การทบทวนญาณ
การทบทวนญาณนั้น หมายถึง การทบทวนดูสภาวะของวิปัสสนาญาณที่ตนปฏิบัติผ่านมาแล้ว (ผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติผ่านญาณมาตามลำดับแล้ว ไม่สามารถจะทวนญาณได้ ต้องปฏิบัติให้ญาณเกิดเสียก่อน) การทวนญาณนั้น ทวนได้แต่ญาณที่เป็นโลกิยะ ๘ ญาณเท่านั้น คือ ตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ ถึง สังขารุเปกขาญาณ เท่านั้น ส่วนอนุโลมญาณนั้น เป็นวิถีเดียวกันกับโคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ ถ้าอนุโลมญาณเกิดก็จะถึงปัจจเวกขณญาณโดยอัตโนมัติการอธิษฐานทวนญาณนั้น ก็เพื่อจะให้ญาณที่ผ่านมานั้นมาปรากฏชัดเจน แจ่มแจ้งทีละญาณๆ ไป โดยที่วิปัสสนาญาณอันดับอื่นๆ จะไม่เกิดร่วมด้วย ทำให้ผู้ทบทวนนั้นเข้าใจสภาวะของญาณชัดเจน สิ้นความสงสัยในสภาวะของญาณแต่ละญาณๆ อันจะเป็นอุปกรณ์ เป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นคัมภีร์เล่มใหญ่ที่จะใช้วิจัยการสอนวิปัสสนา อันจะเป็นมรรคา เป็นแสงสว่างที่จะทำให้อนุชนรุ่นหลังมองเห็นวิถีทางแห่งสันติสุขอันไพบูลย์ ภายใต้ขอบเขตแห่งพระพุทธศาสนา อันจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความสถิตมั่นสถาพรของบวรพระพุทธศาสนาสืบต่อไป
ฉะนั้น โยคีผู้ปฏิบัติเมื่อรู้รสของพระธรรมด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแจ่มแจ้ง สิ้นความสงสัยด้วยใจของตนเองพอสมควรแล้วประสงค์จะเป็นครูสอนเจริญรอยตาม เบื้องยุคลบาทขององค์สมเด็จพระศาสดาแล้วพึงปฏิบัติพิเศษ คือทวนลำญาณ ดังนี้
วันที่ ๑
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมงแล้ว ตั้งนะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ขออุทยัพพยญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความดับไปของรูปนาม) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” การอธิษฐานแต่ละญาณพยายามทำให้ถึง ๒๔ ชั่วโมง คือ เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง สลับกันไป ถึงเวลาพักผ่อนก็ให้พักผ่อนตามปกติ (ไม่เกิน ๔ ชั่วโมง) ตื่นขึ้นมาแล้วให้ปฏิบัติต่อจนครบ ๒๔ ชั่วโมง และพยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมทุกขณะเว้นไว้แต่เผลอและหลับเท่านั้น
วันที่ ๒
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง แล้วตั้ง นะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอภังคญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
วันที่ ๓
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง แล้วตั้ง นะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอภยตูปัฏฐานญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของน่ากลัว) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
วันที่ ๔
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง แล้วตั้ง นะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขออาทีนวญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
วันที่ ๕
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง แล้วตั้ง นะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอนิพพิทาญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนาม) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
วันที่ ๖
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง แล้วตั้ง นะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอมุญจิตุกัมมยตาญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณา ปรารถนาอยากจะพ้นไปจากรูปนาม ) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
วันที่ ๗
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง แล้วตั้ง นะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอปฏิสังขาญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณาเพื่อหาทางหลุดพ้นไปจากรูปนาม) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
วันที่ ๘
ให้เดินจงกรมระยะที่ ๑-๖ ระยะละ ๑๐ นาที รวม ๑ ชั่วโมง แล้วตั้ง นะโม ๓ จบ อธิษฐานจิตว่า “สาธุ สาธุ สาธุ ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ขอสังขารุเปกขาญาณ (ปัญญากำหนดพิจารณาวางเฉยในรูปนาม) จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”
หมายเหตุ เมื่อ อธิษฐานเสร็จแล้ว ให้นั่งภาวนาว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” หรือจะนั่งกี่ระยะก็ได้ ตามสมควรแก่ความถนัด และพอเหมาะแก่อุปนิสัยของตน ให้สำเหนียกดูรูปนามให้ทันปัจจุบัน ให้เห็นความเกิดและความดับของรูปนามให้ชัดเจน ให้กำหนดพิจารณาสังเกตรู้อาการที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อารมณ์ ความคิด ความต้องการความปรุงแต่งทางจิต เป็นต้น) อย่างละเอียด และในขณะเดินจงกรม ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด เป็นต้น แม้แต่ความฝันก็ต้องพิจารณา คือให้กำหนดพิจารณารู้ภาวะที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน และภาวะที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้น ทุกอิริยาบถอย่างละเอียด นั่นเอง
ก่อนจะทวนญาณนั้น ต้องพิจารณาสมาธิ วิปัสสนาญาณของตนเสียก่อนว่า มีสมาธิสมบูรณ์ วิปัสสนาญาณแก่กล้าหรือไม่ เพราะถ้าสมาธิสมบูรณ์วิปัสสนาญาณแก่กล้า มีกำลังมากแล้ว สภาวะของญาณต่างๆ ก็จะปรากฏชัดเจนตามอำนาจกำลังของสมาธิ และวิปัสสนาญาณ ฉะนั้นผู้ประสงค์จะทวนญาณ ควรเจริญภาวนาทำสมาธิและวิปัสสนาญาณให้แก่รอบเสียก่อนจะเป็นการดี การทวนญาณนั้นให้ทวนโดย วิธีอนุโลม วิธีปฏิโลม หรือวิธีกระโดดข้ามสลับวิถีกันตามวิธีของญาณแต่ละวิถีก็ได้ เพราะในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ท่านกล่าวไว้ว่า ญาณที่ ๓-๔-๕ เป็นวิถีเดียวกัน ญาณที่ ๖-๗-๘ เป็นวิถีเดียวกัน ฉะนั้น ญาณที่ ๙-๑๐-๑๑ ก็เป็นวิถีเดียวกันต่างกันแต่เป็นอย่างอ่อน-ปานกลาง-แก่กว่ากันตามลำดับเท่า นั้นวิธีทวนญาณ เช่น
โดยวิธีอนุโลม
อธิษฐานเริ่มต้นแต่ญาณที่
๔. อุทยัพพยญาณ
๕. ภังคญาณ
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ
๗. อาทีนวญาณ
๘. นิพพทาญาณ
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
๑๐. ปฏิสังขาญาณ
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ (ตามลำดับ)
โดยวิธีปฏิโลม
อธิษฐานเริ่มต้นแต่ญาณที่
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
๑๐. ปฏิสังขาญาณ
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
๘. นิพพิทาญาณ
๗. อาทีนวญาณ
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ
๕. ภังคญาณ
๔. อุทยัพพยญาณ (ตามลำดับ)
โดยวิธีสลับตามวีถี
สลับโดยวิธีตามอนุโลม อธิษฐานเริ่มต้นแต่ญาณที่
๔. อุทยัพพยญาณ
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
๕. ภังคญาณ
๗. อาทีนวญาณ
๑๐. ปฏิสังขาญาณ
๘. นิพพิทาญาณ
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
สลับโดยวิธีปฏิโลม อธิษฐานเริ่มต้นแต่ญาณที่
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
๘. นิพพิทาญาณ
๑๐. ปฏิสังขาญาณ
๗. อาทีนวญาณ
๕. ภังคญาณ
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ
๔. อุทยัพพยญาณ
ในการอธิษฐานนั่ง ภาวนาอยู่นั้น โยคีผู้ปฏิบัติอาจเกิดความกังขาสงสัย ลืมไปว่าตนได้อธิษฐานญาณอะไรเอาไว้ แต่จิตดวงเดิมที่เราอธิษฐานไว้แล้วนั้น จะไม่ลืมสภาวะของญาณ ก็คงเกิดตามคำอธิษฐานเดิมและหากทบทวนแล้ว ยังไม่เป็นที่พอใจ ก็ให้ทบทวนซ้ำๆ กลับไปกลับมา ตามความประสงค์เถิด แต่ผู้มีบารมี มีความชำนาญในวสีภาวะแล้ว จะอธิษฐานญาณใดๆ ญาณนั้นๆ ก็ย่อมปรากฏชัด ดุจบุรุษตาดีมองดูสภาพของสรรพสิ่งต่างๆ ในเวลากลางวัน ย่อมจะมองเห็นสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่งต่างๆ นั้นละเอียดลออ สุขุม ลุ่มลึก ฉันนั้น
การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เป็นการเพิ่มความยุ่งยาก แต่เป็นการสางความยุ่งยากให้น้อยลง เบาลงและหมดไป ตามหลักของพุทธวิธี ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการดำเนินตามหลักของพุทธวิธี อันเป็นวิถีทางที่ถูกต้องและประเสริฐวิเศษสุด อันเป็นหลักยึดแห่งใจ เป็นหลักชัยของสัตว์ทั้งหลายที่จะใช้ก้าวเข้าสู่ทางแห่งสันติ สงบ เย็น อย่างแท้จริง เป็นหลักปฏิบัติเพื่อขนสัตว์ ผู้มีอุปนิสัยออกจากความทุกข์ยาก คับแค้นในวัฏฏะสงสาร เป็นการปฏิบัติสูงสุดที่เรียกว่า “หัวใจพระพุทธศาสนา” เป็นหนทางสายเดียวที่จะทำให้เหล่าชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย สามารถดูดดื่มเอารสของพระธรรมอันละเอียดอ่อน ประณีต อันมีรสแห่งความสุข เป็นที่พึงพอใจยิ่งกว่ารสทิพย์ของเทวดาทั้งปวงเพราะไม่เจือด้วยกิเลสเป็นหน ทางวิเศษที่จะเห็นความอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนาว่าสามารถถอนกิเลส อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงให้หมดสิ้นลงได้ ตามบุญญาธิการของตนๆ ดังเหล่าพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระอริยสาวกทั้งหลาย ที่ท่านเห็นมาแล้ว