การนอน
เวลานอน ให้ค่อยๆ ย่อตัวลงในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ แล้วนั่งคุกเข่าและนั่งพับเพียบลง (จะนอนตะแคงเอาสีข้างด้านขวาลงแบบสีหไสยาสน์ หรือจะนอนหงายก็ได้) จากนั้นให้เหยียดเท้าขวาออกก่อน แล้วตามด้วยเท้าซ้าย โดยภาวนาว่า “เหยียดหนอๆๆ” เสร็จแล้วค่อยๆ เอนตัวลงนอน พร้อมกับภาวนาว่า “นอนหนอๆๆ” ในขณะที่ภาวนานั้น ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการความเคลื่อนไหวของร่างกายให้ทันปัจจุบันตลอด เวลา จนกว่าจะกำหนดจัดท่านอนให้เรียบร้อย จากนั้นให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการพองหนอ-ยุบหนอต่อไปจนกว่าจะหลับ พยายามคอยสังเกตให้ดีว่า จะนอนหลับไปในขณะไหน ขณะต้นพอง กลางพอง สุดพอง หรือต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เวลาตื่น ตื่นขึ้นในขณะต้นพอง กลางพอง สุดพอง หรือต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ และในขณะที่ตื่นขึ้นนั้นต้องรีบกำหนดจิตในขณะนั้นทันทีว่า “ตื่นหนอๆๆ” แล้วจึงค่อยกำหนดอยากลืมตา และให้มีสติกำหนดรู้อิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งปวงมีการลุก การนั่ง การคู้ การเหยียด เป็นต้น ติดต่อสืบเนื่องกันไป ไม่ให้ขาดระยะจนกว่าจะถึงเวลาจำวัตร (นอน) อีก ผู้ปฏิบัติใหม่จะรู้สึกกำหนดยาก แต่เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้าแล้ว จะเห็นว่าการกำหนดอิริยาบถน้อย-ใหญ่ ทั้งปวงนั้น สามารถกำหนดได้ทันปัจจุบันธรรมดี อิริยาบถบางอิริยาบถ เช่น เวลาทานข้าว อาบน้ำ แปรงฟัง ขณะทำวัตรเช้า-เย็น หรือพูดคุยกัน เป็นต้น ที่ไม่เคยกำหนดได้ทันปัจจุบันธรรม ก็สามารถมีสติกำหนดได้ทันปัจจุบันธรรม คล้ายๆ กับว่าการกำหนดอิริยาบถต่างๆ นั้นเป็นอัตโนมัติในตัวของมันเอง
ข้อควรระวัง
การนอนกำหนดนั้น โยคีผู้ปฏิบัตินั้นไม่ควรใช้ปฏิบัติในเวลากลางวันหรือสลับกับการกำหนดนั่ง ควรใช้กำหนดเฉพาะเวลานอนเท่านั้น เพราะโยคีผู้ปฏิบัติกำหนดอิริยาบถนอนแล้วโดยมากมักเผลอสติหลับไปเสีย
การกำหนดรูปยืน รูปนั่ง รูปนอน เป็นต้น ต้องกำหนดรูปในปัจจุบันขณะนั้น อย่าไปนึกกำหนดรูปที่เป็นอดีต อนาคต ให้กำหนดพิจารณารู้เฉพาะรูปที่เป็นปัจจุบันธรรมในขณะนั้นเท่านั้น.