วิธีขอนิสสัย
ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๕ พรรษา ถือว่าเป็นพระนวกะบวชใหม่ต้องถือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นอุปัชฌาย์ และอาศัยภิกษุรูปนั้นอยู่เพื่อรับโอวาท ในกรณีที่ไม่ได้อยู่กับอุปัชฌาย์ ต้องขอนิสัยจากพระอาจารย์ที่ตนอาศัยด้วย
ผู้ขอนิสัยต้องห่มจีวรเฉวียงบ่า นั่งคุกเข่าประนมมือ กราบ ๓ หน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วกล่าวคำขอนิสัย
———————–
คำขอนิสสัย
อาจะริโย เม ภันเต โหหิ, อายัส๎มะโต นิสสายะ วัสสามิ. (ว่า ๓ ครั้ง)
พระอาจารย์ท่านจะพูดว่า “โอปายิกัง” ผู้ขอรับว่า “สาธุ ภันเต”
พระอาจารย์ท่านจะพูดว่า “ปะฏิรูปัง” ผู้ขอรับว่า “สาธุ ภันเต”
พระอาจารย์ท่านจะพูดว่า “ปะสาทิเกนะ สัมปาเทหิ” ผู้ขอรับว่า “สาธุ ภันเต”
ผู้ขอนิสัยพึงกล่าวรับเป็นธุระให้ท่านว่า
“อัชชะตัคเคทานิ เถโร, มัยหัง ภาโร, อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร”. (ว่า ๓ ครั้ง)
ในกรณีที่อาศัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์ให้ขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์ ดังนี้
“อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ” (ว่า ๓ ครั้ง)
นอกนั้นเหมือนกันกับการขอนิสัยพระอาจารย์
ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๕ พรรษาเป็นพระนวกะอยู่ แม้เป็นผู้ทรงธรรมวินัยก็ควรจะต้องขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์ ภิกษุเดินทาง ป่วยไข้หรือเข้าป่าเพื่อเจริญสมณธรรมในที่ใด หาท่านผู้ให้นิสัยไม่ได้ หรือมีเหตุขัดข้องไปอยู่ในที่อื่นไม่ได้จะอยู่ในที่นั้นด้วยผูกใจว่า เมื่อใดมีท่านผู้ให้นิสัยได้มาอยู่ จักถือนิสัยในท่านนั้นก็ควร
ภิกษุผู้มีพรรษาได้ ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ มีองค์ครบสมบัติในการจะอยู่ตามลำพังโดยไม่ต้องขอนิสัยได้ แต่หากยังไม่มีความรู้ความเหมาะสมในการรักษาตน ก็ต้องถือนิสัย
———————–