กิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง กิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ มาบรรยายเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะของพวกเราทั้งหลายก็เพื่อดำเนินไปสู่ปฏิปทา ความพ้นทุกข์ เพื่อบรรลุอริยมรรคอริยผล แต่บางครั้งกิเลสได้โอกาส เพราะเราขาดสติสัมปชัญญะ กิเลสอาจจะเข้าแทรกในจิตใจของเรา ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราหวนระลึกกลับหลัง หรือถอยหลังเข้าคลองก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมะของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น จึงจะได้นำเรื่องกิเลสที่ทำให้จิตตกไปในฝ่ายต่ำมาบรรยายเพื่อท่านทั้งหลายจะได้สดับรับฟัง พอเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม
กิเลสที่ทำให้จิตตกไปในฝ่ายต่ำนั้นมีดังนี้ คือ
๑. โลภะ เมื่อโลภะเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้หมดอาลัยหมดความหวังในการปฏิบัติ โดยคิดว่าชาตินี้หรือปีนี้เราคงได้แค่นี้แหละ คงหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว ทำไปก็คงไม่ได้อะไรอีก เลยทำให้เกิดความท้อใจ ทำให้เกียจคร้าน ทำให้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ ทำให้กลุ้มใจ เลิกการปฏิบัติ หรือมิฉะนั้นก็ลดเวลาของการปฏิบัติลง โดยคิดว่าหมดหนทางแล้วเรา โดยลืมพุทธพจน์ที่เคยได้ท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจจำได้คล่องแคล่วว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร หรือว่าความเพียรมีอยู่ ณ ที่ไหน ความสำเร็จย่อมมีอยู่ ณ ที่นั้น ความเพียรแม้เทวดาก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้ พุทธพจน์ที่ดีๆ ที่เคยท่องได้ จำได้จนขึ้นใจ ทำให้ลืมไปหมด เลยคิดแต่จะหวนกลับหรือถอยหลังเข้าคลอง อันนี้เป็นลักษณะของโลภะ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้จิตใจของเราถอยหลัง
๒. โทสะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติ ในเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ในอาหาร ในครูอาจารย์เป็นต้น เลยให้คิดแส่ไปว่า ออกจากนี้เราจะไปปฏิบัติที่โน้น เราจะปฏิบัติที่นี้ คงจะดีกว่าที่นี้ ที่นี้คงหมดแค่นี้แหละอะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นลักษณะของโทสะ
๓. โมหะ ก็ทำให้มืดมนอนธการ ทำให้มืดบอดเหมือนหมู่เมฆที่ปิดบังสุริยะแสง ทำให้มืดครึ้มฉะนั้น ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาธรรมะอันเป็นมรรคาที่จะนำพาไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เลยทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี กลับกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ เช่น เห็นรูปนามเป็นนิจจัง คือ เที่ยง เห็นรูปนามเป็นสุขัง คือ เป็นสุข เห็นรูปนามเป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เห็นรูปนามเป็นสุภะเป็นของสวยของงาม ทำให้เกิดจิตวิปลาส คือ คิดผิด ทำให้เกิดทิฏฐิวิปลาส คือ เห็นผิด ทำให้เกิดสัญญาวิปลาส คือ จำผิด ทำให้เกิดญาณวิปลาส คือ รู้ผิด เป็นต้น
๔. ถีนมิทธะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีแต่ทำให้ท้อแท้ใจ ทำให้ติดอยู่กับการหลับการนอน การเอนข้างเอนหลัง ทำให้โงกงุ่น เคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาหาวนอน จะเดิน จะนั่ง จะกำหนดอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยก็ไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง ตกลงก็เลยถูกเจ้าถีนมิทธะผลักหัวลงปลงพระกัมมัฏฐานว่า นิทราดีกว่าเรา เช้านี้เราตื่นดึกๆ ก็พอ แต่เมื่อถึงคราวจะตื่นขึ้นทำความเพียร มันกลับบอกว่า เอาอีกก่อนๆ อีกหน่อยค่อยลุกไม่เป็นไร ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้จิตใจของเราถอยหลังในการประพฤติปฏิบัติ
๕. อหิริกะ
๖. อโนตตัปปะ
สำหรับตัวอหิริกะกับตัวอโนตตัปปะ ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้จิตใจของเราไม่ละอายบาป ไม่กลัวต่อบาป ไม่กลัวต่อผลของบาป กล้าทำบาปทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งๆบางทีเราก็รู้อยู่ว่า คิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้ มันผิด ไม่สมควรกับเพศภูมิ หรือฐานะของเรา ผิดศีลผิดธรรม ผิดกฎหมาย ผิดกฎผิดกติกา เป็นต้น แต่เจ้าอหิริกะหรืออโนตตัปปะนี้มันก็จะกระซิบขึ้นมาว่า “ไม่เป็นไรๆ ครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าผิดศีลเราปลงอาบัติเอาก็ได้ หรืออยู่ปริวาสกรรมก็ได้” อะไรทำนองนี้ มันกระซิบขึ้นมา ผลสุดท้ายก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมัน เจ้าอหิริกะและเจ้าอโนตตัปปะนี้ เมื่อเกิดขึ้นอย่างแรงกล้าแล้วมันจะพาทำบาปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อย่างเบาถึงอย่างหนัก สามารถที่จะต้องอาบัติได้ตั้งแต่เบาจนถึงที่สุด
๗. ทิฏฐิ ก็จะทำให้เราเข้าใจผิด คิดผิด เห็นผิดจากกฏของธรรมชาติ เห็นผิดต่อการปฏิบัติ เห็นผิดต่อผลของการปฏิบัติ เป็นคนเห็นผิด ขาดเหตุผล ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้คิดผิดอะไรร้อยแปดพันประการ เห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี มรรคผลพระนิพพานไม่มี อะไรทำนองนี้
เหมือนกันกับข้าราชการคนหนึ่งที่ลามาบวช เป็นตำรวจลามาบวช เดินจงกรม นั่งสมาธิ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนโน้นละ เดินจงกรมระยะ ๖ ตอนนั้นครูบาอาจารย์ก็อยู่ใกล้ชิด ก็ขอร้องว่า เดี๋ยวนี้มันก็ใกล้จะหมดเวลาปฏิบัติแล้ว อีกไม่กี่วันเราก็จะเลิกแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้ตั้งอกตั้งใจ ได้ตั้งอกตั้งใจได้ประพฤติปฏิบัติ ก็ขอร้องเป็นพิเศษ
พอดีคนนั้นตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ พอประพฤติปฏิบัติสภาวธรรมตัวนี้เกิดขึ้นมา ทิฏฐิมันหายไปจนถึงกับร้องห่มร้องไห้ว่า ผมนี้เสียเวลามาตั้งนาน เข้าใจผิดมาตั้งแต่นาน คิดว่าผลของการประพฤติปฏิบัตินี้ไม่มี เมื่อก่อนโน้นหลวงพ่อไม่เตือนผมเลย ทั้งๆ ที่เราเตือนทุกวันนั่นแหละ แต่เขาก็ไม่เอาใจใส่ นี่แหละท่านทั้งหลาย ตัวทิฏฐินี้เป็นตัวสำคัญ ที่ขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล เป็นตัวที่ทำให้กำลังใจของเราตก ทำให้การปฏิบัตินี้ถอยหลัง
๘. มานะ ตัวมานะนี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราสำคัญตัวว่าอยู่ในฐานะนั้น อยู่ในฐานะนี้ ทำให้สำคัญว่าเลิศกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง เลวกว่าเขาบ้าง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลิศกว่าเขา ก็ทำให้ลำพองตัว ตีค่าตัวว่าเราก็หนึ่งละ คนอื่นสู้เราไม่ได้ ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเสมอเขา ก็ทำให้ไม่สบายใจเพราะมีคู่แข่ง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลวกว่าเขาด้อยกว่าเขา ก็จะทำให้เกิดโทมนัส เกิดความทุกข์ใจ น้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ ผลก็คือทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล
๙. อุทธัจจะ ตัวอุทธัจจะนี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ทั้งอดีต อนาคต เมื่อก่อนยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เจ้ากิเลสตัวนี้ก็จะทำทีประจบประแจง อยากให้มาบวชอยากให้มาปฏิบัติ แต่พอเข้ามาปฏิบัติจริงๆ เราจะพ้นจากอำนาจของมัน มันก็จะดั้นด้นเอาเรื่องนั้นมาให้คิด เอาเรื่องนี้มาให้คิด บางทีเรื่องนี้คิดยังไม่จบ มันก็เอาเรื่องใหม่มาให้เราคิดต่ออีกแล้ว
บางทีหนักๆ เข้ามันก็ทำเหมือนเรามีหัวใจหรือว่ามีจิตใจเป็นสองดวง ดวงหนึ่งบริกรรมว่า “พุทโธๆ” หรือว่าบริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” เป็นต้น อีกดวงหนึ่งทำให้เราคิดเรื่องนั้นบ้าง ทำให้เราคิดเรื่องนี้บ้าง อะไรจิปาถะ หรืออีกดวงหนึ่งถามปัญหา อีกดวงหนึ่งวิสัชนาปัญหา อะไรร้อยแปดพันประการ หนักๆเข้าเราจะกำหนดจิตว่า “คิดหนอๆ” มันก็กระซิบว่า “ไม่ต้องกำหนดๆ ปล่อยให้มันคิดไปลองดู มันจะคิดไปถึงไหน” ผลสุดท้ายชะล่าใจก็เลยปล่อยให้จิตใจนี้ฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของมัน เจ้าตัวอุทธัจจะนี้ร้ายกาจมาก มันทำให้เราไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาบัติหรือวิปัสสนาญาณ คือวิปัสสนาญาณไม่เกิด ก็เพราะไม่มีสมาธิเป็นเครื่องรองรับ มัวแต่คิดไปตามอำนาจของตัวอุทธัจจะ
ตัวอุทธัจจะนี้นอกจากจะทำให้เสียผลดังกล่าวมา ยังทำให้เกิดโรคความดันสูง เกิดโรคประสาท เกิดโรคกระเพาะอาหาร เกิดโรคหัวใจอ่อน เกิดโรคลมบ้าหมูเป็นต้น ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ นอกจากนี้ก็ทำให้เกิดวิปลาส ทำให้เกิดประสาทหลอน บางทีก็ทำให้เห็นนิพพานอยู่ใกล้ๆ จะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ให้ได้ เลยเอามีดเชือดคอตัวเองตาย กินยาตาย แล้วจะไปนิพพานให้ได้เดี๋ยวนี้ ผลก็คือเป็นบาปตกอเวจีมหานรก
สรุปความว่า ที่ทำกัมมัฏฐานไม่สำเร็จ ก็เพราะเจ้าตัวนี้เป็นตัวสำคัญเบอร์ ๑ เหตุนั้นก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายพึงสังวรพึงระวัง แล้วก็ลองพิจารณาดูว่าเหมือนกับหลวงพ่อกล่าวมาหรือไม่ เพราะตัวนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะทำให้คิดอะไรร้อยแปดพันประการ เดินจงกรมอยู่ก็คิด นั่งอยู่ก็คิด คิดไปเรื่องโน้นคิดไปเรื่องนี้ เมื่อเรามัวแต่คิดๆ แล้ว จิตก็พรากจากสมาธิ ไม่มีสมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐานวิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นตัวนี้จึงถือว่าเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราไม่ได้ผล ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ
๑๐. วิจิกิจฉา ตัววิจิกิจฉานี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราเกิดความสงสัยในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน เช่น สงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้ามี ใครไปรู้มา มรรคผลนิพพานมีจริงหรือ ถ้ามี มีใครบ้างได้บรรลุ บรรลุแล้วเป็นอย่างไร นรก เปรต อสุรกาย ภูตผีปิศาจ เทวดา มาร พรหม มีจริงหรือ ถ้ามี มีใครไปเห็นมา โลกหน้ามีจริงหรือ ถ้ามี ผู้ไปแล้วไม่เห็นใครมาบอก คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิด ไม่เห็นมีใครจำชาติได้ ระลึกชาติก่อนได้ อะไรทำนองนี้ เจ้าตัววิจิกิจฉานี้มันทำให้เกิดความสงสัยทุกสิ่งทุกประการ
สรุปความว่า ที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี ไม่ถึงดี หรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เพราะเจ้ากิเลสหรือเพื่อนชั่วทั้ง ๑๐ ประการนี้ ชักจูงจิตใจเราให้ตกไปฝ่ายต่ำอยู่เสมอ ทำให้ขาดความตั้งใจ ที่ตั้งใจไว้เดิม ทำให้ขาดทมะ ความข่มใจ ขาดขันติความอดทน ขาดฉันทะความพอใจ ขาดวิริยะความเพียร ขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาเป็นต้น เลยเสียทั้งทุนสูญทั้งกำไร กว่าจะรู้ตัวได้เราก็ถูกมันทำลายเสียอย่างยับเยินแล้ว
เหตุนั้นก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ ได้สำเหนียกได้พิจารณา ได้ตั้งใจใหม่ว่า ขณะนี้เวลาก็ยังมีอยู่มาก หลวงพ่อคิดว่ายังไม่สายจนเกินแก้ หากว่าเรารู้ตัวว่าเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หรือว่าถูกกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ชักพาหรือนำพาจิตใจของเราให้ตกไปในฝ่ายต่ำ หากว่าเรารู้อย่างนี้เราได้สติอย่างนี้ หลวงพ่อก็คิดว่ายังไม่สายจนเกินแก้ เพราะยังอีกหลายวัน จึงจะถึงวันมหาปวารณา หากเราขะมักเขม้น ตั้งใจทำ คงมีทางผ่านการปฏิบัติไปได้ไม่มากก็น้อย
หลวงพ่อคิดว่าเราควรจะคิดสู้มันบ้าง เพราะขณะนี้กองสนับสนุน กองเสบียงของเราก็ถวายอุปการะอยู่อย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจเมตตาธรรมของบรรดาครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สายธารศรัทธาก็ยังหลั่งไหลมาจากสารทิศอยู่มิได้ขาด เราควรจะได้ปลื้มใจดีใจในสายธารศรัทธา และปลงธรรมสังเวชว่า ถึงอย่างไรๆ เราก็จะทำให้ภัตตาหารที่มีผู้ศรัทธาถวายมานี้เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอริยบุคคลให้จงได้ ขอให้เราคิดดังนี้ จิตใจของเราจะได้เกิดอุตสาหะพยายามในการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป
ดังมีพระรูปหนึ่งซึ่งมาปฏิบัติภาคฤดูหนาว เวลาประพฤติปฏิบัติไป ญาติโยมทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น เจริญพระสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร แล้วก็พรรณนาไปถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เมื่อพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่นควรเคารพนับถือ กราบไหว้ สักการะ ถวายเครื่องสักการะสัมมานะ ควรรับทักษิณาทานของผู้อื่น
พระภิกษุรูปนั้นก็พิจารณาว่า เอ๊ะ เรานี้บวชมาในพระพุทธศาสนา มาประพฤติปฏิบัติธรรมะครั้งนี้ เราก็ยังไม่อยู่ในขั้นที่เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีถึงที่ หรือปฏิบัติตรงหรือปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์เต็มที่ หรือว่ายังไม่เป็นผู้ปฏิบัติที่สมควรที่จะเคารพยกย่องสรรเสริญ การปฏิบัติของเรายังไม่ได้บรรลุสามัญผลขั้นใดเลย ถ้าคิดให้ซึ้งๆไป เรานี้ไม่สมควรที่จะรับสักการะของเขา ไม่สมควรที่จะฉันภัตตาหารของเขา ค่อนขอดตัวเองในขณะนั้น นึกว่าเรานี้ยังไม่ได้บรรลุคุณสมบัติอะไรเลย
เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วก็ปลีกออกจากหมู่ ปลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว พยายามตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าไม่นานก็สามารถยังความประสงค์ของตนให้สำเร็จได้ เลยเข้ามากราบหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ บัดนี้ผมดีใจผมภูมิใจในการประพฤติปฏิบัติแล้ว” แกก็เล่าสภาวะทั้งหมดที่ประพฤติปฏิบัติมาให้ฟัง
นี่แหละท่านทั้งหลาย ความเพียรนี้แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ ดังในเรื่องที่กล่าวไว้ในธัมมปทัฏฐกถา ที่พระราชาส่งราชบุรุษไปถามพระฤาษีว่า การรบกันครั้งนี้ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ พระฤาษีก็พยากรณ์ว่าทางฝ่ายโน้นจะชนะฝ่ายนี้จะแพ้ เพราะเหตุไรพระฤาษีจึงพยากรณ์เช่นนั้น ก็เพราะว่ามีเทวดามาบอก เทวดามาบอกว่าฝ่ายนี้จะแพ้ ฝ่ายนี้จะชนะ
ราชบุรุษทราบแล้วก็ไปกราบทูลพระราชา เมื่อพระราชาทรงทราบแล้วก็ฮึดใจสู้ว่ามันจะแพ้ก็ให้รู้แล้วรู้รอดไป ปลุกระดมบรรดากองทัพทั้งหลายทั้งปวงให้สามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตายก็ขอให้ตายอย่างสมเกียรติผู้ชาย เราไม่ทิ้งบ้านทิ้งเมืองเป็นอันขาด รักบ้านรักเมืองรักประเทศนี้ยิ่งกว่าชีวิต ผลสุดท้ายพระราชาพร้อมด้วยราชบริวารทั้งหลายก็ฮึดสู้ เมื่อฮึดสู้ ผลสุดท้ายก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้ ทั้งๆที่เทวดาพยากรณ์ว่า พระราชาพร้อมทั้งราชบริวารทั้งหลายจะแพ้ข้าศึก ฝ่ายข้าศึกจะเป็นผู้ชนะ แต่ผลสุดท้าย เพราะความพยายามอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า ก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้
อันนี้ก็เป็นเครื่องสรุปให้เห็นว่า ความเพียรนี้ แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ สมมุติว่าเทวดาจะมาพยากรณ์ว่าเราจะทุกข์อย่างนั้น เราจะจนอย่างนี้ เราจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เรามีความอุตสาหะ มุมานะ สร้างสมอบรมคุณงามความดี บำเพ็ญความเพียรเรื่อยไป ก็สามารถที่จะตั้งตัวได้ สามารถจะเป็นตัวของตัวได้ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้น้อยใจ อย่าได้ท้อถอย ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในอิทธิบาทธรรมทั้ง ๑๐ ประการ
ดังที่หลวงพ่อได้เคยบรรยายสู่ฟังว่า การประพฤติปฏิบัตินี้เราต้องมีฉันทะ คือพอใจในการปฏิบัติ ต้องมีวิริยะ แข็งใจในการประพฤติปฏิบัติ มีจิตตะ ตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ แล้วก็มีวิมังสา ฉลาดในการประพฤติปฏิบัติ เมื่อใดเราตั้งอยู่คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็สามารถที่จะบรรลุสามัญผล สมกับที่เราตั้งใจไว้แต่เดิม
เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะมาวันนี้โดยสังเขปกถาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.