วิธีออกจากการภาวนา (สมาธิ)

วิธีออกจากการภาวนา (สมาธิ)

           เมื่อโยคีผู้ปฏิบัตินั่งภาวนา (สมาธิ) ไปจนครบเวลาที่ตนกำหนดไว้แล้วก่อนที่จะออกจากการภาวนาหรือออกจากสมาธิให้ โยคีผู้ปฏิบัตินั้นกำหนดต้นจิตว่า “อยากออกหนอๆๆ” อย่างน้อย ๓ ครั้ง เสียก่อน เพื่อให้จิตของโยคีนั้นคลายออกจากสมาธิ คลายจากปีติและปัสสัทธิเสียก่อน

           เมื่อกำหนดจิตแล้วอย่าเพิ่งลืมตาให้สังเกตดูว่าร่างกาย ของตนยังแข็งอยู่ด้วยอำนาจของปัสสัทธิหรือว่าซาบซ่านอยู่ด้วยอำนาจของปีติ ธรรมอยู่หรือไม่ ถ้าร่างกายยังมีอาการเช่นนั้นอยู่ ให้โยคีนั้นทดลองกระดิกนิ้วมือข้างขวาดูเสียก่อนว่า เราสามารถกระดิกได้หรือไม่ ถ้ากระดิกยังไม่ได้ก็ให้กลับไปกำหนดต้นจิตว่า “อยากออก หนอๆๆ” สัก ๓ ครั้งอีก

           ถ้าร่างกายยังมีอาการแข็งเหมือนเช่นนั้นอยู่ ก็ให้กลับไปกำหนดต้นจิตอีกว่า “อยากลืมตาหนอๆๆ” สัก ๓ ครั้ง แล้วตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่า “ลืมตาหนอๆๆ” แล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้นๆ เมื่อลืมตาขึ้นแล้ว อย่าหลับตาลงอีก (ถ้าหลับตาอีก ก็มักจะเข้าสมาธิไปอีก) ให้กลับไปกำหนดต้นจิตอีกว่า อยากออกหนอๆๆ

           ถ้าร่างกายยังมีอาการแข็งอยู่เป็นต้น ก็ให้กระดิกดูนิ้วมือ อีกเสียก่อน อย่ารีบร้อนมากเกินไป พยายามให้ค่อยเป็นค่อยไปตามเหตุตามปัจจัยอันสมควร เสียก่อน เมื่อกระดิกนิ้วมือได้แล้ว ให้ค่อยๆ ดึงมือขวาออกพร้อมกับบริกรรมว่า “ออกหนอๆๆ” จากนั้นให้สำเหนียกพิจารณารู้ตามอาการของกายที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นให้ เห็นอาการของแขนขวาที่เราค่อยๆ ยกไปวางคว่ำหน้ามือลงที่เข่าขวาจากนั้นให้ค่อยๆ ดึงมือซ้ายออกไปวางคว่ำหน้ามือลงที่เข่าซ้าย

           จากนั้นให้ยกมือขวามาจับเท้าขวา เอาเท้าขวาลงจากขาซ้าย แล้วดันเท้าขวาเข้าไปใต้ขาด้านซ้าย แล้วขาของเราก็จะอยู่ในท่าขัดสมาธิ จากนั้นก็เอามือขวากลับมาวางไว้บนเข่าขวาอีก แล้วใช้มือทั้ง ๒ ข่มเข่าทั้ง ๒ ข้างขึ้นพร้อมกับยกตัวขึ้น (เมื่อยกตัวขึ้นแล้ว ก็เอาขาทั้ง ๒ ข้างที่ไขว้กันอยู่ด้านหลังนั้นออกแล้วนั่งทับส้นลงไป จะอยู่ในท่านั่งคุกเข่า จากนั้นก็กำหนดต้นจิตว่า “อยากยืนหนอๆๆ” สัก ๓ ครั้งแล้ว ค่อยๆ กำหนดยืนขึ้นๆๆ พร้อมกับบริกรรมว่า “ยืนหนอๆๆ” จนกว่าจะยืนเรียบร้อย และเตรียมเดินจงกรมในลำดับต่อไป

              หมายเหตุ ถ้าในขณะที่โยคีออกจากสมาธินั้น สมาธิ ปีติ หรือปัสสัทธิไม่มากร่างกายไม่แข็ง เมื่อกำหนดต้นจิตว่า “อยากออกหนอๆๆ” ๓ ครั้งแล้วก็ให้กำหนดว่า “ออกหนอๆๆ” พร้อมกับการกำหนดดึงเอามือขวาไปวางไว้ที่เข่าขวา และมือซ้ายไปวางไว้ที่เข่าซ้ายให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยกำหนดต้นจิตว่า “อยากลืมตาหนอๆๆ” จากนั้นให้ตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่า “ลืมตาหนอๆๆ” แล้วกำหนดพิจารณาอาการของการลืมตาไปตามลำดับๆ

           ในขณะที่กำหนดออกอยู่นั้น ให้มีสติกำหนดพิจารณาดูอาการที่เป็นปัจจุบันที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้นๆ ให้เห็นอาการของการเคลื่อนไหวนั้นๆ ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งทันปัจจุบันธรรมเป็นขณะๆ ไป ก็ชื่อว่าเรากำหนดออกจากสมาธิโดยถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว

              อานิสงส์แห่งการบำเพ็ญสมาธิ

           ๑.     มีทิฏฐธรรมสุขวิหาร (มีความสุขในปัจจุบัน) เป็นอานิสงส์

           ๒.    มีวิปัสสนาญาณ (ความรู้แจ้งแทงตลอด) เป็นอานิสงศ์

           ๓.     มีอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) เป็นอานิสงส์

           ๔.     มีภพวิเศษ (ไปเกิดในพรหมโลกได้) เป็นอานิสงส์

           ๕.     มีนิโรธ (สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ หรือดับทุกข์ได้เพราะอาศัยสมาธิเป็นปทัฏฐาน) เป็นอานิสงส์