังตายคามืออยู่ ก็เหมือนกับเรากำลังเห็นความดับที่เป็นปัจจุบัน คือทันปัจจุบัน หรือว่าเป็นเหตุให้ทอดอาลัยว่าลูกคนต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน หรือว่าอุปมาเหมือนกับหญิงคนหนึ่งมีบุตร ๑๐ คน ตายไปแล้ว ๙ คน คนที่ ๑๐ กำลังตายอยู่คามือ ก็เป็นเหตุให้ผู้นั้นพิจารณาว่า เออ ลูกที่ตายไปแล้ว ๙ คนนั้นก็เหมือนกับเรากำลังเห็นรูปนามที่ดับไปแล้ว การเห็นคนที่ ๑๐ กำลังตายคามืออยู่ก็เท่ากับเราเห็นความดับเกิดอยู่เฉพาะหน้า การที่ทอดอาลัยคนอยู่ในท้องว่าจะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ก็เหมือนกับเราเห็นรูปนามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใกล้ๆ นี้ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า ภพทั้ง ๓ นี้ เหมือนกันกับว่าบุรุษตาดีมองดูเห็นหลุมหลาว ๓ เล่ม เช่น หลาวไม้ตะเคียน หลาวเหล็ก หลาวทองแดงอยู่หน้าประตูเมืองแต่ตัวเองหากลัวไม่ เป็นแต่เพียงพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดตกไปในหลุมหลาวนั้นจะได้รับความทุกข์ไม่ใช่น้อย

       บางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ รูปนามที่อยู่ในภูมิทั้ง ๓๑ ภูมินี้ มีการเกิดดับเป็นภัยเฉพาะตัว ไม่น่าปรารถนาไม่น่าจับต้อง เมื่อพิจารณาเห็นอนิจจัง รูปนามที่เป็นอดีต ปรากฏเป็นของน่ากลัว เมื่อพิจารณาเห็นทุกขัง รูปนามที่เป็นสุขย่อมเห็นว่าเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นเรื่องอนัตตา รูปนามที่เป็นของว่าง ของสูญ ของเปล่า ของไม่มีหัวหน้า เหมือนกับบ้านร้าง เหมือนกับพยับแดด เหมือนกับเมืองลับแล ย่อมปรากฏเป็นของน่ากลัว

       สรุปว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลาย จะทำให้จิตใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย ถ้าว่าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่สามารถที่จะก้าวหน้าขึ้นไปได้ บางทีก็หยุดเอาเสียเลย ไม่ยอมปฏิบัติ อันนี้เป็นสภาวะของภยตูปัฏฐานญาณ

       อย่างอื่นนอกจากนี้ที่ไม่ได้นำมาเล่าสู่ฟังมีมากกว่านี้ แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อะไรเกิดขึ้นมาก็ขอให้เปรียบเทียบ หรือใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา มันอาจจะไม่เหมือนอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อเราพิจารณาแล้วว่ามันน่ากลัว เป็นสภาวะที่น่ากลัวหรือจะทำให้เกิดความกลัว สภาวะอย่างนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล ถ้าผู้ใดไม่มีบุญไม่มีกุศลที่สร้างสมอบรมไว้ สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด สภาวะนี้เกิดชัดเจนเท่าไร ก็ถือว่าเราได้สร้างสมอบรมบุญกุศลมามาก คือถ้าสร้างสมอบรมบุญกุศลมามาก สภาวะอย่างนี้ก็ปรากฏชัดมาก และผลอานิสงส์ที่จะได้พิเศษในญาณนี้ก็เหมือนกันกับญาณที่ ๔ ที่ ๕ ญาณที่ ๔ เป็นอย่างไร ญาณที่ ๕ เป็นอย่างไร อานิสงส์ของญาณนี้ก็เหมือนกัน แต่ว่ามีพลังมากกว่า เมื่อญาณนี้แก่กล้าแล้วท่านทั้งหลายสภาวะของภังคญาณก็จะดับลงไป เหมือนกันกับใบไม้ที่แก่ถึงที่แล้วก็ร่วงไป เมื่อร่วงไปแล้วใบใหม่ก็จะงอกขึ้นมา ข้อนี้ฉันใด เมื่อภังคญาณแก่กล้าแล้วจะดับไป เมื่อดับไปแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดภยตูปัฏฐานญาณ

       หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ภยตูปัฏฐานญาณ มาบรรยายถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.