การเดินจงกรม ๒ ระยะ

การเดินจงกรม ๒ ระยะ
ให้เพิ่มการเดินจงกรมเป็น ๒ ระยะ ว่า “ยกหนอ-เหยียบหนอ”
ในการปฏิบัติควรเดินจงกรมก่อนทุกครั้ง
เวลาเดิน เป็น ๒ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ
ระยะที่ ๒ ยกหนอ-เหยียบหนอ
ให้เดินระยะละ ๓๐ นาที รวมเป็น ๑ ชั่วโมง
เวลานั่ง เมื่อเดินครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้แล้ว จึงกำหนดเดินไปนั่ง ณ ที่นั่งให้นั่งเป็น ๒ ระยะเหมือนเดิม คือ
ระยะที่ ๑ – ๒ พอง-หนอ ยุบ-หนอ ให้นั่ง ๑ ชั่วโมง
เวลานอน เป็น ๒ ระยะเหมือนเดิม คือ
ระยะที่ ๑ – ๒ พอง-หนอ ยุบ-หนอ
ให้กำหนดพิจารณารู้เช่นนี้จนกว่าจะหลับไป
และให้เพิ่มการกำหนดต้นจิต (หัวใจ) ต้นจิตนั้น ได้แก่ ความอยากนั่นเอง เช่น อยากยืน อยากเดิน อยากนั่ง อยากลุก อยากกิน อยากดื่ม อยากพูด อยากคู้ อยากเหยียด อยากก้ม อยากเงย อยากถ่ายอุจจาระ อยากถ่ายปัสสาวะ อยากอาบน้ำ เป็นต้น
ตัวอย่าง เช่น
เวลาอยากเดิน ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากเดินหนอๆๆ”
เวลาเดิน ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการเดิน ภาวนาว่า “ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอๆๆ”
เวลาอยากนั่ง ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากนั่งหนอๆๆ”
เวลานั่ง ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการนั่ง ภาวนาว่า “นั่งหนอๆๆ”
เวลาอยากลุก ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากลุกหนอๆๆ”
เวลาลุก ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการลุก ภาวนาว่า “ลุกหนอๆๆ”
เวลาอยากทานอาหาร ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากทานหนอๆๆ”
เวลาทานอาหาร ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการทาน ภาวนาว่า “ทานหนอๆๆ” หรือให้มีสติกำหนดพิจารณารู้รสไว้ที่ลิ้น ภาวนาว่า “รสหนอๆๆ”
เวลาอยากดื่ม ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากดื่มหนอๆๆ”
เวลาดื่ม ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการดื่ม ภาวนาว่า “ดื่มหนอๆๆ”
เวลาอยากพูด ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากพูดหนอๆๆ”
เวลาพูด ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการพูด ภาวนาว่า “พูดหนอๆๆ”
เวลาอยากดู ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากดูหนอๆๆ”
เวลาดู ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการดู (ไว้ที่ตา) ภาวนาว่า “ดูหนอๆๆ” หรือภาวนาว่า “เห็นหนอๆๆ” ก็ได้
เวลาอยากคู้ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากคู้หนอๆๆ”
เวลาคู้ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการคู้ ภาวนาว่า “คู้หนอๆๆ”
เวลาอยากเหยียด ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากเหยียดหนอๆๆ”
เวลาเหยียด ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการเหยียด ภาวนาว่า “เหยียดหนอๆๆ”
เวลาอยากก้ม ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากก้มหนอๆๆ”
เวลาก้ม ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการก้ม ภาวนาว่า “ก้มหนอๆๆ”
เวลาอยากเงย ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากเงยหนอๆๆ”
เวลาเงย ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการเงย ภาวนาว่า “เงยหนอๆๆ”
เวลาอยากถ่ายอุจจาระ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากถ่ายหนอๆๆ”
เวลาถ่ายอุจจาระ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการถ่าย ภาวนาว่า “ถ่ายหนอๆๆ”
เวลาอยากถ่ายปัสสาวะ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากถ่ายหนอๆๆ”
เวลาถ่ายปัสสาวะ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการถ่าย ภาวนาว่า “ถ่ายหนอๆๆ”
เวลาอยากอาบน้ำ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้ไว้ที่หัวใจ ภาวนาว่า “อยากอาบหนอๆๆ” เป็นต้น
เวลาอาบน้ำ ให้เอาสติมากำหนดพิจารณารู้อาการอาบ ภาวนาว่า “อาบหนอๆๆ” เป็นต้น
ข้อสำคัญ
เวลาจะทำอะไรทุกอย่าง ให้กำหนดต้นจิตให้ทันปัจจุบันธรรมอย่าให้ก่อนหรือหลังกัน พยายามที่จะกำหนดให้ทันทุกครั้งไป และขณะนั้นต้องให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของจิต ที่เป็นปัจจุบันในขณะนั้น พร้อมกับภาวนาตามอาการที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นๆ ให้พร้อมกันพอดีๆ อย่างนี้เรื่อยไป
การกำหนด ให้กำหนดทีละอย่าง พยายามกำหนดให้เป็นอิริยาบถเดียว จนจิต คำบริกรรม และอาการแห่งรูปนามนั้นๆ กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ก็จะเป็นเหตุทำให้จิต ดิ่ง นิ่ง มั่นคง แล้วจะพิจารณารู้อาการของรูปนามนั้นๆ จนเป็นเหตุให้เกิดพระไตรลักษณ์ขึ้นมา เมื่อพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมาและแก่สมบูรณ์ดีแล้ว พระไตรลักษณ์ก็จะพาจิตดำเนินเข้าสู่อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ แล้วก็ดับลงไปตรงมรรคญาณ อันเป็นเหตุให้กิเลสดับลงไปด้วย.
อานิสงส์การกำหนดต้นจิต “ความอยาก” โดยย่อ
๑. กำหนดเพื่อละความอยาก คือ ไม่ให้ความอยากเกิดขึ้น
๒. เพื่อตัดกำลังของราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา เป็นต้น ไม่ให้กำเริบ ฟุ้งซ่าน รบกวนจิตใจในขณะปฏิบัติธรรม
๓. เพื่อละตัณหา คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
๔. เพื่อคั่นรูปคั่นนาม แยกรูปนามออกจากกันให้ปรากฏชัด
๕. เพื่อให้จิตเข้าถึงสภาวะที่เป็นธรรมชาติ เป็นกลาง อันเป็นฐาน ที่ถูกต้อง และแท้จริงของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
๖. เพื่อตัดอารมณ์ที่เป็นอดีตและอนาคตให้หมดไป คงปัจจุบันธรรมไว้เท่านั้น
๗. เพื่อละวิปลาสทั้งหลาย มีทิฏฐิวิปลาส เป็นต้น
๘. เพื่อสนับสนุนอุปถัมภ์วิปัสสนาให้สมบูรณ์ได้เร็วยิ่งขึ้น
๙. ทำให้สติสมบูรณ์ เมื่อสติสมบูรณ์ดีแล้ว อินทรีย์ทั้ง ๕ ก็จะสมดุลกันโดยอัตโนมัติ
๑๐. เพื่อทำองค์ของผู้ปฏิบัติให้ครบองค์ ๓ คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน
๑๑. เพื่อให้ผู้ปฏิบัติรู้ทันกระบวนการของจิต