การเดินจงกรม ๖ ระยะ

ให้เพิ่มการเดินจงกรมเป็น ๖ ระยะ การนั่งเป็น ๖ ระยะ และการนอนเป็น ๖ ระยะ เมื่อต่อเข้ากับบทเดิมก็จะได้วิธีปฏิบัติ ดังนี้
เวลาเดินจงกรม เป็น ๖ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ
ระยะที่ ๒ ยกหนอ-เหยียบหนอ
ระยะที่ ๓ ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
ระยะที่ ๔ ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
ระยะที่ ๕ ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ
ระยะที่ ๖ ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ-กดหนอ
ให้เดินระยะละ ๑๐ นาที รวมเป็น ๑ ชั่วโมง
เวลานั่ง เป็น ๖ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ – ๒ พอง-หนอ ยุบ-หนอ
ระยะที่ ๓ พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ
ระยะที่ ๔ พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ
(หมายเอาถูกก้นย้อยด้านขวาและซ้าย)
ระยะที่ ๕ พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ
(หมายเอาถูกเข่าด้านขวาและซ้าย)
ระยะที่ ๖ พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ
(หมายเอาถูกตาตุ่มด้านขวาและซ้าย)
ให้นั่ง ๑ ชั่วโมง
เวลานอน เป็น ๖ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ – ๒ พอง-หนอ ยุบ-หนอ
ระยะที่ ๓ พองหนอ-ยุบหนอ-นอนหนอ
ระยะที่ ๔ พองหนอ-ยุบหนอ-นอนหนอ-ถูกหนอ
(หมายเอาถูกศีรษะด้านขวา)
ระยะที่ ๕ พองหนอ-ยุบหนอ-นอนหนอ-ถูกหนอ
(หมายเอาถูกสะโพกด้านขวา)
ระยะที่ ๖ พองหนอ-ยุบหนอ-นอนหนอ-ถูกหนอ
(หมายเอาถูกตาตุ่มด้านขวา)
ให้กำหนดพิจารณารู้เช่นนี้จนกว่าจะหลับไป
หมายเหตุ การนั่งให้เพิ่มคำว่า “ถูกหนอ” อีก ๖ จุดนั้น ต้องหมุนเวียนกันไปตั้งแต่จุดแรกคือ ถูกก้นย้อยด้านขวาเรื่อยไปจนถึงจุดสุดท้ายคือตาตุ่มด้ายซ้าย แล้วจึงเวียนมาเริ่มจุดแรกอีก เวียนกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ เรื่อยไป คือ
๑. พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ (ถูกก้นย้อยด้านขวา)
๒. พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ (ถูกก้นย้อยด้านซ้าย)
๓. พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ (ถูกเข่าด้านขวา)
๔. พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ (ถูกเข่าด้านซ้าย)
๕. พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ (ถูกตาตุ่มขวา)
๖. พองหนอ-ยุบหนอ-นั่งหนอ-ถูกหนอ (ถูกตาตุ่มซ้าย)
เมื่อโยคีผู้ปฏิบัติดำเนินตามปฏิปทาดังที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้นให้ครบบริบูรณ์ดีแล้ว สติที่กำหนดพิจารณารู้รูปนามก็จะเป็นไปโดยต่อเนื่อง สมาธิก็จะก่อตัวมีกำลังเต็มที่ วิปัสสนาญาณเป็นฐานะที่ถึงภาวะความแก่รอบเต็มที่ คือ วิปัสสนาญาณมาถึงญาณที่ ๑๑ (สังขารุเปกขาญาณ) แล้ว ก็ถือว่าเป็นจุดสุดยอดของญาณโลกีย์ต้องให้ผู้ปฏิบัติรักษาอารมณ์ไว้ไม่ให้ เสื่อมถ้ากำลังของญาณมีเพียงพอเมื่อไร ก็จะเข้าสู่อารมณ์พระนิพพานเลย ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอย่าให้เผลอสติให้มากเท่าที่จะมากได้ ผู้ปฏิบัติก็จะเป็นผู้ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ใกล้พระนิพพาน และเป็นผู้ไม่ควรเสื่อมจากพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ โดยประการทั้งปวงอย่างแน่นอน
พิเศษ
สำหรับพระวิปัสสนาจารย์
เริ่มปฏิบัติระยะแรกนั้นให้เดินจงกรมระยะที่ ๑ นั่งกำหนดภาวนาว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” ไปก่อน จนกว่าญาณที่ ๑ (นามรูปปริเฉทญาณ) เกิดขึ้น และอบรมจนแก่กล้า เป็นเหตุให้อารมณ์ก้าวขึ้นสู่ญาณที่ ๒ (ปัจจยปริคคหญาณ)
เมื่อพระวิปัสสนาจารย์รู้ว่าญาณที่ ๒ เกิดขึ้นแล้ว ให้เพิ่มการเดินจงกรมเป็นระยะที่ ๒ ส่วนการนั่งและนอน กำหนดภาวนาเพียง “พองหนอ-ยุบหนอ” เหมือนเดิม แต่ให้กำหนดต้นจิต (คือ ความอยาก) เสียก่อน เพื่อจะให้ญาณที่ ๒ แก่กล้าและสมบูรณ์แบบ เช่น เวลาอยากจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อยากจะทำกิจอะไร ๆ ก็ตาม ให้กำหนดต้นจิตภาวนาว่า “อยากยืนหนอ, อยากทำหนอ” เป็นต้นเสียก่อน
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ขึ้นสู่ญาณที่ ๓ (สัมมสนญาณ) แล้ว ให้เดินจงกรมระยะที่ ๓ นั่งระยะที่ ๓ นอนระยะที่ ๓
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ขึ้นสู่ญาณที่ ๔-๕ (อุทยัพยญาณ-ภังคญาณ) แล้ว ให้เดินจงกรมระยะที่ ๔ นั่งระยะที่ ๔ นอนระยะที่ ๔
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ขึ้นสู่ญาณที่ ๖-๗-๘ (ภยตูปัฏฐาณญาณ-อาทีนวญาณ-นิพพิทาญาณ) แล้ว ให้เดินจงกรมระยะที่ ๕ นั่งระยะที่ ๕ นอนระยะที่ ๕
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ขึ้นสู่ญาณที่ ๙-๑๐-๑๑ (มุญจิตุกัมยตาญาณ-ปฏิสังขาญาณ-สังขารุเปกขาญาณ) แล้ว ให้เดินจงกรมระยะที่ ๖ นั่งระยะที่ ๖ นอนระยะที่ ๖