สิ่งขวางกั้นการปฏิบัติธรรม

สิ่งขวางกั้นการปฏิบัติธรรม

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

       วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ธรรมที่เป็นส่วนอกุศลที่กั้นกางผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ที่ถูก หรือว่าไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ปฏิปทาทำให้พ้นทุกข์ได้ สำหรับอุปสรรค สิ่งขัดขวางการประพฤติปฏิบัติ วันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำมาเล่าโดยสังเขปกถา

       สิ่งที่เป็นสภาวะกั้นกางจิตใจ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถที่จะดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง หรือดำเนินไม่ได้เสียเลย มีดังนี้ คือ

       ๑. กามฉันทะ พอใจในกาม คือ พอใจในรูปที่สวยๆ พอใจในเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต หรือพอใจในรสที่เอร็ดอร่อย พอใจในสัมผัสที่ดีๆ

       การที่เราพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน ในเวลาประพฤติปฏิบัติ กามฉันทะนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพอใจในอารมณ์ คือ อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าใคร่น่าพอใจ จะมีความพอใจ รักใคร่ ติดอยู่ในอารมณ์นั้นทันที เช่น เรานั่งกัมมัฏฐานไป บางทีเกิดนิมิตมา เรามองเห็นรูปที่สวยๆ มองเห็นปราสาทที่สวยๆ หรือมองเห็นป่าไม้ที่สวยๆ ก็มีความใคร่ความพอใจขึ้นมาทันที

       หรือบางทีเกิดแสงสว่างขึ้นมา ก็เกิดความใคร่ความพอใจขึ้นมา บางทีได้ยินเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป มีคนมาเรียกอย่างโน้นมาเรียกอย่างนี้ หลวงพี่อย่างนั้น หลวงพี่อย่างนี้ หรือบางทีได้ยินเสียงเทพบุตรเทพธิดา ก็มีความพอใจ บางทีก็มีเสียงพวกอมนุษย์ เช่น พวกเปรต พวกอสุรกาย มาขอส่วนบุญ หรือขอให้ช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความพอใจขึ้นมา บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานไป เกิดความสงบเป็นพิเศษ จิตและเจตสิกของเราสงบเป็นพิเศษ สงบมาก จนทำให้ผู้ปฏิบัติหลงใหลเข้าใจว่าตนได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความใคร่ความพอใจในสิ่งนั้นๆ หรือบางทีเกิดความอิ่มใจ เกิดความปลื้มใจความปราโมทย์ขึ้นมาในจิตในใจ ก็เกิดความพอใจชอบใจในสิ่งนั้นๆ ด้วยอำนาจของกามฉันทะ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมะของเราไม่ได้ผลเหมือนกัน

       หรือบางที เดินจงกรมนั่งสมาธิทำกัมมัฏฐานไป เกิดความพอใจในการสร้างสมอบรมบุญกุศล เมื่อก่อนตนได้เคยสร้างสมอบรมไว้ เมื่อนึกถึงบุญเก่ากุศลเก่าก็พอใจ ปลื้มใจ ดีใจ แล้วก็อยากทำบุญใหม่ไปเรื่อยๆ แต่เรานั่งกัมมัฏฐานเป็นวันๆ ก็นึกถึงแต่บุญเก่ากุศลเก่าที่เราทำ นึกแต่ในการที่จะทำบุญใหม่ กุศลใหม่ไปเรื่อยๆ การที่มีความใคร่ความพอใจในสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะเหมือนกัน

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป สติของเรามันดีผิดปกติ คือมันดีเกินไป เรานึกอะไรก็ได้ดังใจหมาย นึกอย่างโน้นก็ได้ นึกอย่างนี้ก็ได้ เราจะนึกอย่างไรก็สามารถนึกถึงสิ่งต่างๆได้ตามความพอใจก็เกิดความใคร่ความพอใจขึ้นมา หรือบางทีเราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ เกิดความหมั่นความขยันขึ้นมา การเดินจงกรมก็ดี การนั่งกำหนดก็ดี มีความขยันเป็นพิเศษ แต่ว่าสติของเรามันหย่อน เมื่อมีความเพียรขึ้นมาอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พอใจในความเพียรนั้นๆ ไม่ได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะ พอใจในอารมณ์เหมือนกัน

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป สติมาก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นึกถึงแต่เรื่องอดีต นึกถึงแต่เรื่องอนาคต บางทีก็คล้ายๆ กับระลึกชาติได้ บางทีก็ระลึกได้จริง อะไรทำนองนี้ ก็มีความใคร่ความพอใจในอารมณ์นั้นๆ ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะความพอใจในอารมณ์ได้เหมือนกัน หรือบางทีนั่งกัมมัฏฐานไป มันสบายผิดปกติ เดินอยู่ก็สบาย นั่งอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็สบาย เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พอใจติดใจ หลงใหลชอบใจอยู่ในความสบายนั้น ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะได้เหมือนกัน สรุปสั้นๆแล้วว่า กามฉันทะนี้ หมายถึงความพอใจในอารมณ์ อารมณ์ใดๆก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็พอใจหลงใหลติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ถือว่าเป็นกามฉันทะ

       ๒. พยาบาท พยาบาทในที่นี้หมายถึงว่า ไม่พอใจในอารมณ์ อารมณ์กัมมัฏฐานใดๆ ก็ตาม เราปฏิบัติไป เราเดินจงกรมก็ดี นั่งสมาธิอยู่ก็ดี ก็ไม่พอใจในอารมณ์นั้นๆ อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่พอใจในอารมณ์นั้นๆ ด้วยอำนาจอนิษฐารมณ์เกิดขึ้นในขันธสันดาน

       บางทีเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นเพื่อนๆเดินจงกรมก็ไม่พอใจ เพื่อนๆ พูดกันก็ไม่พอใจ เพื่อนกระแอมก็ดี ไอก็ดี ก็ไม่พอใจ เวลาสรงน้ำหรือเวลาเข้าห้องสุขาอย่างนี้ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เห็นเพื่อนคลุกคลีกันเกินไปก็ไม่พอใจขึ้นมา สรุปแล้วว่า อะไรๆก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นมาแล้วไม่พอใจอารมณ์นั้น ทุกสิ่งทุกประการ ก็ถือว่าเป็นพยาบาท คือ ไม่พอใจในอารมณ์ นี่พูดแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าพูดในเรื่องปริยัติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ คำว่า “พยาบาท” คือ ไม่พอใจในอารมณ์

       ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อแท้ คือ เวลาเราทำกัมมัฏฐานกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า นั่งกัมมัฏฐานตาซึมๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป กำหนดกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า ขาดสติ สติไม่พอ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เหมือนกัน เมื่อใดเรามีถีนมิทธะครอบงำอยู่ เมื่อนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ปัจจุบันธรรม ไม่สามารถจะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น ถีนมิทธะนี้ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเหมือนกัน

       ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและคิดมาก คำว่าฟุ้งซ่านและคิดมากในที่นี้ ส่วนมากจะเป็นด้วยอำนาจของอกุศลกรรมที่ตนได้สร้างสมอบรมมาแล้ว ตั้งแต่นานๆ หรือตั้งแต่ปุเรกชาติ คือเมื่อนั่งกัมมัฏฐานไป นึกถึงแต่บาปแต่กรรมที่ตนได้ทำไว้ บางทีเคยล่วงเกินพ่อ เคยล่วงเกินแม่ บางทีเคยล่วงเกินครูบาอาจารย์ เมื่อมานั่งกัมมัฏฐานก็เป็นเหตุให้คิดมาก เรานี้ทำกรรมมามากแล้ว ล่วงเกินครูบาอาจารย์พ่อแม่มากแล้ว อย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา คิดมากทันที                   

       บางทีเราล่วงเกินผู้มีพระคุณ หรือเคยล่วงเกินอะไรก็ตามมันทำให้คิดมาก บางทีเราเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เคยลัก เคยขโมย เคยล่วงเกินผัวเขา เมียเขา ลูกเขา เคยพูดโกหกพกลม หรือเคยพูดวาจาที่ไม่เพราะหู เป็นวาจาที่หยาบคาย พูดวาจาที่ไม่มีสาระประโยชน์ พูดวาจาที่ส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกร้าวสามัคคีกัน เมื่อเรานึกถึงคำพูดเช่นนี้มาก็ทำให้คิดมาก ฟุ้งซ่าน หรือบางทีเราเคยละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่งมา สมมุติว่าเรารักษาศีล ๕ ก็ละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อเรามาทำกัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นึกถึงบาปที่เราทำไว้แล้ว ก็เลยเป็นเหตุให้คิดมาก

       สรุปแล้วว่า อุทธัจจกุกกุจจะนี้คือว่าฟุ้งซ่านรำคาญเพราะนึกถึงบาปเก่า เหตุนึกถึงแต่บาปเก่าแล้วบุญไม่ได้ทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก ส่วนมากการคิดมากนั้นก็ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ได้ผลเหมือนกัน เหตุนั้น เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้นมาคือทำให้ฟุ้งซ่านคิดมากเมื่อไร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “คิดหนอๆๆ” ร่ำไป จนกว่าอาการคิดนี้จะสงบไปหรือหยุดไปเสียก่อน จึงกำหนดบทพระกัมมัฏฐานใหม่ต่อไป

       ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย คือมีความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม พระธรรมมีจริงไหม พระอริยสงฆ์มีจริงไหม สมัยนี้ยังมีพระอริยสงฆ์อยู่หรือ นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม พรหมโลกมีจริงไหม ชาตินี้ชาติหน้ามีจริงไหม เกิดความสงสัยอยู่ตลอดเวลา หรือบางที เมื่อเรามีความสงสัยอยู่อย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความท้อใจ ขี้เกียจในการทำกัมมัฏฐาน นึกว่าบุญบาปไม่มี หรือว่าอะไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะตัดสินเอาเองได้ อะไรๆ เกิดขึ้นมาก็มีความสงสัย อารมณ์ใดๆที่เกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีความสงสัยขึ้นมา ความสงสัยนี้ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกัมมัฏฐานไม่ได้ผล เหตุนั้น นิวรณ์ ๕ ประการ ข้อสุดท้ายคือ วิจิกิจฉา ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเหมือนกัน

       เมื่อเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานไปๆ จนมาถึงวิจิกิจฉาคือความสงสัย ความสงสัยพูดแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ เช่นว่าเรามีอะไรเกิดขึ้นมาก็เอะใจสงสัย สมมติว่านั่งกัมมัฏฐานไปเห็นแสงสว่างขึ้นมา เอะใจสงสัยว่า “เอ๊ะ ! มันอะไรกัน” นี่เป็นวิจิกิจฉาแล้วนะ หรือว่าทำกัมมัฏฐานไปๆ บางทีนิมิตเกิดขึ้นมาก็เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วแต่นานๆ เห็นครูบาอาจารย์ เห็นโน้นเห็นนี้ ก็มีความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ! มันอะไรกัน”

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป มันมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า หรือว่าบางทีมีการสัปหงกวูบไปข้างหน้าข้างหลังขึ้นมาอย่างนี้ ก็มีความสงสัยเอะใจว่า “เอ๊ะ ! มันเรื่องอะไรกัน นี้มันอะไรกัน” ก็ถือว่าเป็นวิจิกิจฉาแล้วนะ หรือว่าเราทำกัมมัฏฐานไปๆ บางทีความรู้สึกของเรามันสงบไป ขาดความรู้สึกไปชั่วครู่ชั่วขณะ ก็มีความสงสัยเอะใจว่า “เอ๊ะ อันนี้มันอะไรกัน” หรือว่านั่งกัมมัฏฐานอยู่ ๑๐ นาที ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที นั่งไปจิตใจมันสงบเงียบไป พอดีรู้สึกตัวขึ้นมา “เอ๊ะ ! มันเรื่องอะไรกัน” คือเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดไม่ รู้เพียงแต่ว่า เอ๊ะ มันเป็นเรื่องอะไรกัน นี้ก็ถือว่าเป็นตัววิจิกิจฉา

       สรุปเอาสั้นๆ ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราเอะใจสงสัยเรื่องนั้นๆ ว่า “เอ๊ะ! มันเรื่องอะไรกัน” ก็ถือว่าเป็นตัววิจิกิจฉาแล้ว เมื่อตัววิจิกิจฉาเกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะเพ่งลึกลงไป เอ๊ะ อันนี้มันเรื่องอะไรกัน ก็เพ่งดู พิจารณาดู ใคร่ครวญดู ตริตรองดูว่า มันอะไรกัน มีแต่พิจารณาไปเรื่อย นี้อะไรกันหนอ อันนี้มันเป็นอะไรหนอ มันเรื่องอะไรหนอ เพราะเหตุใดหนอมันจึงเกิดอย่างนี้ เพ่งลึกลงไปๆๆ

       เมื่อเราเพ่งลึกลงไปแล้ว มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามีสมาธิ คือมันอยู่ในอารมณ์ที่เราเพ่งอย่างเดียวว่ามันอะไรกัน ใจของเรามันอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อใจของเรามันอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว ถึงว่ามิจฉาสมาธิก็ตามนะ เราเพ่งอะไรๆ ก็ตาม จะเป็นเรื่องอกุศลก็ตาม เป็นกุศลก็ตาม เราเพ่งลึกลงไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นสมาธิ เมื่อสมาธิมันสมบูรณ์แล้ว มันก่อตัวเต็มที่แล้ว จะเป็นมิจฉาสมาธิก็ตาม สัมมาสมาธิก็ตาม ถูกหรือผิดก็ตาม จิตใจของเรามันก็สงบแน่นิ่งขึ้นมา เมื่อจิตใจของเรามันสงบแน่นิ่งขึ้นไปแล้ว มันก็จะสร้างอะไรต่างๆ ขึ้นมา สร้างโน้นขึ้นมา สร้างนี้ขึ้นมา เห็นโน้นเห็นนี้อะไรร้อยแปดพันประการ แต่เมื่อสรุปแล้วก็มีอยู่ ๕ ประการคือมันจะสร้างภาพอะไรเกิดขึ้นมาในขณะนั้น

       ๑. มันจะสร้างภาพล้อขึ้นมา คำว่าภาพล้อนี้คือภาพที่ล้อเลียนเรา เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งสมาธิก็ดี จะเป็นภาพล้อเลียนเรา สมมติว่าเราเดินจงกรมอยู่ จะเห็นภาพนั้นมันเดินจงกรมด้วย “ขวาย่างหนอ” มันก็ “ขวาย่างหนอ” ตาม เรากำหนดว่า “ซ้ายย่างหนอ” มันก็ “ซ้ายย่างหนอ” ตาม เวลาเราเดินจงกรมมันก็เดินด้วย เวลาเราหยุดมันก็หยุดด้วย เวลาเรานั่งมันก็นั่งด้วย บางทีเรานึกอยากใช้ให้มันไปเอาโน้นเอานี้มาให้ เราใช้ให้ไปเอาน้ำมาให้ดื่ม เอาดอกไม้มาให้บูชา หรือเอานั้นเอานี้ ภาพนั้นก็ลุกขึ้นไปทันทีตามเราคิด เรานึกอย่างไรมันเป็นไปตามนั้น

       มีโยมพัฒนากรคนหนึ่ง ลาราชการมาบวชอยู่นี้แหละ เวลาเดินจงกรมภาพนี้มันเดินตามไป ก็กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” มันก็ “เห็นหนอๆ” ตาม กำหนดว่า “รู้หนอๆ” มันก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ตาม ผลสุดท้ายก็กำหนด “จิตสัมผัสจิตหนอๆ” มันก็ไปตาม เมื่ออาการเช่นนี้เกิดขึ้นมาจิตใจกำหนดไม่ทันก็ทำให้เกิดอาการเหนื่อยขึ้นมา นี้ท่านทั้งหลายมันเป็นไปได้ บางทีเราเดินจงกรมด้านหน้า มันกลับเดินไปด้านหลัง เราเดินจงกรมด้านหลังมันกลับเดินไปข้างหน้า

       บางทีเราเดินจงกรมตรงๆ อยู่นี้ มันเดินผละออกจากเราไป หรือว่าเราเดินจงกรม มันเดินมาหาเรา ก็แล้วแต่มันจะเป็นไป ชื่อว่าภาพมันล้อเลียนเรา เหมือนกับคนที่เลี้ยงม้าอย่างนี้ มันเห็นเจ้าของเป็นคนขาเผลก ม้ามันก็เดินกะเผลกๆด้วย อะไรทำนองนี้ อันนี้ภาพล้อมันก็เหมือนกัน คือมันจะล้อเลียนเรา ส่วนมากพวกนี้เมื่อก่อนโน้นชอบไปล้อเลียนคนโน้นบ้าง ล้อเลียนคนนี้บ้าง เห็นเขาพูดไม่ชัดก็ล้อเลียนเขา เขาทำโน้นไม่ดีทำนี้ไม่ดีก็ล้อเลียนเขา คือชอบล้อเลียนผู้อื่น ส่วนมากก็ชอบล้อเลียนผู้อื่น เมื่อผู้ใดชอบล้อเลียนผู้อื่นอย่างนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ภาพที่ล้อเลียนผู้อื่นซึ่งมันบันทึกอยู่ในภวังคจิตมันก็แสดงนิมิตนี้ขึ้นมาให้เห็น

       ท่านทั้งหลายก็คิดว่าภาพล้อเลียนทั้งหลายนี้มันอยู่ภายนอก มันเกิดขึ้นจากเทวดาฟ้าดิน หรือยมยักษ์อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่ มันเกิดอยู่ที่จิตของเรา เพราะจิตของเราเมื่อก่อนโน้นไปล้อเลียนคนอื่น ล้อเลียนคนโน้น ล้อเลียนคนนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเรามันสงบเป็นสมาธิ มันก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมา คือจิตดวงนี้มันแสดงขึ้นมามันก็มีอาการ เวลาเราทำกัมมัฏฐานก็เหมือนกับคนโน้นมาล้อคนนี้มาล้อเลียน

       อันนี้ก็เป็นภาพที่ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นมา เมื่อภาพนี้เกิดขึ้นมาแล้วให้ท่านทั้งหลายกำหนดว่า “เห็นหนอๆๆ” อย่าเอาใจใส่ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง ทีนี้ถ้ามันไม่หาย ภาพนี้ไม่หาย กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย อย่าเอาใจใส่ในภาพนั้น ตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน เอาสติปักลงที่ท้องพองท้องยุบ กำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” หรือว่า “รู้หนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๒. ภาพล่อ ภาพล่อคือเป็นภาพที่สวยงาม เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป ภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นภาพที่สวยสดงดงาม เห็นต้นไม้ที่สวยๆ เห็นต้นข้าวที่สวยๆ เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่สวยๆ เห็นปราสาทวิมานที่สวยๆ เห็นคนที่สวยๆ เห็นผู้หญิงที่สวยๆ เห็นผู้ชายที่สวยๆ อะไรๆก็มีแต่เห็นภาพที่สวยๆ หากว่าเราผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปติดใจในภาพนี้ เห็นภาพที่สวยๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นรูปผู้หญิงที่สวยๆ ๓ วันก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น ๔ วันก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น ปีหนึ่งก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น เพราะว่าเราไปติดในภาพนี้ ภาพนี้มันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ยิ่งเราไปติดเท่าไรๆ มันก็แสดงอาการอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

       แต่ว่าบางท่านก็เป็นบางท่านก็ไม่เป็นนะ บางทีภาพนี้ติดตาอยู่อย่างนี้ ๑ ปีก็มี ๒ ปีก็มี บางคนก็ ๓ ปี บางคนก็ ๕ ปี ๖ ปี ก็มี บางรูปเคยมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน มันเกิดขึ้นมาทันที โน้น เห็นภาพคนที่ชอบพอกันเมื่อก่อน เคยเป็นแฟนกัน ผลสุดท้ายผู้หญิงคนนั้นเขาก็มีครอบมีครัว เราก็มาบวช เมื่อมาบวชภาพนี้ก็เกิดขึ้นมาในเวลาประพฤติปฏิบัติ เลยทำให้การประพฤติปฏิบัติมันดำเนินไปไม่ได้ คือไม่สามารถที่จะให้สมาธิสมาบัติมันสูงไปกว่านี้ได้ สิ่งนี้ก็สำคัญท่านทั้งหลาย

       วิธีที่จะปฏิบัติให้มันหายไปคือให้เราตั้งสติว่า “เห็นหนอๆ” หรือว่า “รู้หนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไป แต่ถ้ามันไม่หาย อย่าเอาใจใส่เลย อย่าเอาใจใส่ในนิมิตนั้นเลย นั่งกำหนดอาการพองอาการยุบ “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือว่า “รู้หนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๓. ภาพหลอก ภาพหลอกนี้คือเป็นภาพที่ทำให้ตกใจกลัว บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เห็นเปรตมันยื่นมือมาจะบีบคอเรา หรือบางทีเห็นยักษ์มันยื่นมือมาจะบีบคอเรา บางทีก็เห็นหมาบ้ามันวิ่งเข้ามาจะกัดเรา บางทีเห็นช้าง เห็นเสือ เห็นราชสีห์ เห็นงูพิษมันเลื้อยมาจะกัดเรา บางทีเห็นตะขาบ เห็นแมงป่องมันไต่ขึ้นมาตามร่างกาย หรือบางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เหมือนกับกิ้งกือมันไต่ขึ้นมาตามร่างกายของเรา สรุปแล้วว่า ภาพนี้เป็นภาพที่ทำให้ตกใจกลัว บางทีเป็นยักษ์เป็นมารมาจะมาทำร้าย

       มีพระรูปหนึ่งมาบวชอยู่ที่นี้ มาบวชแล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐาน นั่งกัมมัฏฐาน เห็นยักษ์สูงเทียมปลายตาลมันยื่นมือมาจะบีบคอ ทำอย่างไรก็ไม่หาย กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย นึกถึงเวทย์มนต์กลคาถาที่เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมา กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย มีแต่จะบีบคอให้ตาย ผลสุดท้ายไม่เอาใจใส่ในนิมิตนั้น ตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป “รู้หนอๆๆ” ไป ผลสุดท้ายมันก็หายไปเอง ภาพนี้เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมันทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน กลัวว่าภูตผีปิศาจหรือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นมาทำร้าย หรือมาบีบคอเราให้ตาย

       แต่ถึงอย่างไรก็ตามท่านทั้งหลาย หากว่ามันเป็นของจริง มันเป็นภูตผีปิศาจจริง เป็นยักษ์เป็นมารจริงๆ มันจะมาบีบคอเรา มันไม่มีโอกาสจะบีบได้หรอก หากว่าเรามีศีลดีอยู่ มีสมาธิอยู่ พวกนี้มันจะมาใกล้เราอย่างมาก ๑ วา ใกล้ที่สุดก็ ๑ วา ๑ วานี้มันยื่นมือมาบีบคอเราไม่ได้ เหตุนั้นเมื่อภาพอย่างนี้เกิดขึ้นมาท่านทั้งหลายอย่าตกใจ กำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ หรือกำหนดอาการพองอาการยุบไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๔. ภาพลวง คือภาพลวงนี้พูดอย่างหนึ่งว่าเป็นปฏิภาคนิมิต คือเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เรานึกถึงอะไรมันจะเห็นสิ่งนั้น เรานึกถึงนรกก็จะเห็นนรก เรานึกถึงพวกเปรตก็จะเห็นพวกเปรต เรานึกถึงพวกอสุรกายก็จะเห็นอสุรกาย เรานึกถึงเมืองพญานาคก็จะเห็นพวกพญานาค เรานึกถึงเทวโลกจะเห็นเทวดา เห็นพระอินทร์ เรานึกถึงพรหมโลกก็จะเห็นพรหมโลก เรานึกถึงครูบาอาจารย์ก็จะเห็นครูบาอาจารย์ บางทีเห็นครูบาอาจารย์ท่านมานั่งอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆ กับจะมาคุยกับเรา พูดกับเราหรือมาเทศน์ให้เราฟัง

       บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี เรานึกถึงพ่อถึงแม่ก็เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไป เรานึกถึงลูกถึงหลานที่ตายไปแล้วก็เห็นลูกเห็นหลาน เรานึกถึงโบสถ์วิหารศาลาการเปรียญที่เราเคยสร้าง เราก็เห็น นึกถึงหลวงปู่โน้น นึกถึงหลวงปู่นี้จะเห็น เรานึกถึงพระพุทธเจ้าเห็นพระพุทธเจ้า เรานึกถึงพระอรหันต์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราก็เห็นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า เรานึกถึงพระฤษีก็เห็นพระฤษี อันนี้เรียกว่า ภาพลวง บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วเห็นพระพุทธเจ้า นั่งไปเห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า นั่งไปแล้ว เอ้อ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราอยากฟังเทศน์ฟังธรรมจะไม่ฟังเทศน์ฟังธรรมครูบาอาจารย์ละ เราจะนั่งสมาธิมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เราจะนั่งสมาธิมาฟังเทศน์ของพระอรหันต์ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระสังกัจจายนะ มันคิดอย่างนี้นะ ทำให้เข้าใจผิดขึ้นมา

       หรือบางทีก็นั่งสมาธิจะเอาข้าวไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า เอาภัตตาหารไปถวายพระพุทธเจ้า ถ้าว่านิมิตนี้ยังไม่หาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เหตุนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลายพยายามตั้งจิตตั้งใจกำหนดว่า “เห็นหนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ ถ้ากำหนด “เห็นหนอๆ” แล้วยังไม่หาย อย่าเอาใจใส่เลย อย่าเอาใจใส่ เอาสติมาปักลงที่ท้องพองท้องยุบ “พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็หายไปเอง

       ๕. ภาพล้าง ภาพล้างนี้เป็นภาพที่ทำลายล้างวิปัสสนาให้เสื่อมไป สมมุติว่าเราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แทนที่มันจะก้าวหน้า แทนที่มันจะได้ผลมากกว่านี้ แต่เวลาปฏิบัติไปๆ กลับไม่ได้ มีแต่ภาพนี้ทำลายล้างสติสัมปชัญญะของเราอยู่ตลอดเวลา คือภาพที่ทำลายล้างนี้บางทีก็เกิดจากเทวดามิจฉาทิฏฐิ บางทีก็เกิดจากพวกเปรตอสุรกายมาขอส่วนบุญ แล้วแต่เหตุปัจจัย

       บางทีพวกเปรตมันมาขอส่วนบุญ เราก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ แต่เราต้องสำเหนียกดูก่อนว่ามันเป็นเปรตจริงหรือ หรือเป็นภาพที่มันล้อเลียนเรา มันทำให้เข้าใจผิด มาทำลายล้างเรา เราต้องคิดเสียก่อน เราเอาใจปักลงไปเสียก่อนเป็นเปรตจริงหรือ ถ้าเป็นเปรตจริงๆ เราจะรู้เองหรอก เป็นเปรตจริงๆ เราก็อุทิศส่วนกุศลให้มันก็หายไปเอง หรือว่าเราอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แล้วยังไม่หายก็อย่าเอาใจใส่ กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ ยุบหนอ” ไปเรื่อยๆ ก็จะหายไปเอง

       สมัยที่หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ พวกนี้มันเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ไปนั่งอยู่ที่โน้น ไปนั่งอยู่ที่นี้ เห็นแต่พวกเปรตเดินไปเดินมา หลังจากมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ทุกวันๆ เหมือนกับพวกเราทั้งหลายอุทิศอยู่ทุกวันนี้ละ มันหายไปทีละน้อยๆ หายไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เกือบจะไม่มีเสียเลย นี้พวกเปรตมันมาขอส่วนบุญ

       บางทีก็เกิดขึ้นจากเทวดามิจฉาทิฏฐิ คือมันไม่เลื่อมใสผู้ประพฤติปฏิบัติ เรามาเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือมาให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถศีล มันก็ไม่เลื่อมใส ก็หาวิธีขัดขวางและกีดกันการประพฤติปฏิบัติของเรานี้

       ท่านทั้งหลายอาจจะเข้าใจผิดว่า เอ๊ะ หลวงพ่อ เป็นเทวดาแล้วยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่หรือ มันเป็นได้ท่านทั้งหลาย เทวดาก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิได้เหมือนกัน เกิดจากอะไร พวกเทวดามิจฉาทิฏฐิเกิดจากมิจฉาทิฏฐิของตัวเองนั้นแหละ คือมันเกิดจากจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ สมมุติว่าเวลามาทำบุญทำทาน พวกเราทั้งหลายทำบุญทำทานไปตอนเช้านี้แหละ พวกที่เป็นประเภทนี้ โอ้ะ ทำไปทำไมหนอ ทำทานนี้ ทานมันก็ไม่ได้บุญ ทำไปทำไมทำทานก็ไม่ได้บุญ ไม่ได้บุญทำไมถึงทำอยู่ พอเพื่อนพาทำเราก็ทำถ้าไม่ทำก็อายเพื่อน เท่านั้นแหละท่าน เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เวลาเราทำบุญทำทานมันก็ได้อยู่ ได้บุญอยู่ บุญนี้ได้อยู่ แต่จิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นมันก็ติดตามบุคคลผู้นั้นไป บุญที่ทำแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเทวดาได้อยู่ แต่เพราะจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเกิดเป็นเทวดาแล้วก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเกิดได้อย่างนี้นะ

       หรือบางทีเห็นเพื่อนมารักษาศีลหรือมารักษาอุโบสถศีลอย่างนี้ รับทำไมหนอศีลนี้รับทำไมหนอ รักษาศีลนี้รักษาทำไม เพราะรักษาแล้วไม่ได้บุญ เอ้า ถ้าไม่ได้บุญแล้วรักษาทำไม สมาทานศีลกับท่านทำไม ถ้าไม่สมาทานก็กลัวเพื่อนจะว่าอย่างนั้น กลัวเพื่อนจะว่าอย่างนี้ ก็เลยสมาทาน แต่ที่จริงเป็นว่ามันไม่ได้บุญ เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิได้ คือในขณะที่เราสมาทานศีลอยู่นี้ ก็เป็นบุญแล้ว บุญนี้สามารถที่จะให้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาเพราะอำนาจที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิว่า สมาทานศีลก็ไม่ได้บุญ รับศีลก็ไม่ได้บุญ ตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเทวดาเป็นมิจฉาทิฏฐิไป นี้มันเป็นได้อย่างนี้

       หรือเวลาเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ เราเดินจงกรมนั่งสมาธิ โอย เดินจงกรมไปทำไมหนอ นั่งสมาธิไปทำไมหนอ มาปฏิบัติคงไม่ได้อะไรหรอก อ้าว ไม่ได้ทำไมถึงเดินจงกรมกับเพื่อนอยู่ ทำไมถึงปฏิบัติกับเพื่อนอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติเพื่อนก็จะว่า เช่นพวกเราทั้งหลายไปประชุมโน้นไปประชุมนี้ ครูบาอาจารย์ให้เดินจงกรม เดินไปทำไมหนอ เดินจงกรมนั่งสมาธินี้มันไม่ได้บุญอะไรหรอก จิตมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นมา ถ้าไม่ได้บุญทำไปทำไม ถ้าไม่ทำครูบาอาจารย์ก็ว่า เพื่อนจะว่าอย่างนั้นเพื่อนจะว่าอย่างนี้ ครูบาอาจารย์จะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ญาติโยมจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จำเป็นต้องทำ ในเวลาเราทำมันก็เป็นบุญอยู่นะ เวลาทำบุญมันก็เป็นบุญอยู่ แต่จิตมันเป็นบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ เวลาทำบุญ มันก็ได้บุญ บุญนี้ก็สามารถที่จะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ได้ เป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่เมื่อเกิดเป็นเทวดามาแล้ว เทวดานั้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้นจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เห็นว่าทำกัมมัฏฐานไม่ได้บุญแต่ข่มใจทำเกรงเพื่อนจะว่า เกรงครูบาอาจารย์จะว่า บุญส่วนนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่ว่าเกิดมาแล้วก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ เมื่อเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี้ก็มาทำโน้นทำนี้ ทำให้เรากลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้ ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราไม่ได้ผลเท่าที่ควร

       ขอออกนอกเรื่องไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่ามีคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ  เจ้าปู่นี้ทำไมถึงอายุยืนเหลือเกิน ปู่ทวด ตาทวด ตายไปแล้ว แต่เจ้าปู่นั้นยังไม่ตาย” หรือบ้านเราภาคอีสานเรียกว่า “ผีปู่ตา” ถ้าอยู่ในเมืองก็เรียกว่าศาลเจ้า หรือในเมืองเขาว่าอะไร ศาลเจ้าหลักเมืองอะไรทำนองนี้ เอาภาษาบ้านเราซะ พวกเจ้ากวน พวกผีปู่ตา เรียกว่าเจ้าปู่ เจ้าผีปู่ตา พวกเจ้าปู่นี้ พวกนี้ไปเกิดเป็นเจ้าปู่ได้อย่างไร พวกนี้หลวงพ่อว่าเป็นภุมมเทวดา พวกนี้เป็นภูมิต่ำๆ แต่เทวดาพวกนี้ก็เกิดจากอำนาจมิจฉาทิฏฐิเหมือนกัน

       สมมุติว่าเมื่อก่อนเขาตั้งให้เป็นเจ้ากวน ให้เป็นผู้รักษา เป็นกวนบ้านเป็นผู้รักษา ต้องเลี้ยงนู้นเลี้ยงนี้ เลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงเหล้า คนมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมาต้องมาหาปู่ตา จะลงดำนาก็หาปู่ตา จะทำบุญทำทานก็ไปหาเจ้ากวนนั้นแหละ เจ้ากวนก็พาไป พาไปกราบไปไหว้ ไปเซ่นไปสรวงนู้นๆ นี้ๆ ทีนี้บุคคลประเภทนี้ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นผีปู่ตา แต่ถ้าพูดภาษาให้เพราะๆ หน่อยก็เรียกว่า ภุมมเทวดา ทีนี้เมื่อบุคคลนั้นเกิดขึ้นมาแล้วก็อยู่อย่างนั้น เป็นภุมมเทวดาอยู่นั่น

       ทีนี้เมื่อคนนั้นตายไปเขาก็ตั้งคนใหม่เป็นผู้ปฏิบัติเจ้ากวน หรือว่าเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับศาลเจ้า คนนี้ก็ทำงาน มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องไปหาคนนี้ คนนี้เขาก็เป็นหัวหน้าหัวตา พาทำอย่างโน้นพาทำอย่างนี้ ทำพิธีอย่างโน้นทำพิธีอย่างนี้ ในขณะที่ทำจิตมันเป็นมิจฉาทิฏฐินะท่านทั้งหลาย การทำอย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ

       ทีนี้เมื่อผู้นี้ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิอยู่นั้นแหละ ได้เทวดามิจฉาทิฏฐิ ๒ ตนแล้วนะ เขาก็ตั้งคนใหม่อีก ตั้งคนใหม่เป็นผู้ปฏิบัติศาลเจ้า ผู้นี้เขาตายแล้วก็มาเกิดในที่นี้อีก ตั้งคนใหม่อีก คนใหม่ตายแล้วก็ไปเกิดในที่นี้ พวกภุมมเทวดาที่อยู่ที่นี้ ผู้ใดที่หมดบาปก่อนก็ไปเกิดในภพใหม่ ผู้ใดบาปหมดก่อนเพื่อน บาปมิจฉาทิฏฐินี้หมดก่อนเพื่อนก็ไปเกิดในภพในภูมิตามกรรมของตนเอง ทีนี้พวกยังอยู่ก็เหลืออยู่นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้คนทั้งหลายไม่เข้าใจก็ดูเหมือนว่าอายุยืน แต่ที่จริงมันต้องผลัดเปลี่ยนกัน ตนหนึ่งไปตนหนึ่งอยู่ เทวดาพวกนี้ก็เหมือนกันท่านทั้งหลาย เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมก็เป็นสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางพวกเราผู้ปฏิบัติธรรม

       เช่นว่าเราไปทำกัมมัฏฐานใกล้ดอนเจ้าปู่หรือเสาหลักเมืองที่นู้นที่นี้ก็มีเรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา หรือไปตามป่าดงพงพี เมื่อพวกนี้รักษาอยู่ ลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมา เมื่อเราทำกัมมัฏฐานหากว่าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาหรือว่ามีเทวดามิจฉาทิฏฐิมันทำร้ายเรา หรือว่าทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราดำเนินช้า หรือดำเนินไปไม่ได้ ทำให้การปฏิบัติของเรานี้ไม่ก้าวหน้า เราก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขา บางทีเขารับส่วนบุญส่วนกุศลแล้วก็เลิกจองกรรมจองเวรหรือไม่ทำลายเรา

       หรือบางทีเราอุทิศส่วนกุศลให้แล้วก็ยังไม่เลิกละ ยังหาวิธีขัดขวางกีดกันอยู่ตลอดเวลา เราก็อย่าเอาใจใส่ เอาสติปักลงที่ท้องพองท้องยุบ “พองหนอ ยุบหนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเมื่อเราไม่เอาใจใส่มันก็หลีกไปเอง นี้แหละท่านทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายที่หลวงพ่อกล่าวมาข้างต้นนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานของพวกเราไม่ให้ก้าวไปเท่าที่ควร หรือว่าไม่ให้ได้ผลเลย

       เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังอุปสรรคทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้ว เมื่อเกิดขึ้นให้ท่านทั้งหลายมีสติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอย่าเอาใจใส่ ผลสุดท้ายก็จะหมดไปเอง

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำมาซึ่งอุปสรรคสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติ ๑๐ ประการมาเล่าถวายท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.