สิ่งที่วิปัสสนาควรรู้
๑. ความหมายของคำว่า วิปัสสนากรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานเป็นอุบายทำให้เกิดวิปัสสนาญาณ เพราะว่า วิปัสสนาญาณเท่านั้น ที่จะเป็นเหตุให้รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงของธรรมชาติได้ คือความเห็นรูปนามชัดเจน ทันปัจจุบันแล้วเป็นเหตุให้เห็นแจ้งพระไตรลักษณ์ มรรค ผล พระนิพพาน อันเป็นกิจสูงสุดในพระพุทธศาสนา
๒. ความหมายของคำว่า ปัจจุบันธรรม
ปัจจุบันธรรม คือสิ่งที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้น หรือสิ่งที่กำลังเป็นไปในขณะนั้น ในที่นี้หมายถึง ความปรากฏขึ้นของรูปนาม หรือความที่รูปนามกำลังเป็นไปอยู่
๓. ความหมายของคำว่า วิปัสสนาภูมิ
วิปัสสนาภูมิ หมายความได้ดังต่อไปนี้
วิ แปลว่า วิเศษ ประเสริฐสุด เว้นอย่างเด็ดขาด คือ เว้นอย่างยอดเยี่ยม เป็นอิสระ เป็นไท เกิด คลอด สว่างทั่ว ปรากฏ แจ้งชัด เป็นต้น
ปัสสนา แปลว่า การรู้ การดู การเห็น การพบ การกำหนด การพิจารณา การหยั่งรู้ การพิสูจน์ให้รู้ การแทงตลอด เป็นต้น
ภูมิ แปลว่า พื้น ชั้น เป็นดุจแผ่นดิน คือร่างกายอันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ทั้งโลกียปัญญาและโลกุตตรปัญญา เป็นสถานที่ฝึก คือฝึกกายและใจอันจะให้สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง เป็นต้น
วิปัสสนาภูมิ แปลว่า ภูมิเป็นที่แทงตลอดอย่างวิเศษ ภูมิเป็นที่เห็นอย่างยอดเยี่ยม ภูมิเป็นที่พบอย่างประเสริฐสุด ภูมิเป็นที่หยั่งลงสู่ความวิเศษสุด ภูมิเป็นที่เกิดแห่งวิปัสสนา ภูมิเป็นที่รู้แจ้งแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมทั้งแทงตลอดซึ่งมรรค ผล พระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์
วิปัสสนาภูมิ
ท่านจำแนกไว้ ๖ ประการ คือ
(๑) ขันธ์ ๕
(๒) อายตนะ ๑๒
(๓) ธาตุ ๑๘
(๔) อินทรีย์ ๒๒
(๕) อริยสัจ ๔
(๖) ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
(๑) ขันธ์ ๕
ขันธ์ แปลว่า กอง หมวด อัตตภาพร่างกาย ธรรมชาติที่ไม่เป็นแก่นสาร ธรรมชาติ
ที่ปราศจากความสวยงาม ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมชาติที่ทรงไว้ ซึ่งความว่างเปล่าธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสวรรค์ คือเป็นผู้สร้างสวรรค์,ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่ง มรรค ผล พระนิพพาน คือ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นเพราะอาศัยร่างกายและจิตใจของเรานี้เอง เป็นต้น
ขันธ์ ๕ แปลว่า กองแห่งรูป…เวทนา….สัญญา…..สังขาร กองแห่งวิญญาณ เช่น ปรากฏในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ (วิภังค์) ว่า
“ยงฺกิญฺจิ รูปํ…….อยํ วุจฺจติ รูปกฺขนฺโธ”
แปลว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม อยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ก็ตาม ย่อมกล่าวรวมกันเรียกว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
ย่อขันธ์ ๕
รูป เป็น รูปธรรม
เวทนา สัญญา สังขาร เป็น นามเจตสิก
วิญญาณ เป็น นามจิต
ย่อให้เหลือ ๒
รูปธรรม เป็น รูป
นามเจตสิก และนามจิต เป็น นาม
ย่อให้สั้น คือ รูปและนามเท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ ถูกต้องโผฏฐัพพะหนอ รู้ธรรมารมณ์หนอเป็นต้น
(๒) อายตนะ ๑๒
อายตนะ แปลว่า เป็นที่ต่อ เป็นที่เกิด เป็นแดนเกิดเป็นที่อาศัยอยู่ เป็นที่ประชุม เป็นเหตุเป็นปัจจัย เป็นธรรมชาติที่ขยายธรรมที่เกิดในทวารทั้ง ๖ อารมณ์ทั้ง ๖ และขยายอกุศลธรรม และกุศลธรรมทั้งปวงให้กว้างขวางได้ เป็นต้น
อายตนะ ๑๒ หมายเอาที่ต่อ ๑๒ อย่าง คือ
อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ย่ออายตนะ ๑๒ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นรูป ใจเป็นนาม ธรรมารมณ์เป็นได้ทั้งรูปและนาม
ย่อให้สั้น คือ รูปและนามเท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ เป็นต้น
(๓) ธาตุ ๑๘
ธาตุ แปลว่า สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน สภาพที่รักษาสภาวะของมันให้อยู่ได้เองตามเหตุ ตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะที่จะให้เกิดมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน อันเป็นเครื่องยืนให้วิปัสสนาพิสูจน์ ยืนให้วิปัสสนาเห็นแจ้งชัดว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเครื่องยืนให้วิปัสสนาแทงตลอดซึ่งมรรค ผล ตลอดถึงพระนิพพาน
ธาตุ ๑๘ คือ
จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ
โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ
ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ
ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ
กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ
มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ
ย่อธาตุ ๑๘
เป็นรูปล้วนๆ มี ๑๐ คือ จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ รสธาตุ โผฏฐัพพธาตุ
เป็นนาม มี ๗ คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ มโนธาตุ
เป็นทั้งรูปและนาม คือ ธัมมธาตุ
ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น
(๔) อินทรีย์ ๒๒
อินทรีย์ แปลว่า เป็นใหญ่ในการทำกิจของตน เช่น ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้อง ใจเป็นใหญ่ในการรับ จำ คิด รู้ธรรมารมณ์ เป็นต้น
แปลว่า เป็นใหญ่ในการทำกิจแห่งการที่จะรู้แจ้ง แทงตลอดเฉพาะตน เช่น ตา เป็นใหญ่ในทางที่จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งวิปัสสนาญาณ มรรค ผล และพระนิพพานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นใหญ่ในทางที่จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งมรรคผล และพระนิพพาน เฉพาะทางของตนๆ
แปลว่า สำเร็จมาแต่อกุศลกรรมและกุศลกรรม เพราะอินทรีย์มีจักขุ เป็นต้นนั้น เกิดพร้อมเพราะอาศัยกรรม ยึดเอากรรมที่เป็นอกุศลและกุศล และสำเร็จมาจากกรรมทั้ง ๒ นั้น จึงชื่อว่า อินทรีย์
อินทรีย์ ๒๒ คือ
๑. จักขุนทรีย์ เป็น รูป
๒. โสตินทรีย์ เป็น รูป
๓. ฆานินทรีย์ เป็น รูป
๔. ชิวหินทรีย์ เป็น รูป
๕. กายินทรีย์ เป็น รูป
๖. อิตถินทรีย์ เป็น รูป
๗. ปุริสินทรีย์ เป็น รูป
๘. ชีวิตินทรีย์ เป็น ทั้งรูปและนาม
๙. มนินทรีย์ เป็น นามจิต
๑๐. สุขินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๑. ทุกขินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๒. โสมนัสสินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๓. โทมนัสสินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๔. อุเปกขินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๕. สัทธินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๖. วิริยินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๗. สตินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๘. สมาธินทรีย์ เป็น นามเจตสิก
๑๙. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปัญญา หมายเอาตั้งแต่ ปุถุชน ถึง โคตรภูญาณ) เป็นนามเจตสิก
๒๐. อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ (อินทรีย์ของผู้ปฏิบัติ ด้วยมุ่งหวังว่าเราจักรู้สัจจธรรมที่ยังไม่รู้ หมายเอา โสดาปัตติมัคคญาณพวกเดียว) เป็นนามเจตสิก
๒๑. อัญญินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ปัญญาอันรู้ทั่วถึง หมายเอาญาณทั้ง ๖ นับตั้งแต่โสดาปัตติผลญาณ ถึง อรหัตตมัคคญาณ) เป็นนามเจตสิก
๒๒. อัญญาตาวินทรีย์ (อินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว หมายเอา ปัญญาของพระอรหันต์ ได้แก่ อรหัตตผลญาณ) เป็น นามเจตสิก
ย่ออินทรีย์ ๒๒
ข้อ ๑-๗ เป็น รูป
ข้อ ๘ เป็น ทั้งรูปและนาม
ข้อ ๘-๒๒ เป็น นามเจตสิก
ข้อ ๙ เป็น นามจิต
ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น
(๕) อริยสัจ ๔
อริยสัจ แปลว่า ของจริงอันประเสริฐ ของจริงที่พระอริยเจ้าค้นพบ ของจริงแห่งพระอริยเจ้า ของจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยเจ้าของจริงอันเป็นเหตุให้ห่างไกล จากกิเลส ของจริงอย่างพระอริยเจ้า คือ ของจริงแท้แน่นอน เป็นเหตุให้ดับทุกข์ได้ ของจริงเป็นเหตุให้ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน
อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ และมัคคสัจจ์
(๑) ทุกขสัจจ์ แปลว่า ความจริง คือ ทุกข์ ทุกข์นั้นมีสภาวะที่ทนได้ยาก มีสภาวะบีบคั้น เบียดเบียน เป็นลักษณะ มีสภาวะขัดแย้ง บกพร่องขาดสาระแก่นสาร และมีสภาพเดือดร้อนนานัปการเป็นรส มีการเวียนว่ายตายเกิดให้ห้วงมหรรณพภพสงสาร เป็นเครื่องปรากฏให้เห็นโดยองค์ธรรม ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ ดวง (เว้นโลกุตตรจิต ๘ ดวง) เจตสิก ๕๑ ดวง (เว้นโลภะ) รูป ๒๘ รวมเป็น ๑๖๐
ย่อให้สั้น ได้แก่ ขันธ์ ๕
ย่อลงให้สั้น คือรูปและนาม เท่านั้น
(๒) สมุทัยสัจจ์ แปลว่า ความจริงที่เป็นเหตุทำให้ทุกข์เกิดขึ้น ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๓ ประการนี้ ถือว่าเป็นแดน เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุทำให้เราต้องเกิดแล้วเกิดเล่าประสบกับความทุกข์บ่อยๆ นี้เป็นรสของตัณหาและมีการกีดกัน ขวางกั้นปิดบังห้ามไม่ให้เราออกไปจากภพนี้ เป็นเครื่องปรากฏให้เห็นของตัณหาว่าโดยพิสดาร มีถึง ๑๐๘ สมุทัยสัจจ์ จัดเป็น นาม
(๓) นิโรธสัจจ์ แปลว่า ความจริงที่ดับทุกข์ได้ หมายเอาการดับตัณหาทั้ง ๓ ด้วยอำนาจของมรรคญาณ โดยองค์ธรรม ได้แก่ พระนิพพาน อันเป็นที่ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้น นิโรธสัจจ์ จึงมีความสงบอันบริสุทธิ์ ไร้การปรุงแต่งเป็นลักษณะ และมีการไม่จุติ ไม่เคลื่อนย้าย เป็นรส ทั้งไม่มีนิมิต คือ รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต ไม่มีให้เป็นเครื่องปรากฏผูกรัดจิตใจของสรรพสัตว์ ขันธ์ห้าดับหมด นิโรธสัจจ์ จัดเป็น นาม
(๔) มัคคสัจจ์ แปลว่า ความจริง คือ ข้อปฏิบัติอันจะให้ถึงความดับทุกข์ได้ ฉะนั้น มัคคสัจจ์ จึงมีการนำบุคคลออกจากอวิชชา สังขาร วิญญาณ…ภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นลักษณะ มีการประหารกิเลสตายคลายกิเลสหลุด ผุดเป็นองค์อริยสงฆ์ เป็นรสอันเลิศ มีการพ้นไปจากเครื่องผูกรัดทั้งปวง และมีการพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเครื่องปรากฏให้เห็นโดยองค์ธรรมมี อยู่ ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกัปโป
๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันโต
๕. สัมมาอาชีโว
๖. สัมมาวายาโม
๗. สัมมาสติ
๘. สัมมาสมาธิ
สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญา
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดเป็นศีล
สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จัดเป็นสมาธิ
ศีล สมาธิ ปัญญา จัดเป็นนาม
ย่ออริยสัจ ๔
ทุกขสัจจ์ เป็น ทั้งรูปและนาม
สมุทัยสัจจ์ เป็น นาม
นิโรธสัจจ์ เป็น นาม
มัคคสัจจ์ เป็น นาม
ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น
(๖) ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะอิงอาศัยกันและกัน หมายถึง ธรรมที่อาศัยกันและกันเป็นเหตุ และเป็นผลอยู่ในตัวของมันเองแล้วผูกพันเกาะเกี่ยวต่อเนื่องกันดุจลูกโซ่ คล้องกันไปหาเบื้องต้นและที่สุดยุติลงมิได้ โดยองค์ธรรมมีอยู่ ๑๒ ประการ คือ
๑. อวิชชา เป็น นาม
๒. สังขาร เป็น นาม
๓. วิญญาณ เป็น นาม
๔. นามรูป เป็น ทั้งรูปและนาม
๕. สฬายตนะ เป็น ทั้งรูปและนาม
๖. ผัสสะ เป็น นาม
๗. เวทนา เป็น นาม
๘. ตัณหา เป็น นาม
๙. อุปาทาน เป็น นาม
๑๐. ภพ เป็น นาม
๑๑. ชาติ เป็น นาม
๑๒. ชรา-พยาธิ-มรณะ เป็น นาม
ย่อปฏิจจสมุปบาท ๑๒ คือ
หมายเลข ๑ ถึง ๓ และหมายเลข ๖ ถึง ๑๒ เป็นนาม
หมายเลข ๔ และ ๕ เป็นทั้ง รูปและนาม
ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ เป็นต้น
๔. ความหมายของคำว่า ปรมัตถสัจจะ
ปรมัตถสัจจะ หมายความว่า ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของจริง
ย่อให้สั้น คือ รูปและนาม เท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ พองหนอ-ยุบหนอ เป็นต้น
๕.ความหมายของคำว่า จิต
จิต หมายความว่า สภาวธรรมที่ รับ จำ คิด รู้อารมณ์
จิตนั้นมี ๘๙ ดวง ๑๒๑ ดวง
จิตโดยย่อ ๘๙ ดวง โดยพิสดาร ๑๒๑ ดวง
จิต ๘๙ ดวงนั้น คือ
อกุศลจิต ๑๒ ดวง
อเหตุกจิต ๑๘ ดวง
กามาวจรจิต ๒๔ ดวง
รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตรจิต ๘ ดวง
รวม ๘๙ ดวง
จิต ๑๒๑ ดวงนั้น โดยนับเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวง ออกไปกระจายตามฌาน ๕ คือ เอา ๕ คูณ ๘ เป็น ๔๐ ดวง จิต ๘๙ ดวง เมื่อชักออกเสีย ๘ ดวง คงเหลือ ๘๑ ดวง
รูปาวจรจิตกับอรูปาวจรจิต รวมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มหัคคตจิต” คือจิตที่มีอำนาจมาก กามาวจรจิต ๒๔ ดวง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง มหาวิบากจิต ๘ ดวง มหากิริยา ๘ ดวง รวมเป็น ๒๔ ดวง จิต ๘๑ นั้น เรียกโลกียจิต ส่วนอีก ๘ ดวง หรือที่เอาไปกระจายเป็น ๔๐ ดวง ดังกล่าวมาแล้วนั้น เรียกว่า โลกุตตรจิต
ย่อให้สั้น คือ นามจิตและนามเจตสิก เท่านั้น
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ คิดหนอ เป็นต้น
๖. วิสุทธิ ๗
ความหมายของคำว่า วิสุทธิ ๗ ได้แก่ ความหมดจดวิเศษ ๗ ประการ คือ
๑. สีลวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ
ย่อให้สั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ย่อให้สั้นในแนวปฏิบัติ ได้แก่ รูปและนาม คือ พองหนอ-ยุบหนอ เป็นต้น
๗. วิปัสสนาญาณ ๑๖
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้จักแยกรูปนามออกจากกัน คือ รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เพราะรู้แจ้งชัดซึ่งรูปนาม
๒. ปัจจยปริคหญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารู้เหตุ รู้ปัจจัยของรูปนาม คือ รู้ว่ารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจาก เหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยรวมกันอยู่
๓. สัมมสนญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์กำหนดแจ้งชัด ๑๕ % คือกำหนดยกรูปนามขึ้นพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนาม พระไตรลักษณ์ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง ๙๐% สันตติขาดจนเป็นเหตุทราบชัดว่าสิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็ล้วนต้องดับไปเป็นธรรมดา
๕. ภังคญาณ ปัญญากำหนดพิจารณเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนามคืออุปาทะ ความเกิดขึ้น ฐิติ ความตั้งอยู่มีอยู่ แต่ปรากฏไม่ชัดเจนเพราะวิปัสสนาญาณมีกำลังกล้าขึ้นรูปนามปรากฏเร็ว จึงเป็นเหตุให้พิจารณาเห็นชัดลงไปเฉพาะแห่งความดับอันเป็นจุดจบสิ้นว่า สังขารทั้งปวงล้วนดับสลายไปทั้งสิ้น
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่ต้องแตกสลายไปทั้งสิ้น
๗. อาทีนวญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม คือ เมื่อเห็นรูปนามล้วนแต่ดับสลายเป็นของน่ากลัวมาตามลำดับแล้วย่อมพิจารณาเห็น ว่ารูปนามทั้งปวงล้วนแต่เป็นทุกข์ เป็นโทษ
๘. นิพพิทาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนาม คือ เมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนามแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่รื่นเริง เพลิดเพลิน หลงใหล ในรูปนาม
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาปรารถนาอยากจะออก อยากจะหนี อยากหลุดพ้นไปจากรูปนาม เพราะพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษ และเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนามที่ผ่านมา
๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญากำหนดกลับไปพิจารณาทบทวนพระไตรลักษณ์อีก เพื่อจะหาทางหลุดพ้น ไปจากรูปนาม คือตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ไม่ย่อท้อ ใจหนักแน่น มั่นคงเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สู้ตาย
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ปัญญากำหนดพิจารณาวางเฉย เป็นกลางในรูปนาม คือ ทราบชัดตามความเป็นจริงในรูปนามแล้วจึงเป็นผู้มีใจเป็นกลางวางเฉยได้
๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญากำหนดพิจารณารูปนามที่เป็นไปตามลำดับอนุโลมญาณต่ำ อนุโลมญาณสูง อันเป็นเครื่องตัดสินใจว่าไม่ผิดแน่เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่มรรค ผล นิพพาน โดยอาการของพระไตรลักษณ์อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง
๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่โอนจากโคตรของปุถุชน เข้าสู่โคตรของพระอริยะเพื่อจะหน่วงยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๔. มรรคญาณ ปัญญาที่ปหานกิเลสให้เป็นสมุทเฉทปหานมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่มรรคญาณปหานกิเลสแล้ว มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญากำหนดพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วที่ยังเหลืออยู่ ตลอดถึงมรรค ผล และนิพพาน