สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเจริญวิปัสสนา (ตอนที่ ๑)
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้จะได้นำมหาภัย ๒๓ ประการซึ่งจะเกิดขึ้นขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่านทั้งหลาย มาบรรยายโดยสังเขปกถา
ดำเนินความว่า อันตรายทั้ง ๒๓ ประการนั้นคือ
๑. วิจิกิจฉา ความสงสัย แต่ความสงสัยนี้ ถ้าพูดในแง่ปริยัติก็หมายความว่าสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า สงสัยในเรื่องพระธรรม สงสัยในเรื่องพระสงฆ์ สงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป สงสัยในเรื่องนรก เปรต อสุรกาย สงสัยในเรื่องสวรรค์ พรหมโลก มรรคผลนิพพาน ว่ามีจริงไหม เหล่านี้เป็นต้น นี้เป็นในแง่ปริยัติ
แต่สำหรับการปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความอย่างนั้น เพียงแต่อะไรเกิดขึ้นมาในขณะปฏิบัติ เช่น มีนิมิตเกิดขึ้น เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ หรือเห็นอะไรต่างๆ เราก็เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ! นี้มันอะไรหนอ” เพียงแต่เอ๊ะ เท่านั้นแหละ ยังไม่ได้คิดว่าอันนี้มันอะไรกันหนอ ยังไม่ได้ว่าเลย ก็เป็นวิจิกิจฉาแล้ว
คือหมายความว่า ในขณะที่เรามีความเอะใจสงสัยว่า “เอ๊ะ ! อันนี้มันอะไรกันหนอ” เพียงเท่านี้แหละท่านทั้งหลาย สมาธิก็จะตกทันที เหมือนกันกับเราขึ้นไปบนต้นไม้ เรากำลังจะยื่นแขนของเราไปจับกิ่งไม้ เพียงเรายื่นแขนไปเท่านั้นแหละ ปรากฏว่ามีสัตว์ร้ายมีอะไรอยู่ก็เกิดความเอะใจ และเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วก็วางมือทันที และในขณะที่เราวางมือเท่านั้นแหละ เราก็ต้องร่วงลงจากต้นไม้ลงมาสู่พื้นดิน ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่เราเกิดความเอะใจสงสัยในเวลาประพฤติปฏิบัติ อะไรเกิดขึ้นมาแล้วก็ลืมกำหนด เราไม่ได้กำหนด เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ! นี้มันอะไรกันหนอ” เพียงเท่านี้แหละ ก็เป็นวิจิกิจฉา เมื่อเกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาแล้วสมาธิก็ตก เมื่อสมาธิตกปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล นี้เป็นประการที่ ๑
๒. อมนสิการ เมื่อปฏิบัติไป ทำใจไม่ดี ประคองใจไว้ไม่ตรง จิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ไม่ได้ประคับประคองจิต ไม่ได้ข่มจิต ไม่ได้เชิดชูจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขาดโยนิโสมนสิการ เวลากำหนดอาการพองอาการยุบนี้ก็ไม่ได้เอาจิต ไม่เอาสติหยั่งลงไปจนถึงที่เกิดที่ดับของอาการพองอาการยุบ เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน ไม่ได้เอาสติ ไม่ได้เอาจิตปักลงไปในขณะเดินตั้งแต่เริ่มยก กลางยก สุดยก เราก็ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้ตริตรอง ไม่ได้เอาสติกับจิตหยั่งลงไปถึงที่เกิดที่ดับของรูปของนาม เราเดินไปตามธรรมชาติ เราฉันไปตามธรรมชาติ บริโภคไปตามธรรมชาติ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราไม่ได้ประคองใจเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นเราจึงจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม เราก็ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา
๓. ฉัมภิตัตตะ จิตเกิดความสะดุ้ง คือหมายความว่า ในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น บางครั้งจิตของเรากำลังจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปรากฏมีนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เห็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว เช่น ปรากฏเห็นพวกตะขาบบ้าง พวกงูบ้าง พวกแมงป่องบ้าง เห็นยักษ์ เห็นภูตผีปิศาจบ้าง เหล่านี้เป็นต้น จิตก็เกิดความสะดุ้งขึ้นมา เกิดความกลัวขึ้นมา บางทีก็กลัวจะเป็นอันตรายแก่การประพฤติปฏิบัติ บางครั้งก็กลัว่าถ้าประพฤติปฏิบัติต่อไปเกรงว่าจะเป็นบ้า เกรงจะเสียสติอะไรทำนองนี้ เมื่อจิตเกิดความสะดุ้ง เกิดความกลัว เกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตของตนอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เพราะผู้ปฏิบัติไม่กล้าตัดสินใจ
หมายความว่าเมื่อก่อนที่เรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมชาติ พวกนิมิตอะไรก็ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เรามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ บางทีนั่งไปเห็นนิมิตอะไรต่างๆ นานาประการ บางครั้งก็เห็นแสงสว่าง บางครั้งก็เห็นดวงแก้ว บางครั้งเห็นพระพุทธรูป บางครั้งเห็นเจดีย์ บางครั้งเห็นพวกเปรต พวกอสุรกาย บางครั้งเห็นพ่อเห็นแม่ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วยังปรโลกเบื้องหน้า บางครั้งก็เห็นบรรดาญาติหรือคนที่เคยรู้จักกันซึ่งตายไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดความตื่นเต้นขึ้นมาว่า เออ เราเห็นอย่างนั้น เราเห็นอย่างนี้ เมื่อเกิดความตื่นเต้นขึ้นมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราพรากจากสมาธิ เมื่อจิตพรากจากสมาธิแล้วปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
๔. บางครั้งเกิดความง่วงเหงาหาวนอน คือเกิดถีนมิทธะเข้าครอบงำจิต เมื่อถีนมิทธะครอบงำจิต การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดีเท่าที่ควร จิตจับอารมณ์ไม่มั่น สติไม่สามารถที่จะตัดสินอารมณ์ได้ เช่น เวลานั่งไป มันผงกไปข้างหน้าข้างหลัง และข้างซ้ายข้างขวา หรือบางทีนั่งไป บังเอิญเข้าสมาธิไปหรือหลับไปอะไรทำนองนี้ เราก็ไม่สามารถจะตัดสินใจหรือไม่สามารถที่จะจำได้ว่า มันสัปหงกหรือผงะไปตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ หรือตอนนั่งตอนถูก หรือว่ามันนั่งหลับไปตอนท้องพอง ท้องยุบ หรือว่าตอนเรากำหนดอาการนั่งอาการถูก หรือว่ามันหลับไปในขณะที่เราบริกรรมว่าอย่างไร หรือว่าเวลาเข้าสมาธิมันเข้าสมาธิไปตอนท้องพองท้องยุบ หรือเข้าสมาธิไปตอนเรากำหนดอารมณ์พระกัมมัฏฐานอย่างไร ไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้ ไม่สามารถที่จะจำได้ ไม่สามารถที่จะจับปัจจุบันธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล
๕. ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบ คือหมายความว่า การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ที่จริงยิ่งประพฤติปฏิบัติเท่าไร จิตก็ยิ่งจะประณีตขึ้นไปตามลำดับๆ เพราะกิเลสตัณหามันลดลงไป แต่ตรงกันข้าม บางท่านเวลาประพฤติปฏิบัติแทนที่กิเลสหยาบทั้งหลายทั้งปวง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะหมดไป หรือจะเบาบางลงไป หรือสงบระงับลงไปจากขันธสันดาน แต่ยิ่งปฏิบัติไปจิตก็ยิ่งเกิดหยาบขึ้นมา พวกความโลภก็ยิ่งเกิดขึ้นหลายเท่าตัว พวกโทสะก็เพิ่มทวีขึ้น พวกโมหะก็เพิ่มขึ้น พวกราคะแทนที่จะเบาบางลง ยิ่งกลับเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนนั้นไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้พวกราคะยิ่งเกิดขึ้นรุนแรง เหมือนกับว่าเกิดขึ้นเป็น ๓๐, ๔๐ หรือ ๕๐ เท่าตัว อะไรทำนองนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เพราะเหตุไร ? เพราะว่าจิตของเรามันหยาบ เพราะอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะเป็นต้น เข้าครอบงำจิตผลสุดท้ายการประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล
๖. อัจจารัทธวิริยะ กระทำความเพียรเกินพอดี ความเพียรนี้เป็นของที่ดี แต่ถ้าหากว่ามันเกินพอดีก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ความเพียรนี้ถ้าเกินพอดีแล้วทำให้เกิดความตึงเครียด ทำให้เป็นบ้า เสียสติไปได้ เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าความเพียรของเรามันเกินพอดี เราสังเกตเอาง่ายๆ เวลาเราเดินจงกรมอยู่ก็ดี เวลาเรานั่งสมาธิอยู่ก็ดีจะคิดมาก ๕ นาทีคิดไปร้อยแปดพันประการ บางที ๑๐ นาทีนี้คิดแต่งหนังสือ คิดสร้างหนังสือจบเป็นหลายๆ สิบเล่ม หรือบางทีนั่งอยู่ ๕ นาทีนี้คิดสร้างถาวรวัตถุ คิดสร้างกุฏิวิหารเสร็จไปเป็นหลายๆ หลัง บางทีนั่งอยู่ไม่ถึง ๕ นาทีสามารถที่จะเนรมิตกุฏิวิหาร ปราสาท วิมานตลอดถึงวัดวาอารามอะไรร้อยแปดพันประการ เกิดสร้างวิมานในอากาศ อันนี้เรียกว่าสร้างสมบัติบ้าขึ้นมาแล้ว
ถ้าว่าจิตของเราอยู่ในลักษณะดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจเถิดว่า ความเพียรของเรามันเกินพอดีเสียแล้ว มันเกิดความตึงเครียดขึ้นมาแล้วทำให้คิดมากเสียแล้ว เหตุนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะควบคู่กันไป เพราะว่าถ้าความเพียรมากเกินไปแต่สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ จะทำให้เป็นบ้าเสียสติไปได้ เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้ฉลาด พยายามมีสติสัมปชัญญะจับปัจจุบันธรรมให้ได้ จำอารมณ์ให้ได้
๘. อติลีนวิริยะ มีความเพียรหย่อนเทิบทาบ นอกจากจะมีความเพียรเกินพอดีแล้ว หากว่าความเพียรของเรามันหย่อนเทิบทาบจนเกินไป การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน เช่นว่า วันหนึ่งนี้อย่างน้อยควรที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ๘ ชั่วโมง หรือ ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่การปฏิบัติของเรามันย่อหย่อนกว่านั้น หรือบางทีเราออกจากเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราจะเดินไปสรงน้ำ เดินไปห้องสุขา เดินไปฉันภัตตาหาร หรือว่าเราจะกวาดเอาวิหารลานพระเจดีย์ ปัดกวาดกุฏิที่อยู่เป็นต้น เราก็ไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีก็คลุกคลีด้วยหมู่คณะ คุยกัน ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
๙. อภิชัปปา ความกระซิบที่จิต คือหมายความว่า กิเลสกระซิบที่จิต ข้อนี้สำคัญ เวลามาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมากหากว่าเรากำหนดไม่ทันจะทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ คือหมายความว่า อภิชัปปานี้พวกกิเลสกระซิบที่จิต บางทีเรานั่งพระกัมมัฏฐานไป มีเสียงมากระซิบว่า “อย่านั่งๆ เรานอนเอาดีกว่า” “การกำหนดอย่างนี้ไม่ถูก กำหนดอย่างนั้นจึงจะถูก” อะไรทำนองนี้ หรือบางทีเวลาเดินจงกรม “อย่าเดินๆ เรานั่งเอาดีกว่า” เวลานั่งก็บอกว่า “อย่านั่งๆ เรานอนเอาดีกว่า” กระซิบอยู่ตลอดเวลา
บางทีก็กระซิบว่า “เจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นะ” “เจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทพระโพธิสัตว์นะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุโสดาปัตติผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุสกิทาคามิผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุอนาคามิผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนะ” อะไรทำนองนี้
หรือบางทีมันกระซิบว่า “เอ๊ะ ! เจ้านี้ เมื่อก่อนโน้นทำบาปทำกรรมมาก เอาเป็ดเอาไก่มาฆ่า หากว่าอยากได้ผลจากการประพฤติปฏิบัตินี้ ต้องไปเอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม” ก็ไปหาซื้อเอาเป็ดเอาไก่ หรือไปหาขอเป็ดขอไก่ชาวบ้านเขามาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย
บางทีก็กระซิบว่า “เมื่อก่อนโน้นเจ้าทำบาปฆ่าหมูไว้มาก หากว่าต้องการจะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล ต้องไปเอาหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรม” เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็จูงหมูขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม เหมือนดั่งแม่ชีคนหนึ่งมาจากอำเภอตระการฯ บางวันก็เอาหมูขึ้นมาฟังธรรม บางครั้งก็เอาเป็ดเอาไก่มาฟังธรรม บางครั้งก็เอานกมาฟังธรรม
นี้เขาเรียกว่าอภิชัปปา กิเลสกระซิบที่จิต มันจะกระซิบไปร้อยแปดพันประการ หากว่าเรากระทำไปตามอำนาจของอภิชัปปานี้ ก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้ บางทีเรานั่งสมาธิ เรานั่งขัดสมาธิดีๆ ไม่ยอม “โอ้ นั่งอย่างนี้ไม่ดี เราหาหมอนมาพิงดีกว่า” มันกระซิบขึ้นมานะ กระซิบขึ้นมาเอง
เหมือนกันกับปู่เดชาที่สึกแล้วกลับบ้านไปวันนี้นี่ เวลาปฏิบัติ อภิชัปปากระซิบที่จิตมากที่สุด เดี๋ยวก็ให้ทำอย่างโน้น เดี๋ยวก็ให้ทำอย่างนี้ ท่านหลวงปู่เดี๋ยวก็ทำไปอย่างโน้นบ้าง ทำไปอย่างนี้บ้าง ผลสุดท้ายไปเล่าให้ฟัง เออ ไม่ได้แล้ว นี้ตกอยู่ในอำนาจของอภิชัปปา ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้เสียผู้เสียคนได้ อย่าทำอะไรไปตามที่จิตสั่ง อย่าทำอะไรไปตามอำนาจของอภิชัปปามันกระซิบที่จิต ผลสุดท้ายหากว่าเรากำหนดไม่ทันมันจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ ทำให้ทำอัตวินิบาตกรรมได้
อันนี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัตินี้ พวกอภิชัปปานี้ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้มาก บางทีมันจะกระซิบว่า “เราหยุดการปฏิบัติเสียก่อนเถอะ ปฏิบัติในชาตินี้เพียงแค่นี้ละ เพียงขั้นสังขารุเปกขาญาณเท่านี้แหละ ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรอก เพราะว่าเราได้ปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้ว เราได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องออกไปบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนจึงจะได้ตรัสรู้ ชาตินี้ก็หยุดเพียงแค่นี้แหละ การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานด้านวิปัสสนานี้เต็มเปี่ยมแล้ว เราทำบุญทำทานอย่างอื่น บำเพ็ญบารมีอย่างอื่น” อย่างนี้ก็มี
บางทีประพฤติปฏิบัติไปก็กระซิบว่า “เอ๊ะ ! คุณ คุณไม่สามารถที่จะทำไปได้ดอก เพราะว่ายังขาดผู้ที่บำเพ็ญบารมีร่วมกัน ภรรยาของคุณ โน้น อยู่บ้านโน้น อยู่ตำบลโน้น อยู่อำเภอโน้น จังหวัดโน้น ที่เมื่อชาติก่อนโน้นได้เคยบำเพ็ญบารมีร่วมกัน ถ้าคุณอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล คุณก็ต้องกลับไปโปรดเขาเสียก่อน” เอาแล้ว สะพายบาตรแบกกลดเพื่อจะไปโปรดญาติโปรดโยมแล้ว
บางทีก็กระซิบขึ้นมาว่า “ไม่ได้ดอก ต้องไปโปรดพ่อโปรดแม่เสียก่อน พ่อแม่นี้ได้บำเพ็ญบารมีร่วมกันมา ปรารถนาร่วมกันมา ต้องกลับไปโปรดโยมพ่อโยมแม่เสียก่อนจึงจะได้ผล” เราก็ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ต้องเป็นภาระ ต้องออกจากห้องปฏิบัติ ต้องไปขอร้องโยมพ่อโยมแม่ให้มาประพฤติปฏิบัติ
อันนี้แหละท่านทั้งหลาย ขอสรุปสั้นๆว่า พวกอภิชัปปานี้มันจะกระซิบที่จิตของเราให้ทำอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้อะไรร้อยแปดพันประการ ถ้าเราทำตามอำนาจของมัน บางทีก็ทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี
๑๐. นานัตตสัญญา เมื่อปฏิบัติไป จิตมุ่งไม่แน่ คือมุ่งอารมณ์โน้นบ้าง มุ่งอารมณ์นี้บ้าง หลายอย่างสับสนกัน คือหมายความว่า จิตจับอารมณ์ไม่มั่น เช่นเรากำหนดว่า “พุทโธๆๆ” อย่างนี้ “เอ๊ะ ! มันใช้ไม่ได้หรอก สู้พองหนอยุบหนอของเราไม่ได้” กำหนด “พองหนอยุบหนอ” ไป “เอ๊ะ ! พองหนอยุบหนอนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้กำหนดรู้หนอๆ ไม่ได้” ก็กลับมากำหนด “รู้หนอๆ” ไป “เอ๊ะ ! รู้หนอๆ ก็ไม่ได้ สู้สัมมาอะระหังไม่ได้” มาภาวนาใหม่ “สัมมาอะระหังๆ” “เอ๊ะ ! สัมมาอะระหังก็ไม่ได้ สู้นะมะพะธะไม่ได้” อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวก็ภาวนาบทโน้น เดี๋ยวก็ภาวนาบทนี้
บางทีก็ “เอ๊ะ ! การภาวนาการบริกรรมนี้ใช้ไม่ได้ มันเป็นปริยัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ สู้มองดูความเคลื่อนไหวของรูปของนามของเวทนาไม่ได้ เพราะการตั้งสติจับอยู่หรือดูอยู่ พิจารณาอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันเป็นปรมัตถ์แท้ เป็นทางที่จะให้พ้นทุกข์” ผลสุดท้ายก็ไม่ได้บริกรรม ไม่ได้กำหนดอะไร นั่งเฉยๆ อยู่ตลอดทั้งวันตลอดทั้งคืน นั่งเฉยๆอยู่ อันนี้เมื่อจิตมุ่งอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ มีอารมณ์หลายอย่างสับสนกัน จะบริกรรมบทไหนก็ไม่เอา เดี๋ยวก็ว่าบทโน้นเดี๋ยวก็ว่าบทนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็ไม่ได้ผล
๑๑. อตินิชฌายิตัตตะ เพ่งเกินไป เร่งเกินไป คือเพ่งเกินควร คือหมายความว่า เวลานั่งพระกัมมัฏฐาน ก็ตั้งในจิตในใจว่า “เอ้อ เรานั่งกัมมัฏฐานครั้งนี้ เราจะทำให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้น นั่งครั้งนี้เราจะทำให้สมาธิสมาบัติเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดเราจะทำให้สำเร็จปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน” อะไรทำนองนี้ เมื่อเราเพ่งเกินไป หรือเร่งเกินไป หรือว่าเพ่งเกินควรเช่นนี้ ก็ทำให้จิตใจของเรากระสับกระส่ายฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้การประพฤติปฏิบัติไม่ได้ผล
เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อคิดว่าจะบรรยายธรรมะให้ครบทั้ง ๒๓ ประการ แต่บรรยายมานี้ก็เห็นว่าเป็นเวลายาวนานพอสมควร ประกอบกับสังขารวันนี้ไม่เอื้ออำนวย ถ้าจะบรรยายไปอีกก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยก็ต้อง ๔๐ นาทีจึงจะจบ ก็จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.