สมถะกับวิปัสสนา
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สำหรับแนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมะนั้น ส่วนมากเราปฏิบัติตามแนวทางของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ กำหนดกาย เวทนา จิต และธรรม ดังท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติมา แต่ผลที่ออกมามันไม่เหมือนกัน
เพราะเหตุไร? เพราะบางท่านก็ได้สมาธิ ได้ฌาน บางท่านก็ดำเนินตามวิปัสสนา คือ มันมีทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ควบคู่กันไป เท่าที่ได้สังเกตและเท่าที่เห็นและพิจารณาที่ท่านทั้งหลายมาปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ โดยเฉพาะในภาคฤดูหนาว หรือภาคฤดูร้อน ส่วนมากผู้ที่มาปฏิบัติได้สมถะซะเป็นส่วนมาก วิปัสสนานั้นมีน้อย ถ้าในพรรษาสมถะนี้หายาก แต่วิปัสสนานี้มีมาก มันอยู่ที่เหตุปัจจัยหลายสิ่งหลายประการ แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา
สำหรับด้านสมถะที่เกิดแก่ท่านหรือที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติมา ก็พอที่จะพิจารณาและเข้าใจแนวทางของการประพฤติปฏิบัติว่า เราปฏิบัติมาแล้วเราได้ฌานหรือได้มรรคผลนิพพาน เราจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้
วินาทีแรกที่เราตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” “เจ็บหนอ” “ปวดหนอ” “เฉยหนอ” หรือว่า “คิดหนอๆ” หรือว่า “โกรธหนอ” “อยากได้หนอ” “ง่วงหนอ” อะไรทำนองนี้ เป็นบทกำหนดพระกัมมัฏฐานรวมกันอยู่ในนั้น ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนามันรวมกันอยู่ในนั้น พอผลที่ออกมามันไม่เหมือนกัน ถ้าผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาทางสมถะ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ถ้าผู้ใดสร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนา ก็ได้มรรคได้ผล ทีนี้เราจะสังเกตได้ จะรู้ได้อย่างไรว่าการปฏิบัติมาครั้งนี้เราได้สมถะ คือ ได้ฌาน เราได้วิปัสสนา คือมรรคผลนิพพาน เราจะสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ
ขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น ในขณะนั้นจิตใจของเราหนักแน่นมั่นคง ตั้งมั่นอยู่กับอาการพองอาการยุบไม่วอกแวกหวั่นไหวไปตามอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น ในขณะนั้น สติของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดเวลา และในขณะนั้นวิปัสสนาญาณยังไม่แก่กล้า สมถะเริ่มแก่กล้าขึ้นมา ในขณะนั้นเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้ดี กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” สบายๆ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และในขณะนั้นจิตของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดไป ไม่วิ่งไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส หาธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะนั้นความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงที่ได้ยินก็ยังมีอยู่ แต่มันละเอียดเข้าไป ความรู้สึกก็ดี เสียงก็ดี มันเหลืออยู่ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เกือบจะไม่มีความรู้สึกแล้ว คือมันละเอียดเข้าไปแล้ว ในขณะนั้นเขาเอาปะทัดมาจุด เปรี้ยงๆๆ ใกล้ๆตัวของเราก็ดี หรือเขาเอาปืนมายิง เปรี้ยงๆๆ ใกล้ตัวของเรา หรือว่ากิ่งไม้มันหักลง ดังขึ้นมาก็ดี สติของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ ก็เฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว บ้านเราเรียกว่า “บ่ตื่น” นั่งได้สบายๆ ถ้าเราทั้งหลายทำได้อย่างนี้ก็ให้รู้ทันทีว่า อันนี้เป็นปฐมฌาน เราได้ฌานที่ ๑ คือ ได้ปฐมฌานแล้ว
เมื่อปฐมฌานมันแก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌาน ทุติยฌานนั้นจะมีลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น เมื่อก่อนโน้นเราได้กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” แต่เมื่อมาถึงนี้เราไม่ได้กำหนดเลย นั่งเฉยอยู่ตลอดเวลา บ้านเราเรียกว่า “บ่ได้ภาวนาว่าจังได๋” นั่งเฉยอยู่กับอาการพองอาการยุบ และในขณะนั้น ความรู้สึกก็มีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันต่างกันที่สุดก็คือ เราไม่ได้ภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งเฉยอยู่เหมือนกันกับพระพุทธรูป ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ แล้ว เมื่อฌานที่ ๒ แก่กล้าแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขึ้นสู่ตติยฌาน
ตติยฌานนั้นมีลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น ความรู้สึกก็ดี เสียงก็ดี มันเหลืออยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะนั้น เหมือนกันกับคนเอาเหล็กแหลมๆ เอาไม้แหลมๆ มาตอกลงบนศีรษะไปตรึงไว้กับพื้น เราจะกระดุกกระดิก ก็กระดุกกระดิกไม่ได้ เราอยากก้มก็ก้มไม่ได้ เราอยากเงยก็เงยไม่ได้ เราอยากมองซ้ายแลขวาก็มองไม่ได้ เราจะยกมือยกเท้าไปวางที่โน้นที่นี้ก็ยกไม่ได้ คือหมายความว่า เหมือนกันกับถูกมัดไว้ หรือตรึงร่างกายของเราให้แน่นกับพื้น ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า โอ้ มันลำบากลำบนเหลือทน มันทนทุกข์ทรมานเหลือทน ท่านทั้งหลาย ลักษณะอย่างนี้ไม่มี คือปวดที่โน้นเจ็บที่นี้ไม่มี
เมื่อก่อนเรานั่งอยู่ไม่ถึง ๑๕ นาทีก็พลิกแล้ว พลิกซ้ายพลิกขวาๆ ๓๐ นาทีไม่รู้ว่าพลิกไปกี่ครั้ง เมื่อก่อน ๕ นาที พลิก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ถ้า ๓๐ นาทีไม่รู้ว่ากี่ครั้ง แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ไม่มีพลิกขาเหมือนเมื่อก่อน เพราะอะไรจึงไม่พลิกขา เพราะในขณะนั้นทุกขเวทนาไม่มีแล้ว เจ็บที่โน้น เจ็บที่นี้ ไม่มี ใจเฉยอยู่กับอารมณ์กัมมัฏฐาน ความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คือมันละเอียดเข้าไปแล้ว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงตติยฌานคือ ฌานที่ ๓ แล้ว ถ้าจุติเพราะจิตดวงนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรหนักแน่นไปตามลำดับๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขึ้นสู่ฌานที่ ๔
ฌานที่ ๔ นั้นมีลักษณะดังนี้คือ ลมหายใจเข้าหมดไป ลมหายใจออกหมดไป คือลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ลมหายใจเข้าหายใจออกนี้หมดไป ไม่มี ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ลมหายใจเข้าหายใจออกนั้นจะไม่มีในบุคคล ๔ ประเภท คือ
๑. คนตายก็ไม่มีลมหายใจ
๒. เด็กที่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็ไม่มีลมหายใจ
๓. คนดำน้ำก็ไม่มีลมหายใจ
๔. ผู้เข้าถึงจตุตถฌานก็ไม่มีลมหายใจ
ถ้าว่าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌานแล้ว ถ้าฌานไม่เสื่อม จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน และฌานนี้ก็ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ผลเร็วขึ้น หรือว่าฌานของเราในแต่ละฌานๆ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนา ถ้าว่าเอาฌานทั้ง ๔ ประการ ฌานใดฌานหนึ่งที่เราได้แล้วมายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ก็สามารถให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น
สมมุติว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้นมา คือ จะเห็นรูปเห็นนาม “ขวาย่างหนอ” เอ้อ นี่เป็นรูป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เอ้อ นี่มันเป็นรูป ความรู้สึกของเราเป็นนาม มันเกิดความรู้ขึ้นมาแล้วตอนนี้ ขวาย่างซ้ายย่างนั้นเป็นรูป ใจที่รู้สึกเป็นนาม ถ้ามีสติปัญญาเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนื้ คือเกิดวิปัสสนาญาณแล้วตอนนี้ เราจะรู้ แล้วก็จะรู้ต่อไปว่า เอ้อ ตานี่เป็นรูป หูนี่ก็เป็นรูป จมูกนี่ก็เป็นรูป ลิ้นก็เป็นรูป พวก ตา หู จมูก ลิ้น นี่มันเป็นรูปธรรม สำหรับใจของเราที่รู้นั้นเป็นนาม เอ้อ แสดงว่าเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาแล้วตอนนี้
เมื่อวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ แก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ จะรู้ว่า เอ้อ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปของนาม เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้มันไม่ทันกัน “พองหนอ” มันยุบไปแล้ว เรากำหนด “ยุบหนอ” มันพองขึ้นมาแล้ว หรือว่าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้มันลำบากลำบนเหลือทน เมื่อก่อนโน้นเรากำหนด “พุทโธๆ” มันสบายๆ แต่เวลานี้เรากำหนดลำบาก เรากำหนด “พองหนอ” มันยุบไปแล้ว เรากำหนด “ยุบหนอ” มันพองขึ้นมาแล้ว เอ๊ะ! กัมมัฏฐานนี้มันลำบากลำบนเหลือทน เดี๋ยวก็เจ็บที่โน้นปวดที่นี้อะไรจิปาถะ บางทีสัปหงกวูบไปข้างหน้าบ้าง ผงะไปข้างหลังบ้าง กำหนดพระกัมมัฏฐานไม่ค่อยดีแล้วตอนนี้ เจ็บที่โน้นปวดที่นี้อะไรจิปาถะ ก็แสดงว่าเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามแล้ว
ถ้าเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามในลักษณะดังนี้ ก็ถือว่าเราได้ขึ้นสู่ความเป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลลโสดาบัน ถึงญาณที่ ๒ นี้ องค์พระประทีปแก้วทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติ เริ่มแล้วนะตอนนี้ ถือว่าขึ้นสู่ตำแหน่งของจุลลโสดาบันแล้ว
เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปตามลำดับๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราแก่กล้า โดยเฉพาะให้สติของเรามีพลัง มีอำนาจ มีสมรรถนะสูง จนสามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ออกตนญาติโยมทั้งหลาย ขอให้ท่านได้สังเกต ได้รู้ได้เข้าใจว่า เราทั้งหลายที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ส่วนมากเราต้องการอยากเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะเหตุไรจึงอยากเห็น เพราะว่าครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายท่านสอนไว้ว่า ผู้เจริญพระกัมมัฏฐานต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าผู้ใดเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ผู้นั้นก็จะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายท่านบอกไว้อย่างนั้น เหตุนั้นพวกเราทั้งหลาย เมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานแล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ที่ ๒ เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ เราจะรู้อย่างไรว่า พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นแก่เราแล้ว จะรู้ได้ในลักษณะดังนี้
ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป
บางท่านเวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จะเห็นอาการพองอาการยุบ รู้สึกว่าฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีมันก็แน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของทุกขัง
บางครั้งเวลาประพฤติปฏิบัติ เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา
ท่านหลวงปู่หลวงตาออกตนญาติโยมทั้งหลาย ลักษณะดังนี้ท่านทั้งหลายมีไหม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐานลักษณะอย่างนี้มีไหม เกิดขึ้นแก่เราไหม ลักษณะที่ว่า อาการพอง อาการยุบ มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพอง อาการยุบรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพองอาการยุบมันสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็หายไป ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งท่านทั้งหลายมีไหม ถ้ามีก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้เห็นพระไตรลักษณ์แล้ว เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เพราะว่าถ้าเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ถือว่าเราเห็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว เรามาถึงต้นทางแล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารไม่รู้กี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ เรายังไม่เห็นต้นทางของวัฏสงสารเลย หรือยังไม่เห็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานเลย ชีวิตของเรามันลอยเคว้งคว้างอยู่ในสังสารจักรไม่รู้จักหนทางที่จะไปสู่พระนิพพาน ไม่รู้จักหนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ มันลอยเคว้งคว้างอยู่ในสังสารวัฏนี้ตลอดเวลา
แต่เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้ ถือว่าเรามีบุญล้นฟ้าล้นดิน ที่เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เห็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว ลักษณะอย่างนี้ถ้าว่าเกิดแก่ท่านผู้ใดก็ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เอ้อ เราเกิดมาภพนี้ชาตินี้ ถือว่าเป็นผู้มีโชคดี เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ได้เห็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานแล้ว ก็แสดงว่าเราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จิตของเรา หรือว่าบุญกุศลของเราทั้งหลายที่สั่งสมอบรมไว้ก็จะดำเนินไปตามวิถีของมัน ไหลเอื่อยไปสู่พระนิพพาน เหมือนกันกับท่อนไม้หรือท่อนฟืน หรือท่อนซุงที่เราทิ้งลงในแม้น้ำโขงหรือแม่น้ำมูลอย่างนี้ ท่อนซุงหรือท่อนไม้นั้น เมื่อเราทิ้งลงไปมันก็ไหลไปตามลำดับ เอื่อยไปๆๆ จนถึงแม่น้ำโขง ไหลออกจากแม่น้ำโขง ก็ไหลไปสู่ทะเล เมื่อไปถึงทะเลแล้วก็ถือว่าเป็นจุดหมายปลายทาง ถ้าถึงทะเลหรือถึงมหาสมุทร ก็ถือว่าถึงที่แล้ว ข้อนี้ฉันใด
พวกเราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ เราเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ไหลไปตามวิถีของมัน ไหลไปตามลำดับ ผ่านภพน้อยภพใหญ่ไปเรื่อยๆๆๆ ผลสุดท้ายก็ถึงจุดหมายปลายทาง อะไรเป็นจุดหมายปลายทาง คือ ไปถึงพระนิพพาน
สรุปแล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารนี้ มันมีอวิชชาเป็นต้นทาง มีพระนิพพานเป็นปลายทางหรือเป็นที่สุดท้าย เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้ก็ถือว่าเรามีบุญมีกุศลล้นฟ้าล้นดินแล้ว พร้อมแล้ว เราจะถึงพระนิพพานในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเราเห็นพระไตรลักษณ์ในขั้นนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นพระไตรลักษณ์ในขั้นที่ ๒ อะไรเป็นพระไตรลักษณ์ขั้นที่ ๒ คือความเกิดความดับของรูปนาม ถ้าผู้ใดเห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนามมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ดังพระบาลีว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.
ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาแล้ว ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียวเท่านั้นประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
ลักษณะของพระไตรลักษณ์ในขั้นที่ ๒ นี้ ขอท่านหลวงปู่หลวงตา ครูบาอาจารย์ ออกตนญาติโยมจำไว้นะ พระไตรลักษณ์ขั้นที่ ๒ จะมีลักษณะดังนี้ คือ
๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนามาก่อนแล้ว ก็จะผ่านทางอนิจจัง คือจะเห็นอนิจจังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป นี้เป็นตัวอนิจจัง
๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะมาก่อน จะผ่านทางทุกขัง คือจะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรารู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีก็แน่นมากจริงๆ จนถึงกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เรียกว่าเป็นลักษณะของทุกขัง
๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้ว จะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา ขั้นที่ ๒ นะ
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะมาถึงนี้ ถือว่าตัดกระแสของวัฏสงสารได้แล้วอย่างน้อย ๗ ชาติ ผู้ใดปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้นั้นมีโอกาสจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าตายพร้อมจิตดวงนี้ ตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๗ ชาติ จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ ไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้นั้นได้บรรลุพระนิพพานในวันข้างหน้า
สภาวะอย่างนี้ไม่ใช่ของเลวนะท่านทั้งหลาย ผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญจะไม่เกิด สมมุติว่าพระเราไปต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด หากว่าผู้ใดเคยฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด ถ้าผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด ถ้าสภาวะอย่างนี้เกิด ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ถ้าไม่ประมาท มาถึงขั้นที่ ๒ แล้วนะตอนนี้
เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ภพชาติของเรามันก็น้อยลงไปๆๆ เพราะเหตุไรจึงว่าน้อยลงไป เพราะว่ามันตัดชาติตัดภพไปนับไม่ถ้วน เพราะเหตุไร เพราะว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองก็ดี อาการยุบก็ดี อาการสม่ำเสมอก็ดี มันดับวูบลงไปหรือมันสัปหงกวูบลงไป มันตายแล้วตอนนั้น รูปก็ดับ อาการพองอาการยุบก็ดับ นาม คือความรู้สึกของเรามันก็ดับ กิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ มันก็ดับ มันดับทั้ง ๓ อย่าง รูปดับ นามดับ กิเลสดับ เมื่อรูปดับ นามดับ กิเลสดับ กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันก็อ่อนกำลังลงไป อ่อนกำลังลงไป แทนที่เราจะได้เกิดเป็นกี่ร้อยชาติพันชาติ มันจะเกิดอีกไม่นานก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นสุดท้ายแล้ว ถ้าผู้ใดปฏิบัติมาถึงนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เออ เราประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว เรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในวันข้างหน้า หากว่าเราตายไปในขณะที่จิตของเรามันอยู่ในลักษณะดังนี้ เราก็จะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานอย่างน้อย ๗ ชาติ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า
เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนาญาณแก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นความดับของรูปนาม เห็นความดับลงไป นั่งสมาธิไปมันดับวูบไปเรื่อยๆ หรือว่าเดินจงกรมไป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ดับวูบไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนง่วงนอน มันวูบไปเรื่อยๆๆ เหมือนกับคนง่วงนอน ที่มันเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในขณะนั้นเราเห็นความดับของรูปนาม ความเกิดไม่เห็น เห็นแต่ความดับ คือนั่งไปหลับไปๆๆ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เดินไปหลับไปๆ “พองหนอ” “ยุบหนอ” กำหนดไปๆ หลับไปเรื่อยๆๆ มันคือลำบากลำบนแท้ นั่งไปนิดเดียวหลับไปแล้วๆ อันนี้เราเห็นเฉพาะความดับของรูปนาม
เมื่อเห็นความดับของรูปนามชัดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปนามนั้นปรากฏเป็นของน่ากลัว ใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย นั่งกัมมัฏฐานไปก็เกรงว่าจะล้มจะตายไป มันสัปหงกวูบลงไป เอ๊ะ ! ทำไมมันเป็นอย่างนี้ มันจะไม่ตายไปเลยหรือนี่ ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน กลัวตาย คือเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว เมื่อญาณนี้แก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปของนาม นั่งกัมมัฏฐานอยู่ เจ็บที่นู้นปวดที่นี้ บางทีหิว บางทีกระหาย บางทีอย่างโน้นอย่างนี้อะไรจิปาถะ เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ร้อยแปดพันประการ บางทีจาม บางทีคันคอ บางทีน้ำตาไหล บางทีก็ปวดศีรษะ เห็นว่าการปฏิบัติลำบาก นี้ถือว่าการเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
เมื่อเราเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามชัดด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเบื่อหน่ายรูปนาม บางทีก็เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร บางทีก็เบื่อผัว เบื่อเมีย เบื่อวัดวาอาราม บางทีก็เบื่อวัฏสงสาร บางทีก็เบื่อการประพฤติปฏิบัติ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป แต่ก็ยังข่มใจปฏิบัติอยู่ นี้มันเกิดความเบื่อ บางท่านไม่อยากรับประทานอาหารเลย ไม่อยากพบอยากเห็นใคร ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากพบอยากเห็น อยากอยู่เงียบๆ เพียงคนเดียวเท่านั้น เมื่อสภาวะนี้แก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาของเรามันแก่กล้าขึ้นมา มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นอยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป เห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร นี้อวิชชามันเกิดขึ้นมากั้นแล้วตอนนี้ บางคนก็ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไปอีกเลย อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่ยอมทำ เห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อเราข่มจิตข่มใจแล้วก็พออยู่ได้ แต่บางท่านข่มจิตข่มใจไม่ได้ ลากลับบ้าน ใจน้อยงอแง ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนี้ ก็โกรธก็ขัดใจ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ส่วนมากปฏิบัติมาถึงนี้ผู้ปฏิบัติยังทำไม่ได้ บางทีก็ลากลับบ้านเลยไม่ยอมปฏิบัติต่อไป ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เป็นอวิชชา ความโง่ เป็นเหตุให้เกิดสังขาร เรากำหนดพระกัมมัฏฐานไม่ทัน มันจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทุลี้ทุลน ผุดลุกผุดนั่ง อยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป
ถ้าเราข่มจิตข่มใจได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณของเรามันแก่กล้า จิตใจก็จะเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด นี่จิตใจเข้มแข็งตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ถ้าเราปฏิบัติมาถึงนี้ เมื่อผ่านสภาวะอย่างนี้แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสบายขึ้นมา เดินจงกรมก็สบายๆ นั่งสมาธิก็สบายๆ บางทีเราคิดว่าจะนั่งอยู่ ๓๐ นาที ลืมเวลาไป ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี
ในขณะนั้นสภาวะที่มันเกิดขึ้นเหมือนกันกับว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน ของเรานั้นไม่มีแล้ว มันหมดไปแล้ว เหมือนกันกับว่าได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว นั่งก็สบาย นอนก็สบาย กำหนดก็สบาย มันสบายทุกอย่าง อันนี้เป็นสภาวะของวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑๑ เมื่อสภาวะอย่างนี้แก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถีคือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์ คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้คือ
๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนิจจังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ ท่านทั้งหลายสังเกตให้ดีนะ จะได้บรรลุหรือไม่บรรลุนี่อยู่ตรงนี้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ตรงนี้ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังเกตให้ดี
ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีสัปหงกวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาแต่หลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ดับไป สิ้นไป สูญไป จากจิตจากใจของเรา หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดศีรษะ บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตเป็นเครื่องหมายมิได้
๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะกรรมฐานมาก่อน จะผ่านทางทุกขัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ ฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ เหมือนกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาหลายภพหลายชาติหลายกัปหลายกัลป์ ดับไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดหัว บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่าดับโดยที่หาอะไรเป็นที่ตั้งไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะเป็นที่ตั้งมิได้
๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วดับวูบลงไป คือขาดความรู้สึกลงไป ผู้ปฏิบัติก็จำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาแต่หลายภพหลายชาติหลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือ มันว่างจากราคะ โทสะ โมหะ
ท่านหลวงปู่หลวงตา ออกตนญาติโยมทั้งหลาย เวลาได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นมีเท่านี้นะ มันมีเท่านี้ เดี๋ยวจะว่า “เอ๊ะ หลวงพ่อ ทำไมง่ายจัง การบรรลุมรรคผลพระนิพพานทำไมง่ายจัง” มันไมใช่ของง่ายท่านทั้งหลาย บางทีปฏิบัติกัมมัฏฐานมา ๑๐ ปีก็ไม่เห็นลักษณะอย่างนี้ บางทีปฏิบัติกัมมัฏฐานมา ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี เกือบจะตายก็ยังไม่เห็นลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น
ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะเหตุไร อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป ที่มันเป็นลักษณะนี้ เพราะในขณะนั้นมันตายแล้ว กิเลสมันตาย รูป คืออาการพองอาการยุบนี้ก็ดับ คือมันตายลงไป นามคือความรู้สึกของเรา จิตของเรามันก็ดับลงไป กิเลสคือโลภะ โทสะ ก็ดับลงไป มันดับเด็ดขาดไปเลย ไม่เกิดอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่เกิด
เหมือนกันกับฟ้าผ่าเปรี้ยงลงที่ต้นไม้ หรือโคตรเพชรโคตรหิน ต้นไม้ต้นนั้นก็ดับไปเลย ตายไปเลย เอาเคมี เอายาดีมาใส่มันก็ไม่เกิดอีก ดับไปเลย ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่รูปนามมันดับลงไป มันก็ดับไปเลยไม่กลับเกิดอีก
ถ้ามันดับไปครั้งที่ ๑ ก็ชื่อว่า โลภะ ละได้ ๔ ตัว โทสะ ละยังไม่ได้ โมหะ ละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานเห็นทุกขังปรากฏชัด ที่กำหนดไปๆ ดับวูบลงไป หรือสัปหงกวูบลงไป คือ ในขณะนั้น รูป คืออาการพองอาการยุบของเรามันก็ดับ นาม คือความรู้สึกของเรา คือจิตของเรามันก็ดับ และในขณะนั้น กิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง มันก็ดับลงไป แล้วก็ดับไปเลยไม่เกิดมาอีก นี้เขาเรียกว่าบรรลุ คือตายอย่างพระอรหันต์ หรือตายอย่างพระอริยะเจ้า ไม่ตายเหมือนคนธรรมดา
ถ้าตายแบบคนธรรมดานี้ มันยังฟื้นขึ้นมาอีกอยู่ คือมันยังเกิดอีกอยู่ ยังก่อภพก่อชาติอีกอยู่ ถ้าคนธรรมดาตายไปแล้ว คือ มันตายแต่รูปแต่นาม แต่กิเลสตัณหายังไม่ตาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชานั้นมันยังไม่ตาย มันยังมีเชื้ออยู่ มีเชื้อมียางอยู่ ถ้ามีเชื้อมียางมันก็ไปเกิดอีก แล้วก็ยังตายต่อไปอีกได้ แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงดับเด็ดขาดไปเลย ไม่มีโอกาสมาเกิดอีก เหมือนกันกับข้าวสาร หรือเหมือนกันกับข้าวตอกที่เราคั่วแล้ว มันไม่มีโอกาสที่จะมาเกิดอีกได้ ข้อนี้ฉันใด กิเลสตัณหาที่มันดับไปด้วยอำนาจของมรรคญาณ เมื่อมันดับแล้วก็ดับไปเลย ไม่มีการเกิดอีก
ถ้ามันตายไปครั้งที่ ๒ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม ความโกรธ ความหลงยังไม่ดับ แต่มีกำลังอ่อนลงไป ถ้ามันดับไปในครั้งที่ ๓ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ หมดแล้วความโกรธ มาถึงนี้ ความโกรธก็หมด ความอยากสร้างครอบสร้างครัวมีลูกมีเมียหมดไป ถ้าเราปฏิบัติกัมมัฏฐานไป มันดับลงไปครั้งที่ ๔ โลภะก็ละได้หมดทุกตัว ทั้ง ๘ ตัว โมหะก็ละได้สิ้นเชิง ไม่มีเกิดอีกต่อไป ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การที่จะเกิดอีกต่อไปไม่มี การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย เราจะเข้าสู่พระนิพพาน
นี้แหละท่านทั้งหลาย การดับที่มันดับลงไปนี้คือ มันดับทั้งรูป ทั้งนาม ทั้งกิเลสตัณหา ไม่มีการก่อภพก่อชาติอีกต่อไป ท่านหลวงปู่หลวงตาออกตนญาติโยมทั้งหลาย ที่เราปฏิบัติมาถึงนี้ หากว่าท่านผู้ใดสามารถทำได้ก็สาธุ อนุโมทนา ถ้าหากว่ายังทำไม่ได้ก็พยายามปฏิบัติต่อๆไป วันหนึ่งข้างหน้า เรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานถ้าไม่ประมาท
ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลาย
ประการที่ ๑ พวกเราทั้งหลายเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ขอให้พยายามเผยแผ่ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทั้งหลายสามารถที่จะแนะนำพร่ำสอน แนะนำพร่ำเตือนกันได้ทุกท่านทุกคน เพราะเหตุใด เพราะเราเคยปฏิบัติมาแล้ว เราเคยเดินจงกรม นั่งสมาธิ กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน รู้จักการกำหนดอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้หมด เราก็สามารถที่จะสอนผู้อื่นได้ ความรู้ที่มีอยู่แล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าอุบไว้ หากว่าเราได้ช่วยแนะนำพร่ำสอน แนะนำพร่ำเตือน หรือชี้แนะแนวทางให้ผู้อื่นปฏิบัติ ถือว่าเราได้เผยแผ่ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการทดแทนบุญคุณพระรัตนตรัย พยายามช่วยกันเผยแผ่ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประการที่ ๒ ขอท่านทั้งหลายอย่าลืมบุญคุณของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ถือว่าเป็นผู้มีคุณูปการแก่เรามาก เราจะหาวิธีทดแทนบุญคุณครูบาอาจารย์โดยวิธีใด ก็ไม่สามารถจะทดแทนได้ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายได้รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือมรรคผลพระนิพพาน ทุกวันนี้ ที่มีความรู้ความสามารถทุกวันนี้ เพราะอาศัยบุญคุณของครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำพร่ำสอนแนะนำพร่ำเตือนพวกเราทั้งหลาย เราจึงมีความรู้ สามารถรักษาตัวเองและสังคมได้ เหตุนั้น อย่าได้ลืมบุญคุณครูบาอาจารย์
ประการที่ ๓ อย่าลืมบุญคุณของพ่อของแม่ พ่อแม่นั้นเป็นผู้มีคุณูปการแก่เรามาก เราจะหาวิธีทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ โดยจะเอาผ้าผ่อนแพรพรรณ รัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์ ๙ ประการ มากองพะเนินกันให้เพียงปลายพร้าวปลายตาล ก็ไม่สามารถจะทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ใดมาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เหมือนดังท่านทั้งหลายปฏิบัติมาทุกวันนี้ มาให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ได้บุญได้กุศล มีบุญมีกุศลแล้ว เราก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปให้พ่อให้แม่ จึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ หรือมีโอกาสมีเวลา ก็ให้พ่อให้แม่ของเรามาปฏิบัติ เมื่อเราสามารถทำได้อย่างนี้ จึงจะชื่อว่าเราได้ทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่
ประการที่ ๔ พวกเราทั้งหลายนั่งรวมกันอยู่นี้ ถือว่าพวกเราทั้งหลายเป็นลูกของพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้เคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน เพราะว่าอีกไม่ช้าไม่นานเราก็จะกลับบ้านเก่าหมดแล้ว คือจะตายจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองกัน
ประการที่ ๕ ขอให้พวกเราทั้งหลาย ผู้ที่ทำกรรมฐานแล้ว อย่าได้พูดว่า ไม่ต้องทำบุญทำทานต่อไป เดี๋ยวจะว่า “เอ๊ะ เราไม่ต้องทำบุญทำทานต่อไปอีกหรอก อยากได้บุญเราก็ทำกรรมฐานเอา” ไม่ถูกนะท่านทั้งหลาย การทำคุณงามความดีนั้น เป็นเครื่องหมายของคนดี แม้แต่ท่านผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังทำบุญทำทานอยู่
ข้อนี้ขอให้ถือปฏิบัติตามที่พระนางมหาสุมนาเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า มีคนสองคน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน แต่คนหนึ่งชอบทำบุญทำทาน อีกคนหนึ่งไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า
พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาสุมนา คนที่ไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายแล้วไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ก็จะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะขัดสนไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรต้องไปของ้อของอนญาติโยมจึงจะได้ใช้
ดูก่อนมหาสุมนา ผู้ที่ชอบทำบุญทำทานนั้น ตายแล้วไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ก็จะเป็นคนร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรก็มีญาติมีโยมมาของ้อของอนให้ใช้
ดูก่อนมหาสุมนา บางคนที่เกิดขึ้นมานั้นร่ำรวยมั่งมีศรีสุข ต้องการเครื่องประดับประดาเพชรนิลจินดาใดๆได้ทั้งหมด แต่ว่าไม่สวยและไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้น เขาให้ทานอย่างเดียวแต่ไม่รักษาศีล
ดูก่อนมหาสุมนา สำหรับผู้ที่รักษาศีลได้ดีแล้ว อยู่ในโลกนี้ก็ไม่เดือดร้อน ตายไปแล้วไปเกิดภพใหม่ชาติใหม่ก็จะเป็นคนที่มีรูปงามมีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืน ไม่ตายง่าย
ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งรวยด้วย ทั้งสวยด้วย แต่ไม่มีสติปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้น เขาไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา
ดูก่อนมหาสุมนา สำหรับคนผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของตนเองได้ สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้
เหตุนั้น เราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว อยากดี อยากรวย อยากสวย อยากมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น ก็จงพยายามทำบุญให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือทั้งให้ทาน ทั้งรักษาศีล ทั้งเจริญภาวนา นอกจากนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พยายามรักษาชื่อเสียงของตนเอง พยายามรักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของวัดวาอาราม รักษาชื่อเสียงของพระศาสนา เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าก็ขอให้เค็มเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรยายถวายความรู้ เพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติธรรม ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.