สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเจริญวิปัสสนา (ตอนที่ ๒)

สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเจริญวิปัสสนา (ตอนที่ ๒)

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

       วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องอันตรายซึ่งเกิดขึ้นมาขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติพระวิปัสสนาไม่ให้ได้ผล สืบต่อจากเมื่อวานนี้

       อันตรายของวิปัสสนานั้นคือ

       ๑. กัมมารามตา ทำงานไม่มีสติ ไม่ได้หมายถึงการทำงานออกกำลังกายทั่วๆ ไป หมายถึงตั้งแต่เรา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราจะมองซ้ายแลขวา เดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังก็ดี ตลอดถึง นุ่งสบง ห่มจีวร พาดสังฆาฏิ ดื่ม ฉัน เป็นต้น เราไม่กำหนด เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าทำงานไม่มีสติ

       เมื่อเราไม่กำหนดอิริยาบถ หรือการทำงานทุกสิ่งทุกประการเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล แม้แต่การปัดกวาด ทำความสะอาดห้องนอนก็ดี หรือว่า กุฏิวิหารอันเป็นที่อยู่ที่อาศัย ตลอดถึงบริเวณวัดก็ดี เราไม่มีสติ เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นนี้การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน การทำความสะอาด จะเป็นความสะอาดภายในหรือภายนอกก็ตาม ถ้าว่าเรารู้จักใช้มาเป็นคติเตือนใจ นอกจากเราจะมีสติทันปัจจุบันแล้ว เราพิจารณาควบคู่กันไปโดยใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือวิจัยธรรม สอดส่องธรรมในขณะนั้นก็ได้

       เช่นว่า ร่างกายของเรา หากว่าเราอาบน้ำชำระร่างกายฟอกสบู่แล้ว ก็หมดจากภาวะความสกปรก ข้อนี้ฉันใด หากว่าใจของเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความผ่องใสมากกว่านี้ หรือแม้แต่เราจะทำความสะอาดบริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี เราพิจารณาควบคู่กันไปว่า บริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ที่อาศัยก็ดี แม้แต่เครื่องนุ่งห่มของเรา เมื่อเราซักเราฟอกทำความสะอาดแล้ว แม้เราจะมองดูก็สวยสดงดงามน่าดู แม้จะมานุ่งมาห่มก็ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาเป็นต้น หากว่าจิตใจของเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปแล้ว ยิ่งจะได้รับความสุขความสบาย หรือความชื่นชมมากกว่านี้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ทำให้เกิดอุตสาหพยายามในการที่จะบำเพ็ญพระกัมมัฏฐาน เหตุนั้นการทำงานนอกจากท่านทั้งหลายจะต้องกำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไปแล้ว ก็ต้องพิจารณาควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจของเรา หรือกระตุ้นการประพฤติปฏิบัติของเราให้ได้ผลเร็วขึ้น

       ๒. นิททารามตา มัวนอน นักปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ท่านกำหนดไว้วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เพราะเหตุไรจึงว่านอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เพราะว่ามันหลับอยู่ในตัว บางครั้งเรานั่งพระกัมมัฏฐานไป จิตมันตกภวังค์ไปเป็นบางครั้งบางคราว จิตมันตกภวังค์ไปวับเดียวเท่านั้น ความง่วงก็หายไป บางทีเราเดินจงกรมอยู่ จิตของเรามันตกภวังค์วับลงไป ความง่วงก็หายไปแล้ว หรือบางทีเรานอนกำหนดไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไป ครั้งหนึ่งหรือสองครั้งสามครั้งเท่านั้นแหละ ความง่วงมันก็หายไป เรานั่งสมาธิอยู่เหมือนกัน เรานั่งไปๆ กำหนดไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไป ความง่วงก็หายไป นั่งไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไปอีก รู้สึกตัวขึ้น มาความง่วงก็หายไปแล้ว คือมันอิ่มอยู่ในตัว

       ท่านทั้งหลายลองนึกดู สมมติว่าตอนบ่าย ตอนบ่ายนั้นก็เดินจงกรมแล้วมานั่งสมาธิ ในชั่วโมงแรกจะรู้สึกว่านั่งสมาธิดี จิตใจสงบดี พอได้เวลาแล้วก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรม ลุกขึ้นไปเดินจงกรมครบกำหนดแล้วเรามานั่งชั่วโมงที่ ๒ นี้ นั่งไม่ค่อยได้ดี จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ค่อยสงบ ไม่ค่อยขาดความรู้สึก นั่งกำหนดอยู่อย่างนั้นร่ำไป อาการครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ไม่มีอะไรทำนองนี้ เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าจิตของเรามันอิ่มมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว เมื่อจิตอิ่มแล้วชั่วโมงแรก ชั่วโมงที่สองก็ไม่สามารถที่จะทำให้ขาดความรู้สึกลงไปได้ หรือไม่สามารถที่จะเข้าสมาธิไปได้ เพราะจิตมันอิ่มแล้ว

       เหตุนั้นนักปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าธรรมะเกิดจริงๆ บางที ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง พอแล้ว สิ่งที่พึงสังวรที่สุดสำหรับท่านนักปฏิบัติธรรมคือ ไม่ควรจำวัดกลางวัน ถ้าว่าเราจำวัดกลางวันแล้ว การปฏิบัติของเราจะไม่ได้ผลเลย เพราะว่าจิตอิ่มอยู่ตลอดเวลา แล้วก็การจำวัดกลางวันนี้มีโทษหลายสิ่งหลายประการ โดยเฉพาะทำให้จิตใจไม่เบิกบาน ไม่แช่มชื่น ทำให้หงุดหงิดโกรธง่ายอะไรทำนองนี้ เหตุนั้น หากว่าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว อย่าไปจำวัดกลางวัน

       ๓. ภัสสารามตา มัวคุย คือหมายความว่า เลิกจากภาคปฏิบัติแล้วก็คุยกัน ถ้าว่าเป็นภาคค่ำก็คุยกันจนถึงเวลาทำวัตร ทำวัตรเสร็จแล้วก็คุยกันอีก กว่าจะเริ่มประพฤติปฏิบัติก็ต้องกินเวลาไปหลายนาทีหรือกินเวลาไปเป็นชั่วโมงๆ เราเลิกจากปฏิบัติก็เดินแวะเข้าไปหากัน เดินเข้าไปคุยกัน การคุยบางทีก็เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติ บางทีก็คุยออกนอกเรื่องของพระ ออกนอกเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ คุยเรื่องชาวบ้านอะไรทำนองนี้ ผลสุดท้าย การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เพราะในขณะนั้นหากว่าเราไม่ได้กำหนด สติของเราก็ขาดไป สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

       ๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ การคลุกคลีกับหมู่คณะนี้ก็ถือว่าเป็นอันตรายที่เกิดแก่การประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติอยู่ในวัดของเราก็เหมือนกัน หลวงพ่อเห็นใจ นึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา “ทำไมหนอ เรามาตั้งหลักลง ณ ที่นี้ มาสอนธรรมะภาคปฏิบัติที่นี้ เพราะว่าที่นี้พระเณรก็อยู่กันเป็นจำนวนมาก เสียงก็ไม่ค่อยสงบ เสียงนอกจากไม่สงบภายในวัดแล้ว ภายนอกก็ไม่สงบเหมือนกัน เมื่อก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ค่อยยังชั่ว ขณะนี้มีไฟฟ้าใช้แล้วก็ไม่รู้ว่าเสียงอะไรต่อเสียงอะไร เสียงรถเสียงราเกลื่อนกล่นไปหมด ก็เป็นเหตุให้ไม่สบายใจเหมือนกัน เห็นใจท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย”

       เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย การคลุกคลีด้วยหมู่คณะนี้ก็ถือว่าเป็นอันตรายสำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นมาขัดขวางกั้นกางการปฏิบัติของเรา สิ่งที่เราจะเอาชนะได้ก็ขอให้พิจารณาว่า ช่างมันเถอะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วก็มีภาระมีหน้าที่ของตน ทุกคนก็ทำภาระของตน พระก็ทำหน้าที่ของพระ เณรก็ทำหน้าที่ของเณร พวกนักศึกษาก็ทำหน้าที่ของนักศึกษา พวกโยมชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของโยมชาวบ้าน มีเสียงอะไรเกิดขึ้น เราเอาเสียงนั้นแหละมากำหนด “ได้ยินหนอๆๆ” ร่ำไป จนกว่าจะสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิได้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เสียงนี้ก็เป็นอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานได้เหมือนกัน ผู้กำหนดเสียงอย่างเดียวก็สามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน หรือว่าผู้กำหนดเสียงอย่างเดียวก็สามารถได้สมาธิสมาบัติเหมือนกัน

       เหตุนั้น อย่าถือว่าเสียงนี้เป็นอันตรายแก่การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติให้ถูกแล้ว การกำหนดเสียงนี้แหละได้สมาธิเร็วที่สุด เท่าที่ได้ทดลองมา การกำหนดเสียงนี้รู้สึกว่าได้ผลเร็วที่สุด โดยเฉพาะเวลาฝึกสมาธิ หากว่ามีเสียงธรรมะบรรยายควบคู่กันไปด้วย หรือว่าใช้เทปเปิดธรรมะเบาๆ ฟังก็นั่งสมาธิไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหมือนกันกับแม่หรือพี่เลี้ยง หรือพ่อกล่อมบุตรของตน กล่อมไปกล่อมมาเด็กก็หลับไป ข้อนี้ฉันใด เมื่อเรากำหนดเสียงไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหตุนั้น อย่าถือว่าเสียงนี้เป็นอันตราย ถ้าว่าเรารู้จักใช้ให้มันเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีอะไรเกิดขึ้นก็เกิดความรำคาญขึ้นมาในจิตในใจ คิดแต่อยากไปอยู่ตามภูเขาลำเนาไพรอะไรทำนองนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

       ๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวาร ๖ คือไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจ ปล่อยให้โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้นในเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็ทำให้เกิดโลภะ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เกิดโมหะเป็นต้น ถ้าว่าเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ไม่พอใจ มีความคับแค้นใจ มีความแห้งผากใจ อะไรทำนองนี้

       เหตุนั้นการสำรวมทวาร คือ สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะผู้ที่เจริญสมถะกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้สมาธิสมาบัติ ไม่สามารถที่จะเข้าฌานได้ ตัวการสำคัญก็คือขาดการสำรวมระวัง ไม่สำรวมในทวารทั้ง ๖ นี้ ปล่อยให้เกิดความยินดียินร้ายอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่กระทบอารมณ์ คือหมายความว่า ในขณะที่เรากระทบอารมณ์ เวลาได้ยินเสียงอย่างนี้ จิตใจของเรามันออกไปแล้ว เวลาตาเห็นรูป จิตใจของเรามันวิ่งออกไปหารูปแล้ว เวลาได้กลิ่น จิตใจของเรามันวิ่งไปหากลิ่นแล้ว เวลาได้รส จิตใจของเรามันวิ่งไปหารสแล้ว เวลาสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทางกาย จิตของเรามันวิ่งออกไปแล้ว เวลาใจรู้ธรรมารมณ์หรือธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจจิตของเรา มันวิ่งออกไปแล้ว วิ่งไปหาอารมณ์โน้นบ้าง วิ่งไปหาอารมณ์นี้บ้าง ไม่มีเวลาอยู่ปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเจริญขึ้นได้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเสื่อมไป เมื่อสมาธิและปัญญาไม่เกิด การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล

       เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้ดี เวลากระทบอารมณ์ พยายามตั้งสติไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ให้กำหนดทันที ในขณะที่เรากำหนดนั้น จิตของเรามันวิ่งออกไปไม่ได้ เมื่อวิ่งออกไปไม่ได้ จิตของเราก็จะสงบเป็นสมาธิ และเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว วิปัสสนาญาณก็จะเกิดตามมา เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นถึงที่แล้ว เราก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยะผลสมกับความตั้งใจ

       ๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหาร อาหารนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าว่ายิ่งเป็นอาหารที่แสลงแก่โรคภัยไข้เจ็บแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลเสียเลย ทีนี้อาหารบางอย่างไม่แสลงแก่โรค แต่ว่าเป็นอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่นว่ารสเปรี้ยวเกินไป เผ็ดเกินไป เค็มเกินไปอะไรทำนองนี้ ก็ทำให้จิตใจไม่สงบ เวลาเราบำเพ็ญความเพียร เจริญพระกัมมัฏฐาน ทีนี้ อาหารบางอย่าง เช่น พวกหอม พวกกระเทียม พวกนม พวกเนย พวกน้ำตาล พวกของหวานประการต่างๆ นี้ก็ทำให้เกิดราคะ เมื่อเกิดราคะ การประพฤติปฏิบัติก็ใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เคยผ่านมา หรือใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ราคะมันเกิดขึ้น

       อาหารบางอย่างบริโภคเข้าไปหรือฉันเข้าไปแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดถีนมิทธะ เกิดโมหะ คือเกิดความง่วงเหงาหาวนอน โดยเฉพาะพวกของหวาน พวกกะทิข้นๆ พวกของหวานปรุงด้วยพวกนมพวกเนยอะไรทำนองนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน เกิดถีนมิทธะเกิดโมหะได้เหมือนกัน เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรเรื่องอาหารนี้ อะไรบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายทำให้จิตใจสบาย อาหารประเภทใดบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายทำให้จิตใจไม่สบาย ก็ขอให้ได้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา อาหารประเภทใดมันเป็นประโยชน์แก่ร่างกายแก่การปฏิบัติ ก็ขอให้บริโภคสิ่งนั้น หากว่าสิ่งไหนมันไม่เป็นประโยชน์แก่การประพฤติปฏิบัติ ไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ก็ขออย่าบริโภค เพราะเป็นสิ่งสำคัญ

       ที่จริงพวกที่ฉันนมฉันโอวัลตินเวลาวิกาลนี้หลวงพ่อไม่ค่อยส่งเสริม เพราะว่าเป็นบ่อเกิดของราคะ พวกนี้เป็นสิ่งที่ให้เกิดราคะ พวกนม พวกโอวัลติน พวกไมโล พวกไข่ดาว อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เสียศีลได้เหมือนกัน เมื่อก่อนโน้น อยู่ที่นี่หลวงพ่อห้ามเด็ดขาด เวลาตั้งแต่เที่ยงไปแล้วห้ามฉันนม ห้ามฉันอาหารพวกโอวัลตินนี้เป็นเด็ดขาด เคยห้ามไว้เมื่อก่อนนี้ เพราะเห็นว่าพระเณรเสียศีลเพราะอาหารประเภทนี้เป็นจำนวนมาก และบางแห่งที่เขาปฏิบัติเคร่งครัด เขาก็ไม่ฉันประเภทนี้ หลวงพ่อห้าม เมื่อก่อน

       ต่อมาไม่รู้ว่าลูกศิษย์ลูกหามาแต่ไหน มาจากทิศใต้ ทิศเหนือ ตะวันตก ตะวันออก หนักๆ เข้ามีพระผู้เฒ่าหลวงปู่หลวงตา ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าแก่แล้ว เราจะไปห้ามเด็ดขาดก็ไม่ได้ ก็เลยอนุญาตให้เฉพาะพระหลวงตา เพราะหลวงปู่หลวงตาร่างกายต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาเยียวยาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เมื่ออนุญาตให้พระหลวงปู่หลวงตา ผลสุดท้ายพระเล็กเณรน้อยก็เอาด้วย ผลสุดท้ายหลวงพ่อก็ ช่างเถอะ ใครอยากตกนรกก็ตกไป หากบริโภคเข้าไปแล้วกำหนดไม่อยู่ บังคับไม่อยู่ ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส ก็ไปนรกกันไป ดี ยมบาลจะได้มีงานทำ เลยมาปลงธรรมสังเวชเอา เลยไม่ว่ากระไร ปล่อยเลยตามเลยจนถึงทุกวันนี้

       เหตุนั้นท่านทั้งหลาย ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมันก็แล้วกัน เห็นว่า “เอ๊ะ ! บริโภคเข้าไปแล้วมันเป็นการส่งเสริมกามราคะ ทำราคะให้เกิด” ก็งดได้ ไม่ว่าอะไร เห็นว่าร่างกายมันสะบักสะบอมเหลือเกินเพราะว่าได้รับความลำบากในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มันอ่อนปวกเปียกเหลือเกิน มันอ่อนเพลียเหลือเกิน ควรที่จะดื่มจะฉันได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเอา ให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านทั้งหลายเอง

       ๗. กิเลสมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด คือหมายความว่าความเห็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ คือถ้าเราเห็นผิดแล้วการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างก็พลอยผิดไปด้วย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปลาสได้ เช่นว่า จิตตวิปลาส คิดผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด เห็นผิดว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะเป็นของสวยของงาม เป็นต้น ตลอดถึงว่ามีความเห็นผิดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ไม่มี นรกสวรรค์ พระนิพพานไม่มี อริยมรรค อริยผลไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มีอะไรทำนองนี้

       เมื่อเราเห็นผิดแล้วก็เป็นอันว่าปิดกั้นทุกอย่าง การทำความดีไม่สามารถสำเร็จผลได้ตามความต้องการ เพราะการงานทุกสิ่งทุกประการไม่ว่าทางโลกทางธรรม ความเห็นนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเห็นถูกก็เป็นเหตุให้ทำถูก พูดถูก คิดถูก ถ้าเห็นผิดก็เป็นเหตุให้คิดผิด ทำผิด พูดผิด ผลที่เกิดขึ้นมาก็เป็นไปตามอำนาจของความคิด เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วสงสัย ขอให้ไต่ถามครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้กัน

       ๘. กรรม คืออนันตริยกรรม ถือว่าเป็นกรรมหนักที่สุด อนันตริยกรรมนี้มีอยู่ ๕ ประการ คือมาตุฆาต ฆ่ามารดา ๑ ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๑ อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๑ โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงทำโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๑ สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน ๑ ผู้ทำกรรมทั้ง ๕ ประการนี้ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุด

       แม้ว่าเมื่อก่อนโน้นเราจะบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เจริญสมถะภาวนา ได้สมาบัติ ๘ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็จริง แต่เมื่อมาทำอนันตริยกรรมนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่า หมดเลย ฌานนั้นก็เสื่อม อภิญญาจิตนั้นก็เสื่อม อนันตริยกรรมก็ให้ผลทันที แล้วก็เริ่มให้ผลตั้งแต่ภพนี้แหละเป็นต้นไป ให้ผลทันที สมมติว่าเมื่อก่อนนั้นเราสามารถเข้าสมาธิได้ แต่ไปทำอนันตริยกรรมซะอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสมาธิไม่ได้เลย เมื่อก่อนโน้นมีอภิญญาจิต ไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อภิญญาจิตไม่เกิดขึ้นเลย เพราะว่าอนันตริยกรรมนี้ต้องให้ผลก่อน เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลเสร็จแล้วกรรมอื่นจึงจะให้ผล

       ถ้าว่าเราทำกรรมไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า เราไม่ได้ฆ่าพ่อไม่ได้ฆ่าแม่ แต่เราทำให้ท่านต้องเจ็บใจ พ่อก็ดี แม่ก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ท่านผู้มีพระคุณแก่เราก็ดี เราไม่ได้ฆ่าท่านให้ถึงตาย แต่เราทำให้ท่านเจ็บใจ บางทีถึงหลั่งน้ำตาก็มี หากว่าเป็นเช่นนี้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ก็ขอจงจำไว้ว่า เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติได้เลย ในขณะที่จิตของเรากำลังจะเข้าสู่จุดแห่งความสงบ หรือกำลังจะเข้าสู่มรรควิถีนั้นแหละ อนันตริยกรรมประเภทนี้จะเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตทันที เมื่อเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตของเราแล้ว จิตของเราก็พรากจากสมาธิ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

       แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไร หากว่าพ่อแม่ยังมีอยู่ เราก็ขอขมาโทษท่าน ไปขอขมาโทษท่าน หากว่าอยู่ต่างบ้านต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ในหน้าพรรษา เราก็เขียนหนังสือไปขอขมาโทษท่าน อย่างนี้ก็ได้ เพียงแต่ท่านรับทราบเท่านั้นแหละ ก็เป็นอันว่ากรรมนั้นหายไปแล้ว แต่ทีนี้หากว่าท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว เราก็ต้องไปขอขมาโทษที่หลุมฝังศพ หรือที่อัฏฐิ ถ้าหลุมฝังศพเราก็จำไม่ได้ อัฏฐิก็จำไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่มี หาไม่เห็น หาไม่เจอเสียแล้ว นิมนต์พระสงฆ์สัก ๔ รูป หรือ ๕ รูปมาเป็นสักขีพยาน แล้วก็ขอขมาโทษท่าน ต่อหน้าพระประทาน ต่อหน้าพระสงฆ์ คือหมายความว่า ขอขมาโทษลับหลัง เช่นนี้ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นผ่านพ้นไปได้ นี้เฉพาะการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนะท่านทั้งหลาย

       ทีนี้ถ้าว่าเป็นการเจริญสมถะกัมมัฏฐานยิ่งละเอียดกว่านั้น เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ตั้งใจทำให้ท่านต้องเจ็บอกเจ็บใจหรือไม่สบายใจ แต่คำพูดบางสิ่งบางประการ ต้องทำให้ท่านเจ็บใจ หรือทำให้ท่านไม่พอใจ เช่นคำพูดกระแนะกระแหนอะไรทำนองนี้ เวลาเรามาเจริญสมถะกัมมัฏฐาน เช่นว่าเราจะฝึกอภิญญา เราเพ่งกสิณ ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเกิดอุคคหนิมิตขึ้นได้เลย อุคคหนิมิตนี้ไม่เกิด ปฏิภาคนิมิตก็ไม่เกิด เราจะบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานทุกประเภท เช่นว่า เราเพ่งไปๆ แล้วทำให้เกิดอุคคหนิมิต ทำให้เกิดปฏิภาคนิมิต เมื่อเราทำกรรมอย่างนี้ไว้แล้ว เรามาเพ่งกัมมัฏฐานมาเจริญพระกัมมัฏฐานเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะยังอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิตให้เกิดขึ้นเลย นี่ ละเอียดท่านทั้งหลาย

       โดยเฉพาะบางครั้งเรานั่งอยู่กับพ่อกับแม่ของเรา เราไม่ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ท่านต้องเจ็บใจหรือไม่ตั้งใจจะพูดให้ท่านเจ็บใจ แต่พูดไปพูดมาพูดทีเล่นทีจริงขึ้นมา สมมติว่าพ่อกับลูกนี้แหละ ขี่รถไปด้วยกัน สนิทสนมกัน พูดกันไปสนุกสนานไป บางทีลูกไปพูดกับพ่อว่า “เสี่ยวๆ เอานี้ให้แหน่ เสี่ยว เอาตังค์นี้ไปจ่ายให้ผู้นั้นแหน่” พ่อก็เกิดความไม่สบายใจ เกิดความเจ็บใจขึ้นมา เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย เสร็จเลย การปฏิบัตินี้ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ไม่สามารถจะได้ปฏิภาคนิมิต

       หรือคำพูดทุกประเภท พูดเอาง่ายๆ คำพูดทุกประเภท เราไม่ตั้งอกตั้งใจจะทำให้พ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ของเราต้องเจ็บใจ แต่พูดออกไปแล้วทำให้ท่านไม่สบายใจ เป็นคำล้อเลียนเป็นคำพูดกระแนะกระแหน ถึงว่าเราจะพูดด้วยเจตนาดีก็ตาม แต่ว่าคำพูดนั้นเป็นคำพูดที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม เป็นคำพูดที่ไม่อยู่ในกาลเทศะ ไม่อยู่ในกาลที่จะพูด แล้วก็การพูดนั้นเป็นคำที่ไม่สมมาพาควร เป็นการพูดเล่น เป็นการพูดกระแนะกระแหน เป็นคำพูดที่ล้อเลียน ก็ขอบอกเลยว่า ถ้าเราไปเจริญพระสมถะกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ไม่สามารถจะได้ปฏิภาคนิมิตเลย นี้ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน บุญก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ บาปก็เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติได้เหมือนกัน สำหรับอย่างอื่นเนื้อความก็ชัดอยู่แล้ว จึงจะไม่ขอบรรยาย

       ๙. วิบาก คำว่าวิบากในที่นี้คือ ผลของกรรม คือหมายความว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ เราตั้งอกตั้งใจจะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา แต่ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปเท่าไรๆ ความโลภมันยิ่งเกิดขึ้นมา ความโกรธมันยิ่งเกิดขึ้นมา โมหะคือความหลงก็ยิ่งเกิดขึ้นมา ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปยิ่งกำเริบ พวกเหล่านี้ยิ่งกำเริบขึ้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อวิบากคือผลของความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้แล้ว การปฏิบัติจะไม่ได้ผลเสียเลย เหตุนั้นท่านทั้งหลาย เมื่อโลภ โกรธ หลง หรือราคะ ตัณหา อุปาทาน มันเกิดขึ้นมา พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันทันที แล้วมันจะได้สงบระงับไป จะทำให้การปฏิบัติของเราได้ผลเร็วขึ้น

       ๑๐. อริยุปวาท กล่าวร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า คือหมายความว่าเราไปด่าพระอริยะเจ้า ไปใส่ร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า ใครเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า ก็พวกเราทั้งหลายนี้แหละ รวมทั้งพระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี นี้เรียกว่าปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า คือ ปฏิบัติเพื่อจะนำตนให้พ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ทีนี้เราไปกล่าวร้ายท่าน หรือใส่ร้ายท่านด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี เป็นถ้อยคำผรุสวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะผ่านการปฏิบัติไปได้เลย

       ดังตัวอย่างครั้งพุทธกาล มีพระหลวงตากับพระหนุ่มรูปหนึ่ง ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานร่วมกัน วันหนึ่งไปบิณฑบาตด้วยกัน สำหรับพระหลวงตานั้นก็เจ็บท้องปวดท้องเวลาเช้า พอดีไปบิณฑบาต โยมก็เอายาคูคือข้าวต้มกำลังร้อนๆ อยู่นั้นแหละมาถวาย หลวงตาก็คิดว่า “เอ๊ะ ! ขณะนี้เราก็กำลังเจ็บท้องอยู่ กำลังปวดท้องอยู่ เราฉันข้าวยาคูกำลังร้อนๆ นี้ ชะรอยจะทำให้อาการเจ็บท้องของเรานี้มันหายไป” เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้วก็มองซ้ายแลขวาหาที่นั่ง เมื่อเห็นท่อนไม้อันหนึ่งแล้วก็ไปนั่งลง เมื่อนั่งแล้วก็ล้วงเอาถ้วยข้าวยาคูอยู่ในบาตรนั้นมาซดเอาๆๆ

       พระหนุ่มที่เดินมาตามหลังก็เกิดความละอายใจ เป็นคนหนุ่ม มีความละอายเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว พอดีเดินไปถึงก็ตวาดทันทีว่า “เอ๊ะ ! หลวงตาทำไมถึงตะกละตะกรามถึงขนาดนี้ กลับถึงวัดเสียก่อนจึงค่อยฉันไม่ได้หรือ ทำไมถึงหิวเหมือนกับไม่ได้ฉัน เหมือนกับเปรต” อะไรๆ ก็ว่าเอาๆ พระหลวงตาท่านก็เฉย ไม่ตอบว่ากระไร ท่านก็ซดยาคูของท่านซดเอาๆๆ หมดแล้วก็วางถ้วยยาคูใส่บาตรแล้วก็เดินไปบิณฑบาต พอดีกลับถึงวัดฉันเสร็จแล้ว พระหลวงตาก็ถามว่า “คุณ ที่คุณมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ คุณได้บรรลุมรรคผลขั้นไหนแล้ว” “กระผมได้บรรลุโสดาบันครับ” “เออ ถ้าอย่างนั้นคุณไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติต่อไปดอก” ท่านก็ว่าเท่านั้นแหละ พระภิกษุหนุ่มก็ได้สติทันที ถามว่า “ท่านหลวงตา เมื่อตะกี้นี้ท่านหลวงตาโกรธผมหรือ” อย่างนั้นอย่างนี้ก็คะยั้นคะยอ แต่ท่านหลวงตาก็ว่า “ผมไม่โกรธดอก” เพราะว่าขณะนั้นท่านหลวงตาท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็เฉย

       เมื่อพระภิกษุหนุ่มไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถจะยังสภาวธรรมให้เกิดขึ้น ไม่สามารถยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็ต้องมาขอขมาโทษพระหลวงตา เมื่อขอขมาโทษแล้วจึงสามารถประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ผ่านพ้นไปได้

       นี่แหละท่านทั้งหลาย การกล่าวร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้านี้ ถือว่าเป็นเครื่องขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน

       ๑๑. ปรารถนาพุทธภูมิ คือหมายความว่า ผู้ใดที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวธรรมจะเกิดขึ้นตามลำดับๆ ไปถึงสังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ ก็หมดแล้ว จะปฏิบัติไปอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ จนกว่าบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อน ต้องเกิดอีกหลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ บำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมให้สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสาวกได้ เพราะว่าได้ปรารถนาพุทธภูมิแล้ว เมื่อใดบำเพ็ญบารมีให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้วนั่นแหละจึงจะได้ตรัสรู้ครั้งเดียว

       แต่ว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ก็แก้ได้เหมือนกัน หากว่าเราคิดว่า “เอ๊ะ ! เกิดมาภพนี้ชาตินี้ การบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานก็ลำบากลำบนขนาดนี้ เพียงชาติเดียวเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่าเป็นทุกข์เหลือทน หากว่าเราจะเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร กว่าเราจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมนี้ไม่รู้ว่าจะกี่ชาติกี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ จะได้รับความทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส”

       เรานึกถึงความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแก่เรา ในการที่เราเที่ยวไปในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีนี้ เห็นว่ามันลำบากเหลือเกิน เราก็แก้คำอธิษฐานใหม่ โดยที่เราเข้าไปในโบสถ์ กราบพระประธานแล้วกล่าวสัคเคขึ้นมา แล้วก็ตั้งอธิษฐานใหม่ว่า “ข้าพเจ้าเมื่อก่อนโน้นได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าได้ปรารถนาพุทธภูมิ มีความประสงค์ที่จะบำเพ็ญบารมีให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า แต่บัดนี้ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้  ข้าพเจ้าจึงขอแก้คำอธิษฐาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอเลิกการปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปข้าพเจ้าขอเลิก คำปรารถนาพุทธภูมิ ขอให้ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลสูงสุดถึงขั้นพระอรหันต์ก็พอแล้ว ขอทวยเทพพนิกรเจ้าทั้งหลายได้เป็นสักขีพยานด้วย”

       เมื่อเราตั้งสัจจะอธิษฐานเปลี่ยนคำอธิษฐานในจิตในใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สำเร็จอริยมรรคอริยผลได้ ทั้งนี้หมายความว่าเป็นประเภทที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้พยากรณ์นะ หรือว่าไม่ได้รับพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมา นี้เราแก้ได้ แต่ถ้าได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมาแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ได้ สมมุติว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ในภพก่อนชาติก่อนโน้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ทำบุญทำทานแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ว่า ผู้นี้ ในอนาคตจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์แล้วอย่างนี้ ไม่มีโอกาสที่จะแก้คำอธิษฐานได้ เพราะพระวาจาของพระพุทธเจ้านั้นเป็นพระวาจาสิทธิ์ ไม่มีใครที่จะสามารถแก้พระวาจาสิทธิ์ที่พระองค์ได้ทรงตรัสแล้วได้

       แต่เราก็มองดูง่ายๆ ว่าเราปรารถนาพุทธภูมิแล้วหรือ หรือยังไม่ได้ปรารถนาพุทธภูมิ ก็อยู่ที่จิตที่ใจของเรานั่นแหละ หากว่าจิตใจของเรายังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่มั่นใจอยู่ ก็แสดงว่าเรายังไม่ได้รับพยากรณ์ แต่ถ้าจิตใจมันไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน มั่นคงแล้ว และพร้อมกัน ทิฏฐิมานะก็กล้า ไม่ยอมฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้ใดผู้หนึ่ง ถือว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้สูงกว่าพระธรรมดาๆ แล้ว เพราะว่าเราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าเรามีคุณธรรมสูงกว่าพระสูงกว่าเณรธรรมดา ไม่ยอมฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์รูปใดรูปหนึ่งเลย ทิฏฐิมานะกล้าเช่นนี้ก็แสดงว่าได้เคยรับพยากรณ์มาแล้ว เหตุนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังเกตเอา

       เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะคืออันตราย ๑๒ ประการซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผลมาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ.