การอธิษฐานจิต
เมื่อโยคีผู้ปฏิบัติมีสติกำหนดรู้รูปนาม รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทันปัจจุบันธรรมสมบูรณ์ดีแล้ว สภาวธรรมปรากฏชัดเจน แจ่มแจ้งและวิปัสสนาญาณถึงความบริบูรณ์เต็มที่ คือ ญาณที่ ๑๑ แก่รอบแล้ว พึงให้อธิษฐานดังต่อไปนี้
วันที่ ๑
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑ – ๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมงก่อนนั่ง ให้ตั้งนะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ธรรมวิเศษที่เกิดขึ้นแล้ว ขออย่าได้เกิดอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิด ขอจงให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้”
หมายเหตุ เมื่ออธิษฐานแล้วให้นั่งภาวนาว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” หรือจะนั่งกี่ระยะก็ได้ ตามสมควรแก่ความถนัด และพอเหมาะกับอุปนิสัยของตน และอย่าอุปาทานในคำอธิษฐาน อย่าคิด ถ้าคิดให้รีบกำหนดจิตทันทีอย่าให้จิตเหม่อไปตาม นิมิต เหม่อไปตามอาการต่างๆ เช่น เหม่อไปตามเวทนา เป็นต้น อย่าตั้งใจแรงเกินไป เพราะจะทำให้ประสาทแข็ง ให้ตั้งใจไว้เป็นกลางๆ พยายามหาที่นั่งในที่โล่งๆ อากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อนั่งครบ ๑ ชั่วโมงแล้ว ก็ให้ลุกเดินจงกรมอีก นั่งสลับกันไปอีกจนครบ ๒๔ ชั่วโมง และในอภิรักขิตสมัยเช่นนี้ พึงตั้งจิตระวังใจสำรวมอิริยาบถน้อยใหญ่ (มียืน เดิน คู้ เหยียด เป็นต้น) พยายามให้มีสติในทุกอิริยาบถ ขยันหมั่นอดทน เข้มแข็งในการกำหนด ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน มอบชีวิตทั้งชีวิตฝากไว้กับการปฏิบัติ และถวายชีวิตเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระบรมศาสดา เพื่อข่มอุปาทานทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาลัยในชีวิต แล้วทำจิตให้มั่นคง แน่วแน่เด็ดเดี่ยวในการเดินจงกรม ในการนั่ง และในมหาสมัยเช่นนี้ ควรพูดพอดี ฉันพอดีนอนพอดี ปฏิบัติพอดี วันหนึ่งควรนอนไม่เกิน ๔ ชั่วโมง (ถ้าโยคีผู้ปฏิบัติมีสภาวะธรรมปรากฏชัด มีร่างกายสมบูรณ์ดี ไม่ควรนอนตลอด ๒๔ ชั่วโมง) ปฏิบัติไปอย่างนี้จนครบ ๒๔ ชั่วโมง จึงต่อบทอธิษฐานที่ ๒ ได้
วันที่ ๒
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ เดินระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอให้ความเกิดดับ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” และทำจิตให้มั่นคง ตั้งมั่นเช่นวันที่หนึ่ง นั่งและเดินสลับกันไปจนครบ ๒๔ ชั่วโมง จึงต่อบทอธิษฐานที่ ๓ ได้ (ผู้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีไม่ควรนอนตลอด ๒๔ ชั่วโมง)
วันที่ ๓
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ เดินระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” ทำจิตให้ตั้งมั่น เช่น วันที่หนึ่ง นั่งและเดินสลับกันไปจนครบ ๒๔ ชั่วโมง (คือ ถึงเวลาพักผ่อนให้พักผ่อนตามปกติ ตื่นขึ้นมาแล้วให้ปฏิบัติต่อจนกว่าจะครบ ๒๔ ชั่วโมง) จึงต่อบทอธิษฐานที่ ๔ ได้
วันที่ ๔
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ เดินระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมงอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” นั่งและเดินสลับกันไปจนครบ ๒๔ ชั่วโมง (คือ ถึงเวลาพักผ่อนให้พักผ่อนตามปกติ ตื่นขึ้นมาแล้วให้ปฏิบัติต่อจนกว่าจะครบ ๒๔ ชั่วโมง) จึงต่อบทอธิษฐานที่ ๕ ได้
หมายเหตุ เดิน ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” เมื่อนั่งไปครบ ๓๐ นาที แล้วให้อธิษฐานจิตต่ออีกว่า “ภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” โดยไม่ลุกจากที่ รวมเป็นนั่ง ๑ ชั่วโมงพอดี
วันที่ ๕
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑ – ๖ เดินระยะละ ๕ นาที รวม ๓๐ นาที อธิษฐานจิตว่า
“สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๑๕ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
“สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๑๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
“สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๕ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
นั่งและเดินสลับกันไปจนครบ ๒๔ ชั่วโมง (คือ ถึงเวลาพักผ่อนให้พักผ่อนตามปรกติ ตื่นขึ้นมาแล้วให้ปฏิบัติต่อจนกว่าจะครบ ๒๔ ชั่วโมง) จึงต่อบทอธิษฐานที่ ๖ ได้
หมายเหตุ เดินจงกรม ๓๐ นาที แล้วอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๑๕ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” เมื่อนั่งครบ ๑๕ นาที แล้วให้อธิษฐานจิตต่ออีกว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๑๐ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” เมื่อนั่งครบ ๑๐ นาที แล้วให้อธิษฐานจิตต่อไปอีกว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๕ นาทีนี้ ขอให้ความเกิดดับจงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” เมื่อนั่งครบ ๕ นาที เป็นอันว่า นั่งครบ ๓๐ นาทีพอดี
วันที่ ๖
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ เดินระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้สมาธิจิตข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที เป็นอย่างน้อย”
ข้อสำคัญ บทนี้ต้องเดินให้นาน นั่งให้นาน จึงจะได้ผลดี ถ้าเดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง ยังทำไม่ได้ ให้เดิน ๒ ชั่วโมง นั่ง ๒ ชั่วโมง ถ้ายังทำไม่ได้อีก ให้เดิน ๓ ชั่วโมง นั่ง ๓ ชั่วโมง เป็นต้น เพราะบทนี้ต้องการสมาธิมากกว่าบทอื่นเป็นพิเศษ
ถ้าสมาธิจิตดับแน่นิ่งไปได้ ๕ นาที แล้วคราวต่อไปให้อธิษฐาน เพิ่มเป็น ๑๐ นาที ๑๕ นาที ๓๐ นาที ๑, ๒, ๓,….๒๔….๔๘….๗๒ ชั่วโมง เป็นต้น แล้วแต่ละประเภทของแต่ละบุคคลว่ามีความขยัน เข้มแข็ง อดทน และความเป็นผู้มีสมาธิดี มีบุญญาธิการที่ได้ทำไว้ยิ่งหย่อนต่างกันอย่างไร
หมายเหตุ ในการอธิษฐานจิตแล้วไม่ควรกังวล ในจำนวนเวลามากน้อยที่ตนกำหนดไว้ ไม่ควรตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่า เมื่อไรจิตของเราจะดับสนิทแน่นิ่งไปสักที แต่พึงให้สำเหนียกตั้งใจจดจ่อในการกำหนดรูปนาม เพื่อจะให้เห็นความเกิดขึ้น และความดับของรูปนามปรากฏชัดเจน แจ่มแจ้ง เมื่อโยคีผู้ปฏิบัติกำหนดได้อย่างนี้ วิปัสสนาก็ถึงความแก่กล้ามีกำลังมาก แล้วก็จะพัฒนาตัวมันเองให้เจริญขึ้นโดยลำดับจนถึงสังขารุเปกขาญาณ และเมื่อสังขารุเปกขาญาณแก่รอบเต็มที่แล้ว จิตที่พิจารณาวิปัสสนาญาณมาโดยลำดับตลอดเวลาอย่างนี้ ก็จะละอารมณ์เดิม (เก่า) มุ่งตรงสู่อารมณ์ใหม่นั้นก็คือความที่จิตดับสนิทแน่นิ่งไป ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยิน นิมิตทั้งปวง มีรูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต และวิญญาณนิมิต ก็ไม่ปรากฏในขณะนั้น คล้ายๆ กับว่าปราศจากสังขารโดยประการทั้งปวงแล
หลักวิธีปฏิบัติที่จะทำให้เข้าสมาธิ หรือเข้าฌานได้นานๆพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑) เมื่อโยคีผู้ปฏิบัติธรรมคนใดสามารถเข้าสมาธิ หรือเข้าฌานได้ครบ ๑ ชั่วโมงแล้ว ถ้ามีความประสงค์จะฝึกเข้าฌาน ให้จิตแช่อยู่ในอารมณ์ของเรือนแก้ว คือฌานนั้นให้นานยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อจะให้สำเร็จประโยชน์อันตนพึงประสงค์จากสมาธิหรือฌานเป็นต้นนั้น ให้ฝึกเข้าสมาธิให้ได้ ๑ ชั่วโมงเสียก่อนแล้วฝึกให้ชำนิชำนาญจนสามารถเข้าได้ตามต้องการ ออกได้ตามต้องการไม่ให้ออกก่อน และไม่ให้เลยเวลา และเมื่อสามารถทำได้ครบ ๑ ชั่วโมง สมบูรณ์ดีอย่างนี้แล้ว วันหลัง (วันถัดมา) ให้เดินจงกรมให้ครบ ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒ ชั่วโมง”
๒) เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด ๒ ชั่วโมง สมบูรณ์ดีอย่างที่กล่าวมาในข้อ ๑ แล้ว ให้หล่อเลี้ยงสมาธิ (รักษาสมาธิ) ไว้ ๒ วัน ด้วยการรักษาสติ อารมณ์ไว้ โดยการกำหนดสติให้ทันปัจจุบันธรรม ตัดอารมณ์ที่เป็นอดีตและอนาคตทิ้ง เรียกว่า สำรวมอินทรีย์ และทำความเพียรให้เป็นไปโดยติดต่อตามปกติธรรมดาอย่าให้ความเพียรย่อหย่อน หรือขาดระยะแต่ยังไม่ให้อธิษฐาน
๓) เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด ๒ วันแล้ววันหลังให้เดินจงกรม ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมง” เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด ๓ ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้ว ให้หล่อเลี้ยงสมาธิไว้ ๔ วัน โดยรักษาสติอารมณ์ ทำความเพียรให้เป็นไปโดยติดต่อปฏิบัติไปตามปกติธรรมดา เหมือนข้อ ๒
๔) เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด ๔ วันสมบูรณ์ดีแล้ว ให้เริ่มปฏิบัติต่อได้ โดยเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๖ ชั่วโมง” เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด ๖ ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้ว ให้หล่อเลี้ยงสมาธิไว้ ๕ วัน โดยรักษาสติอารมณ์ไว้ ปฏิบัติไปตามปกติธรรมดา เหมือนข้อ ๒
๕) เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด ๕ วันสมบูรณ์ดีแล้ว ให้เริ่มปฏิบัติต่อได้ โดยเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๒ ชั่วโมง” เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด ๑๒ ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้วให้หล่อเลี้ยงสมาธิไว้ ๗ วัน โดยรักษาสติอารมณ์ไว้ ปฏิบัติไปตามปกติธรรมดาเหมือนข้อ ๒
๖) เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด ๗ วันสมบูรณ์ดีแล้วให้เริ่มปฏิบัติต่อได้ โดยเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งอธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๔ ชั่วโมง” แล้วนั่งสมาธิไปจนครบ ๒๔ ชั่วโมง
เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด ๒๔ ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้วพยายามฝึกให้ชำนิชำนาญ ให้เข้าได้ตามต้องการ ออกได้ตามต้องการไม่ให้ออกก่อนและไม่ให้เลยเวลา เมื่อทำบ่อยๆ จนชำนิชำนาญได้ที่แล้ว นั่งเข้าสมาธิไป ๒๔ ชั่วโมง ก็เท่ากับเราเข้าสมาธิไปแค่ ๕ นาที เมื่อชำนาญในการเข้าการทรงอยู่ในสมาธิ และการออกจากสมาธิสมบูรณ์ดีแล้ว หากปรารถนาจะฝึกเข้าสมาธิ ๓ วัน, ๔ วัน, ๕ วัน หรือครบ ๗ วัน ก็ให้ปฏิบัติเหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ให้เลี้ยงสมาธิไว้ให้นานๆ หน่อย คือ ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน พยายามหาเวลาอธิษฐานเข้าสมาธินานๆ ตามเวลาที่ตนต้องการสักครั้งหนึ่ง
สมาธินี้ต้องฝึกเข้าบ่อยๆ ฝึกออกบ่อยๆ เพื่อให้ได้ความละเอียดอ่อนของสมาธิ และความคล่องแคล่วชำนาญในวสีทั้ง ๕ คือ ชำนาญในการนึก ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการออก ชำนาญในการพิจารณา เมื่อสามารถทำได้อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะเป็นเหตุให้จิตของผู้นั้นมีพลัง มีอำนาจ มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง พร้อมที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้น และใช้ให้สำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์ที่ตนอธิษฐานจิตไว้ ตามเหตุตามปัจจัยแห่งกำลังสมาธิของตนๆ