มุญจิตุกัมยตาญาณ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง มุญจิตุกัมยตาญาณ มาบรรยายถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายสืบไป
มุญจิตุกัมยตาญาณ คือปัญญาพิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม คือในญาณที่ ๗ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปของนาม มาถึงญาณที่ ๘ คือนิพพิทาญาณ ก็เบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณก็เป็นญาณที่อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปจากนาม ไม่อยากมีรูปมีนามอีกต่อไป ญาณนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นญาณใจน้อย ญาณกลุ้มใจ คือ เมื่อสภาวะมาถึงญาณนี้แล้วใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ ครูบาอาจารย์จะพูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่พอใจเอาเสียเลย บางทีครูบาอาจารย์พูดโน้นพูดนี้ หรือว่าเวลาสอบอารมณ์พูดนั้นพูดนี้เป็นการปรับความเข้าใจ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา
สรุปแล้ว ญาณนี้เป็นญาณที่กลุ้มใจ ใจน้อยก็ใจน้อย เป็นสภาวธรรมที่ตัดสินใจเร็ว อะไรๆ เกิดขึ้นมาบางทีมันตัดสินใจเลย บางทีก็ผิด บางทีก็ถูก อย่างที่อยู่ที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานส่วนกลาง คณะ ๕ วัดมหาธาตุ วันหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมหามุนี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน วันนั้นสอบอารมณ์พระรูปหนึ่ง “เป็นอย่างไรท่าน เวลาเดินจงกรมมันเป็นอย่างไร” ถามโน้นถามนี้ ถามหาข้อวัตรปฏิบัติ เวลาเดินจงกรมทำอย่างไร เขาก็ว่า “เอาตีนเดิน” ไม่ได้ว่าเอาเท้าเดิน เอาตีนเดิน พูดกวนๆ แล้วเวลากำหนดหละ ท่านกำหนดอย่างไร ทั้งที่ถามดีๆ “เอาปากกำหนด” ท่านเอาปากกำหนดก็ดีละ ขอให้ท่านตั้งอกตั้งใจ ขอให้มีสติกำหนด เวลาเดินจงกรมก็กำหนด เวลายืนก็กำหนด เวลานั่งก็กำหนด “เวลาเดินจงกรมเอาสติไว้ที่ไหน” ท่านก็ถาม “เอาไว้ที่ส้นตีน” มันสำคัญนะญาติโยม ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ถามดีๆ เวลาเดินจงกรมเอาสติไว้ที่ไหน “เอาไว้ส้นตีน” เผลอแป๊บเดียวเท่านั้น ลุกขึ้นมาเอาเท้าเตะขากรรไกร พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จจนได้เข้าโรงพยาบาล รักษาอยู่หลายวันจึงหาย
นี้แหละท่านทั้งหลาย สมัยก่อนที่หลวงพ่อสอนกัมมัฏฐานใหม่ๆ ส่วนมากหลวงพ่อไม่ได้ไปรูปเดียว ต้องมีพระหรือมีเณรไปด้วย ลูกศิษย์ลูกหาก็มองหลวงพ่อในแง่ที่ไม่ดี หลวงพ่อก็ปฏิบัติมาแล้ว แทนที่ไปสอบอารมณ์น่าจะไปรูปเดียวทำไมถึงเอาพระไปด้วย หรือเอาเณรไปด้วย หรือว่าเอาไปเพื่อเสริมบารมีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ว่า แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร เพราะว่าไปเพื่อเป็นการป้องกันตัว คือในขณะที่เราสอบอารมณ์ส่วนมากเรานั่งอยู่ตัวต่อตัว บางทีอาจจะมีคนใดคิดไม่ซื่อ แต่หลวงพ่อไม่กลัวหรอก ไม่กลัวคิดไม่ซื่อ แต่ที่ระวังๆ ก็ระวังเมื่ออารมณ์พระกัมมัฏฐานมันเกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราเผลอแป๊บเดียวเท่านั้นอันตราย
มีตำรวจคนหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ แล้วก็มีพระรูปหนึ่ง เป็นผู้ตีระฆังตียาม ทั้งๆ ยังไม่ทำอะไรเลยกำลังตีระฆัง เม้งๆๆ พระตำรวจรูปนั้นก็มาเอาเท้าเตะคางกระต่ายเลย ล้มหงายเลย มันเป็นอย่างนี้ถ้าลักษณะอย่างนี้
บางทีมีสามเณรไปถวายน้ำปานะ เมื่อก่อนโน้นใช้ล้อ (รถเข็ญ) เข็นไปๆๆ พอเห็นเณรมาถวายน้ำปานะก็วิ่งลงมาจากกุฏิเอาค้อนทุบเอาเลย บางทีก็เอาไม้เรียวเฆี่ยนเอาเลย ถ้าสภาวะอย่างนี้หลวงพ่อจะให้ชื่อว่า “ญาณใจน้อย” “ญาณกลุ้มใจ” พูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่ได้ บางทีเราพูดนิดเดียวเท่านั้นร้องไห้อยู่ทั้งวัน ดังที่เราเห็นพระน้องชาย นายเจียม สมัยนั้นลาราชการมาบวชมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เมื่อถึงนี้ละ พะวักพะวนตั้งแต่หลวงปู่หนูแหละ น้อยใจจึงว่ากิริยามารยาทผู้เป็นพ่อไม่ถูกอกถูกใจอย่างนั้นอย่างนี้อะไรจิปาถะ ไปร้องเรียนว่า “หลวงพ่อจะทำอย่างไร” “โอย เรื่องนี้เราอย่าไปจับผิดท่านเลย เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีครูบาอาจารย์เป็นผู้รักษา เป็นผู้คุ้มกัน เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้สอน ตอนนี้ถือว่าเรามาปฏิบัติ เมื่อในขณะที่ปฏิบัตินี้เราก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เพราะในขณะนี้เราไม่ใช่มาเป็นครูสอน เราพูดเราสอนมันก็ผิดกฎกติกาครูบาอาจารย์” เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ว่าอะไร ทั้งที่คิดว่าเราพูดอย่างนี้พระน้องชายจะไม่ใจน้อยหรือ ก็คิดเสียก่อนจึงพูด แล้วก็ไม่ได้เอ็ดไม่ได้ว่า นิดเดียวเท่านั้นท่านทั้งหลาย ร้องห่มร้องไห้อยู่ทั้งวัน ร้องห่มร้องไห้คิดจะไปตาย ไปเชือดคอตาย ไปกินยาตาย อย่างท่านหลวงปู่รูปหนึ่ง ที่ผมเคยพูดให้ฟัง เมื่อเวลามาถึงนี้เราพูดอะไรไม่ได้ “หลวงปู่ฉันยาปวดหายก็อย่าฉันมากเกินไปสิ มันบีบหัวใจ” เอาแล้ว “อ้าว คุณเป็นปุถุชน ผมเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ปุถุชนจะมาสอนพระอรหันต์ได้อย่างไร” อ้าว ไปอีกแล้ว คิดในใจ พูดอะไรไม่ได้ มันกลุ้มใจ ใจน้อยก็ใจน้อย ผลสุดท้ายกลุ้มใจยังไม่พอละ เผลอๆ ประมาณตี ๔ ย่องๆ เอามีดโกนเชือดคอตัวเองตาย มันลักษณะอย่างนี้ละท่าน ใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ
เพราะฉะนั้น สมัยก่อนที่หลวงพ่อสอบอารมณ์ หรือสอนกัมมัฏฐาน หลวงพ่อหวั่นนักหวั่นหนาที่สุด เรื่องสอนกัมมัฏฐาน ว่าเมื่อลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณนี้ เราจะทำอย่างไรหนอ เราจะปกครองลูกศิษย์ลูกหาไหวไหมหนอ ทำอย่างไรถึงจะสามารถแก้อารมณ์ของลูกศิษย์ลูกหาได้เมื่อมันเกิดขึ้นมา หวั่นใจที่สุด สมัยนั้นเวลาเข้าห้องกัมมัฏฐานหลวงพ่อเอาอาวุธออกหมด มีดปาดผลไม้ มีดสั้น มีดอะไรเอาออกหมด เข็มก็ไม่ให้มี มีดโกนก็ไม่ให้มี มีอะไรๆ กวาดหมด ให้อยู่ตัวเปล่า มีแต่จีวร สบง อังสะ กาน้ำ เท่านั้น เพราะระวัง มันเห็นมาแล้วก็ระวัง คือเมื่อสอนกัมมัฏฐานมา เมื่อถึงนี้ก็ลำบากจริงๆ เวลาสภาวะเกิดขึ้นมาพูดนิดพูดหน่อยไม่ได้ เราก็ต้องพยายามทำจิตทำใจพยายามจะไม่พูดให้กระทบกระทั่งจิตใจเป็นอันขาด อันนี้เป็นสภาวะอย่างหนึ่งที่เล่าสู่ฟังแล้วก็จำไว้ เมื่อเราไปแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา ระวังสภาวะอย่างนี้ให้ได้
แม้แต่เราเองก็เหมือนกันท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ไปสอนผู้อื่นไปสอบอารมณ์ผู้อื่นเราเองใจน้อยไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะเมื่อมาถึงนี้เราผู้เป็นครูบาอาจารย์ก็ยิ่งเกิดหนัก เพราะว่าตอนที่ลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติมาถึงนี้ สภาวะที่ลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัตินั้น มันก็เป็นเหตุพ่วงกันกับเราด้วย ถ้าลูกศิษย์ลูกหานั้นมีจิตใจเป็นอย่างไร เราผู้เป็นครูบาอาจารย์จิตใจก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราระวังไม่ไหวทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์ก็ลงมวยกัน ทะเลาะกัน เหตุนั้นพึงสังวร เรื่องมันมีมากท่านทั้งหลาย เหตุนั้นท่านทั้งหลายเวลาไปสอนกัมมัฏฐานเรื่องนี้ระวังให้ดี
แม้เราตั้งใจว่าจะทำจิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว แต่เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมามันเปลี่ยนทันที สมมุติว่าเราตั้งใจจะนั่งสมาธิ จะนั่ง ๑ ชั่วโมง กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จะนั่ง ๑ ชั่วโมง แต่พอนั่งไป “พองหนอ ยุบหนอ” ไป ยังไม่ถึง ๒ นาทีมันอยากลุกแล้วนะท่าน มันอยากลุกแล้วก็ข่มใจไว้ กำหนดไปๆ ยังไม่ถึง ๕ นาที ก็อยากลุกแล้ว ข่มไว้ กำหนดไปๆ ยังไม่ถึง ๓ นาที มันจะลุก ข่มไว้ๆ ผลสุดท้ายก็ข่มไม่ไหว คือไม่ได้กำหนดเลย เมื่อถึงที่แล้วสภาวะแก่กล้าเวลามันอยากลุกก็ลุกไปเลย นี้แหละท่านทั้งหลายจำไว้นี้เป็นสภาวะของมุญจิตุกัมยตาญาณ สภาวะของญาณนี้มีดังนี้ท่านทั้งหลาย
๑. มีอาการคันตามเนื้อตามตัว เหมือนมดกัด คือเหมือนมีมดมากัด มีไรมาไต่มาตอมอยู่เรื่อยๆ คืออาการคันนี้ถ้ามันอยู่ในสภาวะของญาณที่ ๓ จะคันเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกันกับมีตัวเรือดมาไต่มาตอมตามร่างกาย แต่ถ้าถึงญาณที่ ๙ นี้ คันก็คันแรง เกาก็เกาแรง บางทีเป็นตุ่มโปนขึ้นมาทั้งตัว บางทีเหมือนกันกับมีมด มีตะขาบ มีแมงป่อง มีงูมันเลื้อยขึ้นมาตามร่างกายของเรา แต่เสร็จแล้วก็ไม่มี สมมุติว่าหลวงพ่อนั่งอยู่ใต้แสงไฟนีออนนี้ เรานั่งอยู่นี้คิดว่ามันเป็นมดมากัด แต่เราลูบดูแล้วก็ไม่มี เหมือนกับมีมดมากัดที่นั้นที่นี้อยู่ตลอดเวลา เรื่องแบบนี้หลวงพ่อระวัง แต่เวลามันเกิดขึ้นมา มันเผลอนะ ทั้งเวลาไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ หลวงพ่อก็ตั้งใจว่าจะไม่กระดุกกระดิก จะตั้งใจไม่กระดุกกระดิก จะไม่คันที่นั้นจะไม่เกาที่นี้ แต่เวลามันเกิดขึ้นมามันไปแต่เมื่อไร ไปลูบไปคลำแล้ว อ้าว มันผิดอีกแล้ว มันเป็นอีกแล้ว คือสภาวะมันเวียนอยู่ตลอดเวลา เราไหว้พระสวดมนต์ไปนิดๆ ก็เอาแล้ว ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะไม่เกามันก็เกาเอง แต่ว่าเสร็จแล้วมันก็ไม่ใช่ อย่างนี้แหละมันเป็นเองท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้มันเหมือนกับลิง มันเกิดเหมือนกับลิง คันยุกๆยิกๆ อยู่ตลอดเวลา มันมีอาการคันตามเนื้อตามตัวเหมือนกันกับมดกัด
๒. ลุกลี้ลุกลน ผุดลุกผุดนั่ง จะนั่งกำหนดก็ไม่ได้ดี ยืนกำหนดก็ไม่ได้ดี เดินกำหนดก็ไม่ได้ดี นอนกำหนดก็ไม่ได้ดี เหมือนกับคนเป็นบ้า เหมือนกับลุกลี้ลุกลนผุดลุกผุดนั่งอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็จับโน้นเดี๋ยวก็ฉวยนี้ เดี๋ยวก็ทำโน้นทำนี้ ลักษณะของลิงเป็นอย่างไร สภาวะนี้เกิดขึ้นมาก็เหมือนลักษณะอย่างนั้น คือ ไม่อยู่ปกติ จับนั้นฉวยนี้อยู่ตลอดเวลา
๓. กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ไม่ได้ดี คือจะกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่ได้ดี ทั้งๆตั้งใจจะกำหนดให้ดี แต่มันก็ไม่ได้ดี
๔. ใจคอหงุดหงิดเอือมๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ลักษณะอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ส่วนมากเราทำกันไม่ได้ คือเมื่อมาถึงนี้จะมีอาการหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร บางทีก็เก็บสิ่งเก็บของกลับบ้าน เห็นครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ว่าเออ ตอนนี้จะไปอยู่เขาลูกนี้ พอดีอยู่เขาลูกนี้ไม่กี่ชั่วโมง อ้าว อยากไปแล้ว เราลงเขาลูกนี้ก็ไปเขาลูกโน้น ลงเขาลูกนี้ก็ไปเขาลูกโน้นอยู่ตลอดเวลา มีแต่แสวงหาโมกขธรรม แต่ไปแล้วไปที่ไหนที่ไหนก็ไม่พอใจ พวกธุดงค์มีลักษณะดังนี้ สภาวะนี้มันชอบที่สุด คือถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วจะอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องออกจากวัดนี้ไปวัดโน้น ออกจากวัดโน้นไปวัดโน้น ออกจากเขาลูกนี้ไปขึ้นเขาลูกนั้น ออกจากเขาลูกนั้นไปขึ้นเขาลูกนี้นั่งกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี นั่งอยู่นี้ไม่ถึง ๒ นาทีลุกไปแล้วไปนั่งที่ใหม่ นั่งที่ใหม่ยังไม่ถึง ๕ นาที ลุกไปแล้วไปนั่งที่ใหม่ บางทีคืนทั้งคืน ถอดกลดอยู่ทั้งคืน อย่างอาจารย์รูปหนึ่ง อยู่ทางอำเภอนาตาลปฏิบัติอยู่ร่วมกัน แต่ละคืนๆ ท่านจะถอดกลดไปปักใหม่อย่างน้อย ๕ แห่ง หรือ ๖ แห่ง สรุปแล้วว่าสภาวะนี้ทำให้จิตใจหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร
๕. กลุ้มใจคิดอยากกลับบ้าน นึกว่าตนหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว นี้ก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่งทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผล หลายๆ คนที่มาปฏิบัติ มาจากภาคกลางบ้าง มาจากภาคตะวันออกบ้าง ภาคเหนือบ้าง มีโยมยายคนหนึ่งอยู่ที่บางกอกน้อยฝั่งธนบุรี เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้กลุ้มอกกลุ้มใจ จะกลับบ้านเก็บสิ่งของไปหา “หลวงพ่อ วันนี้ยายจะกลับแล้วนะ อยู่ไม่ได้หรอก” เราก็ปลอบก็โยน “ยาย ก็ต้องข่มจิตข่มใจปฏิบัติไปหน่อย เราปฏิบัติไม่ถึงชั่วโมงหรอกมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ผ่านหนี” ปลอบอกปลอบใจ แล้วก็มีแต่จะไปให้ได้ หลวงพ่อจะให้ไปหรือไม่ให้ไป ถ้าไม่ให้ไปจะไปกระโดดน้ำตายเดี๋ยวนี้ เอากันถึงขนาดนั้นนะ พูดสบายๆ ทำจิตปลอบโยนอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ แต่แกไม่ยอมอยู่ มีแต่จะกลับบ้านๆ
พระสงฆ์สามเณรก็เหมือนกัน บางปีเมื่อก่อนโน้นเวลาปฏิบัติไปๆ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา บางทีพากันข้ามกำแพงไปไม่บอกลาครูบาอาจารย์ ไม่ว่าปริวาสหรือไม่ปริวาส มานัตต์หรือไม่มานัตต์ ไม่สนใจ ข้าขอไปแล้วก็พอ ก็ไปเลย บางปีก็ ๔ รูป บางปีก็ ๒ รูป บางปีก็ ๕ รูป แต่ผมก็ไม่ว่ากระไร เพราะว่าเราปลอบเราโยนแล้วแต่ว่ายังไม่อยู่ บางปีไม่ได้ปลอบไม่ได้โยน ไปเอง
นี้แหละท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา มีแต่กลุ้มอกกลุ้มใจ มีแต่คิดแต่จะกลับบ้านอยู่ตลอดเวลา โบราณเรียกว่าถึงญาณม้วนเสื่อม้วนหมอนแล้ว มันถึงญาณม้วนเสื่อม้วนหมอน เก็บสิ่งเก็บของจะกลับบ้านลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นอำนาจของอวิชชา เรากำหนดไม่ทันลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ต้องรู้จักปลอบต้องรู้จักโยน ต้องรู้จักชี้แจงแสดงไขให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้าใจในการปฏิบัติแล้วก็จะได้ปฏิบัติต่อๆ ไป
๖. มีเวทนามาก เช่นอาการขบเมื่อย ปวด ชา จุก คัน เป็นต้น แต่เมื่อเรากำหนด อาการเมื่อย อาการปวด “ปวดหนอๆ” หรือมันจุก มันคัน เรากำหนดๆ เมื่อกำหนดไปแล้วเราจะเห็นว่าเวทนามันหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นชิ้นๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ เหมือนกันกับเราหยิบเอาเวทนานั้นออกไป สมมุติว่าเราปวดศีรษะเรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่หัวเข่า เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่เท้า เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่ท้อง เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่ข้างหลัง นี้เหมือนกันกับว่ามีภูตผีปิศาจมาสิง เรากำหนดที่หนึ่งมันไปปวดอีกที่หนึ่ง เมื่อเรากำหนดแล้ว คล้ายๆกับเวทนามันหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ หายเป็นซีกๆ ถ้าหากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่กายจะรู้ทันที ส่วนมากผู้ปฏิบัติจะคิดว่าผีสิง แต่บางคนก็คิดว่า โอ้ ปัญญาของเรามันแก่กล้า เรากำหนดปวดที่นี้มันหายวับไป ไปปวดที่โน้น กำหนดแล้วมันหายวับไป ไปปวดที่นี้ บางคนก็จิตใจเข้มแข็งก็เพลิน แต่ในขณะเพลินๆนั้น ก็คล้ายๆ กับเป็นบ้าเหมือนกัน คือลักษณะเหมือนกับเราวิ่งไล่หิ่งห้อย เดือนหงาย มันเห็นแวบขึ้นมาเราก็วิ่งไปหาก็ไม่เห็น มันเห็นแวบขึ้นมาเราก็วิ่งไปอีก แวบขึ้นมาก็วิ่งไปอีก อันนี้ก็เหมือนกัน สภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว กำหนดที่นี้มันไปเกิดที่นั้น กำหนดที่นั้นมันไปเกิดที่นี้อยู่ตลอดเวลาจนมันผ่านไปจึงจะหาย
๗. คันยุบๆ ยิบๆ ที่โน้นที่นี้ จนเหลือที่จะอด เหลือที่จะทน เหมือนกันกับคนเอาหมามุ่ยหรือตำแยมาโรยลงบนที่นอน คือเหมือนมันคันที่โน้นเจ็บที่นี้อยู่ตลอดเวลา ท่านทั้งหลายเคยถูกหมามุ่ยหรือตำแยก็จะรู้ทันทีว่า เออ ลักษณะอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้ บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ลุกขึ้นยืนสลัดสบง จีวร เครื่องนุ่งห่มจนโกลาหลขึ้นมา แล้วก็เข้าใจว่ามีเรือดมีไร มีมดมีแมลงมาไต่มาตอมอยู่ในร่างกาย
๘. จิตใจไม่แน่นอน คิดอยากเปลี่ยนคำกำหนดอยู่ร่ำไป เช่นว่า กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” เอ พองหนอยุบหนอนี้สู้พุทโธเราไมได้ ไปกำหนดพุทโธ “พุทโธๆ” กำหนดไปๆ เอ๊ะ ! พุทโธ นี้ก็สู้ อิติปิโส ภะคะวา ไม่ได้ กำหนด “อิติปิโส ภะคะวา อิติปิโส ภะคะวา” เอ๊ะ! กำหนดอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้ นะมะพะธะ นะมะพะธะ ไม่ได้ ก็กำหนดไป “นะมะพะธะ นะมะพะธะ” ไป เอ้า อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้เรามองดูจิตไม่ได้ ก็มองดูจิตของตัวเอง เห็นความเคลื่อนไหวของจิตใจ กำหนดไปๆ เอ๊ะ ! อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อันนี้สรุปแล้วว่าจิตใจไม่แน่นอน กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน เดี๋ยวก็เปลี่ยนที่โน้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนที่นี้อยู่ตลอดเวลา ส่วนมากผู้ที่เคยไปปฏิบัติอยู่ในสำนักโน้นบ้าง ปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้บ้าง เมื่อเรามาปฏิบัติจริงๆ ลักษณะอย่างนี้จะเกิดขึ้น
๙. กำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ความทุกข์ความเสื่อมจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปอย่างจริงจัง หรือบางทีเมื่อสภาวะคือความทุกข์ ความเสื่อมเกิดขึ้นในจิตในใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติกลุ้มใจ ทุกข์ใจ อยากให้ความทุกข์ อยากให้ความเสื่อม อยากให้เวทนาที่เป็นสังขารทุกข์นี้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน คือไม่อยากให้สภาวะอย่างนี้เกิด ความทุกข์ก็ไม่อยากให้เกิด ความเสื่อมก็ไม่อยากให้เกิด เวทนาก็ไม่อยากให้เกิด จิตใจคิดโน้นคิดนี้จิปาถะก็ไม่อยากให้คิด อยากให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้หายไป โดยคิดว่าถ้าสิ่งนี้หายไปการปฏิบัติของเราจะได้ดีกว่านี้ เอาไปเอามา เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันชุลมุนวุ่นวายอย่างนี้แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติเห็นทุกข์อย่างร้ายแรง เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นคิดอยากถึงพระนิพพาน ว่าถ้าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มันหมดไปสิ้นไปสูญไปจากตัวของเราแล้ว เราจะได้ถึงพระนิพพาน ถ้าอยู่ในพระนิพพานคงไม่มีความทุกข์อย่างนี้ ก็อยากถึงนิพพาน และจิตที่อยากถึงนิพพานนั้น โดยที่เราไม่ได้คำนึงมาก่อน ไม่ได้คิดมาก่อนว่าเราจะไปนิพพานหรือจะถึงนิพพาน แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมามันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อยากถึงพระนิพพาน
๑๐. กำหนดครั้งใด คือหมายความว่าเราจะกำหนดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายก็ตาม จะกำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูกก็ตาม จะกำหนดเวทนาก็ตาม จะกำหนดทางจิตใจก็ตาม เรากำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนามอย่างจริงจัง
ท่านอุปมาเหมือนกันกับปลาที่ติดอยู่ในข่ายในแห อยากออก อยากหนี อยากพ้น ไปจากข่าย จากแหฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกันกับกบที่อยู่ในปากของงู อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากปากของงูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกับไก่ป่าที่ถูกขังอยู่ในกรง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากกรงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกันกับเนื้อที่ติดอยู่ในบ่วง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากบ่วงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกันกับงูที่อยู่ในมือของหมองู อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากมือของหมองูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกันกับช้างที่ติดหล่ม อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากหล่มฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกันกับพญานาคที่ติดอยู่ในปากของครุฑ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากปากของครุฑฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
หรืออุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่อยู่ในวงล้อมของข้าศึก อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากวงล้อมของข้าศึกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น
สรุป ท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ใจน้อยก็ใจน้อย งอแงก็งอแง โกรธง่าย เมื่อก่อนโน้นเราเคยนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ แต่เมื่อมาถึงนี้นั่งไม่ได้นานท่านทั้งหลาย ๕ นาทีก็ยังไม่ได้ แล้วก็เดิน แล้วก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม เดินไม่นานก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา คือสรุปแล้วว่าเราอยากนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ ก็นั่งไม่ได้ เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นสภาวะของญาณนี้ท่านทั้งหลาย
เหตุนั้น เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ทำจิตใจให้หนักแน่นมั่นคง อย่าโอนเอนไปตามสภาวะที่เกิดขึ้น และเมื่อท่านทั้งหลายไปแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา สภาวะอย่างนี้ขอให้อยู่ใกล้ชิด เวลาปฏิบัติถ้าหากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วให้อยู่ใกล้ชิด อย่าปล่อย อย่าละเลย ให้อยู่ดู หากว่าเราไม่นั่งด้วยก็อยู่ห่างๆ มองดูอาการปฏิบัติ เพราะว่าสภาวะอย่างนี้ ถ้าเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ส่วนมาก ไม่เอาแล้ว เกิดขึ้นมาแล้วเลิกเลยไม่ยอมปฏิบัติต่อไป บางทีคนเฒ่าคนแก่ก็ยังเลิก ยังไม่ปฏิบัติ ก็คิดว่า เอ๊ะ ! กัมมัฏฐานบ้าๆ บอๆ อะไร จะมาทำให้เราเป็นบ้า กัมมัฏฐานบ้าๆ บอๆ อย่างไร มันจึงเป็นอย่างนี้
โยมหลายๆคนอยู่ข้างวัดของเรานี้แหละ ข้างวัดทางทิศเหนือก็มี ทางทิศใต้ก็มี สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ตั้งแต่วันโน้นถึงวันนี้ยังไม่ยอมปฏิบัติกัมมัฏฐานเลย มันล่วงเลยมากี่ปีท่านทั้งหลาย ๒๕๑๔, ๒๕๑๕, ๒๕๑๖ มาถึงป่านนี้ก็ยังไม่ยอมเดินจงกรมนั่งสมาธิ ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติเลย เข็ดไปเลย ส่วนมากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วผู้ปฏิบัติจะคิดว่า ภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน สิ่งที่คิดมาก เกิดมาก แล้วก็มีมาก เป็นมากที่สุดสำหรับผู้ปฏิบัติ ภาษาอีสานเรียกว่า ผิดของรักษา บ้านเฮาว่า ผิดผี ผิดของรักษา ทางภาคกลางก็คงจะรู้ พูดง่ายๆว่า ผิดของ หรือว่าเคยถือเวทย์มนต์กลคาถาอย่างโน้นอย่างนี้มาก็ผิดของ นี้จะเกิดมากสำหรับภาคอีสานของเรา บางทีเมื่อก่อนโน้นเคยถือ พวกผีกะไท้ พวกผีแถนผีอะไร เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ไม่เอาแล้วท่านทั้งหลาย นั่งซึมๆ อยู่ตลอดเวลา มีแต่ร้องห่มร้องไห้ ผลสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ก็ไป แต่ถ้าจิตใจสู้หน่อยก็สามารถเอาชนะได้ สภาวะอย่างนี้เกิดไม่นานหรอกท่านทั้งหลาย บางทีวันนั้นก็ผ่านเลย บางที ๕ นาทีผ่านเลย ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดีๆ หน่อยก็ผ่านเร็ว แต่ถ้าสติสัมปชัญญะของเราไม่ดีเท่าที่ควร ลักษณะอย่างนี้อาจจะเป็นอยู่ ๑ วัน หรือ ๒ วัน ๓ วัน แต่เท่าที่สังเกตมาไม่เกิน ๗ วันมันก็ผ่านไป แล้วก้าวขึ้นสู่ญาณใหม่
เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง มุญจิตุกัมยตาญาณ มาถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.